อาการ “Burnout” มาจากไหนกันแน่

อาการ “Burnout” มาจากไหนกันแน่

By รวิศ หาญอุตสาหะ
อาการหมดไฟ รู้สึกเหนื่อยหน่ายงานที่ทำอยู่ ไม่อยากทำงาน หรือที่เราเรียกกันว่า “อาการ Burnout” นั้น เป็นอาการมาจาก ภาวะการหมดไฟที่เริ่มถูกพูดถึงในบ้านเรากันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่าอาการของการ Burnout นั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมของเจ้านายหรือ ลูกน้องก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น เพราะเรื่องนี้นอกจากจะส่งผลต่อคนที่ Burnout โดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อความ Productive ของทีมในภาพรวมอีกด้วย
และเมื่อพูดถึงเรื่องของอาการ burnout หนึ่งในคำถามที่ผมมักจะได้รับบ่อย ๆ ก็คือ “จะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองต้องเผชิญกับอาการ Burnout” หรือหาก “คนในทีมมีอาการ Burnout ควรทำอย่างไรดี” แน่นอนการหาทางแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ก่อนที่เราจะแก้ไขได้ผมว่าเราควรที่จะรู้และเข้าใจถึงต้นเหตุจริง ๆ ของมันซะก่อน และในบทความนี้เราจะมาพูดถึงสาเหตุของอาการ Burnout ทั้งที่เกิดจากตัวเราเอง และที่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ โดยในบทความนี้จะขอหยิบยกข้อมูล Research ที่น่าสนใจจาก hbr.org, researchgate.net และ Gallup บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ทั้งในฐานะของหัวหน้า และคนทำงาน เพื่อมาบอกเล่าสู่กันฟังว่าอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุที่อาจจะนำไปสู่อาการ “Burnout” กันบ้าง

หลายครั้ง burnout ก็มีต้นเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่ทำงาน

เมื่อนึกถึงอาการ Burnout คนส่วนใหญ่มักจะคิดกันไปก่อนว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราไประบายให้เพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างฟังว่า... ช่วงนี้เรารู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับอาการ Burnout จนไม่อยากทำงาน เหนื่อยหน่ายกับงานที่ทำอยู่เหลือเกิน คำตอบที่คนทั่วไปมักจะได้รับ คือ ลองไปออกกำลังกายดูสิ, ไปเที่ยวดูบ้าง, เข้าคลาสโยคะหน่อยไหม, ลาไปพักผ่อนสักหน่อยก็ดีนะ หรืออาจจะแนะนำคอร์สเกี่ยวกับสมาธิและจิตใจมาให้เราลองไปเข้าดูสักครั้ง
แน่นอนคำแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องดีที่น่าทำตาม แต่บ่อยครั้งมันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะแท้จริงแล้วอาการ Burnout นั้นมีสาเหตุมาจาก "สถานที่ทำงาน" ต่างหาก
โดยข้อมูลที่อ้างอิงผลสำรวจจากพนักงานประจำกว่า 7,500 คน ที่ทาง Gallup ได้ไปทำการสำรวจมา พบว่าคนทำงานส่วนใหญ่ มักจะมีปัจจัยหลัก ๆ 5 ข้อ ที่จะนำไปสู่อาการ Burnout ในที่สุด
  • Unfair treatment at work: การเลือกปฏิบัติ หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน ทั้งที่เกิดขึ้นจริง ๆ และเกิดจากความรู้สึก (คือความจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ผู้ทำงานรู้สึกไปเอง)
  • Unmanageable workload: ไม่สามารถบริหารจัดการกับงานที่ทำได้ หรือมีปริมาณงานที่เยอะเกินไป
  • Lack of role clarity: บทบาทที่ไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรกันแน่
  • Lack of communication and support from their manager: ขาดการสื่อสารที่ชัดเจน และการสนับสนุนจากหัวหน้าหรือผู้จัดการ
  • Unreasonable time pressure: ความกดดันเรื่องเวลาแบบไม่สมเหตุสมผล (การกำหนด deadline ที่เป็นไปไม่ได้)
สำหรับใครที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร อาจจะต้องหันกลับมาคิดเรื่องนี้ให้เยอะ ๆ นะครับ ทบทวนดูว่าเรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่จะส่งผลกระทบทำให้ทีมเราเผชิญกับอาการ Burnout อยู่หรือเปล่า เริ่มจากการถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาในฐานะของผู้นำว่า “อะไรที่ทำให้ทีมงานของเรา unhealthy” เพราะอะไรสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ถึงไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่ดีได้ เราจะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และรู้สึกดีที่จะมาทำงานทุกวันได้อย่างไร

ต้นเหตุ และวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด burnout ในมุมของ “คนทำงาน”

เมื่อเราพูดถึงมุมมองที่เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมการทำงาน ฝั่งคนทำงานเองก็อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องยาก (หรือบางทีรู้สึกว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย) ที่จะไปกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบาย, วัฒนธรรม หรือรูปแบบการทำงานของหัวหน้า หรือตัวผู้บริหารได้
แต่ข่าวดีคือหลายสาเหตุของอาการ Burnout เราสามารถแก้ไขได้จากตัวเรา แต่ถ้ามันปรับไม่ได้จริง ๆ อย่างน้อยก็จะได้เก็บเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่า เราจะไปต่อกับงานที่ทำอยู่ปัจจุบันดีไหม
ในปี 1999 มีงาน Research ที่น่าสนใจมากของศาสตราจารย์ Michael P. Leiter และศาสตราจารย์ Christina Maslach ที่ได้กล่าวถึง 6 ปัจจัยสำคัญที่อาจจะเป็นต้นตอของการเกิดอาการ Burnout ในคนทำงาน
1. Workload: ภาระงานที่มากเกินไป
โดยปกติแล้วถ้าหากเราได้ทำงานที่เหมาะสมกับ Capacity ของเรา สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี มีโอกาสที่จะได้พักผ่อนเพื่อที่จะ Restore (ฟื้นฟู) ตัวเอง ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ซึ่งก็ฟังดูเป็นเรื่องที่ดี
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ปริมาณงานของเรามันเยอะเกินไป โอกาสที่เราจะได้ Restore ตัวเองก็จะหายไป และยิ่งหากเราไม่สามารถจัดการกับงานที่ถาโถมเข้ามาได้ ก็จะทำให้เราเกิดความเครียด และนำไปสู่อาการของภาวะ Burnout ในที่สุด
ในการแก้ปัญหาเรื่อง workload เราควรที่จะเริ่มจากการประเมินตัวเองก่อนว่า เราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
  • การวางแผนงาน
  • การจัดลำดับความสำคัญของงาน
  • การมอบหมายงาน
  • รู้จักที่จะ “ปฏิเสธ” อย่างมีเหตุผล
  • ลดความเป็น “Perfectionism” ลง หากคุณไม่เคยพยายามพัฒนาทักษะเหล่านี้เลย อาจถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นลองพัฒนาทักษะเหล่านี้ดู
2. Perceived lack of control: รู้สึกว่าตัวเองขาดการควบคุม
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมปัจจัยใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้เลย ความรู้สึกแบบนี้จะกลายเป็นต้นตอที่อาจทำให้คุณต้องเจอกับอาการ Burnout ได้ในที่สุด สิ่งแรกที่อยากจะให้ได้คุณทำก็คือ ถอยออกมาสักก้าวและเริ่มต้นถามตัวเองจริง ๆ ว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ ซึ่งต้นเหตุของความรู้สึกแบบนี้ก็อาจจะมีได้ตั้งแต่รู้สึกไม่มีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็น, รู้สึกไม่สามารถควบคุมเวลาการทำงานได้ (เช่น เจ้านายอาจจะสั่งงานหรือติดต่อตลอดแม้ในวันหยุด) หรือแม้กระทั่งบางครั้งหัวหน้าก็อาจจะมีอาการ burnout เสียเอง เพราะรู้สึกสูญเสียความสามารถในการบริหารจัดการกับลูกน้องในทีมนั่นเอง
เรื่องในทำนองนี้ด้วยความที่มันค่อนข้างจะเป็นนามธรรม มันจึงสามารถเป็นได้ทั้ง 2 แบบ
  • ความจริง คือ มีปัญหาจริง ๆ เช่น เจ้านายอาจจะไม่รับฟังเราเลย เราไม่สามารถแสดงข้อคิดเห็นใด ๆ ได้เลย กับ
  • รู้สึกไปเอง คือ จริง ๆ แล้วหัวหน้าก็รับฟัง หรือลูกน้องในทีมก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่มันอาจจะติดปัญหาในส่วนอื่น แต่ไม่ยอมคุยต่างคนต่างเก็บไปคิด ไม่คุยกัน อันนี้ถ้าอยากจะแก้ไข คำแนะนำนั้นเรียบง่ายครับ ลองเริ่มคุยกันให้มากขึ้นดูครับ
3. Reward: รางวัลและผลตอบแทน
เรื่องของเงินเดือนหรือรายได้ต่าง ๆ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกงานหรืออาชีพนั้น ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว
เพราะจากผลสำรวจต่าง ๆ มากมาย และประสบการณ์ที่พบจากคนรอบ ๆ ตัวที่ผ่านมา บอกได้เลยมีหลายคนที่มักจะรู้สึกว่า “เราควรได้เงินเยอะกว่านี้” และเมื่อมีความคิดแบบนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือความรู้สึกที่ว่า “การทำงานนี้ ทำอาชีพนี้ เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มเอาเสียเลย” จนส่งผลให้เกิดอาการ Burnout ได้ในที่สุด และหากคุณกำลังเป็นแบบนี้สิ่งที่อยากให้ทำ คือ
  • ประเมินตัวเอง: วิเคราะห์ตัวเองแบบเป็นกลางที่สุดว่า Skill ที่เรามีอยู่ในระดับไหน ความสามารถของเราอยู่ในระดับใด และด้วยสิ่งที่เรามีนี้ เราควรที่จะมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ จุดสำคัญคือพยายามประเมินให้เป็นกลางมากที่สุด (หรือถ้าเป็นไปได้ก็ให้คนอื่น ๆ ช่วยประเมินให้ด้วยเลย) เพราะคนส่วนใหญ่ถ้าไม่ประเมินเข้าข้างตัวเองมากเกินไป ก็มักจะประเมินตัวเองต่ำเกินไป
  • เลือกองค์กรให้ถูก: หันกลับมามอง value ที่ตัวเองมีว่ามันตรงกับที่องค์กรต้องการหรือเปล่า เพราะบางครั้งต่อให้คุณเก่งมาก ๆ แต่ไปอยู่ผิดที่มันก็เท่านั้น เช่น ถ้าหากคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งมาก ๆ แต่ไปอยู่ในธุรกิจที่ไม่ได้มีเรื่องของเทคโนโลยีเป็นแกนหลัก
4. Community: ความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน
บรรยากาศในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร การให้การสนับสนุนและความไว้วางใจจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานมีมากน้อยแค่ไหน จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถเลือกลูกค้าหรือเลือกเพื่อนร่วมงานได้ แต่เราสามารถปรับไดนามิกของเรื่องเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ อาจจะเริ่มต้นจากการสละเวลาวันละเล็กน้อย เพื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ถามถึงงานของพวกเขา พูดคุยกับพวกเขาว่าเขาเป็นอย่างไร (และต้องตั้งใจฟังจริง ๆ ไม่ใช่ถามไปยังงั้นล่ะ)
เพราะอาการ burnout นั้นจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ติดต่อได้ (เช่นเดียวกันกับความเครียดในที่ทำงาน) ฉะนั้นการรักษาไดนามิกของทีม หรือเพื่อนร่วมงานในภาพรวม จะทำให้บรรยากาศของการทำงานนั้นดีขึ้นตามไปด้วย
5. Fairness: ความเป็นธรรม
ทุกคนที่มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ควรได้รับการกล่าวถึง แต่กลับมีคุณคนเดียวที่ไม่มีใครพูดถึงเลย หรือเรื่องของการมีเด็กเส้นที่เลื่อนตำแหน่งทุกปี แต่คุณกลับยังต้องอยู่ที่เดิมทั้ง ๆ ที่ก็ทุ่มเททำงานอย่างหนักมาตลอด (แน่นอนต้องมีผลงานด้วย) เรื่องในทำนองนี้เป็นต้นเหตุของการก่อให้เกิดความรู้สึกว่า “ที่เป็นอยู่มันไม่ยุติธรรมเอาซะเลย” พาลทำให้คุณรู้สึกถึงอาการ Burnout กับการทำงานเอาเสียดื้อ ๆ
เรื่องนี้ทางเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างชัดเจน คือ เดินเข้าไปคุยกับหัวหน้าของคุณครับ
6. Values mismatch: คุณค่าที่ไม่ตรงกัน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความเชื่อในคุณค่าบางอย่างมาก ๆ และองค์กรกำลังทำสิ่งที่ตรงกันข้าม หรือมีจุดยืนที่แตกต่างกันจากวันแรกที่ได้เริ่มงาน เมื่อผ่านไปสักระยะ คุณจะเริ่มพบอาการ Burnout หมดแรง ไม่อยากที่จะทุ่มเททำงานหนักให้กับองค์กรอีกแล้ว คุณอาจจะไม่ได้ลาออก แต่ก็ไม่ได้เต็มใจที่จะทำมันเท่าไหร่นัก (ทำไปอย่างงั้นล่ะ)
เหตุการณ์แบบนี้บอกได้เลยว่าไม่มีผลดีทั้งต่อองค์กร และตัวคุณเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะคุณเองก็จะเข้าสู่ภาวะของอาการ Burnout ไปในที่สุด ในขณะเดียวกันองค์กรก็ไม่ได้คนที่อยากจะทำงานจริง ๆ
ฉะนั้นถ้าคุณกำลังเผชิญกับสถานการณ์ values mismatch และได้พยายามมองหาคุณค่าที่องค์กรมีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ การพิจารณามองหาองค์กรหรือที่ทำงานใหม่ที่ยึดถือในคุณค่าเดียวกันกับคุณก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
สุดท้ายผมว่าเรื่องอาการ Burnout ในกลุ่มคนวัยทำงาน ไม่ว่าจะในมุมของ “บริษัท” หรือในมุมของ “คนทำงาน” ก็ไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้นทั้งนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ปรับจากทั้งสองฝั่ง คนทำงานเองก็ควรที่จะต้องปรับและเข้าใจในมุมของบริษัทให้มากขึ้น ในมุมของผู้บริหารก็ควรที่จะต้องพยายามเข้าใจคนทำงานให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา