หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ด้วยความมุ่งหวังให้ธนาคารเติบโตอย่างยั่งยืน มั่นคง และเพิ่มมูลค่าในระยะยาว ภายใต้การดำเนินงานที่ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นรากฐานสำคัญ พร้อมกับคำนึงถึงความเสี่ยง ความรับผิดชอบและการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับนี้จึงถูกจัดทำขึ้น ตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตลอดจนสอดคล้องกับจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ (Banking Industry Code of Conduct) และหลักเกณฑ์ของ ASEAN Corporate Governance Scorecard (ASEAN CG Scorecard)

โดยคณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นบรรทัดฐานให้กรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ได้ยึดถือเป็นกรอบการประพฤติปฏิบัติในการทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด รวมถึงเป็นแนวทางพื้นฐานให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจนำไปปรับใช้หรือกำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการของตนเอง ตามลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัท

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีความสอดคล้องกับสภาวการณ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการธนาคารจึงได้กำหนดให้มีการทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นประจำทุกปี หรือโดยไม่ชักช้าหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ดูแลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติตามลำดับ

Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA)

FATCA ย่อมาจาก Foreign Account Tax Compliance Act เป็นกฎหมายที่ออกโดยสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์หลักเพิ่มป้องกันมิให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีสถานะเป็นบุคคลอเมริกันหลีกเลี่ยงภาษี โดยผ่านการเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินนอกสหรัฐอเมริกา เพื่อทำธุรกรรมการเงิน

FATCA กำหนดให้สถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชี เงินได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลอเมรกันที่มีรายได้นอกสหรัฐอเมริกา และ/หรือ หักภาษี ณ ที่จ่าย (Withholdable Payment) และนำส่งต่อหน่อยงานจัดเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service: IRS)
FATCA กำหนดให้สถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกที่ให้ความร่วมมือเข้าทำข้อตกลงกับ IRS มีหน้าที่จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันให้แก่ IRS ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่หากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ใดไม่ให้ความร่วมมือจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่ FATCA กำหนด
สถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือกับ IRS ตาม FATCA ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 เนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีการทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกจำนวนมาก การให้ความร่วมมือจึงเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกดำเนินมาตรการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือถูกปฏิเสธการทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินอื่นทั่วโลกที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการทำธุรกรรมของลูกค้าได้
นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป สถาบันการเงินไทยมีความจำเป็นต้องขอข้อมูลลูกค้าเพิ่มเติมเมื่อมาติดต่อทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น เปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น

โดยให้ลูกค้าตอบแบบสอบถามสถานะความเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันที่สถาบันการเงินไทยกำหนดร่วมกัน หากลูกค้าไม่ใช่บุคคลอเมริกันหรือไม่มีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นบุคคลอเมริกัน ไม่ต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม แต่หากลูกค้าเป็นบุคคลอเมริกันหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นบุคคลอเมริกันลูกค้าต้องกรอกแบบฟอร์มของ IRS เพื่อยืนยันสถานะตนเอง
Q: ธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่งปฏิบัติตาม FATCA หรือไม่
A: ธนาคารพาณิชย์ไทยทุกธนาคารปฏิบัติตาม FATCA โดยได้เข้าร่วมทำข้อตกลงปฏิบัติตาม FATCA และจะเริ่มตรวจสอบสถานะความเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันของลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป

Q: ทำไมลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลไทย ต้องกรอกแบบสอบถามสถานะความเป็นบุคคล/นิติบุคคลอเมริกัน
A: ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป FATCA กำหนดให้ธนาคารต้องตรวจสอบสถานะความเป็นบุคคลอเมริกันของลูกค้าทุกรายที่มาทำธุรกรรมบางประเภทกับธนาคาร เช่น เปิดบัญชีเงินฝาก ซื้อหน่วยลงทุน กองทุน ประกันชีวิต เป็นต้น โดยพิจารณาข้อบ่งชี้ว่าลูกค้าอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันหรือไม่ ธนาคารพาณิชย์ไทยจึงร่วมกันกำหนดแบบสอบถามสถานะความเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันของลูกค้าเพื่อยืนยันสถานะตนเอง ซึ่งการพิจารณาว่าเป็นบุคคลอเมริกันนั้น มิใช่พิจารณาเฉพาะสัญชาติอเมริกันเท่านั้น ลูกค้าอาจมีข้อบ่งชี้ว่าเป็นบุคคลอเมริกันได้ เช่น เกิดที่สหรัฐอเมริกา มีที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

Q: ข้อบ่งชี้ว่าลูกค้าอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันมีอะไรบ้าง?
A: FATCA กำหนดข้อบ่งชี้ว่าลูกค้าอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกัน มีดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
  • มีสัญชาติอมเริกัน / เกิดที่สหรัฐอมเริกา / มีที่อยู่ถาวรในสหรัฐอมเริกา
  • มีที่อยู่ปัจจุบันหรือที่อยู่เพื่อการติดต่อในสหรัฐอเมริกา
  • มีหมายเลขโทรศัพท์ในสหรัฐอเมริกา
  • มีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินการเกี่ยวข้องกับบัญชีแทน
  • มีการทำคำสั่งทำรายการโอนเงินเป็นประจำโดยอัตโนมัติไปยังบัญชีที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
  • มีที่อยู่เพื่อการติดต่อเป็นที่อยู่สำหรับไปรษณีย์แทน หรือให้ส่งไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ของบุคคลอื่น
  • มีที่อยู่ชั่วคราวในสหรัฐอเมริกา หรือ เคยอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกินกว่า 183 วัน
กรณีนิติบุคคล
  • เป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในสหรัฐอเมริกา
  • เป็นบริษัทที่มีข้อมูลบ่งชี้ได้ว่า มีความเกี่ยวพันกับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีบุคคลอเมริกัน เป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในสัดส่วนของหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10

Q: ลูกค้าที่เป็นบุคคลอเมริกันหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นบุคคลอเมริกัน หากประสงค์จะทำธุรกรรมการเงิน ต้องทำอย่างไร?
A: ธนาคารขอความร่วมมือให้ลูกค้ากรอกแบบฟอร์มเพื่อรับรองสถานะของตนเอง ดังนี้
  • แบบฟอร์ม W-9 เพื่อรับรองความเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกัน และระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของสหรัฐอเมริกา (Tax Identification Number : TIN) ด้วย
  • แบบฟอร์ม W-8BEN เพื่อรับรองว่าไม่ได้เป็นบุคคลอเมริกัน พร้อมกับแสดงเอกสารหลักฐานสนับสนุน
  • แบบฟอร์ม W-8BEN-E เพื่อรับรองว่าไม่ได้เป็นนิติบุคคลอเมริกัน พร้อมกับแสดงหลักฐานสนับสนุน

Q: ลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลอเมริกัน ธนาคารจะหักภาษีแทน IRS หรือไม่
A: หากลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม FATCA ธนาคารไม่มีหน้าที่ในการหักภาษีแทน IRS แต่มีหน้าที่รวบรวมและรายงานข้อมูลบัญชีธุรกรรมการเงินของลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอเมริกันให้ IRS เท่านั้น

Q: ธนาคารต้องรายงานข้อมูลของลูกค้าทุกรายให้แก่ IRS หรือไม่ และรายงานเมื่อใด
A: ธนาคารมีหน้าที่รายงานเฉพาะข้อมูลลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลอเมริกันเท่านั้น เช่น ชื่อบัญชี ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (TIN) เลขที่บัญชี และยอดเงินในบัญชี เป็นต้น โดยรายงานปีละครั้ง


* ธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากลูกค้า และ/หรือ ดำเนินการตามข้อตกลงที่ธนาคารมีแก่ลูกค้าที่ทำการเปิดบัญชี
* เอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลความรู้แก่ลูกค้าของสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์เท่านั้น มิใช่เอกสารที่เป็นคำแนะนำ หรือให้คำแนะนำใดๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีของสหรัฐอเมริกา
* หากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย FATCA สามารถข้อคำแนะนำปรึกษาได้จากที่ปรึกษาด้านภาษีของท่าน หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.irs.gov/FATCA

Common Reporting Standard (CRS)

CRS ย่อมาจาก Common Reporting Standard เป็นมาตรฐานการรายงานข้อมูลทางการเงินเพื่อต่อต้านการเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในกลุ่มประเทศภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร หลีกเลี่ยงภาษี
CRS กำหนดให้สถาบันการเงินมีหน้าที่ตรวจสอบสถานะของลูกค้าของตน และจะต้องรายงานข้อมูลในรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติกับประเทศอื่น ๆ โดยมาตรฐานการรายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย OECD (Organization for Economic Co-operation and Development)
เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินเป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากร ภายในวันที่ 30 มิถุนายน ของปีถัดไป เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติต่อไป
นับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป สถาบันการเงินไทยในฐานะผู้ที่มีหน้าที่รายงานต้องจัดให้ลูกค้าแจ้งและยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางภาษีทุกครั้งที่มีการเปิดบัญชีทางการเงินใหม่ (ซึ่งหมายถึงบัญชีเงินฝากและบัญชีกองทุนรวม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)
 
พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อ ปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
PDF
 
คำนิยามเพิ่มเติม
PDF
Q: ประเทศใดบ้างที่เข้าร่วม CRS?
A: สามารถอ่านรายละเอียดรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมได้ทาง https://www.oecd.org

Q: ถิ่นที่อยู่ทางภาษี คืออะไร?
A: ถิ่นที่อยู่ทางภาษี หมายถึง ประเทศที่ท่านมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศนั้นสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากประเทศนั้นและ/หรือประเทศอื่นๆ เนื่องจากการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ ที่ตั้งอันเป็นศูนย์จัดการและควบคุมนิติบุคคล ที่นิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้ง หรือโดยการพิจารณาหลักเกณฑ์อื่นๆ

Q: ข้อมูลเกี่ยวกับ CRS มีอะไรบ้างที่ต้องแจ้งต่อธนาคาร?
A: ลูกค้าต้องให้ข้อมูลแก่ธนาคารตามแบบฟอร์มของธนาคาร โดยข้อมูลที่ต้องแจ้ง เช่น ชื่อ ที่อยู่ ประเทศถิ่นที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วัน/เดือน/ปีเกิด สถานที่เกิด ผู้มีอำนาจควบคุม(กรณีนิติบุคคล) เป็นต้น

Q: ลูกค้ามีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมากกว่าหนึ่งได้หรือไม่ และจำเป็นต้องแจ้งทุกหมายเลขหรือไม่?
A: หากลูกค้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีของประเทศ/ดินแดนที่ลูกค้าอยู่ สามารถมีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีได้มากกว่าหนึ่ง และจำเป็นต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีทั้งหมดที่มีให้กับธนาคารอย่างครบถ้วนตามข้อกำหนดของ CRS

Q: ลูกค้าอาจจะไม่สามารถให้ข้อมูล CRS ได้ จะมีผลกระทบอย่างไร?
A: ธนาคารจะไม่สามารถดำเนินการเปิดบัญชีให้กับลูกค้าได้

Q: กรณีลูกค้าเคยรับรองข้อมูลตนเองผ่านแบบฟอร์ม CRS แล้ว ต้องให้ข้อมูลอีกหรือไม่?
A: แบบฟอร์มรับรองตนเองตาม CRS จะยังคงมีผลสมบูรณ์จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในพฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานะถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้าหรือทำให้ข้อมูลใดที่ให้ไว้ในแบบฟอร์มตกเป็นโมฆะ

Q: กรณีลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ทางภาษีลูกค้าจะต้องดำเนินการอย่างไร?
A: หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ได้เคยให้ไว้กับธนาคาร ลูกค้าจำเป็นต้องแจ้งให้ธนาคารทราบโดยเร็ว และให้การรับรองถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้าแก่ธนาคารภายใน 30 วันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง

Q: ลูกค้าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของประเทศที่ไม่เข้าร่วม CRS จะยังคงมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของฉันหรือไม่?
A: ธนาคารจะยังคงเก็บรวบรวมสถานะถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้า และอาจจะมีการรายงานข้อมูลของลูกค้าต่อกรมสรรพากร ตามที่กรมสรรพากรร้องขอ

Q: กรณีที่ข้อมูลบัญชีของลูกค้าที่อยู่ในครอบครองของธนาคารจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือไม่?
A: ข้อมูลบัญชีของลูกค้าจะไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะชน ทั้งนี้ หากคุณเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีของประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศไทย ธนาคารจำต้องรายงานข้อมูลของลูกค้าต่อกรมสรรพากรไทย ซึ่งทางสรรพากรไทยจะส่งข้อมูลของคุณต่อไปยังประเทศที่คุณเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษี โดยในทุกๆประเทศที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวต่างมีมาตรฐานการเก็บรักษาความลับของข้อมูลที่แลกเปลี่ยนและป้องกันการใช้โดยไม่มีอำนาจใดๆ
 
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา