หากเปรียบเรื่องการวางแผนการเงินเป็นกีฬา สิ่งที่เหมาะจะนำมาเทียบมากที่สุดคงจะเป็นวิ่งมาราธอนที่นักกีฬาต้องเตรียมตัว วางแผน และมีความอดทนในการออกวิ่งมาก ๆ ชิน ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง หรือที่รู้จักกันในนาม Mass Affluent ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลของธนาคารกรุงศรี เป็นหนึ่งในโค้ชวางแผนทางการเงินที่เก่งกาจที่สุดเท่าที่เรารู้จัก จะมาถ่ายทอดเทคนิคทั้งหมดที่จะทำให้คุณรู้ว่าเป้าหมายแบบใด คือเส้นชัยแห่งความมั่นคง
รู้ฐานะทางการเงินของตัวเอง
เหตุผลที่เราต้องรู้ฐานะทางการเงินนั้นก็เพื่อที่ว่าในสเต็ปถัดไป จะได้ตั้งเป้าหมายทางการเงินของเราได้อย่างชัดเจนได้ผลจริงตามฐานะทางการเงิน ยกตัวอย่างประกอบ เช่น ถ้าคุณมีสถานะทางการออมเงินเป็นลบ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มมูลค่าของเงินออม แต่ควรเน้นเรื่องสภาพคล่อง อย่างการเพิ่มรายได้หรือการลดรายจ่ายมากกว่า แต่ถ้าในกรณีที่คุณมีสถานะเงินออมเป็นบวก ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น และควรมองเรื่องการลงทุนเพิ่มมูลค่าให้เงินออม
รู้เป้าหมาย
หลักการตั้งเป้าหมายทางการเงินประกอบไปด้วย 5 แนวทางด้วยกัน
- ต้องรู้ก่อนว่าเราทำไปเพื่ออะไร อย่างเช่น เราอยากมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนหนึ่งสักประมาณสองหมื่นบาท
- ทำอะไร ยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น อยากมีเงินใช้สองหมื่นเราก็ต้องเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้
- วัดเป็นตัวเลข โดยอาจจะออมสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน สมมติว่าเงินเดือนสี่หมื่นก็อาจจะออมประมาณ สี่พันบาท
- มีระยะเวลาที่ชัดเจน ก็เช่นว่าอายุสามสิบถึงหกสิบ ก็ออมตั้งแต่อายุสามสิบถึงหกสิบนั่นเอง
- สามารถทำได้จริง เราก็จะสามารถเอาเงินออมของเราไปลงทุน แต่สำหรับบางช่วงที่เศรษฐกิจมีสภาวะค่าเงินเฟ้อ ถ้าลงทุนแบบนี้ก็เกรงว่าเงินจะไม่พอใช้หลังเกษียณ ดังนั้นเราอาจจะต้องไปลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ อย่างเช่นกองทุนรวมตราสารทุน เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินของคุณได้แล้ว
รู้จักจัดการเงิน
หลังจากรู้เป้าหมายทางการเงิน เราก็มา
Plan Your Money กันดีกว่า การจัดการการเงินมีอยู่สามแนวทาง แนวทางแรกคือ เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ตัวอย่างการเพิ่มรายได้ก็คือ เราใช้เวลาว่างของเราให้เป็นประโยชน์ในฐานะมนุษย์เงินเดือน โดยเวลาว่างช่วงเสาร์-อาทิตย์ อาจจะใช้ความสามารถส่วนตัวของคุณ หรืออาจจะเป็นนายหน้าคอนโดก็ได้ คือจับคู่คนที่อยากหาเช่าคอนโดให้มาเจอกับคนปล่อยเช่าแล้วก็รับค่านายหน้า หรืออาจจะมีความสามารถเรื่องการขายว่าใช้สินค้าไหนดีแล้วจึงมาแนะนำขายให้เพื่อนต่อ หรือทำการตลาดออนไลน์เพื่อขยายช่องทางการขาย
ส่วนตัวอย่างเรื่องการลดรายจ่าย “ผมเคยเจอเพื่อนคนหนึ่งที่เงินเดือนประมาณหมื่นห้า แต่ซื้อหวยไปสามพัน ทีนี้เรื่องหวยเนี่ย บางทีมันเป็นความสุขของคนซื้อ ดังนั้นถ้าเราต้องการเพิ่มสภาพคล่อง เราอาจจะไม่ได้งดซื้อเลยทีเดียว อาจจะลดเหลือสักพันห้า เพียงแค่นี้เราก็สามารถเพิ่มรายได้ แล้วก็ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงไปได้”
แนวที่สองคือ การสร้างรายได้ให้งอกเงย หรือการเพิ่มมูลค่าการลงทุน คือถ้าเรามีเงินออมอยู่ มีวัตถุประสงค์ของการลงทุนที่ชัดเจน เช่นอยากจะมีเงินออมให้กับลูก หลังจากลูกเรียนจบ เราถามตัวเองว่าเงินก้อนนี้ อยากได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ รับความเสี่ยงการขาดทุนได้แค่ไหน สมมติว่าเรามองเห็นการขาดทุนไม่ได้เลย ก็อาจจะเอาเงินออมบางส่วนไปสร้างมูลค่าเพิ่มกับการลงทุนผลิตภัณฑ์เงินฝาก หรือกองทุนตราสารหนี้ แต่ถ้าต้องการวางแผนเพื่อเกษียณ ก็อาจจะรับความเสี่ยงได้มากขึ้นเราก็อาจจะไปลงทุนในกองทุนตราสารทดแทน
แนวทางที่สาม เรื่องการบริหารความเสี่ยง หัวใจของการบริหารความเสี่ยงคือการถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา คนที่อยู่ข้างหลังเราจะได้ไม่เดือดร้อน จากภาระหนี้สิน หรือการขาดรายได้จากเรา อย่างเช่น อายุสามสิบ แต่งงานแล้วมีลูกหนึ่ง มีหนี้บ้านอยู่สองล้าน อาจจะเลือกประกันชีวิตประเภทตลอดชีพ เบี้ยประมาณสองหมื่น แต่ความคุ้มครองที่ได้สองล้านบาท หมายความว่าเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ความคุ้มครองของประกันก็จะมาครอบคลุมหนี้ค่าบ้านตรงนี้ ครองครัวของเราก็จะยังคงมีบ้านอยู่ นั่นก็คือหลักการบริหารความเสี่ยง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่ตอบโจทย์การวางแผนทางการเงินของคุณได้ดีที่สุดก็คือ ตัวของคุณเอง