อย่าหลงเชื่อ! 3 หลุมพรางมิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินออนไลน์

อย่าหลงเชื่อ! 3 หลุมพรางมิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินออนไลน์

By Krungsri Plearn Plearn
การกู้เงินออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สะดวกสบายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีเหล่าแก๊งมิจฉาชีพที่ได้อาศัยช่องทางเหล่านี้ในการเพื่อหลอกเอาเงินจากผู้ที่ต้องการกู้เงินออนไลน์เช่นเดียวกัน เรามักจะเห็นข่าวตามโซเชียลมีเดียที่มักจะมีเรื่องแนวนี้มาเรื่อย ๆ และในวันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมารู้ทันกับ 3 หลุมพรางมิจฉาชีพหลอกกู้เงินออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์จะได้ไม่พลาดตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพหลอกกู้เงินออนไลน์
มิจฉาชีพเลือกใช้วิธีหลอกให้กู้เงินออนไลน์

ทำไม มิจฉาชีพเลือกใช้วิธีหลอกให้กู้เงินออนไลน์

ในปัจจุบันนี้บริการกู้เงินออนไลน์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนต้องการเงินด่วน และสะดวกสบายในการเข้าถึงเงินทุน อย่างที่เราได้เห็นว่าจะมีหลาย ๆ แพลตฟอร์มเปิดบริการกู้เงินออนไลน์กันอย่างมากมาย ซึ่งก็แน่นอนว่ามีทั้งการกู้เงินออนไลน์ได้เงินจริงที่มาจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ได้รับการรับรองความน่าเชื่อถือ แต่ก็ยังไม่วายที่เหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ใช้ช่องทางเหล่านี้ในการเป็นกลโกงหลอกให้เราเข้าไปกู้เงินผ่านทางเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน พอกดกู้ไปแล้ว กว่าจะรู้ตัวก็ถูกหลอก แถมยังโดนกรรโชกเงินให้จ่ายเพิ่มไปอีก
เคล็ดลับป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกู้เงินออนไลน์

3 หลุมพรางยอดฮิตที่มิจฉาชีพชอบใช้ให้กู้เงินออนไลน์

เหล่ามิจฉาชีพมีสารพัดวิธีในการหลอกล่อให้เราติดกับดัก โดยเฉพาะการใช้เรื่องเงินกู้ด่วนมาเป็นเหยื่อ ทำให้หลายคนอาจพลาดท่าเสียทีหากไม่ระวัง ลองมาดู 3 กลโกงยอดนิยมที่มักใช้หลอกให้คนหลงเชื่อจนสุดท้ายโดนหลอกกู้เงินออนไลน์กัน

1. หลอกว่าเป็นธนาคารปล่อยกู้เงิน

“กู้เงินออนไลน์ กู้ง่าย โอนไว ไม่ต้องใช้เอกสารเยอะ” หลายคนคงเจอข้อความประเภทนี้อยู่บ่อย ๆ โดยมิจฉาชีพออนไลน์มักใช้ในการหลอกลวง อ้างตัวเป็นธนาคารโดยใช้รูปภาพ ข้อความ รวมถึงชื่อเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันที่เลียนแบบชื่อให้เกือบเหมือนของจริง ทั้งในระบบ iOS และ Android

หากใครที่ไม่ได้สังเกตให้ดี อาจหลงเชื่อว่าเป็นธนาคารจริง เมื่อเผลอดาวน์โหลดแอปฯ หรือลงทะเบียนขอกู้เงินออนไลน์ เราอาจถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปแบบไม่รู้ตัว และเงินที่ได้จากการลงทะเบียนก็ไม่สามารถโอนออกมาใช้ได้ เพราะแอปฯ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของปลอม แต่ก็มีในกรณีที่แอปฯ จากมิจฉาชีพใช้งานได้จริง เราอาจได้รับโอนเงิน แต่ได้ไม่เต็มจำนวนและยังถูกคิดดอกเบี้ยโหด ๆ ใช้คืนเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที เจอแบบนี้ควรสังเกตให้ดีก่อนกรอกข้อมูลส่วนตัวทุกครั้ง

2. หลอกให้โอนเงินเพื่อปลดล็อคเงินโบนัสพิเศษ

มิจฉาชีพออนไลน์บางกลุ่มจะใช้วิธีการหลอกให้เราโอนเงินเข้าไปก่อน ถึงจะสามารถทำเรื่องกู้เงินออนไลน์ได้ โดยจะหลอกว่า ต้องทำการโอนเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการปลดล็อกระบบ และจะได้รับเงินโบนัสพิเศษเพิ่มเติม

หากโอนเงินไปแล้ว กลับไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ หรืออาจจะถูกข่มขู่จากแก๊งมิจฉาชีพให้เสียดอกเบี้ยที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม มิจฉาชีพจะอ้างว่าการกู้เงินออนไลน์สำเร็จ และเราต้องชำระเงินคืนให้พวกเขาทั้งหมด หากเราเบี้ยวหนี้ก็จะโดนมิจฉาชีพข่มขู่ไม่หยุด ทางที่ดีคือหลีกเลี่ยง และรีบแจ้งหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หากเจอลักษณะนี้ สามารถติดต่อธนาคารที่เรานำเงินออกจากบัญชีโดยตรง หากคุณมีบัญชี ธนาคารกรุงศรี ติดต่อได้ที่ โทร. 1572 กด 5 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. มีการโฆษณาแอปฯ ให้กู้เงินออนไลน์ ในวงเงินที่สูงผิดปกติ

มิจฉาชีพออนไลน์มักจะใช้ข้อเสนอแบบนี้หลอกล่อให้เราตกเป็นเหยื่อได้แบบง่าย ๆ โดยเฉพาะใครที่กำลังเดือดร้อน อยากกู้เงินออนไลน์แบบด่วน ๆ ไม่ต้องทำเรื่องให้ยุ่งยาก มีโอกาสที่จะเกิดความสนใจ และเข้าไปทำการสมัครเพื่อรับการกู้เงินออนไลน์เหล่านี้ ซึ่งนั่นก็อาจจะต้องแลกกับข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องถูกเผยแพร่ออกไปให้แก่ทางมิจฉาชีพ ที่อาจถูกนำเอาไปทำสิ่งผิดกฎหมายได้

แถมเมื่อใส่ข้อมูลจนเสร็จเราเองอาจไม่ได้เงินจริง ๆ เหมือนกับคำโฆษณาที่เห็น หรือถ้าหากได้เงินก้อนมาจริง เราอาจได้รับของแถมเป็นดอกเบี้ยที่สูงปรี๊ดจนลืมไปเลยว่าเรานั้นได้กู้ยืมเงินไปเท่าไหร่ เพราะเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยไม่มีวันจบนั่นเอง
 
มิจฉาชีพใช้ช่องโหว่หลอกเหยื่อกู้เงินออนไลน์

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินออนไลน์

เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และโดนหลอกกู้เงินออนไลน์โดยไม่รู้ตัว แนะนำให้สังเกตสัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ดู
  • การให้โอนเงินก่อนกู้ : หากผู้ให้กู้แจ้งว่าต้องโอนเงินค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการ หรือค่าอะไรก็ตามก่อนถึงจะอนุมัติเงินกู้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ
  • เงื่อนไขง่ายเกินจริง : อนุมัติไว ไม่เช็กเอกสาร วงเงินสูงเกินความสามารถในการผ่อนชำระจริง เหล่านี้เป็นสัญญาณอันตราย
  • การเร่งรัดตัดสินใจ : มิจฉาชีพมักกดดันให้รีบตัดสินใจ โดยอ้างว่าข้อเสนอมีเวลาจำกัด หรือมีคนสนใจเยอะ
  • ไม่มีข้อมูลติดต่อที่ชัดเจน : หาที่ตั้งสำนักงานไม่เจอ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อยาก หรือมีแต่ช่องทางติดต่อออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • ขอข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป : การขอข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อ เช่น รหัสผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร หรือข้อมูลบัตรเครดิตเต็มรูปแบบ

วิธีป้องกันไม่ให้ถูกหลอกกู้เงินออนไลน์

การป้องกันตัวเองล่วงหน้าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้คุณต้องเผชิญกับปัญหาโดนหลอกกู้เงินออนไลน์ โดย น้องเพลินเพลิน ได้สรุปสิ่งที่ควรทำเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์มาให้แล้ว ดังนี้

1. เช็กค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขการกู้เงินออนไลน์จากแหล่งเงินกู้

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจกู้เงินออนไลน์ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าแหล่งเงินกู้ที่คุณเลือกมีค่าธรรมเนียมดำเนินเอกสาร หรืออากรแสตมป์เพิ่มหรือไม่ นอกจากนี้ควรสังเกตอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพออนไลน์มักให้กู้ได้แบบไม่เต็มจำนวน และต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมเพื่อดำเนินการมากมายเพื่อให้เราได้เงินเร็วมากขึ้น ถ้าใครเผลอจ่ายไปก็อาจโดนบล็อก ติดต่อไม่ได้อีกเลย

2. ติดต่อสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมาย

หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ที่มีอยู่ ควรโทรหาสถาบันการเงินของธนาคารจริง ๆ ทมิจฉาชีพออนไลน์แอบอ้าง หากไม่พบรายละเอียดดังกล่าว ให้หยุดทำธุรกรรมทันที เพราะมิจฉาชีพมักตั้งชื่อบัญชีให้คล้ายคลึงกับสถาบันการเงิน เพื่อให้คนสับสน และหลงกลเข้ามาใช้บริการ

3. สัญลักษณ์บนช่องทางการติดต่อ ต่าง ๆ

อย่าลืมเช็กเครื่องหมาย LINE Official ให้ดี โดยเครื่องหมายที่ถูกต้องจะเป็นโล่เขียว และโล่น้ำเงินเท่านั้น นอกจากนี้ อย่าหลงเชื่อจำนวนผู้ติดตามที่ขึ้นมาตอนแอดไลน์ เพราะข้อมูลเรื่องตัวเลขนี้สามารถทำขึ้นมาได้ ทำให้คุณอาจโดนหลอกกู้เงินออนไลน์ได้ง่าย ๆ

4. เลือกกู้เงินผ่านสถาบันการเงินของธนาคาร

ปัจจุบันมีสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ที่ให้บริการกู้เงินออนไลน์ ซึ่งมีวงเงินกู้ที่สูง และดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ธนาคารกรุงศรีก็มีบริการกู้เงินออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อย่าง Krungsri iFin ที่สามารถกู้เงินออนไลน์ได้ง่าย ๆ ทำงานผ่าน krungsri app บนสมาร์ตโฟน รู้ผลไวภายใน 1 วัน และยังให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท มาพร้อมกับดอกเบี้ยที่ถูกลง 3% ต่อปี เพื่อให้ผู้ที่มีความต้องการทำธุรกรรมในการกู้เงินออนไลน์มีความปลอดภัยต่อตนเอง และทรัพย์สินได้มากยิ่งขึ้น

5. ถ้าไม่แน่ใจ อย่าคลิกลิงก์เด็ดขาด

หากได้รับข้อความเชิญชวนให้กู้เงินผ่านลิงก์ที่ไม่คุ้นเคย หรือดูน่าสงสัย อย่าเพิ่งรีบร้อนคลิกเข้าไปเด็ดขาด เพราะอาจเป็นช่องทางของมิจฉาชีพที่ต้องการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หรือติดตั้งโปรแกรมประสงค์ร้ายในอุปกรณ์ของคุณได้ แนะนำให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลังก่อน และหากเป็นไปได้ ควรติดต่อสอบถามไปยังสถาบันการเงินโดยตรงตามเบอร์โทรศัพท์ หรือช่องทางที่เป็นทางการ เพื่อยืนยันว่าแอปพลิเคชัน หรือข้อเสนอนั้นเป็นของจริงหรือไม่

6. สังเกตลักษณะเด่นของแอปกู้เงินเถื่อน

แอปพลิเคชันกู้เงินนอกระบบ หรือแอปเถื่อน มักมีข้อเสนอที่ล่อตาล่อใจ แต่แฝงไปด้วยอันตราย สัญญาณที่ควรระวังคือ การอนุมัติวงเงินให้ แต่ไม่เต็มจำนวนตามที่ยื่นกู้ โดยอ้างว่าหักค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยล่วงหน้า แต่ตอนชำระคืนกลับต้องจ่ายเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ระยะเวลาผ่อนชำระมักจะสั้นผิดปกติ และหากจ่ายล่าช้า อาจมีการทวงหนี้ด้วยวิธีการข่มขู่ คุกคาม หรือประจานผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย

วิธีรับมือหากตกเป็นเหยื่อแอปกู้เงินออนไลน์เถื่อน

หากคุณรู้ตัวว่าพลาดท่าโดนหลอกกู้เงินออนไลน์จากมิจฉาชีพไปแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องตั้งสติ และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

1. หยุดทำธุรกรรมการเงินทันที

หากคุณได้ทำการกู้เงินออนไลน์จากแหล่งที่ไม่เชื่อถือได้ แนะนำให้คุณหยุดทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินก้อนนั้นทันที เนื่องจากเงินส่วนใหญ่ที่มาจากมิจฉาชีพมักจะเป็นเงินผิดกฎหมาย หรือเงินที่ถูกฟอกให้ขาวผ่านมาทางบัญชีม้า การใช้จ่ายเงินเหล่านี้อาจทำให้คุณมีความผิดได้

2. แจ้งธนาคาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้พวกเขาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยสามารถติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย เช่น
  • สายด่วนของธนาคารกรุงศรี โทร. 1572 กด 5 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • สายด่วน สอท. 1441
  • ศูนย์ PCT O81-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนการแจ้งความหลังโดนหลอกให้กู้เงินออนไลน์

  • รวบรวมหลักฐาน : เก็บทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น สลิปการโอนเงิน ภาพหน้าจอแอปพลิเคชันเงินกู้ ข้อความแชทสนทนา บันทึกเสียงการสนทนา หรือหลักฐานการข่มขู่ต่าง ๆ
  • แจ้งความดำเนินคดี : นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำหนด
  • พิจารณาทำบัตรประชาชนใหม่ : หากมีการให้ข้อมูลบัตรประชาชนไป ควรทำบัตรใหม่เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
  • ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สามารถร้องเรียนเพิ่มเติมไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสายด่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือ
วิธีรับมือหากตกเป็นเหยื่อแอปกู้เงินออนไลน์
สุดท้ายนี้ หากใครที่อยากกู้เงินออนไลน์ให้ได้เงินจริง ต้องตรวจสอบความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของผู้ให้กู้เป็นอันดับแรก เพราะเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับเครดิตเรื่องการเงิน หากได้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ไปแล้ว ก็ยากที่จะตามเงินคืนกลับมา แถมข้อมูลส่วนตัวของเราอาจไม่ปลอดภัย เพราะอาจถูกนำไปใช้ทำเรื่องผิดกฎหมายได้แบบที่เราไม่สามารถรู้ตัวได้เลย ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่อันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว หากใครชอบเรื่องราวแบบนี้ก็สามารถติดตามบทความดี ๆ ก็อย่าลืมเข้ามาอัปเดตเรื่องราวดี ๆ แบบนี้บ่อย ๆ เพื่อที่จะไม่พลาดทุกเรื่องอัปเดตก่อนใคร

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
https://mgronline.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา