3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในปี 2022

3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในปี 2022

By รวิศ หาญอุตสาหะ
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสอ่านรายงานของ Gallup เรื่อง ‘What Leaders Should Focus on in 2022’ ที่พูดถึง 3 สิ่งที่ผู้นำควรโฟกัสในปีนี้ และพบว่ามีประเด็นน่าสนใจ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงเท่าไรด้วย เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก มีการเปลี่ยนแปลงและเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาท้าทายอยู่เสมอ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องเจอศึกที่ทั้งหนัก และยาวนานไปตาม ๆ กัน
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ‘ผู้นำ (Leader)’ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่คอยบริหารจัดการ และควบคุมทั้งคนและองค์กรให้เติบโตและไปต่อพร้อม ๆ กัน อีกทั้งที่หลายคนมักพูดกันว่า ‘Business as usual’ การดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ นั้นไปต่อไม่ได้แล้ว ซึ่งผมเห็นด้วยมาก ๆ จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้นำต้องปรับตัว เปลี่ยนมุมมอง และหันมาโฟกัสกับสิ่งที่ควรโฟกัสอย่างเหมาะสม และถูกที่ถูกเวลา

ลองมาดูกันครับว่า 3 เรื่องที่ผู้นำควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั้นมีอะไรบ้าง

ผู้นำต้องสื่อสารเป็น

1. ผู้นำต้องสื่อสารเป็น

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าคำว่า ‘สื่อสารเป็น’ ในที่นี้หมายถึง การพูดคุยกับคนในองค์กรทุกระดับเป็นประจำ มีความชัดเจน จริงใจ และตรงไปตรงมา เพราะนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ๆ สู่รูปแบบใหม่ ๆ ทั้ง Work From Home, Work From Anywhere หรือ Hybrid Working จึงทำให้คนในองค์กรเจอหน้ากันน้อยลง และต้องพึ่งพาช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสาร ซึ่งการพูดคุยทางออนไลน์ให้ความรู้สึกแตกต่างกับการพูดต่อหน้ากันอยู่แล้ว
จากผลสำรวจของ Gallup ที่สำรวจคนทำงานในสหรัฐฯ พบว่ากว่า 19% เห็นด้วยว่าผู้นำควรมีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับทุกคนในองค์กร เพราะหากผู้นำไม่ค่อยสื่อสารกับคนในองค์กร หรือขาดทักษะการสื่อสารที่ดีพอ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรในแทบทุกมิติ โดย Gallup ได้รวบรวมประเด็นที่ผู้นำควรสื่อสารกับพนักงานบ่อย ๆ คือ
  • การพูดถึงเป้าหมาย และทิศทางขององค์กรอย่างชัดเจน
  • การพูดถึงปัญหา และอุปสรรคที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่
  • การพูดให้ความเชื่อมั่นว่าองค์กรพร้อมสนับสนุนและหาทางในทุกปัญหา
การพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้บ่อย ๆ พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะใหม่ ๆ ด้วยท่าทีที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย จะทำให้การสื่อสารภายในองค์กรค่อย ๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะพนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากกว่าเดิม ได้รับรู้ถึงความใส่ใจของผู้นำ รับรู้ถึงปัญหาที่เผชิญ ตลอดจนมีเป้าหมายอย่างเดียวกันกับองค์กร
ผู้นำต้องพัฒนาและส่งเสริมพนักงาน

2. ผู้นำต้องพัฒนาและส่งเสริมพนักงาน

สำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล ปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ คือ อุปกรณ์ทำงานและทักษะที่จำเป็นตามแต่ลักษณะงานของแต่ละคน ซึ่งหากบริษัทไม่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้กับพนักงานในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะในระดับหัวหน้าที่มีหน้าที่วางแผน แก้ไขปัญหา และควบคุมการดำเนินงานทุกอย่างให้เป็นตามแผนที่กำหนดไว้ อย่างตำแหน่งผู้จัดการ (Manager) จะส่งผลกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพงาน การบริหารจัดการ ตลอดจนสุขภาพกายและใจ
หากหัวหน้างานต้องบริหาร และควบคุมการทำงานต่าง ๆ แต่ไร้ซึ่งเครื่องมือ และทักษะที่จำเป็น อาจกลายเป็นการเพิ่มภาระให้คนทำงานมากพอสมควร เพราะไม่ว่าจะเป็นทักษะ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการทำงานยุคนี้ อีกทั้งช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความเครียด ความกดดัน และความเหนื่อยล้าจากการทำงาน รวมถึงช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้อีกด้วย
ผู้นำต้องสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้พนักงาน

3. ผู้นำต้องสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้พนักงาน

‘Well-being’ เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานานแล้ว แต่ที่ช่วงนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น อาจเป็นเพราะหลายคนเริ่มตระหนัก และตื่นตัวกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่มากขึ้นจากเมื่อก่อน ซึ่งหากจะเรียกว่ามี Well-being ได้นั้นจะต้องประกอบด้วย 5 ปัจจัยด้วยกันคือ อาชีพ สังคม การเงิน ร่างกาย และสภาพแวดล้อม ส่วนปัจจัยด้านไหนจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน

แล้ว Well-being เกี่ยวข้องอย่างไร? และมีความจำเป็นมากแค่ไหน?

ผมอยากชวนให้ทุกคนนึกภาพตามกันครับ หากพนักงานมีสุขภาพแข็งแรง มีเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือ และคอยสนับสนุนกันและกัน ไม่มีหนี้ มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี หรืออาจเรียกรวม ๆ ว่า ‘มีคุณภาพชีวิตที่ดี’ ย่อมทำให้สมองปลอดโปร่ง ไม่ต้องมาคอยกังวลกับเรื่องอื่น ๆ สามารถโฟกัสกับสิ่งที่ทำให้ และยังส่งผลต่อ Productivity อีกด้วย
โดย Gallup รายงานว่า องค์กรที่มี Well-being ในระดับสูง จะทำให้พนักงานมีสุขภาพกาย และใจที่ดีขึ้น และช่วยคลายความเครียด ความกังวล ภาวะซึมเศร้า ตลอดจนอาการ Burnout พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความไว้วางใจ เชื่อใจ และสร้างองค์กรให้ Resilience ได้พร้อมกัน จึงทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ Well-being มากขึ้น
Well-being
ผมคิดว่าในฐานะผู้นำองค์กร เราควรให้ความสำคัญ และจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้พนักงาน โดยที่ไม่ต้องรอให้พวกเขาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่บ่อยขึ้น การพัฒนาระดับหัวหน้า และการใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของทุกคน เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าสถานการณ์จะดี หรือร้ายนั้น สิ่งที่จะกำหนดทิศทางของพนักงาน หรือองค์กร ล้วนขึ้นอยู่กับความสามารถ และทัศนคติของผู้นำ
ยิ่งช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ ผมเชื่อว่าหากผู้นำเลือกโฟกัสให้ตรงจุด และถูกที่ถูกเวลา จะสามารถพาองค์กรก้าวข้ามปัญหา และอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอนครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา