กลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจให้ยั่งยืน

กลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจให้ยั่งยืน

By Krungsri GURU SME

ผู้ประกอบการใหญ่น้อยจำนวนมากมักต่อยอดธุรกิจของตัวเอง หลังจากทำธุรกิจมาสักระยะจนอยู่ตัว มีเงินสะสมก้อนหนึ่ง อีกทั้งรู้ความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี และมีลูกค้ามากพอ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ที่สำคัญเป็นการเกื้อหนุนให้ธุรกิจหลักไปได้ด้วยดี

หากศึกษาการต่อยอดธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สิ่งที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ทำแต่เดิม โดยทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น อย่างเช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่งแถวภาคใต้เลี้ยงนกนางแอ่นและขายรังนกนางแอ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาเมื่อขายไปได้ระยะหนึ่งก็นำสารสกัดจากรังนกนางแอ่นมาทำเป็นครีม หรือบางรายทำน้ำฟักข้าวขายอยู่แล้วก็แตกไลน์ทำเป็นสบู่ฟักข้าว เป็นยาสระผมฟักข้าว เป็นครีมฟักข้าว
ขณะที่บางรายอาจจะทำผลิตภัณฑ์แบบเดิมแต่เพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ เข้าไปเพื่อให้เกิดความแตกต่าง หรืออย่างผู้ประกอบการบางรายทำผงปรุงรสที่ทำจากหอมหัวใหญ่ ต่อมาก็เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นอาหารเสริม โดยนอกจากจะมีหอมหัวใหญ่แล้วยังเพิ่มพืชผักสมุนไพรตัวอื่นเข้าไปอีกด้วย ซึ่งการแตกไลน์มาเป็นอาหารเสริมเพราะเห็นว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในกระแสและกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ
 
การต่อยอดธุรกิจที่ว่านี้เป็นรูปแบบที่พบเห็นกันโดยทั่วไป เป็นการใช้วัถตุดิบที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และใช้ความเชี่ยวชาญที่มีในการผลิตสินค้านั้น ๆ อีกทั้งยังสามารถครอบคลุมลูกค้ากลุ่มเดิมได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการบางรายที่ต่อยอดธุรกิจโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแต่อย่างใด เพราะเห็นว่ามีช่องทางการตลาดที่สามารถทำเงินได้ก้อนโต อาทิ การขายจักรยานและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับจักรยานอย่าง เสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในเทรนด์และน่าจะไปได้อีกนาน เนื่องจากยุคสมัยนี้ผู้คนหันมาเอาใจใส่เรื่องสุขภาพกันมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย โดยอาจจะเปิดร้านขายหรือขายผ่านทางออนไลน์ก็ได้
อีกวิธีการหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจ คือ ไปเลือกดูผลงานการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งสนับสนุนงานวิจัยที่ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ และยังมีหน่วยงานให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจอีกด้วย จึงถือเป็นอีกช่องทางในการต่อยอดธุรกิจ โดยอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมก็ได้ ผลงานการวิจัยจำนวนมากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่มีในท้องตลาดมาก่อน ดังนั้นจึงต้องมีการทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ลูกค้ารู้จัก
สรุปแล้วกลยุทธ์การต่อยอดธุรกิจไม่ใช่เพียงการผลิตสินค้าที่เชื่อมโยงกับสินค้าเดิมที่มีอยู่เท่านั้น เพราะปัจจุบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น จึงควรนำความก้าวหน้าดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ อาทิเช่น การค้าขายผ่านออนไลน์ ซึ่งสินค้าบางตัวที่บ้านเราไม่มี หรือมีแต่ราคาแพง สามารถสั่งนำเข้ามาค้าขายได้ ขณะที่สินค้าที่ผลิตเองก็ยังคงทำควบคู่กันไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยว่ามีความพร้อม มีความตั้งใจ และมีเป้าหมายอย่างไร เพราะการจะทำอะไรนั้นพื้นฐานสำคัญ คือ จะต้องมีความรักความชอบด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow