เลือกซื้อหุ้นให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เลือกซื้อหุ้นให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ

icon-access-time Posted On 21 พฤศจิกายน 2560
By Krungsri The COACH

เมื่อไลฟ์สไตล์ต่าง การลงทุนที่เหมาะสมก็ย่อมต่างไป สำหรับนักลงทุนที่อยากเข้าสู่ตลาดหุ้น การเลือกซื้อหุ้นอย่างรอบคอบก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม แต่แบบไหนล่ะที่เหมาะกับตัวเรา บทความนี้มีคำตอบ

มีแต่คนบอกว่าถ้าอยากจนให้ไปเล่นหวย ถ้าอยากจะรวยให้ไปเล่นหุ้น มีใครคนไหนไม่อยากรวยบ้าง ยกมือซิ แต่พออยากรวยก็สาวเท้าเข้าไปเล่นหุ้นกันเลย หุ้นตัวไหนใครว่าดีซื้อมาเก็บในพอร์ตหมด แต่ถ้ามันดีตามใคร ๆ ว่าจริง ทำไมถึงนอนก่ายหน้าผาก ดูตัวเลขสีแดงกัน เฮ้อ !
ที่จริงการเลือกซื้อหุ้นจะเรียกว่าเป็นศาสตร์ผสมศิลป์ก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เล่นหุ้นตัวเดียวกันจะได้กำไรเหมือนกันทุกคน ทำไมบางคนเล่นหุ้นตัวนี้แล้วรุ่ง แต่กับบางคนเล่นแล้วรุ่งริ่ง อันนี้น่าคิดนะ
การเลือกซื้อหุ้นมันก็มีวิธีของมันอยู่ แล้วแต่ว่าใครจะเลือกใช้เทคนิคไหน เหมือนเลือกเสื้อผ้ามาใส่นั่นแหละ เสื้อผ้าตัวเดียวกันใช่ว่าจะใส่แล้วดูดีกันทุกคนเนอะ
เข้าเรื่องดีกว่า วันนี้จะมาให้เทคนิคการเลือกซื้อหุ้นให้เหมาะกับตัวเอง คำว่าเหมาะในที่นี้ คือ เหมาะกับทั้งไลฟ์สไตล์ของเรา เหมาะกับงบลงทุน ความรู้ที่เรามี และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนต้องทำงานประจำ จะไปเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาขึ้นลงหวือหวา บอกเลยว่าอย่าซื้อ เพราะคนทำงานประจำ ใจต้องจดจ่อกับงาน ไม่มีเวลามานั่งติดตามหุ้นตลอดเวลา การซื้อหุ้นประเภทนี้ต้องซื้อมาขายไปแบบรวดเร็ว คนที่ไม่มีเวลาจึงไม่ควรซื้อเก็บหุ้นประเภทนี้ไว้ในพอร์ต เพราะมันเสี่ยงต่อการขาดทุนสูง
รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ?
อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับบททดสอบของบริษัทโบรกเกอร์แต่อย่างใด แต่มันเกี่ยวกับนิสัยของผู้ลงทุนในหุ้น หากเป็นประเภทที่กลัวการขาดทุน ก็ควรเลือกซื้อหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ มีเงินปันผล หรือราคาไม่ผันผวนมาก แต่สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ ประเภทกล้าได้กล้าเสีย ควรเลือกเล่นหุ้นที่มีราคาขึ้นลงเร็ว โดยเลือกเข้าซื้อหุ้นในราคาต่ำ และรีบขายเมื่อได้ราคาสูง ก็จะได้ผลตอบแทนจากผลต่างราคาเป็นที่น่าพอใจ
ถามตัวเองก่อนว่ามีเงินเย็นในมือมากน้อยแค่ไหน เงินเย็น คือ เงินที่ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ทำอะไร เพราะการเล่นหุ้นแม้ว่าจะศึกษามาถี่ถ้วนแล้ว แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง หากเกิดกรณีเลวร้าย จะมีจุด Stop Loss ที่ตรงไหน และจะรอทนมองดูพอร์ตติดลบได้นานเท่าไร ถ้าเล่นหุ้นด้วยเงินเย็นก็ไม่ต้องกังวลและรีบขายแบบขาดทุน
มีเทคนิคหรือความรู้ในการเล่นหุ้นแบบไหน ?
ไม่ว่าการลงทุนหุ้นหรือลงทุนทำธุรกิจล้วนแต่ต้องมีความรู้ในการบริหารด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น หากคิดจะเล่นหุ้นก็ต้องรู้ตัวเองว่ามีความรู้เรื่องหุ้นมากแค่ไหน ถ้าไม่มีก็ควรจะหาความรู้เสียก่อน และเลือกใช้เทคนิคการเล่นหุ้นที่ตัวเองถนัด
ลงทุนมากน้อยแค่ไหน?
ข้อดีของการลงทุนเยอะ ๆ คือ สามารถซื้อหุ้นได้เป็นจำนวนมาก ๆ และหลากหลาย เมื่อเจอภาวะหุ้นขึ้น ก็จะได้ผลตอบแทนสูง การซื้อหุ้นไว้หลากหลายก็จะลดความเสี่ยงพอร์ตติดลบ แต่ข้อเสียของการลงทุนเยอะ ๆ คือ หากหุ้นราคาตก ก็จะเจอภาวะขาดทุนเป็นเงินจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนข้อดีของการลงทุนน้อย ๆ แม้จะซื้อหุ้นได้จำนวนน้อย และกำไรอาจจะน้อยเมื่อหุ้นขึ้น แต่เมื่อหุ้นตกก็จะขาดทุนน้อย การลงทุนน้อย ๆ เหมาะสำหรับมือใหม่หัดเล่น หรืออยู่ในช่วงสั่งสมประสบการณ์
สะดวกที่จะเล่นหุ้นแบบไหน?
การเล่นหุ้นแบบ DCA (Dollar-Cost- Averaging) เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยทยอยซื้อหุ้นเป็นงวด ๆ ในจำนวนเงินเท่า ๆ กัน เช่น เลือกซื้อหุ้นในวันสิ้นเดือน ด้วยเงิน 10% ของเงินเดือน วิธีนี้เหมาะสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้นและผู้ต้องการออมเงินในหุ้น เป็นการลงทุนระยะยาว เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีวินัยในการลงทุนสูง ส่วนการเล่นหุ้นแบบเข้าซื้อเองนั้น เป็นการเลือกลงทุนหุ้นเมื่อเห็นว่าเป็นเวลาสมควร เช่น เลือกซื้อหุ้นเมื่อหุ้นตก ราคาต่ำ หรือคิดว่าหุ้นดังกล่าวจะปรับราคาขึ้น การเล่นหุ้นแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ และมีประสบการณ์ในการเล่นหุ้นมาพอสมควร แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับมือใหม่นะ
เลือกซื้อหุ้นให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ
เลือกที่จะเป็นนักลงทุนประเภทไหน ?
ต้องหาตำแหน่งของตัวเองให้เจอว่าอยู่ในกลุ่มนักลงทุนประเภทไหน เมื่อเลือกแล้วสำคัญมาก เพราะต้องมั่นคงในจุดยืนของตัวเอง
นักลงทุนระยะสั้น เป็นนักลงทุนประเภทซื้อขายบ่อยเพื่อทำกำไรระยะสั้น ข้อดี คือ มีเงินหมุนเวียนและเปลี่ยนหุ้นได้บ่อย ๆ นักลงทุนประเภทนี้ต้องเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่โลเล ยอมรับความเสี่ยงสูง มีจุด Stop Loss ที่แน่นอนหากราคาหุ้นไม่เป็นไปตามคาด คนทั่วไปมักเรียกนักลงทุนระยะสั้นว่า “นักเล่นหุ้น
นักลงทุนแบบเล่นรอบ เป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับหุ้นตัวที่จะซื้อเป็นอย่างดี ต้องรู้ข่าวความเคลื่อนไหวหุ้นดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากต้องการจะเป็นนักลงทุนประเภทนี้ ต้องถามตัวเองว่ารู้จักหุ้นตัวที่จะซื้อดีพอหรือยัง
นักลงทุนระยะยาว เป็นนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากเงินปันผลและราคาหุ้นที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างมั่นคงเป็นหลัก คนที่ต้องการเป็นนักลงทุนประเภทนี้ ต้องลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว บางคนใช้การลงทุนประเภทนี้ไว้เพื่อต้องการรับเงินปันผลใช้ในยามเกษียณ
Time Frame แบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง ?
Time Frame คือ ข้อมูลหุ้นในอดีตภายใต้กรอบของเวลาที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจทำนายความเป็นไปของหุ้นในอนาคต โดยประกอบไปด้วยข้อมูลบนกราฟแท่งเทียน เช่น ราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด ต่ำสุด เป็นต้น รวมกันเป็นกราฟภายใต้กรอบเวลา 15 นาที กรอบเวลารายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือรายปี
คนที่มีเวลาเฝ้าจอหรือพวกฟูลไทม์เทรดเดอร์ มักใช้ Time Frame ที่เร็ว เช่น ราย 15 นาที หรือรายชั่วโมง เพราะคนพวกนี้ให้เวลาเต็มที่กับการดูแลหุ้นและเทรดหุ้นเข้าออกในระยะเวลาสั้นระดับนาทีหรือชั่วโมง แต่หากไม่มีเวลาเฝ้าหน้าจอ เช่น ทำงานค้าขายหรือทำงานประจำ ก็ต้องใช้ Time Frame ที่ช้ากว่า เช่น รายวัน รายสัปดาห์ ให้สอดคล้องกับเวลาว่างที่จะใช้ในการบริหารดูแลหุ้นของตัวเอง สรุปคือ ถ้ามีเวลาดูแลพอร์ตในกรอบเวลาไหน ก็ให้เลือกใช้ Time Frame ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ดีที่สุด
ที่สำคัญ นักลงทุนควรรู้จักบัญชีเล่นหุ้นก่อนลงทุนเพื่อใช้เป็นบัญชีหลักทรัพย์สำหรับการซื้อขายที่เปิดกับโบรกเกอร์ และขอส่งท้ายให้กับคนที่อยากรวยด้วยการเล่นหุ้นว่า อย่าทำให้หุ้นเหมือนกับหวย เพราะคนจะรวยจากหวยได้เพราะเดาสุ่มแล้วบังเอิญว่าใช่ ถ้าหากนำแนวคิดเดียวกันนี้ไปใช้กับหุ้น รับประกันว่าทั้งหมดทุนและหมดตัว นั่นเพราะการลงทุนในหุ้นไม่จำเป็นต้องเดาสุ่ม ผู้ลงทุนสามารถหาทั้งความรู้ ข้อมูลและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของตัวเอง เมื่อไรที่มีความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์มากขึ้น เมื่อนั้นการลงทุนในหุ้นก็จะมีโอกาสสำเร็จตามมา
ฝากข้อคิดให้กับนักเล่นหุ้น ดังนี้
  • การลงทุนในหุ้นให้ทั้งโอกาสสำเร็จและโอกาสล้มเหลว แต่ความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์จริงจะช่วยปิดโอกาสล้มเหลวนั้นได้
  • การลงทุนหุ้นควรมาจากพื้นฐานข้อมูล ไม่ใช่ลงทุนากพื้นฐานความโลภ
  • ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมตลอดเวลา การหยุดเรียนรู้ก็เหมือนเปิดโอกาสให้กับความล้มเหลว
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา