ส่องโมเดลธุรกิจ After You แบรนด์ร้านขนมที่ยืนหนึ่งในใจลูกค้า
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ส่องโมเดลธุรกิจ After You แบรนด์ร้านขนมที่ยืนหนึ่งในใจลูกค้า

icon-access-time Posted On 05 กันยายน 2567
By Krungsri The COACH
ปัจจุบันธุรกิจคาเฟ่หรือร้านขนมหวานมีการแข่งขันกันสูงมาก ซึ่งก็มีหลายร้านที่ต้องปิดตัวไป แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายร้านที่ครองใจลูกค้าได้อย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ “After You” ที่โดดเด่นและเป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ เราลองไปดูกันว่า After You มีวิธีสร้างแบรนด์และวางโมเดลธุรกิจอย่างไร ถึงได้ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

ย้อนรอยความสำเร็จที่หอมหวานของขนม After You

แรกเริ่มเดิมที คุณเม-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง After You ได้เปิดร้านขายอาหารทะเลมาก่อน เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเลอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ชื่นชอบในการทำขนมหวาน และมีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเปิดร้านขนมเป็นของตัวเอง คุณเมจึงได้ทำตามเสียงหัวใจ เริ่มเปิดร้าน After You สาขาแรกที่ J Avenue ย่านทองหล่อ เมื่อปี 2007 และมีผู้เป็นพี่ชายคือคุณแม่ทัพ ต.สุวรรณ หรือคุณหมิง เป็นผู้ดำเนินธุรกิจ และขยายกิจการให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันจากร้านของหวานเล็ก ๆ ก็เติบโตสู่การเป็นบริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด มหาชน นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พลิกสู่ธุรกิจหมื่นล้านได้สำเร็จ และยังขยายสู่ 40 สาขาทั่วประเทศไทย ทั้งยังขยับขยายสู่แบรนด์ร้านเครื่องดื่มอย่าง “Mikka” และแบรนด์ร้านผลไม้ “ลูกก๊อ” อีกด้วย

เจาะลึกโมเดลธุรกิจของ After You ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

เจาะลึกโมเดลธุรกิจของ after you ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
 

บุกเบิกขนมหวานสำหรับคนยุคใหม่

เมนูอย่าง Honey Toast และ Kakigori อาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับยุคนี้ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน นี่คือเมนูสุดว้าวที่ยังไม่ค่อยเห็นในประเทศไทย โดยจะเรียกว่า After You คือผู้มาก่อนกาลก็ว่าได้ ซึ่งทั้ง 2 เมนูนี้เป็นตัวชูโรงให้กับแบรนด์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็ต้องสั่งมาลิ้มลองความอร่อย และถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีเมนูผลไม้ตามฤดูกาลที่คอยสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้าอีกด้วย
 

มีครัวกลางช่วยรักษามาตรฐาน

โจทย์ใหญ่ของร้านอาหารที่มีหลายสาขา คือ การรักษามาตรฐานรสชาติและคุณภาพในแต่ละเมนูให้คงที่อยู่เสมอ ซึ่ง After You แก้โจทย์นี้ด้วยการตั้งโรงงานผลิตขึ้นมาเป็นครัวกลาง และส่งสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ จึงทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและรสชาติอาหารได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 

เข้าใจความต้องการของลูกค้า

After You ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีว่า มีกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการทานของหวานเพื่อฮีลใจ โดยที่ไม่จำกัดช่วงเวลาว่าจะต้องเป็นตอนกลางวันเท่านั้น ทางแบรนด์จึงเลือกเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตีมอลล์ที่เดินทางสะดวก เพื่อให้เป็นจุดนัดพบ และสามารถทานของหวานหลังเลิกงานได้ นอกจากนี้ยังตอบโจทย์ลูกค้าที่มองหาของหวานหลังมื้ออาหาร รวมถึงมีเมนู “Baby Size” สำหรับลูกค้าที่มาคนเดียวอีกด้วย
 

จับมือพันธมิตร เพิ่มยอดขาย

ไม่เพียงแต่มีหน้าร้านในศูนย์การค้าต่าง ๆ เท่านั้น แต่ After You ยังขยายโมเดลธุรกิจ ด้วยการจับมือกับพันธมิตร เช่น BTS เพื่อตั้งร้านแบบ To-go ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น

โมเดลธุรกิจ หรือ Business Model Canvas คืออะไร

business model canvas คืออะไร

จากกรณีศึกษาของแบรนด์ After You จะเห็นได้ว่าการวางโมเดลธุรกิจ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งโมเดลธุรกิจ หรือ Business Model Canvas คือ เครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการใช้ทำธุรกิจ ซึ่งคิดค้นโดย ดร. Alexander Osterwalder จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรื่อง Business Model Generation ออกมาในปี ค.ศ. 2010 และมีเสียงตอบรับจากนักธุรกิจทั่วโลกว่า สามารถนำไปใช้วิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้าง Business Model Canvas ทำได้โดยแบ่งตารางออกเป็น 9 ช่อง โดยแต่ละช่องจะต้องตอบคำถามที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจทุกประเภท ซึ่งคำถามจะมีทั้งหมด 9 ข้อดังนี้
  1. จุดเด่นของธุรกิจของเราคืออะไร? (Value Propositions)
  2. กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราคือใคร? (Customer Segments)
  3. ใช้วิธีใดในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า? (Customer Relationships)
  4. มีช่องทางใดบ้างในการเข้าถึงธุรกิจ? (Channels)
  5. กิจกรรมหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจคืออะไร? (Key Activities)
  6. พาร์ตเนอร์ของเรามีใครบ้าง? (Key Partners)
  7. ทรัพยากรที่สำคัญในธุรกิจของเรามีอะไรบ้าง? (Key Resources)
  8. รายได้หลักของธุรกิจมาจากทางไหนบ้าง? (Revenue Streams)
  9. ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจมีอะไรบ้าง? (Cost Structure)

ถอดสูตร Business Model Canvas ตัวอย่างธุรกิจ : แบรนด์ After You

ถอดสูตร business model canvas ของ after you

เมื่อทราบกันแล้วว่า Business Model Canvas หรือโมเดลธุรกิจคืออะไร และจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เราก็จะมาลองถอดสูตร Business Model Canvas ของแบรนด์ After You เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพกันมากขึ้น ซึ่งก็จะได้ออกมาดังนี้
 

1. จุดเด่นของธุรกิจ (Value Propositions)

  • ขนมหวานรสชาติอร่อย ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี
  • จัดจานสวยงาม เหมาะกับการถ่ายภาพลงโซเชียลฯ
  • อยู่ในห้างสรรพสินค้า/คอมมูนิตีมอลล์ เดินทางสะดวก
  • ภาพลักษณ์และบรรยากาศร้านดูคลาสสิก ไม่เบื่อเร็ว
 

2. กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Customer Segments)

  • คนที่ชื่นชอบขนมหวาน
  • คนที่ตามกระแสเรื่องของกิน
  • คนที่มีกำลังซื้อ
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ชอบเช็กอินร้านดัง
 

3. การสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships)

  • บริการลูกค้าด้วยรอยยิ้ม
  • รับฟังฟีดแบ็กของลูกค้า
  • มีระบบสมาชิกสะสมแต้ม
 

4. ช่องทางการเข้าถึง (Channels)

  • หน้าร้านสาขาของ After You
  • แพลตฟอร์มเดลิเวอรี
  • After You Application
  • โซเชียลมีเดีย
 

5. กิจกรรมหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Key Activities)

  • ทำขนมอย่างพิถีพิถัน เสิร์ฟจานต่อจาน
  • รักษามาตรฐานด้านรสชาติและการบริการ
  • คิดเมนูใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า
  • ขยายสาขาในทำเลที่เหมาะสม
 

6. พาร์ตเนอร์หลัก (Key Partners)

  • ห้างสรรพสินค้า/คอมมูนิตีมอลล์ที่ตั้งสาขา
  • รถไฟฟ้า BTS
  • ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ
  • พันธมิตรในต่างประเทศ
 

7. ทรัพยากรที่สำคัญ (Key Resources)

  • คุณเมและคุณหมิง ผู้ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจ
  • บุคลากร พนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
  • สูตรขนมหวานและเครื่องดื่ม
  • สถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ
 

8. รายได้หลักของธุรกิจ (Revenue Streams)

  • รายได้จากร้านสาขา
  • รายได้จากการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ และการรับจ้างผลิตขนมหวาน
 

9. ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจ (Cost Structure)

  • ค่าวัตถุดิบ
  • ค่าจ้างพนักงาน
  • ค่าเช่าพื้นที่

Business Model Canvas มีประโยชน์กับธุรกิจอย่างไร

business model canvas มีประโยชน์กับธุรกิจอย่างไร

ปัจจุบัน Business Model Canvas คือเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ประกอบการ ทั้งสตาร์ตอัปและธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีประโยชน์หลัก ๆ ดังนี้
 

เห็นภาพรวมธุรกิจภายใน Canvas แผ่นเดียว

ไม่ว่าโครงสร้างและกลยุทธ์ของธุรกิจจะซับซ้อนขนาดไหน แต่ Business Model Canvas จะช่วยฉายภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดให้เห็นในหน้ากระดาษเพียงแผ่นเดียว แบบครบวงจร จึงสามารถสื่อสารได้อย่างตรงประเด็น ทำให้ทุกคนที่ได้เห็นเกิดความเข้าใจตรงกันทันที และสามารถนำความเข้าใจนั้นไปใช้ดำเนินกลยุทธ์ให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นได้
 

สร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจ

เมื่อเราเห็นภาพรวมทุกอย่างแล้ว ก็จะเห็นว่าธุรกิจของเรามีจุดแข็งคืออะไรบ้าง ซึ่งเราก็จะสามารถหยิบสิ่งเหล่านั้นมาทำการตลาดเพื่อดึงดูดใจลูกค้า และยังมองเห็นจุดอ่อนที่เราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
 

รู้ส่วนที่ขาดและรู้ว่าต้องเพิ่มสิ่งใดให้กับธุรกิจ

การทำ Business Model Canvas จะทำให้เรากำหนดเป้าหมายธุรกิจได้อย่างชัดเจน ว่าควรดำเนินไปในทิศทางไหน แล้วเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 9 ข้อ ก็จะเห็นว่าเรามีข้อใดที่ยังขาด และจะต้องเพิ่มเติมตรงจุดไหน เพื่อให้มีความสมบูรณ์ ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด

จะเห็นได้ว่ากรณีศึกษาของ After You มีการนำเอา Business Model Canvas มาใช้ในการทำธุรกิจ จนสามารถดึงเอาจุดแข็งของตัวเอง ออกมาเป็นจุดเด่นที่สำคัญของแบรนด์ได้ จึงทำให้ After You ยืนหนึ่งในใจลูกค้าได้อย่างยาวนานมากกว่า 10 ปี และยังเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย หากผู้ประกอบการท่านใดนำ Business Model Canvas มาใช้ แล้วต้องการเงินทุนเพื่อเสริมจุดแข็งหรือกลบจุดอ่อนของธุรกิจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อเพื่อสร้างธุรกิจ


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา