ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทั้งด้วยสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง โรคระบาด สังคมผู้สูงวัย และปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจในเรื่องของการวางแผนการเงินกันมากขึ้น ซึ่งหากถามว่าทำไมการวางแผนการเงินจึงมีความสำคัญ นั่นเป็นเพราะ
1. เงินมักมีวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน
ซึ่งถ้าหากเราวางเงินในทุกวัตถุประสงค์ไว้ในที่เดียวกัน จะทำให้การหยิบจับใช้สอยเงินออกมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะถูกนำออกมาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้เงินที่ถูกวางไว้ในการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ๆ อาจถูกนำมาใช้ก่อนที่จะถึงระยะเวลาอันควร ซึ่งอาจทำให้เงินที่ไปลงทุนอยู่ขาดทุน หรือทำให้เงินไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ตามวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจได้
2. เงินมีระยะเวลาของการใช้เงิน
ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งเรามักจะมีอายุของการหาทรัพย์ที่จำกัด แต่ช่วงระยะเวลาของการใช้ทรัพย์นั้นไม่จำกัด จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นวัยพึ่งพา หรือวัยเกษียณ หรือที่เรียกว่าวัยใช้ทรัพย์ของเรา มักจะยาวนานกว่าช่วงเวลาของวัยทำงานเพื่อหาทรัพย์ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วช่วงวัยทำงานจะอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 30 - 40 ปี แล้วแต่บุคคล
เพราะฉะนั้นการหาทรัพย์ที่ได้มาเราจะต้องนำไปวางไว้ในที่ที่ถูกต้อง เพื่อที่เราจะสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ในทุกช่วงจังหวะเวลาของชีวิต และเพียงพอตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินก้อนนั้น ๆ เช่น วัตถุประสงค์ของการใช้เงินระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว หรือวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนการเกษียณ เป็นต้น
3. ปัจจัยเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ คือภาวะที่ราคาของสิ่งของเครื่องใช้มีมูลค่าสูงขึ้น จากที่กล่าวมาข้างต้น เงินแต่ละก้อนมีวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่แตกต่างกัน มีระยะเวลาที่จะนำมาใช้ที่แตกต่างกัน การที่เราเก็บเงินวันนี้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินวันนี้ อาจจะเป็นการเก็บเงินสำหรับการใช้ในยามเกษียณ สมมติเราจะเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะต้องถูกนำมาใช้ในการคำนวณเงินออมด้วย ไม่เช่นนั้นแผนการเกษียณอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต
ด้วย 3 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้การวางแผนการเงินส่วนบุคคลมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับเราทุกคนในปัจจุบัน แล้วเราจะใช้เครื่องมืออะไรในการช่วยการวางแผนการเงินของเราให้บรรลุเป้าหมายได้ ในปัจจุบันมีกรอบแนวคิดที่นำมาใช้ในการวางแผนการเงินมากมาย แต่ทฤษฎีพื้นฐานของการวางแผนการเงินที่ถูกพูดถึง และเป็นที่นิยมนำมาใช้กันมากที่สุด นั่นก็คือ ปิรามิดทางการเงิน หรือสามเหลี่ยมทางการเงิน นั่นเอง
ปิรามิดการเงินคืออะไร?
ปิรามิดทางการเงิน เป็นเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องของการวางแผนการเงินให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยใช้สำหรับการวางแผนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้เงินว่าเงินก้อนไหนควรถูกจัดไว้ในสินทรัพย์ประเภทใด ควรเก็บหรือถือครองในระยะเวลายาวนานเท่าใด ถึงจะนำมาใช้ได้ รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญ การจัดลำดับการใช้เงิน การบริหารความเสี่ยง และการบริหารภาษี เป็นต้น
สิ่งแรกก่อนที่เราจะใช้ปิรามิดทางการเงินในการวางแผน คือ การตั้ง
เป้าหมายทางการเงิน ซึ่ง
การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดี ควรระบุจำนวนเงินที่ต้องการ และระยะเวลาในการใช้เงินให้ละเอียดมากที่สุด อีกทั้งอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น ภาระหนี้สิน ความเจ็บป่วย ทั้งของตนเอง และคนในครอบครัว ที่อาจทำให้การบรรลุเป้าหมายการเงินเป็นไปได้ช้าลง
ยิ่งเราสามารถกำหนดปัจจัยต่าง ๆ ได้ละเอียดมากเท่าไหร่ เป้าหมายการเงินของเราจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
ปิรามิดชั้นที่ 1: อุดรอยรั่วของชีวิต
ปิรามิดทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตัวฐานจะต้องกว้างเพื่อให้ปิรามิดมั่นคง ดังนั้นฐานล่างของปิรามิดจึงเป็นส่วนที่กว้างที่สุด ซึ่งฐานรากที่มั่นคง
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินสำรองฉุกเฉิน และการวางแผนด้านประกัน
1.1 เงินสำรองฉุกเฉิน
คือเงินที่เตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ดังนั้นเงินก้อนนี้จึงควรเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ
เช่น ฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หรือฝากประจำ หรือกองทุนตลาดเงิน ซึ่งมีสภาพคล่องสูง สามารถขายออกมาใช้ได้ตามที่ต้องการ และไม่เสียภาษีดอกเบี้ย 15% หรืออาจเป็นสินทรัพย์ทางเลือกอื่นที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ทองแท่ง หรือทองรูปพรรณ ก็สามารถนำมาใช้เป็น
แหล่งเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้
ควรเก็บสำรองเงินฉุกเฉินไว้เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
โดยปกติแล้วควรเก็บ 3 - 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน ยกตัวอย่างเช่น เรามีรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท จึงควรเก็บเงินสำหรับเป็นเงินสำรองฉุกเฉินที่ 60,000 - 120,000 บาท ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละอาชีพ
แต่หากเป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอน เช่น ฟรีแลนซ์ ดารานักแสดง หรือผู้ประกอบการอาจจะต้องกันเงินสำรองไว้ประมาณ 1 - 2 ปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังเช่น สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่มีผลกระทบอย่างมากต่ออาชีพเหล่านี้
1.2 การวางแผนด้านประกัน
เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแผนการเงินของเรา โดยการย้ายความเสี่ยงนั้นไปไว้ที่อื่นด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า "ประกัน" นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันอุบัติเหตุ ประกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ อีกด้วย
ในบางครอบครัวมีเสาหลักเพียงคนเดียว หากเกิดอะไรขึ้นกับเสาหลักของครอบครัวย่อมส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อคนในครอบครัว แล้วจำเป็นต้องวางแผนประกันเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล
ยกตัวอย่างเช่น บางครอบครัวที่มีลูก อาจจะต้องคำนวณจากค่าใช้จ่ายในแผนการศึกษาของบุตร หรือประกันตามภาระหนี้สินของตนเองและครอบครัว เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้สินทางธุรกิจอื่น ๆ หรืออาจจะเป็นการประกันสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล โรคร้ายแรง ค่าชดเชยรายได้ รวมถึงประกันภัยทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น การประกันไฟไหม้
ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น และส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินที่เกินกว่าจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่เรามีอยู่ อาจจะทำให้เกิดหนี้สินจากการกู้ยืมได้ โดยการวางแผนในส่วนของฐานปิรามิดนี้ไม่ได้ทำให้เรารวยขึ้น แต่เป็นการวางแผนเพื่อปกป้องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เปรียบเสมือนการอุดรอยรั่วในชีวิต ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
ปิรามิดชั้นที่ 2: การวางแผนเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิต
การวางแผนความมั่นคงของชีวิต แบ่งออก เป็น 3 ระยะ คือ
1. การวางแผนระยะสั้น 1 – 3 ปี
เช่น วางแผนซื้อรถ วางแผนแต่งงาน เป็นต้น เมื่อความต้องการใช้เงินจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เงินจึงต้องเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย มีสภาพคล่องสูง มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งอาจจะเก็บในรูปแบบของ เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ทองคำ หรือกองทุนตลาดเงิน แต่ที่ที่มีความปลอดภัยสูง ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำด้วยเช่นกัน
2. การวางแผนระยะกลาง 4 – 10 ปี
โดยเราสามารถวางเงินไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการวางแผนระยะสั้นได้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น เงินในส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับอะไรบ้าง เช่น การวางแผนการศึกษาบุตร การวางแผนเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ชีวิต เช่น การท่องเที่ยว หรือการวางแผนสร้างบ้านในอนาคต โดยสินทรัพย์ที่เหมาะสมที่ควรนำเงินไปเก็บไว้เช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม หรือกองทุนตราสารทุน ที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมได้
3. การวางแผนระยะยาว มากกว่า 10 ปี
เช่น การวางแผนเกษียณ โดยเงินวางแผนเกษียณถือเป็นเงินก้อนใหญ่ และมีระยะเวลานานกว่าจะถูกนำออกมาใช้ เราจึงสามารถนำเงินไปวางไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เช่น กองทุนผสม กองทุนตราสารทุน กองทุนทางเลือกต่าง ๆ เช่น กองทุนทองคำ น้ำมัน อสังหาฯ เป็นต้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว หรือหากเป็นคนที่ไม่อยากรับความเสี่ยงของความผันผวนของกองทุน ก็อาจจะวางแผนการเกษียณโดยการซื้อประกันชีวิตประเภทบำนาญก็ได้
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการ
วางแผนการส่งต่อมรดก อาจจะพิจารณาส่งต่อมรดกในรูปแบบของประกัน ที่ปราศจากภาษีมรดก หรืออาจจะวางแผนในเรื่องของบำนาญให้กับตนเองไว้ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งเราควรพิจารณาความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเราเอง และหมั่นศึกษาทำความรู้ความเข้าใจในการลงทุน เพื่อให้การลงทุนมีความปลอดภัยและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ปิรามิดชั้นที่ 3: การวางแผนเพื่อความฝันและความมั่งคั่ง
บางคนอาจจะมีความฝัน อยากซื้อบ้าน อยากมีรถในฝัน หรืออาจจะอยากท่องเที่ยวรอบโลก ชั้นนี้เลยเป็นชั้นที่ช่วยสร้างความมั่งคั่ง และเติมเต็มความฝันให้กับชีวิต ดังนั้นเราจึงควรเลือกสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อตอบโจทย์ความฝันและความมั่งคั่งของชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องการผลตอบแทนสูงย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงสูงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในประเภทของสินทรัพย์ที่เราจะลงทุน
เช่น การลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนที่มีความเสี่ยงสูงหุ้น ตลาดอนุพันธ์ หรือการลงทุนทางเลือกต่าง ๆ เช่น ทองคำ อสังหาฯ หรือคริปโตเคอเรนซี ซึ่งนอกจากต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือต้องพิจารณาความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองประกอบด้วย เพื่อลดความผิดพลาดที่เกิดจากการลงทุน
จะเห็นได้ว่าหากเราวางแผนการเงินตามรูปแบบของปิรามิดทางการเงินตามลำดับข้างต้น ตั้งแต่การสร้างฐานอุดรอยรั่วของชีวิต โดยมีการวางแผนในเรื่องเงินสำรองฉุกเฉิน และการประกันเพื่อการปกป้องความเสี่ยง ต่อด้วยการวางแผนเพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตด้วยเป้าหมายการเงินระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างครบถ้วน และเพียงพอแล้ว ไม่ว่าชั้นบนสุดของปิรามิดจะเป็นอย่างไร? เรายังคงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย และไม่กระทบกับมาตรฐานการครองชีพของเรา นำมาซึ่งความสงบสุขทางใจหรือ Peace of Mind ในการใช้ชีวิต และบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในแต่ละช่วงชีวิตด้วย
การเริ่มต้นวางแผนการลงทุน
หลังจากได้เรียนรู้เรื่องปิรามิดทางการเงินว่าในแต่ละชั้นทำหน้าที่อะไรบ้างแล้ว มักมีคำถามว่า หากเราอยากจะเริ่มลงมือ
วางแผนพอร์ตการลงทุนของตนเอง ควรเริ่มต้นจากตรงไหนดี เช่น ในส่วนฐานล่างของปิรามิด เราควรจะวางแผนเงินฉุกเฉิน หรือวางแผนประกันชีวิตก่อนดี ขั้นตอนที่เราควรปฏิบัติ คือ
1. การตรวจสอบเป้าหมายของตนเอง และปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
โดยการตรวจสอบว่าอะไรคือความสำคัญลำดับแรกของชีวิต ณ ขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในแต่ละเดือน อาจต้องวางแผนเรื่องการสำรองเงินฉุกเฉินก่อน เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น หรือหากช่วงนี้เราใช้ชีวิตเสี่ยง หรือทำอาชีพที่เสี่ยงต่อสุขภาพหรือเดินทางบ่อยซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุมาก อาจต้องพิจารณาวางแผนประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุเป็นเรื่องด่วนอันดับแรก หรือคนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อคนในครอบครัว เช่น หัวหน้าครอบครัว อาจจะต้องเริ่มจากการวางแผนปกป้องความเสี่ยงของครอบครัวด้วยการวางแผนทุนประกันชีวิตก่อน หรือหากเป็นคนที่ไม่ได้มีภาระมากนัก เป้าหมายอันดับแรกคือการวางแผนเกษียณ ก็อาจจะมุ่งไปในเรื่องของการวางแผนเกษียณส่วนตัวก่อน เป็นต้น
2. ลงมือปฏิบัติตามแผนการลงทุน
การค่อย ๆ สะสม แบบ DCA (Dollar-Cost-Averaging) คือ การทยอยเก็บสะสมเป็นงวด ๆ ในราคาต้นทุนเฉลี่ย ในจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน ในทุก ๆ งวด โดยเราสามารถกำหนดสัดส่วนของการออมเป็น 10% - 15% ของรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน
ยกตัวอย่างเช่น มีรายได้ 20,000 บาท แบ่งออกมา 10% ก็เท่ากับ 2,000 บาท ในแต่ละเดือน
ซึ่ง
ประโยชน์ของการ DCA คือช่วยลดความกังวลในการหาจังหวะของการซื้อสินทรัพย์ ช่วยให้เราสามารถซื้อสินทรัพย์ได้ในราคาเฉลี่ยของปีนั้น ๆ โดยต้องอาศัยวินัย และระยะเวลาในการเก็บออมสะสมที่มากพอ ซึ่งการถือครองสินทรัพย์ในระยะเวลาที่ยาวนาน ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน และสามารถชนะตลาดที่ผันผวนได้
3. เข้าใจกับความสามารถในการรับความเสี่ยง
ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน บางทีอาจใช้การประเมินตามช่วงอายุของผู้ลงทุน ยิ่งอายุน้อยความสามารถในการรับความเสี่ยงยิ่งมาก หากอายุมากขึ้นใกล้วัยเกษียณ อาจจะต้องเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อรักษาเงินต้นของผู้ลงทุน
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจนำมาประเมินความเสี่ยงได้ ก็คือทัศนคติของผู้ลงทุน และประสบการณ์ในการลงทุน หากผู้ลงทุนอายุน้อย และไม่ต้องการรับความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุน อาจจะเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกับเงินสด เช่นเดียวกันกับผู้ลงทุนที่มีอายุมาก แต่หากมีความเข้าใจในเรื่องของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีประสบการณ์ในเรื่องการลงทุนมาก่อน อาจจะมีความพร้อมและเต็มใจที่จะรับความเสี่ยงสูงได้
ซึ่งทั้งหมดนี้คือการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่ทุกคนจำเป็นต้องศึกษา และทำความเข้าใจ เพื่อให้การบริหารการเงินของตนเองเป็นไปได้อย่างราบรื่น ปิรามิดทางการเงินทำให้เรารู้ว่าควรจะวางเงินไว้ที่ไหน เพื่อให้ตอบโจทย์และตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน เพราะคนเรามีช่วงระยะเวลาในการหาทรัพย์จำกัด แต่มีช่วงระยะเวลาในการใช้ทรัพย์ไม่จำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกเครื่องมือในการบริหารสินทรัพย์ให้ถูกต้อง และเป็นระบบ เพื่อยืดระยะเวลาในการใช้ทรัพย์ให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น และตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน