สงครามการค้าเปิดฉาก...วิกฤตหรือโอกาสของไทย

สงครามการค้าเปิดฉาก...วิกฤตหรือโอกาสของไทย

05 กรกฎาคม 2561

สงครามการค้าเปิดฉาก...วิกฤตหรือโอกาสของไทย

ท่ามกลางความตึงเครียดจากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน วิจัยกรุงศรีประเมินว่าหากทั้งสองฝ่ายตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกัน ผลกระทบจะกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรมของจีนและกระจายไปประเทศอื่น ขณะที่ผลต่อสหรัฐฯ จะกระจุกในบางสาขาการผลิตในประเทศเท่านั้น ส่วนไทยจะได้รับผลทางลบผ่านห่วงโซ่การผลิต แต่หลายอุตสาหกรรมจะมีโอกาสขยายการค้าเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์ต่างกลุ่มกัน มองไปข้างหน้า การตั้งกำแพงภาษีอาจเป็นเครื่องมือสำคัญใช้ในการเจรจาต่อรองเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าและการลงทุน  

หลายเดือนที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่สามารถยุติลงได้ แม้ว่ามีความพยายามในการเจรจาทางการค้าระหว่างกันหลายครั้ง ในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 สหรัฐฯ ประกาศ รายชื่อสินค้ารอบแรกที่จะเก็บภาษี 25% จากสินค้านำเข้าของจีนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 และเตรียมเก็บภาษีสินค้ากลุ่มสองมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนตอบโต้ทันทีด้วยระดับภาษีและมูลค่าสินค้าที่เท่าเทียมกัน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า สงครามการค้าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยผลทางลบจะไม่จำกัดอยู่แค่สองประเทศ แต่จะส่งผลลุกลามไปยังประเทศอื่นในวงกว้าง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกันผ่านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของจีน บทความนี้จึงประเมินผลกระทบจากแผนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และจีนต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย

กระแสการกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ความสำคัญกับประเด็นความไม่สมดุลทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยระบุถึงยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าสูงถึง 8.1 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยอดขาดดุลการค้ากับจีนที่มีมูลค่าสูงที่สุดราว 3.75 แสนล้านดอลลาร์ (ภาพที่ 1) ผลจากการขาดดุลดังกล่าวนำไปสู่การกำหนดมาตรการกีดกันทางค้าที่ปรากฎชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นปี (ตารางที่ 1)

Picture1.png

เริ่มต้นจากเดือนมกราคม 2561 สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์และเครื่องซักผ้าที่อัตรา 30% และ 20% ตามลำดับ ด้านจีนโต้กลับด้วยการตรวจสอบสหรัฐฯ เรื่องการทุ่มตลาดและการอุดหนุนราคาข้าวฟ่างซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนถัดมาในเดือนมีนาคม  สหรัฐฯ ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่อัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ โดยมีการยกเว้นภาษีแบบถาวรและชั่วคราวให้กับบางประเทศ ด้านจีนออกมาโต้กลับด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 รายการ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 3 พันล้านดอลลาร์  ในอัตรา 15-25%

ในเดือนเมษายน ความตึงเครียดทางการค้าเพิ่มขึ้นอีกภายหลังสหรัฐฯเปิดเผยรายชื่อสินค้าของจีนเบื้องต้นที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าราว 1,300 รายการ มูลค่ารวมสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในอัตรา 25% อีกทั้งยังมีการเสนอให้ตั้งข้อจำกัดการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ซึ่งสืบเนื่องจากการตรวจสอบของสหรัฐฯ ที่พบว่าจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้านจีนโต้กลับด้วยการประกาศรายชื่อสินค้าของสหรัฐฯ ที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% จำนวน 106 รายการ ซึ่งมีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์

Picture2.png
 

แม้มีความพยายามที่จะเจรจาทางการค้าหลายรอบ (ตารางที่ 2) แต่ความตึงเครียดทางการค้ากลับทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งภายหลังสหรัฐฯ ประกาศรายชื่อสินค้ารอบสุดท้ายที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยการเก็บภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มที่ 1 มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ส่วนสินค้ากลุ่มที่ 2 มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ยังไม่ประกาศวันที่มีผลบังคับใช้ ด้านจีนโต้กลับด้วยการประกาศจะจัดเก็บภาษีในระดับที่เท่าเทียมกันทั้งอัตราภาษีและมูลค่าสินค้า

Picture3.png
Picture4.png

โครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมีผลให้การเก็บภาษีนำเข้ากระทบจีนมากกว่าและยังมีผลข้างเคียงต่อประเทศอื่น

การวิเคราะห์ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ และจีนสามารถประเมินจากข้อมูลโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างการผลิตสินค้าของแต่ละประเทศ รวมทั้งโครงสร้างความเชื่อมโยงการค้าของแต่ละประเทศที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development, OECD) 

ในกรณีทั่วไป หากสมมติให้สหรัฐฯ และจีนเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กันจนส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของแต่ละประเทศลดลง 10% ผลกระทบเบื้องต้นที่สำคัญจะเป็นดังต่อไปนี้

  • เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบมากกว่าสหรัฐฯ โดย GDP ของจีนจะลดลง 0.33% ในขณะที่ GDP ของสหรัฐฯ จะลดลง 0.073% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนพึ่งพิงการส่งออกมากกว่า โดยจีนมีสัดส่วนการส่งออกราว 20% ของ GDP ส่วนสหรัฐฯ มีสัดส่วนการส่งออกเพียง 12% (ภาพที่ 2)
Picture5.png
  • อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายอุตสาหกรรม ผู้ผลิตสินค้าบางกลุ่มของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนใช้สินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากในประเทศสูงถึง 82% (ภาพที่ 3)
  • สำหรับประเทศอื่นๆ จะได้รับผลข้างเคียงทางลบจากการมีส่วนร่วมในสายพานการผลิตของจีนมากกว่าของสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ใช้สินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางจากประเทศอื่นถึง 47% (เทียบกับสหรัฐฯ ที่ใช้เพียง 18%) โดยประเทศที่เป็นผู้ผลิตสำคัญของจีน ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเยอรมนี (ภาพที่ 3)
Picture6.png
  • ประเทศอื่นอาจได้รับผลทางบวกจากการทดแทนสินค้าส่งออกของจีนและสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขัน ประเภท และลักษณะสินค้าที่ผลิตในแต่ละประเทศ

กรณีสหรัฐฯและจีนเก็บภาษี 25% จากสินค้านำเข้ามูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์

วิจัยกรุงศรีประเมินผลต่อจีนจะกระจายหลายสาขาการผลิต ในขณะที่ผลต่อสหรัฐฯจะกระจุกในบางกลุ่ม  ส่วนไทยมีบางกลุ่มได้ บางกลุ่มเสีย

นอกเหนือจากการวิเคราะห์ผลกระทบในกรณีทั่วไปข้างต้นแล้ว วิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบจากกรณีสหรัฐฯ และจีน เก็บภาษีในอัตรา 25% จากสินค้านำเข้าของอีกประเทศมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอ้างอิงจากรายการสินค้าตามประกาศของสหรัฐฯ และจีนในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 สำหรับผลการวิเคราะห์ในแง่มุมของประเทศและรายอุตสาหกรรมมีประเด็นสำคัญดังนี้

การขึ้นภาษีนำเข้าในครั้งนี้จะทำให้ GDP โดยรวมของจีนลดลง 0.046% และกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม* (ภาพที่ 4) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์  คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ ซึ่งมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวในจีนจะลดลง 0.04-0.17% นอกจากนี้ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ใช้ส่วนประกอบจากต่างประเทศราว 30-50% จึงส่งผลข้างเคียงต่อประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในกลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์  ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ในภาพรวมแม้ผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรมของจีนจะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ แต่ผลจะกระจายไปในหลายภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของจีน  

* หมายเหตุ: สมมติให้การเก็บภาษีสินค้านำเข้า 25% ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้มูลค่าสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ และจีนตามที่ระบุไว้ในประกาศลดลง 10%
 
Picture7.png
Picture8.png
 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบทางลบเช่นกัน โดยทำให้ GDP ของสหรัฐฯ ลดลง 0.037% ซึ่งผลจะกระจุกอยู่ในบางอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการที่จีนเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าเกษตร ซึ่งมูลค่าการผลิตจะลดลง 0.2-0.4% ทั้งนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับภาคการผลิตภายในประเทศ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวใช้สินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางจากในประเทศสูงถึง 65-90% นอกจากนี้ ภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อีกด้วย สำหรับการเก็บภาษีในกลุ่มที่ 2 ภาคการผลิตที่จะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี รวมทั้งพลังงาน ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  

แม้ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลทางลบจากการมีส่วนร่วมในสายพานการผลิตของจีน แต่ยังมีโอกาสจากการขยายการค้าเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และจีน (Trade Diversion) แผนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มีการประกาศข้างต้น จะส่งผลกระทบทางลบต่อเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการผลิตกับจีน เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย  อย่างไรก็ตาม อาจมีผลทางบวกต่อประเทศคู่ค้าของจีนและสหรัฐฯ เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าระหว่างสองประเทศ จะทำให้ราคาสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันสูงขึ้น จากการคำนวณ (ภาพที่ 5) พบว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลทางบวกจากการขยายโอกาสทางการค้ามากกว่าผลทางลบผ่านห่วงโซ่การผลิต

เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะได้รับผลทางบวกมากกว่าผลทางลบ (ผลสุทธิเป็นบวก 0.043% ของ GDP) แต่ผู้ผลิตที่ได้กับเสีย ต่างกลุ่มกัน สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่จะได้รับผลกระทบทางลบ อาทิ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา เม็ดพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางซึ่งใช้ในสายพานการผลิตของจีน ขณะที่สินค้าไทยที่มีโอกาสขยายการค้าไปยังจีนเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น  ผลไม้ ข้าว อาหารทะเลแปรรูป เนื้อหมูแปรรูปและไก่แช่แข็ง รวมทั้งมันสำปะหลังที่อาจส่งออกไปจีนทดแทน
การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ (ธัญพืชทดแทน) เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสขยายการค้าไปยังสหรัฐฯทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน ได้แก่ HDD ผลิตภัณฑ์พลาสติกขั้นต้น (พลาสติกแผ่น, ฟิล์ม, ฟอยล์) ท่อพลาสติก และยางล้อสำหรับอากาศยาน เป็นต้น (ภาพที่ 6) จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการขยายการค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์จะเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นต้นหรือสินค้าขั้นกลาง (รายละเอียดดังตารางที่ 4)

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติม อาทิ 1) ปัจจัยด้านผลผลิตส่วนเกินของสินค้าบางกลุ่มซึ่งอาจทำให้เกิดการทุ่มตลาดได้ เช่น เหล็กและอะลูมิเนียมของจีน 2) ความสามารถในการทดแทนการนำเข้าของสินค้าแต่ละประเภท และ 3) บทบาทของไทยในห่วงโซ่การผลิตจีนที่ลดลง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากจีนได้พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำที่ต้องอาศัย R&D จนถึงสินค้าสำเร็จรูปขั้นปลายที่ได้ประโยชน์จากการประหยัดเชิงขนาด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยนี้จะช่วยลดทอนผลกระทบทางลบผ่านสายพานการผลิตของจีนได้ระดับหนึ่ง

Picture9.png
Picture10.png

การตั้งกำแพงภาษีอาจใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเจรจาต่อรอง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก

แม้การขึ้นภาษีของจีนและสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าของอีกฝ่ายมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์จะส่งผลกระทบไม่รุนแรงนักต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม การกีดกันทางการค้าย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกโดยรวม ประเด็นสำคัญที่จะชี้วัดความเสี่ยงจากนี้ไปคือ ผลการเจรจาด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ของจีนเกี่ยวกับการคุ้มครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา หากไร้ความคืบหน้าในการเจรจาจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ประกอบการและนักการเมือง ซึ่งจะกดดันให้สหรัฐฯต้องเพิ่มความเข้มงวดในการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ หรืออาจข่มขู่ด้วยการตั้งกำแพงภาษีและประกาศรายชื่อสินค้าที่จะเก็บภาษีเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนนี้  อีกประเด็นที่ส่งผลต่อระดับความเสี่ยงคือ นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งหากเพิ่มขึ้นจะยิ่งบั่นทอนบรรยากาศการค้าและการลงทุน อย่างที่ผ่านมา สหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าต่อชาติพันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป เม็กซิโก และแคนาดา จนทำให้ประเทศเหล่านี้ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการภาษีเช่นกัน

ความตึงเครียดทางการค้าไม่น่าจะยุติได้ง่ายในระยะอันใกล้ การติดตามและประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบทางลบและพยายามคว้าโอกาสที่ควรจะได้ จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเทศไทย

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา