3 ทางลัดสู่ความสำเร็จจากเพื่อนร่วมงาน

3 ทางลัดสู่ความสำเร็จจากเพื่อนร่วมงาน

By Krungsri Academy

ว่ากันว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน คือ ที่มาของความสำเร็จ” เพราะไม่ว่าเราจะทำงานในองค์กรประเภทใด ขนาดใด จะเป็นราชการ เอกชน หรือแม้แต่ Startup ก็ย่อมมีวัฒนธรรมองค์กรกันทั้งนั้น สิ่งนี้ถูกหล่อหลอมจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น นโยบายของผู้บริหาร กฏระเบียบขององค์กร การทำหน้าที่ของฝ่ายบุคคล และสิ่งสำคัญอีกประการ คือ “เพื่อนร่วมงาน” นั่นเอง ผลงานความสำเร็จ โดยมากมีพื้นฐานจาก Teamwork แม้แต่ละคนในทีมจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่นอกจากการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดแล้ว หากต้องการให้งานเดินหน้าเต็มสูบ ก็ต้องยอมรับและปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อนร่วมงานด้วย

นอกจากการปรับตัวเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์จะช่วยให้การทำงานภายในทีมลุล่วงไปได้ด้วยดีแล้ว การมีสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานยังช่วยส่งเสริมหน้าที่และตำแหน่งงานของเรา เพราะการร่วมกลุ่มกับเพื่อนร่วมงานเก่ง ๆ เปิดโอกาสให้เรานำจุดแข็ง-จุดอ่อนของเพื่อนร่วมงานมาปรับใช้ นับว่าเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จได้อีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งทางลัดสู่ความสำเร็จจากเพื่อนร่วมงานมีอะไรบ้าง มาดูกัน...
1
 
ปฏิบัติกับเพื่อนร่วมงานอย่างที่เราอยากได้รับ 

พูดง่าย ๆ ก็คือ “ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น” เพราะคงไม่มีใครอยากได้มิตรภาพในการทำงานที่อึมครึม อึดอัด ไม่น่าช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรอก ดังนั้น ถ้าเราอยากได้รับการปฏิบัติที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน เราก็ควรปฏิบัติต่อเขาอย่างเดียวกัน เช่น แสดงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยหยิบของ ช่วยเปิดประตู ไม่ลืมที่จะทักทาย รวมทั้งรับผิดชอบหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ไม่ให้กระทบเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า การปฏิบัติข้างต้นนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังอาจสร้างผลพลอยได้ให้หัวหน้าเห็นผลงานและความสามารถของเรา เป็นคะแนนในการประเมินการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งได้อีกด้วย เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้ทั้ง Teamwork และเลื่อนตำแหน่งกันไปเลย (แต่ถ้าใครเจอเพื่อนร่วมงานที่ชอบทำตัวเป็นใหญ่ ลองอ่านวิธีแก้ไขสถานการณ์ได้ที่นี่)
2
 
ร่วมวงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน  

หลังจากที่เรามีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน มีการผูกมิตรและพูดคุยสัพเพเหระกันแล้วนั้น ก็อย่าทิ้งโอกาสอันดีที่จะนำประเด็นเรื่องงานมาพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิเคราะห์ วิจารณ์ในตัวเนื้องานถึงแนวทางต่าง ๆ เช่น โปรเจกต์ไหนประสบความสำเร็จ ก็ชวนกันถกว่า สำเร็จได้อย่างไร มีจุดพลาดพลั้งตรงไหนอย่างไรบ้าง รวมทั้งวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินงานกันอยู่ การพูดคุยเช่นนี้ นอกจากเราจะได้ใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ เรายังสามารถมองเห็นภาพรวม และจุดบกพร่องของงานนั้น ๆ ให้เราสามารถพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันควัน
ทั้งนี้ การร่วมวงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในประเด็นที่กล่าวมานั้น ย่อมต้องอาศัยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากในระดับหนึ่ง และเป็นเพื่อนร่วมงานที่มองเห็นคุณค่าของตัวงาน มากกว่าการนำเรื่องราวในบริษัทมาซุบซิบนินทากันเท่านั้น
3
 
ยินดีกับเพื่อนร่วมงานเมื่อเพื่อนได้รับโอกาสดี ๆ  

หลายครั้งที่การทำงานในองค์กร เราจะได้เห็นบุคลากรหลากหลายตำแหน่งได้รับการเลื่อนขั้น ปรับตำแหน่ง ปรับฐานเงินเดือน รวมทั้งการได้รับโอกาสที่ดีต่าง ๆ ซึ่งการแสดงความยินดีอย่างจริงใจกับเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราเข้าไปยินดีกับเพื่อนร่วมงาน และพูดคุยถึงความก้าวหน้าของเพื่อนนั้น เราจะได้รับมุมมองดี ๆ เหล่านั้นมาปรับใช้กับตนเองได้ ถ้าใจกล้าพอก็ลองให้เพื่อนร่วมงานติชม แนะนำแนวทางการทำงานของเราด้วยก็จะยิ่งดี แต่ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับข้อเสนอแนะด้านบวกและด้านลบด้วย หากเรามองข้ามความขัดแย้งในตัวบุคคลนี้ แล้วพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ก็นับว่าเราพัฒนาความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
ความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ทุกคน ต่างคนก็มีพื้นเพนิสัยที่แตกต่างกันไป แต่การพัฒนาตนให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน จะนำมาซึ่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ความร่วมมือ ความสุข แล้วเป็นอีกหนึ่งเส้นทางลัดที่เราจะนำมาใช้เพื่อไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้าได้ เรียกว่า พัฒนาตัวเองไปพร้อม ๆ กับพัฒนามนุษยสัมพันธ์ (IQ & EQ) นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา