6 สัญญาณเตือนธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

6 สัญญาณเตือนธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง

icon-access-time Posted On 09 ตุลาคม 2566
By Krungsri The COACH
ในภาวะปัจจุบันธุรกิจ SME ต้องเจอเหตุการณ์ท้าทายต่าง ๆ จากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทัน แม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ผลผลิตต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล รวมทั้งผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่กระทั่งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประเภท และรายละเอียดความต้องการสินค้า และบริการเปลี่ยนไป

ความต้องการสินค้าบางประเภทลดลง และแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตลดลง ค่าแรงสูงขึ้น หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ความผันผวนในค่าเงิน ทำให้เกิดความชะลอตัวในการใช้เงินของคนในประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบกับธุรกิจ SME โดยตรง
เจ้าของธุรกิจ SME เริ่มวางแผนธุรกิจ

อย่างไรก็ตามบางธุรกิจเองอาจจะได้รับอานิสงส์ที่ดีจากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ หรือธุรกิจที่เน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ในบางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบ ทำให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่อง เงินทุนที่เคยมีเริ่มลดน้อยลง จนอาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการลง และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจ SME ของเราเริ่มขาดสภาพคล่อง มาดูสัญญาณเตือนกันว่า หากมีสัญญาณเรานี้ เราต้องรีบหาทางรับมือก่อนที่จะสาย มาดูกัน

สัญญาณเตือนที่บอกว่าธุรกิจ SME เริ่มขาดสภาพคล่อง มีดังนี้

1. รายได้ลดลง

หากยอดขายของเราเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณเตือนแรก ๆ ว่าธุรกิจเริ่มมีปัญหา ต้องกลับมาดูต่อว่าปัญหาเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากการเข้ามาของคู่แข่งที่เยอะขึ้น หรืออยู่ในช่วงที่ธุรกิจเราอยู่ในช่วงวงจรธุรกิจชะลอตัว หรือแม้แต่กระทั่งช่วงนี้ผู้บริโภครัดเข็มขัด ชะลอการใช้จ่ายก็เป็นได้ ดังนั้นธุรกิจ SME จึงต้องหันกลับมามอง และวิเคราะห์สถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจเรา จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด

บางธุรกิจมีรายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกวัน ทุกเดือน เช่น ค่าเช่า ค่าพนักงาน หากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้น ธุรกิจ SME ต้องควักกำไรสะสมที่เคยเก็บได้ออกมาเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายต่าง ๆ และหากรายได้ไม่กลับมา แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจเรา จนธุรกิจอาจจะต้องปิดตัวลงได้ในที่สุด ซึ่งเราย่อมไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแน่ ๆ
 
เจ้าของธุรกิจ SME คำนวณสภาพคล่อง
 

2. กำไรที่ลดลงเป็นเรื่อย ๆ

บางธุรกิจรายได้ไม่ลดลงก็จริงแต่เป็น Margin ส่วนต่างกำไรต่างหากที่หดหายลดลง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตเราสูงขึ้น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าน้ำมัน หรือค่าขนส่ง เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้ธุรกิจ SME ต้องมานั่งดูตัวเลขรายจ่ายแต่ละตัวแล้วว่ามีรายจ่ายอะไรที่ผิดปกติ หรือมีรายจ่ายแฝงอะไรเกิดขึ้น จะได้แก้ปัญหาได้ทัน เพราะเจ้าของธุรกิจอาจชะล่าใจ คิดว่ายอดขายเราไม่ตก ขายออกได้เรื่อย ๆ แต่ที่ไหนได้ ไม่มีกำไรเหลือเลย แบบนี้เจ้าของธุรกิจ SME ก็คงจะเหนื่อยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นบรรทัดสุดท้าย คือ กำไร อย่าลืมดูรายละเอียดส่วนนี้กันด้วย
 

3. สินค้าค้างอยู่ในสต็อกนานขึ้น

นี่สิ่งที่เป็นผลกระทบจากข้อ 1 ที่เกิดจากยอดขายน้อยลง ทำให้เงินของเราไปจมอยู่กับการสต็อกสินค้า หากสินค้าของเราเก็บได้นานก็อาจจะเบาใจขึ้นได้หน่อย แต่หากสินค้าของเราไม่สามารถเก็บได้นาน อาจเกิดปัญหาสินค้าหมดอายุตามมา สร้างความเสียหายในธุรกิจของเราได้ เพราะเราไม่สามารถแปลเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสด เพื่อเอาไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อในกิจการ ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องได้
 

4. การชำระเงินของคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ลูกค้าจ่ายเงินไม่ตามกำหนด มีการเลื่อนจ่ายเงิน ซึ่งหากเป็นแบบนี้บ่อยเข้าจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

เช่น เดิมทีเราให้เครดิตเทอมในการชำระเงินแก่ลูกค้าเรา หรือที่เรียกว่าลูกหนี้ เป็นระยะเวลา 1 เดือน แต่ลูกค้าขอขยายระยะเวลาในการจ่ายออกไป พูดง่าย ๆ เลื่อนจ่าย เป็น 2 เดือน นั่นแปลว่าต้องรออีก 2 เดือน กว่าจะได้เงิน แสดงว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ธุรกิจจะมีเงินหมุนเวียนน้อยลง อาจไม่เพียงพอ ต้องหาเงินทุนมาเพิ่ม เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอในการทำธุรกิจ หรืออาจจะเกิดจากเจ้าหนี้ (Supplier) ของธุรกิจเรา ขอให้เราชำระเงินภายใน 15 วัน จากเดิมที่เคยให้เครดิตการค้าเรา 30 วัน ก็อาจทำให้เราขาดสภาพคล่อง มีเงินสดไม่เพียงพอก็ย่อมเป็นไปได้
 
การบริหารสต็อกสินค้าในธุรกิจ

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรับเงินฝั่งจากลูกหนี้ ลูกค้า หรือการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ Supplier หากเครดิตเทอมในการชำระเงินเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจได้โดยตรง การเตรียมความพร้อมเรื่องเงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจ SME ต้องเตรียมความพร้อมรับมือไว้
 

5. ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าธุรกิจเติบโตย่อมเป็นผลดีต่อ SME ในบางรายมีการนำสินค้าเข้าไปขายใน Modern Trade ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย แตกไลน์ธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มโอกาสในทางธุรกิจ มีการเพิ่มกำลังการผลิต ขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม เป็นต้น แต่การขยายตัวของธุรกิจย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในธุรกิจ

ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เช่น การระดมทุนเพิ่ม หรือมีการขอสินเชื่อธุรกิจ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในการรองรับกับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้น ซึ่งธุรกิจควรมีการวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าในการจัดเตรียมเงินให้ทันกับธุรกิจที่เติบโต เพื่อโอกาสทางธุรกิจ
 

6. เงินจมอยู่ในสินทรัพย์ที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้

ธุรกิจ SME บางรายได้รับผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น บางรายอาจมีการตกแต่งร้านใหม่ หรือเสียค่าเช่าแพง ๆ แต่ไม่ตรงกับลูกค้าหลักของร้าน ทำให้สินทรัพย์ที่มีนั้นไม่ก่อให้เกิดรายได้เท่าที่ควร มีค่าใช้จ่ายที่เป็น Fixed Cost จ่ายทุกเดือน ส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างเห็นได้ชัด
 
เจ้าของธุรกิจ SME หาเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

3 แนวทางเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SME

1. บริหารต้นทุนให้ดี

การบริหารต้นทุนจะช่วยให้ธุรกิจ SME มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น โดยหลัก ๆ แล้วจะมีต้นทุนจะมีทั้งคงที่ และต้นทุนผันแปร ซึ่งเป็นบางอย่างเป็นต้นทุน หรือรายจ่ายที่ควบคุม และประหยัดได้ นอกจากนี้การจัดการสต็อกสินค้าก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่เก็บสินค้าไว้มากจนเกินความจำเป็น เพราะอาจเสียโอกาสในการนำเงินสดไปใช้ในการบริหารจัดการในด้านอื่น ๆ ดังนั้นหาก SME บริหารต้นทุนได้ดี สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SME ได้ ในการดำเนินธุรกิจต่อไป
 

2. เจรจากับคู่ค้า

ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเจ้าหนี้ (Supplier) หรือลูกหนี้การค้า (ลูกค้า) เพื่อให้กิจการของเราหมุนเงินได้ทัน โดยเราอาจมีการกำหนดนโยบายการจ่ายเงิน และการรับเงินอย่างชัดเจน เพื่อให้เราสามารถบริหาร และประมาณการเงินทุนหมุนเวียนของเราได้ดียิ่งขึ้น
 

3. จัดทำแผนประมาณการกระแสเงินสด

การจัดทำแผนประมาณการกระแสเงินสด เงินเข้า เงินออก ประมาณการรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งจัดวงเงินสำหรับเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอ เมื่อยอดขายโตขึ้น หรือเพื่อรองรับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SME ได้
 
เจ้าของธุรกิจ SME บริหารเงินทุนเพื่อทำธุรกิจ

สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจของ SME นั้น คือ สภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นธุรกิจ SME ต้องมีเงินสำรองเพียงพอ เป็นการกระจายความเสี่ยง ในกรณีที่ธุรกิจต้องเจอสถานการณ์ฉุกเฉินธุรกิจจะได้ไม่สะดุด ดังนั้นเงินทุนสำรอง เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ หากธุรกิจใครอยากเพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อ SME Quick Loan จากธนาคารกรุงศรี ที่ให้วงเงินสูงสุดถึง 15 ล้านบาท กู้ระยะยาว สูงสุด 12 ปี เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น สามารถต่อยอดธุรกิจไปได้แบบยาว ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกตรงนี้ได้เลย!
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา