5 ทักษะที่คุณต้องปรับตัวในการทำงานยุคดิจิทัล

5 ทักษะที่คุณต้องปรับตัวในการทำงานยุคดิจิทัล

By Krungsri Plearn Plearn
การทำงานยุคดิจิทัลใคร ๆ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่ปรับตัวก็อยู่ยาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ในองค์กรระดับใดก็ตาม จนเกิดกระแส Digital Disruption ที่พูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง เช่น AI จะเข้ามาทำงานแทนคนในงานที่เน้นทักษะเชิงเหตุผล คำถามต่อมาก็คือ “เราจะอยู่รอดในการทำงานได้อย่างไร” เราจึงชวนคุณมาทำความรู้จัก 5 ทักษะที่ช่วยปรับตัวในการทำงานยุคดิจิทัลให้คุณได้ศึกษากัน โดยทักษะเหล่านี้แหละ ที่จะทำให้คุณอยู่รอดโดยไม่มีเทคโนโลยีหรือใครมาแทนที่ได้

1. Adaptive Thinking : มีความคิดแบบประยุกต์ ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์

“การมีความคิดแบบประยุกต์” เป็นทักษะการคิดที่ตอบรับกับการทำงานในปัจจุบัน ด้วยพื้นฐานทักษะในรูปแบบนี้จำเป็นต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ (Creative) การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytics) ร่วมกับบริบทของข้อมูล (Context) ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และด้วยธรรมชาติของงานที่มักเกิดปัญหา คุณจึงต้องประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ ตามองค์ประกอบเหล่านี้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
ซึ่งการเป็นคนที่มีความคิดแบบ Adaptive Thinking ได้นั้น ต้องอาศัยการวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นกับความคิดพฤติกรรมของตัวเองและผู้อื่น โดยต้องหมั่นฝึกคิดในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ใช้เหตุผลจากข้อเท็จจริงในการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เมื่อต้องสร้างสรรค์งาน ร่วมกับการใช้ทักษะในการทำงานเป็นทีม (Collaboration) ก็จะเป็นการช่วยต่อยอดไอเดียให้มีความหลากหลายและไปสู่ผลลัพธ์ในการทำงานที่ดี การมีความคิดแบบประยุกต์เป็นทักษะที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เพียงเรารู้จักประยุกต์ความคิดและทักษะต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการทำงาน ทักษะนี้เป็นสิ่งที่คุณควรมีติดตัวไว้เพราะเป็น Human Learning System ที่ไม่มีเทคโนโลยีมาทดแทนได้

2. New-media Literacy : การปรับตัวตอบรับปรากฏการณ์ New Media

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้อ่านข่าวจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ หรือเคยสังเกตกันไหมว่า ในวงสนทนาที่ออฟฟิศเรานั้นคุยกันแต่เรื่องที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย สื่อใหม่ ๆ แฝงตัวอยู่กับเราไปแล้วในชีวิตประจำวันตั้งแต่เราตื่นนอน มาทำงานจนถึงกลับมาถึงบ้านแล้วก็เสพความบันเทิงผ่านจอมือถือกันแล้วทั้งสิ้น สื่อใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกยุคดิจิทัลและจะแยกตามความสนใจของแต่ละคนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งวิธีการทำงานหรือความคิดที่ต้องใช้ในแต่ละทักษะอาชีพ ก็มีผู้ผลิตคอนเทนต์ให้คุณได้เลือกเสพและมีพื้นที่ให้คุณได้แลกเปลี่ยนกันง่ายขึ้นกว่าเดิม
รวมถึงการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยในการทำงานโดยตรง เช่น การประยุกต์ใช้ TikTok แอปพลิเคชันที่กำลังได้รับความนิยมในคนเจเนอเรชันใหม่ ด้วยการขายสินค้าภายใน 15 วินาที หรือใช้ Podcast เป็นตัวช่วยสร้างภาพลักษณ์และเรื่องราวให้กับแบรนด์ ตัวอย่างที่เราหยิบยกมาเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งเท่านั้น สื่อใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีอีกมากมายให้เราได้ค้นหาและทดลอง เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำงาน

3. Transdisciplinarity : เรียนรู้และเข้าใจศาสตร์ที่หลากหลาย

นักการตลาดยุคใหม่ไม่ใช่แค่ศึกษาเรื่องเทรนด์ตลาดเท่านั้น แต่คุณอาจต้องทำความเข้าใจเรื่อง ระบบ Big Data เพื่อจะนำข้อมูลมาใช้วางแผนการตลาด เช่น การทำ Targeted Advertising การเลือกกลุ่มลูกค้าที่จะเห็นโฆษณาออนไลน์แต่ละชิ้น หรือการทำ Personalized Marketing เพื่อเลือกสื่อสารเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น และไม่ว่าคุณจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในรูปแบบใด การขยายการเรียนรู้ในหลาย ๆ ศาสตร์เป็นสิ่งที่ดี เพราะองค์ความรู้ต่าง ๆ นั้นมีความเชื่อมโยงกันเสมอ และจะทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากความรู้ที่เรามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
การจะมีทักษะแบบ Transdisciplinarity ตัวคุณเองจะต้องเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เช่น ความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกับโลก การเมืองกับมุมมองสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรมที่หลากหลาย ความเปลี่ยนแปลงของผู้คนแต่ละเจเนอเรชัน ฯลฯ เป็นคนช่างสังเกตและมีทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์ในการสั่งสมทักษะนี้ ขอเพียงคุณหมั่นทำมันสม่ำเสมอแบบไม่ขาดตอน หาเรื่องและเป้าหมายในสิ่งที่ตัวเองต้องการศึกษาให้เจอ ซึ่งยุคสมัยนี้เปิดโอกาสให้เรียนรู้ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก จะเรียนรู้ผ่านบทความต่าง ๆ วิดีโอออนไลน์ หรือจะหาหนังสืออ่านก็สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาเพียงไม่นาน

4. Computational Thinking + Sense Making : การออกแบบความคิดเชิงเหตุผลและอารมณ์

ท่ามกลางยุคที่ขับเคลื่อนด้วย Cloud Computing และ Data จำนวนมหาศาล วิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้ดี คือทักษะในแบบ Computational Thinking รูปแบบการคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นทักษะที่คุณจะต้องคิดอย่างเป็นระบบด้วยเหตุผลอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยทักษะนี้ต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่
  • การย่อยปัญหาหรือสรุปปัญหา (Decomposition)
  • การจดจำรูปแบบต่าง ๆ (Pattern Recognition)
  • วิเคราะห์ความคิดในแบบนามธรรมที่มุ่งไปสู่ข้อมูลสำคัญ (Abstraction)
  • การออกแบบอัลกอริทึม (Algorithm Design) โดยสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอน
ในการทำงานร่วมกับคน “เรื่องอารมณ์และความรู้สึก” เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ต้องเรียนรู้ คุณเองก็ต้องมีทักษะในเรื่อง Sense Making คือการให้คุณค่าและความหมายต่อผู้อื่นด้วยมุมมองเชิงพัฒนา เชื่อในทีมว่ามีศักยภาพในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง ด้วยการสร้างกิจกรรมที่เสริมความสัมพันธ์ดี ๆ ร่วมกัน เพื่อประสิทธิภาพของทีมที่ดีในระยะยาว จะเห็นได้ว่าทั้งทักษะเชิงเหตุผลและเชิงอารมณ์ต่างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

5. Negotiation : มีศักยภาพในการต่อรองเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ

การทำงานในปัจจุบันอยู่กับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปัญหาต่าง ๆ พร้อมเข้ามาให้คุณแก้ ทักษะอีกข้อที่ขาดไปไม่ได้ คือ “ทักษะการต่อรอง” เป็นเรื่องของการสื่อสารเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้สึกและความคิด การมีทักษะในการต่อรอง สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ การเป็นนักฟังที่ดี เพราะก่อนที่เราจะเสนอความคิดของตัวเอง เราก็ต้องเข้าใจความคิดความรู้สึกของคู่สนทนาให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยหาทางออกร่วมกัน และคุณก็ต้องมีจุดยืนในความคิดของตัวเองเช่นกัน เพราะการทำความเข้าใจความคิดความรู้สึกของคนเป็นศักยภาพที่ AI ไม่สามารถทำการเรียนรู้ได้ทั้งหมด การมีทักษะนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานยุคดิจิทัล
ทักษะทั้งหมดที่เราได้นำมาเสนอให้คุณเป็นทางเลือกเพื่อไปสู่เป้าหมายและเป็นตัวช่วยให้คุณ “ปรับตัว” ได้ง่ายขึ้นในการทำงานยุคนี้ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ระหว่างที่ AI หรือ Machine มีการพัฒนามากขึ้นทุกวัน ตัวคุณเองก็ต้องไม่หยุดพัฒนาเช่นกัน เสริมทักษะเหล่านี้ให้พร้อม เพื่อความแข็งแกร่งในโลกการทำงานยุคดิจิทัลครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow