ในการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ซื้อขายหุ้น นักลงทุนต้องมีบัญชีหลักทรัพย์สำหรับการซื้อขายที่เปิดกับโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันบัญชีซื้อขายหุ้นนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้ครับ (
อ่านศัพท์เทคนิคน่ารู้สำหรับนักลงทุนมือใหม่)
1. บัญชีวางเงินล่วงหน้า (Cash Balance) : ซื้อหุ้นได้เท่ากับเงินที่มีในบัญชี
เป็นบัญชีที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ เพราะมีหลักการตรงไปตรงมาครับ นั่นก็คือ มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ ก็ใช้ซื้อหุ้นได้เท่านั้น นอกจากจะเข้าใจง่ายแล้ว อีกหนึ่งข้อดี คือ เป็นการจำกัดวงเงินการซื้อหุ้นของเราด้วยจำนวนเงินที่เรามีในบัญชีหุ้นนั่นเอง หากต้องการซื้อหุ้นด้วยมูลค่ามากกว่าเงินที่มีในบัญชี เราต้องโอนเงินเข้าบัญชีก่อนส่งคำสั่งซื้อหุ้นครับ
ในส่วนของการชำระเงิน โบรกเกอร์จะตัดเงินจากบัญชีในวันที่ 3 หลังจากคำสั่งซื้อได้รับการยืนยันโดยไม่นับวันหยุด หรือที่เรียกว่า T+3 และเช่นเดียวกันสำหรับการขายหุ้น เราก็จะได้รับเงินในวันที่ T+3 ยกตัวอย่างเช่น สั่งซื้อหุ้น A ในวันศุกร์ เงินค่าซื้อหุ้นจะถูกตัดออกจากบัญชีในวันพุธในสัปดาห์ถัดไปครับ ซึ่งในส่วนของเงินที่อยู่ในบัญชีหากไม่ได้มีการซื้อขายก็จะได้รับดอกเบี้ยตามที่บริษัทโบรกเกอร์กำหนดไว้
2. บัญชีเงินสด (Cash Account) : สั่งซื้อได้ก่อน จ่ายทีหลัง
สำหรับบัญชี Cash Account โบรกเกอร์จะพิจารณาวงเงินในการเทรดหุ้นจากหลักฐานทางการเงินของผู้ขอเปิดบัญชี ซึ่งก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อหุ้นได้ นักลงทุนจะต้องวางเงินประกัน 20% ของวงเงินที่ต้องการจะเทรด หรืออาจจะวางเงิน 20% ของวงเงินอนุมัติ เช่น ได้รับวงเงินอนุมัติ 100,000 บาท เราต้องวางเงินประกัน 20,000 บาท
จากนั้น เมื่อสั่งซื้อหุ้นมูลค่า 30,000 บาท เราต้องโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระค่าหุ้น 30,000++ บาท (Commission + VAT) ภายในวันที่ T+3 ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีตัดบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (ATS) เพื่อความสะดวก และเช่นเดียวกันกับกรณีการขาย ที่จะได้รับเงินโอนเข้าในวันที่ T+3 ถึงแม้ว่าเงินประกันสามารถนำมาใช้ชำระค่าหุ้นได้แต่ต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม หากเราวางเงินประกันไว้ในบัญชี เราก็จะได้รับดอกเบี้ยจากเงินส่วนนี้ตามที่โบรกเกอร์กำหนดครับ
เมื่อมีหุ้นในพอร์ตแล้ว เราก็สามารถนำหุ้นในพอร์ตมาใช้เป็นเงินประกันได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่า Cash Account นั้นมีลักษณะคล้าย ๆ กับ
บัตรเครดิต คือ สั่งซื้อได้ก่อน แล้วโอนเงินชำระค่าหุ้นภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้น นักลงทุนที่จะสามารถซื้อขายผ่าน Cash Account ได้ต้องได้รับการอนุมัติจากโบรกเกอร์แล้วว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดีในระดับหนึ่ง
3. บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance Account) หรือ บัญชีมาร์จิ้น : ยืมเงินโบรกเกอร์มาซื้อหุ้น
บัญชี Credit Balance เหมาะกับนักลงทุนระดับ Advance ครับ เป็นบัญชีที่นักลงทุนสามารถกู้ยืมเงินของโบรกเกอร์มาซื้อหุ้น ซึ่งหุ้นที่จะซื้อได้ต้องอยู่ในรายชื่อหุ้นที่บริษัทฯ กำหนดไว้เท่านั้นครับ แต่หากนักลงทุนต้องการซื้อหุ้นตัวอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ก็ทำได้เช่นกัน แต่จะต้องซื้อขายผ่านบัญชีเงินสดแทน และด้วยความที่เป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม ทางโบรกเกอร์จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการซื้อขายของบัญชีประเภทนี้มากกว่าบัญชีประเภทอื่น ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระจากนักลงทุนครับ (
อ่านวางแผนการเงินก่อนลงทุนอย่างฉลาด)
โดยขั้นตอนการซื้อหุ้นสำหรับบัญชี Credit Balance ฉบับย่อ คือ นักลงทุนต้องฝากเงินเข้าบัญชีเป็นเงินประกันตาม Initial Margin Rate (IM) ที่กำหนดไว้ โดย IM ของหุ้นแต่ละกลุ่มแตกต่างกันตามปัจจัยพื้นฐานและความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง เช่น หุ้น A มี IM 50% หากเราต้องการซื้อหุ้น A หุ้นละ 1 บาท 100,000 หุ้น เป็นมูลค่า 100,000 บาท ต้องวางเงินเป็นหลักประกันไว้ 50,000 บาท และส่วนที่เหลืออีก 50,000 บาทนั้น เป็นการกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์ ซึ่งนักลงทุนจะมีภาระในการเสียดอกเบี้ยให้กับโบรกเกอร์ในส่วนที่กู้ยืมนี้ด้วย
จากนั้น หากหุ้น A ราคาลดลง จนทำให้อัตราส่วนของเงินประกันต่อมูลค่าหุ้นในปัจจุบันลดลง จนต่ำกว่า Maintenance Margin Rate (MM) เราจะถูกเรียกให้โอนเงินประกันเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า Margin Call เช่น หุ้น A ราคาลดลงเหลือ 0.75 บาท หรือมูลค่าหุ้นเหลือ 75,000 บาท ลดลง 25,000 บาท มูลค่าที่ลดลงในส่วนนี้จะไปถูกหักออกจากเงินประกันจาก 50,000 บาท เหลือ 25,000 บาท ทำให้อัตราส่วนของเงินประกันต่อมูลค่าหุ้นในปัจจุบันลดลงจาก 50% เหลือ 33% (เงินประกัน 25,000 / มูลค่าหุ้น 75,000)
หาก MM ถูกตั้งไว้ที่ 35% เราก็จะถูกเรียก Margin Call โดยมูลค่าหลักประกันนี้จะมีการคำนวณทุกวัน ซึ่งหากไม่มีการเพิ่มหลักประกันภายในเวลาที่กำหนด และหากมูลค่าหลักประกันลดลงจนถึง Force Sell Rate เช่น 25% โบรกเกอร์ก็จะดำเนินการบังคับขายหุ้น A ออกไป (Force Sell) เพื่อนำเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นมาชำระหนี้เงินกู้เพื่อให้ MM กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
บัญชี Credit Balance มีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ข้อดี คือ เป็นการเพิ่มอำนาจในการลงทุน หรือทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้มากกว่าเงินลงทุนที่มีนั่นเองครับ
โดยทั่วไปแล้ว ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย หรือค่า Commission ของแต่ละบัญชีจะไม่เท่ากัน รวมถึงบัญชีของแต่ละโบรกเกอร์อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันด้วย นักลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกเปิดบัญชีครับ จะเห็นได้ว่า
แต่ละบัญชีต่างมีข้อดี ข้อด้อยที่ต่างกันไป การเลือกบัญชีควรขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และที่สำคัญ คือ นักลงทุนต้องมีความรู้ ความเข้าใจในบัญชีที่จะเลือกใช้