ความหวังและความกลัวต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่

ความหวังและความกลัวต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่

20 มีนาคม 2567

บทนำ

 

เทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging technology) หมายถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมในหลากหลายสาขาที่สามารถส่งผลกระทบต่อสังคมและธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการใช้งานและยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งเรามิอาจปฏิเสธได้ว่าประโยชน์มากมายของเทคโนโลยีเกิดใหม่ได้จุดประกายความหวังต่อการพัฒนาในหลายมิติที่จะทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การขาดความรู้ความเข้าใจตลอดจนทักษะทางเทคโนโลยีก็อาจก่อให้เกิดความกลัวและความกังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่สามารถทราบถึงศักยภาพตลอดจนผลกระทบในระยะยาวของเทคโนโลยีเกิดใหม่ได้อย่างแน่ชัด ดังนั้น การนำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและออกแบบนโยบายเพื่อรับมือกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งในชีวิตประจำวันของประชาชนและในการประกอบธุรกิจของห้างร้านและองค์กรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ

ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีจึงได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความหวังต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ เพื่อทำความเข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบันและทัศนคติของคนในสังคมต่อความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการทบทวนงานศึกษาในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสม


เทคโนโลยีเกิดใหม่คืออะไร

 

แม้เทคโนโลยีเกิดใหม่จะไม่ได้มีนิยามที่ตายตัว แต่งานศึกษาจำนวนหนึ่ง1/  ได้กำหนดนิยามของเทคโนโลยีเกิดใหม่โดยพิจารณาถึงปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ พัฒนาการ และการประยุกต์ใช้ โดยจุดเด่นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงและสอดคล้องกัน ได้แก่

  1. ความใหม่ (Novelty) เทคโนโลยีเกิดใหม่มักอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาหรือสำรวจ (Explore) ถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แม้ยังอาจไม่ถูกประยุกต์ใช้ในวงกว้างเท่าใดนัก แต่มักมีพัฒนาการและอัตราการเริ่มนำมาปรับใช้ (Adoption rate) ที่เติบโตอย่างรวดเร็

  2. ผลกระทบในวงกว้าง (Wide-ranging impacts) เทคโนโลยีเกิดใหม่มักถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยงานศึกษาของ World Economic Forum ได้จำแนกผลกระทบต่างๆ ของเทคโนโลยีเกิดใหม่ออกเป็น 5 มิติ อันได้แก่ ความปลอดภัยและการดำรงชีวิตที่ราบรื่นของผู้คน (People) การปกป้องโลก (Planet) ความเจริญรุ่งเรืองและการกินดีอยู่ดี (Prosperity) การสร้างโอกาสแก่อุตสาหกรรม (Industry) เช่น การสร้างตลาดสินค้าหรือบริการประเภทใหม่ และความเสมอภาคของคนในสังคม (Equity)

  3. ผลกระทบในระยะยาว (Long-term impacts) เทคโนโลยีเกิดใหม่มักมีศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Transform) หรือพลิกโฉมวิถีชีวิตของผู้คนและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างสิ้นเชิงในระยะยาว​



 

กล่าวโดยสรุปคือ เทคโนโลยีเกิดใหม่คือเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงหรือเริ่มมีการประยุกต์ใช้บ้างแล้ว และถูกมองว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้ โดยผลที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ต่อไปในระยะยาว โดยตัวอย่างเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่โดดเด่นในปี 2567 ที่ล้วนได้รับความสนใจในงานศึกษาขององค์กรและสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก2/  ได้แก่

  • เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence)

นับตั้งแต่ปี 2566 การถือกำเนิดของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI หรือ GenAI) ที่มีความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์คล้ายคลึงมนุษย์3/  ถือเป็นพัฒนาการอันน่าทึ่งของ AI ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน ซึ่ง AI ยังคงถูกพัฒนาต่อเนื่องและเริ่มมีบทบาทในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย เช่น ใช้เพื่อวินิจฉัยโรค หรือใช้สำหรับวิจัยและพัฒนายา เป็นต้น

  • เทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible battery)

แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้จะเป็นหัวใจสำคัญที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมของเทคโนโลยีแบบสวมใส่ได้ (Wearable technology) อุปกรณ์ด้านการแพทย์ (Medical device) เสื้อผ้าอัจฉริยะ (Smart clothing) ไปจนถึงสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถพับหรือบิดงอได้ โดย World Economic Forum (2023) ได้จัดอันดับให้แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้เป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่จะสร้างผลกระทบมากที่สุดในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า4/
 

 

  • เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical technology)

นวัตกรรมจากเทคโนโลยีเกิดใหม่สามารถช่วยให้มนุษย์มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse) รักษาสุขภาพจิต การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible neural electronics) ในการวินิจฉัยโรคไปจนถึงการพัฒนาการสื่อสารระหว่างคลื่นสมองมนุษย์และเครื่องจักร (Brain-machine interface) ที่อาจช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจความคิดของมนุษย์ได้ในอนาคต

  • เทคโนโลยียั่งยืน (Sustainable technology)

เทคโนโลยีเกิดใหม่สามารถช่วยให้มนุษย์พิชิตเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับการบินที่มีความยั่งยืน (Sustainable aviation fuel) โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ในอุตสาหกรรมการบิน หรือเทคโนโลยีการประมวลผลที่ยั่งยืน (Sustainable computing) สำหรับศูนย์ข้อมูล (Data center) ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ตลอดจนเทคโนโลยีการดักจับ ใช้งาน และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS)

  • เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล โดยประมวลผลธุรกรรมและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) จึงมีความโปร่งใสและปลอดภัยมากขึ้น บล็อกเชนมีประโยชน์ต่อธุรกรรมหลายประเภทที่เดิมต้องพึ่งพาตัวกลาง (Intermediary) ในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล อาทิ ธุรกรรมด้านการเงิน การสาธารณสุข และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)

  • เทคโนโลยีด้านอวกาศ (Space technology)

ด้วยเทคโนโลยีด้านอวกาศ มนุษย์จะสามารถออกไปทำการสำรวจนอกโลกเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่มนุษยชาติ เช่น การสำรวจค้นหาทรัพยากรนอกโลก การศึกษาต้นกำเนิดของดวงดาวและจักรวาล นอกจากนี้ เทคโนโลยีการประมวลผลสัญญาณดิจิทัลที่องค์การนาซาเป็นผู้บุกเบิกสำหรับภาพถ่ายดวงจันทร์ที่ปรับปรุงด้วยคอมพิวเตอร์ยังเป็นรากฐานของเทคนิคการถ่ายภาพร่างกายขั้นสูง อาทิ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซีทีสแกน (Computerized Tomography Scan: CT Scan) ที่ช่วยวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้อย่างแม่นยำขึ้น

  • เทคโนโลยีเพื่อการสงคราม (Warfare technology)

ปัจจุบันเทคโนโลยีแขนงต่างๆ เช่น AI และวิทยาการด้านหุ่นยนต์ (Robotics) ที่ล้ำสมัยได้เพิ่มแสนยานุภาพและความชาญฉลาดของอาวุธยุทโธปกรณ์ จนทำให้กองทัพในหลายประเทศสามารถปฏิบัติการทางทหารได้โดยใช้อาวุธอัตโนมัติซึ่งเป็นอิสระจากการสั่งการของมนุษย์ (Autonomous weapons) เช่น หุ่นยนต์ทางการทหาร (Military robots) เป็นต้น  นอกจากนี้ การรบรูปแบบใหม่ เช่น การทำสงครามไซเบอร์ (Cyberwar) ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเจาะข้อมูลหรือโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของฝั่งตรงข้าม

จากตัวอย่างเทคโนโลยีเกิดใหม่ทั้ง 7 ประเภทที่ได้ยกมานั้น จะเห็นได้ว่า “เทคโนโลยีเกิดใหม่” เป็นคำที่มีความหมายกว้างและไม่เจาะจงไปที่เทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากที่ได้กล่าวมานี้แล้วยังอาจครอบคลุมถึงเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ อีกด้วย

 

ประโยชน์ของเทคโนโลยีเกิดใหม่

 

เทคโนโลยีเกิดใหม่สามารถสร้างประโยชน์และมูลค่าเพิ่มแก่มนุษย์ได้หลากหลาย อาทิเช่นในด้านการแพทย์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าสูงกว่าในอดีต โดยเฉพาะความสามารถในการประมวลผลที่แม่นยำและชาญฉลาด อาทิ ระบบ Electronic Health Records (EHR)5/  ที่ช่วยเก็บรวบรวมและนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยอย่างละเอียดและรอบด้าน ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น หรือการพัฒนากล้องเอนโดสโคปขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูงแบบ 3 มิติ หมุนได้รอบทิศทาง (Multi-Angle Rear-Viewing Endoscopic Tool: MARVEL)6/  ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงฟื้นตัวเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ดีขึ้นกว่าในอดีต และสำหรับทางด้านการจัดการในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แสดงสถานะของเส้นทางยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) อีกด้วย


 

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี AI ยังเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณสุขอย่างแพร่หลาย โดยงานศึกษาของ McKinsey ร่วมกับมหาวิทยาลัย Harvard เมื่อเดือนมกราคม 2566 ได้สรุปว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า AI จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในสหรัฐฯ7/ ลงร้อยละ 5-10 หรือราว 200-360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพห้องผ่าตัด การบริหารจัดการเมื่ออาการของผู้ป่วยทรุดลง ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการส่งต่อผู้ป่วย และปรับปรุงกระบวนการเรียกร้องสินไหมทดแทนให้สามารถพิจารณาเอกสารหรืออนุมัติเอกสารโดยอัตโนมัติก่อนการรักษา เป็นต้น

ไม่เพียงแต่งานด้านการแพทย์เท่านั้น  AI เป็นเทคโนโลยีที่เสมือนเป็นความหวังใหม่ของผู้คนทุกวงการ ซึ่งการสำรวจของ PwC8/  ในปี 2566 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 41 มองว่า AI จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ขณะเดียวกันร้อยละ 34 มองว่า AI จะช่วยสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เล็งเห็นศักยภาพสูงสุดของเทคโนโลยี AI ในการเพิ่มผลผลิต ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสื่อและโทรคมนาคม และกลุ่มบริการทางการเงิน ซึ่งนอกจากนี้ในงานศึกษา Pulse Survey 2023 โดย PwC9/  ยังระบุว่าผู้บริหารองค์กรร้อยละ 59 มีแผนลงทุนในเทคโนโลยีเกิดใหม่จำพวก Cloud หรือ AI ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ผู้บริหารร้อยละ 46 มีแผนลงทุนใน GenAI โดยเฉพาะ 
 

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างมากจากคนทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยี AI มีบทบาทด้านความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของคุณภาพอากาศในทันทีพร้อมกับแนะนำมาตรการป้องกันสุขภาพ10/ และสามารถควบคุมการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับเครือข่ายโทรคมนาคมระบบวิทยุ โดยผู้บริหารบริษัท Nokia กล่าวว่าบริการโดยใช้ AI ดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 3011/ ไม่เพียงเท่านี้ Google ยังนำ AI มาใช้สร้างระบบจราจรอัจฉริยะที่จะช่วยให้การจราจรไหลลื่นขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนจากยานพาหนะ12/ ได้อีกด้วย

เทคโนโลยีเกิดใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในบ้านเรือนโดยช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันแก่ผู้คนผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในรูปแบบระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart home) อาทิ อุปกรณ์รับคำสั่งด้วยเสียง (Voice-activated devices) เช่นสั่งให้เปิดหรือปิดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่อาศัย AI ในการทำงาน (AI-powered appliances) เช่น ตู้เย็นที่จดจำรายการอาหาร วันหมดอายุ และแนะนำสูตรอาหารจากวัตถุดิบที่มีอยู่  หรือแม้กระทั่งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Security system with AI capabilities) ที่ใช้ AI จดจำใบหน้า ตรวจจับความเคลื่อนไหวและความผิดปกติภายในบ้าน ซึ่ง Statista Market Insights ได้ประเมินการขยายตัวของตลาดอุปกรณ์อัจฉริยะในประเทศไทย ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย และอุปกรณ์ให้แสงสว่าง ในช่วงปี 2565 (ค.ศ.2022) ถึง 2570 (ค.ศ.2027) ว่ามีแนวโน้มขยายตัวราวร้อยละ 20 ต่อปี (CAGR) สะท้อนความต้องการใช้งานและความคาดหวังต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเกิดใหม่สำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะได้เป็นอย่างดี



 

ความหวังและความกลัวต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่จากผลสำรวจโดยวิจัยกรุงศรี

 

วิจัยกรุงศรีได้สำรวจความคิดเห็นของคนไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เกี่ยวกับความหวังและความกลัวต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,578 คน อาทิ จากผู้เข้าร่วมงาน Krungsri Tech Day: Together Now and Next13/  ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566 และจากผู้ที่สมัครใจตอบแบบสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ในระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2566 ซึ่งผู้ตอบฯ ล้วนมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันภายในองค์กร

I. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสำรวจ

เนื่องจากเริ่มเก็บแบบสอบถามจากงาน Krungsri Tech Day ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร (ร้อยละ 84) และส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยหากพิจารณาจากลักษณะงาน กลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือผู้ที่ทำงานด้านการเงินหรือการบัญชี (ร้อยละ 19) รองลงมาเป็นผู้ที่ทำงานด้านการขายและการตลาด (ร้อยละ 16) ด้านปฏิบัติการหรือการผลิต (ร้อยละ 16) ด้าน IT หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ (ร้อยละ 13) ด้านกลยุทธ์และวางแผนองค์กร (ร้อยละ 6) และด้านอื่นๆ ที่เหลือรวมกัน (ร้อยละ 30) นอกจากนี้ ผู้ตอบฯ ประมาณ 3 ใน 4 อยู่ในองค์กรใหญ่ที่มีพนักงานเกินกว่า 1,000 คน (ภาพที่ 5)


 

II. ความหวัง

ในแง่ความหวังต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ 5 ด้านนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 95 ให้ความสนใจในประโยชน์ของเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่จะช่วยยกระดับความก้าวหน้าทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพมากที่สุด รองลงมาคือประโยชน์ด้านการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ (ร้อยละ 92) ด้านการสร้างอุปกรณ์อัตโนมัติและความสะดวกสบายประจำวัน (ร้อยละ 92) และด้านการช่วยให้เข้าถึงระบบการศึกษาและแหล่งข้อมูลข่าวสาร (ร้อยละ 88) ตามลำดับ แต่กลับสนใจในการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่สำรวจอวกาศและครอบครองพื้นที่ดาวดวงอื่นน้อยที่สุด (ร้อยละ 66) เมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ (ภาพที่ 6)


 

เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกด้วยวิธีทางเศรษฐมิติพบว่าผู้ที่ทำงานด้านการเงินหรือการบัญชีจะมีโอกาสสนใจประโยชน์ของเทคโนโลยีด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถึง 2.5 เท่า และมีโอกาสสนใจประโยชน์ด้านการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งข้อมูลข่าวสารมากกว่าราว 2 เท่า นอกจากนี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ (ไม่ว่าจะทำงานด้านใด) มีโอกาสสนใจประโยชน์ของเทคโนโลยีเกิดใหม่ด้านอุปกรณ์อัตโนมัติและความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากกว่าฝ่ายบริหารประมาณ 1.8 เท่า

นอกจากนี้ วิจัยกรุงศรีได้สำรวจทัศนคติต่อความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่จะส่งผลดีต่อสังคม โดยพบว่าผู้ตอบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยียั่งยืนจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมได้มากที่สุด รองลงมาคือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (ร้อยละ 29) ในขณะที่บล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ผู้ตอบฯ มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะเกิดผลดีต่อสังคมโดยรวม (ร้อยละ 2) เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ  (ภาพที่ 7)  และเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจทั้งตามบทบาทหน้าที่และตามขนาดองค์กร14/  จะพบข้อสรุปที่ตรงกันว่า พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยียั่งยืนคือสิ่งที่ผู้ตอบฯ ส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ โดยผู้ที่ทำงานในองค์กรใหญ่ (มีพนักงานเกิน 1,000 คน) จะมีมุมมองเช่นนี้มากกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรทั่วไปราว 1.3 เท่า



 

สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI แม้ในภาพรวมจะถูกมองว่าสามารถส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมได้เป็นอันดับสองรองจากพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยียั่งยืน แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนตามลักษณะงาน จะพบว่าผู้ที่ทำงานด้าน IT ราวร้อยละ 38 เล็งเห็นคุณประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ (ภาพที่ 8) โดยผลการวิเคราะห์เชิงลึกยังบ่งชี้ว่าผู้ที่ทำงานด้าน IT มีโอกาสมองเห็นคุณประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ต่อสังคมโดยรวมมากกว่าผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ ราว 1.6 เท่า นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานในองค์กรทั่วไป (มีพนักงานไม่เกิน 1,000 คน) มีโอกาสมีมุมมองเช่นนี้มากกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรใหญ่ราว 1.3 เท่า



 

นอกจากนี้ การที่เทคโนโลยีเกิดใหม่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้อย่างเต็มศักยภาพย่อมต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ดังนั้น วิจัยกรุงศรีจึงได้สรุปมาตรการที่น่าจะช่วยส่งเสริมให้เทคโนโลยีเกิดใหม่แสดงศักยภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์แก่สังคมออกเป็น 4 ลักษณะ โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับการที่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เข้ามาส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบมากที่สุด โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 32.1 รองลงมาคือการเพิ่มโปรแกรมการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีให้แก่สาธารณชน (ร้อยละ 27.5) และการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐในงานวิจัยและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (ร้อยละ 25.5) (ภาพที่ 9) โดยลักษณะงานที่แตกต่างกันส่งผลต่อการให้ความสำคัญแก่มาตรการแต่ละด้านที่ต่างกันด้วย เช่น ผู้ที่อยู่ในระดับบริหาร และผู้ที่ทำงานด้านการเงินหรือการบัญชีจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเทคโนโลยีโดยผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมมากที่สุด ในขณะที่ผู้ทำงานด้าน IT ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในด้านปฏิบัติการหรือการผลิตนั้นกลับให้ความสำคัญสูงสุดกับการเพิ่มการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีให้แก่สาธารณชน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์แบบเจาะจงไปยังองค์กรทั่วไปที่มีพนักงานไม่เกิน 1,000 คนจะพบว่า ผู้ที่ทำงานด้าน IT ในองค์กรทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีแก่สาธารณชนมากกว่ามาตรการอื่นๆ ซึ่งอาจสะท้อนว่าองค์กรทั่วไปในประเทศไทยนั้นยังมีโปรแกรมการศึกษาและฝึกอบรมความรู้เรื่องเทคโนโลยีเกิดใหม่แก่พนักงานไม่เพียงพอ


III. ความกลัว

เมื่อพิจารณาผลสำรวจในด้านความกลัวต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่พบว่าภัยคุกคามจากเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ทำให้ผู้ตอบฯ รู้สึกกังวลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ภัยคุกคามทางไซเบอร์และการโจรกรรมข้อมูล (2) การกระทำสิ่งชั่วร้ายโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง (3) การไม่สามารถควบคุมการเข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลส่วนตัวและอัตลักษณ์ทางดิจิทัล (Digital identity) ของตนเองได้ (4) การพัฒนาเทคโนโลยีและอาวุธอัตโนมัติเพื่อทำสงคราม ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวกับชีวิตประจำวันมากนักแต่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลกับเรื่องดังกล่าวอยู่เช่นกัน และ (5) การสูญเสียความเป็นส่วนตัวเนื่องจากถูกเทคโนโลยีสอดส่องติดตามพฤติกรรม ซึ่งความกลัวต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์และการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวที่เป็นความกลัวอันดับ 1 ของผู้ตอบฯ นั้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการขาดทักษะทางเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยงานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในปี 2566 พบว่าคนไทยจำนวนมากยังขาดทักษะในการตั้งค่าความปลอดภัยอุปกรณ์ บัญชีผู้ใช้ เว็บเบราว์เซอร์ การอัพเดทหรือตรวจเช็คซอฟท์แวร์ และการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลบนโลกออนไลน์15/


 

เมื่อวิเคราะห์ผลเชิงลึกพบว่า ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารมีโอกาสเกิดความกังวล16/ ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์และการแฮกข้อมูลมากกว่าผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ ประมาณ 1.5 เท่า  ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำงานด้าน IT มีโอกาสเกิดความกังวลเรื่องการกระทำสิ่งชั่วร้ายโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากกว่าผู้ที่ทำงานด้าน IT โดยตรงราว 1.6 เท่า และยังมีโอกาสกลัวเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลส่วนตัวและอัตลักษณ์ทางดิจิทัลของตนเองมากกว่าผู้ที่ทำงานด้าน IT ประมาณ 1.4 เท่า ซึ่งผลดังกล่าวได้ตอกย้ำข้อสันนิษฐานว่า การขาดทักษะทางเทคโนโลยีน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของความกลัวต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงานในระดับบริหารมีโอกาสเกิดความกังวลต่อการกระทำผิดโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง และกลัวเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลส่วนตัวและอัตลักษณ์ทางดิจิทัลของตนเองมากกว่าผู้ที่ทำงานในระดับบริหารประมาณ 1.7 เท่า

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องที่ AI และระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์นั้นอยู่ในอันดับต่ำที่สุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 55 ที่แสดงความกังวลด้านนี้ โดยผู้ที่ทำงานระดับบริหารเพียง 4 ใน 10 คนกังวลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ที่ทำงานด้านความเสี่ยง กฎหมาย และการกำกับดูแล (Risk, Legal, and Compliance) รู้สึกกังวลต่อการถูก AI แย่งงาน (ภาพที่ 11)





เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกจะพบว่า ผู้ที่ทำงานในองค์กรใหญ่ (พนักงานเกิน1,000 คน) กลับกังวลว่าเทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแย่งงาน มากกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้ทำงานในระดับบริหารจะกังวลในเรื่องดังกล่าวสูงกว่าผู้บริหารถึงราว 1.7 เท่า สอดคล้องกับงานศึกษาในประเทศอื่นๆ เช่น ผลสำรวจที่เผยแพร่ในปี 2566 ของสหพันธ์แรงงานอเมริกันและสภาองค์การอุตสาหกรรม (The American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations: AFL-CIO) พบว่าแรงงานในสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 70 รู้สึกกังวลว่า AI จะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสตรีจะกังวลเป็นพิเศษว่า AI จะยิ่งทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม (Inequity) ในการทำงานมากขึ้น18/

นอกจากนี้ ประเด็นด้านจริยธรรมยังเป็นความกังวลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องพฤติกรรมประชาชน หรือการประมวลผลของ AI ที่ขาดความเที่ยงตรง โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 83 รู้สึกกังวลต่อผลกระทบทางจริยธรรมของเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยผู้ที่ทำงานในองค์กรใหญ่ (พนักงานเกิน 1,000 คน) จะมีโอกาสกังวลว่าการประมวลผลของ AI จะขาดความเที่ยงตรงมากกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรทั่วไปราว 1.3 เท่า และผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารมีโอกาสกังวลด้านผลกระทบทางจริยธรรมของเทคโนโลยีเกิดใหม่มากกว่าผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ประมาณ 1.4 เท่า


 

IV. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับธนาคาร

แม้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จะมีศักยภาพช่วยงานในหลากหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคธนาคาร19/ ทว่าสิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับผลกระทบและความเสี่ยงที่ต้องรับมือด้วยเช่นกัน โดยในประเด็นนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า ร้อยละ 84.5 มองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมธนาคารในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ร้อยละ 12 มองว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 3.5 มองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ โดยเมื่อเจาะลงไปในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจเฉพาะที่ทำงานในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารจะพบว่า ผู้ที่ทำงานด้านกลยุทธ์และวางแผนองค์กรเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 96) มองว่า AI และระบบอัตโนมัติจะส่งผลดีต่อธุรกิจของธนาคารในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีโอกาสคิดเห็นเช่นนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถึง 4.8 เท่า ตามมาด้วยผู้ที่ทำงานด้าน IT (2.7 เท่า) และผู้ที่ทำงานในส่วนงานหลังบ้านอื่นๆ (1.5 เท่า)






 

มุมมองวิจัยกรุงศรี

 

ทัศนคติของคนไทยต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ทั้งความหวังและความกลัวนั้นอาจได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย อาทิ ประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้รับทราบหรือพบเห็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดจนก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ การขาดความรู้จึงทำให้เกิดความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ การขาดทักษะทางเทคโนโลยีจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดหรือควบคุมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้ เป็นต้น ซึ่งผลสำรวจของวิจัยกรุงศรีชิ้นนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมองประเด็นภัยคุกคามทางไซเบอร์และการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเป็นความเสี่ยงสำคัญที่มากับเทคโนโลยีเกิดใหม่  ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันป้องกันภัยและส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งหากหันไปมองผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐฯ จะพบว่ามีการส่งเสริมความรู้ด้านนี้ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน โดยกว่า 27 มลรัฐได้บรรจุวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ไว้ในหลักสูตรมัธยมปลายแล้ว20/

หากพิจารณาช่องทางการรับความรู้ข่าวสารด้านเทคโนโลยี (Box 1) จะพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่รับข้อมูลเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ควบคู่ไปกับเว็บไซต์ข่าวและบทความ ดังนั้น หากมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยี และสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงที่มากับเทคโนโลยีเกิดใหม่ผ่านช่องทางดังกล่าว พร้อมกับพัฒนาเนื้อหาของสื่อ ข่าวสาร และบทความในสองช่องทางนี้ให้มีคุณภาพสูง จะสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้ถึง 9 ใน 10 คน และย่อมจะส่งผลดีในการยกระดับความรู้ของคนไทยได้อย่างมาก

นอกจากนี้ จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามเริ่มตื่นตัวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยผู้ที่ทำงานในระดับบริหารกว่า 9 ใน 10 คน รู้สึกสนใจประโยชน์ของเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ต่างๆ  อีกทั้งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารยังรู้สึกสนใจเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์สิ่งต่างๆ มากกว่าผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ถึง 1.7 เท่า ซึ่งบ่งชี้ว่าบทบาทของภาคธนาคารในการรณรงค์และผลักดันเรื่องความยั่งยืนในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นช่วยสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานในด้านนี้  ยิ่งไปกว่านั้น จากผลสำรวจที่พบว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรใหญ่ (พนักงานเกินกว่า 1,000 คน) จะมีโอกาสมองเห็นผลดีของพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยียั่งยืนมากกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรทั่วไปราว 1.3 เท่า ซึ่งเป็นการเน้นย้ำบทบาทขององค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถเป็นผู้นำในสังคมในการจัดการเพื่อความยั่งยืนได้

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องจริยธรรมทางเทคโนโลยีก็เป็นประเด็นสำคัญ ตราบใดที่ประชาชนยังต้องเผชิญกับมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่อาจได้ข้อมูลส่วนบุคคลไปจากฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือเอกชน โดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น องค์กรต่างๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังและมีมาตรการการปฏิบัติงานที่เข้มงวดขึ้นด้วย โดยอาจใช้เทคโนโลยีอย่าง Zero Trust21/ ที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าและสาธารณะชนให้มากขึ้น อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐอาจต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เพิ่มการตรวจตราทางไซเบอร์ และมีมาตรการจัดการและโทษที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิดเพื่อคืนความเชื่อมั่นให้กับสังคม และเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีมากเกินไปจนไม่กล้าใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพ

ในทางกลับกัน หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและกล้าใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ผลประโยชน์มหาศาลย่อมตกอยู่กับประชาชน สังคมและองค์กร ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

 

References

 

AFL CIO (2023): “State of the Unions is Strong with Record Public Support, Unprecedented Activism and Organizing this Labor Day”. Retrieved Jan 19, 2024 from https://aflcio.org/press/releases/afl-cios-shuler-state-unions-strong-record-public-support-unprecedented-activism-and

Chandler (2021): “Technology and its Impact on the Medical Field: The use of technology and how it has changed the way medicine is practiced”. Retrieved Feb 16, 2024 from https://storymaps.arcgis.com/stories/a6d2537e5acc40fe8dc1da4d6f741d3e

https://www3.weforum.org/docs/WEF_Top_10_Emerging_Technologies_of_2023.pdf

Nokia (2023) “How Artificial Intelligence reduces the carbon footprint of telco networks”. Retrieved Feb 19, 2024 from https://www.nokia.com/networks/bss-oss/ava/energy-efficiency/

PwC (2023): “Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey 2023”. Retrieved Dec 20, 2023 from https://www.pwc.com/gx/en/asia-pacific/hope-and-fears/2023/asia-pacific-hopes-and-fears-survey.pdf

PwC (2023): “The new Essential Eight technologies: what you need to know” Retrieved Dec 7, 2023 from The new Essential Eight technology trends: PwC

Rice et al (2023): “The Stanford Emerging Technology Review 2023” Retrieved Dec 19, 2023 from https://setr.stanford.edu/sites/default/files/2023-11/SETR_web_231120.pdf

Rotolo et al. (2015): “What is an emerging technology?”. Retrieved Dec 7, 2023 from https://econpapers.repec.org/article/eeerespol/v_3a44_3ay_3a2015_3ai_3a10_3ap_3a1827-1843.htm

S. Cozzens et al. (2010): “Emerging technologies: quantitative identification and measurement” Retrieved Dec 7, 2023 from https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/09537321003647396

Sahni et al. (2023): “The Potential Impact of Artificial Intelligence on Healthcare Spending”. Retrieved Feb 17, 2023 from https://www.nber.org/system/files/chapters/c14760/c14760.pdf

Saini (2023): “New Technological Advancements in Surgery”. Retrieved Dec 12, 2023 from https://webmedy.com/blog/new-technological-advancements-in-surgery/

TechHQ (2024) “Kids must code in California”. Retrieved Feb 19, 2024 from https://techhq.com/2024/02/computer-science-education-new-legislation-requirement/

United Nation (2023): “Science & Emerging Technology”. Retrieved Dec 7, 2023 from https://libraryresources.unog.ch/c.php?g=673842&p=4792828

World Economic Forum (2023): “Top 10 Emerging Technologies of 2023”. Retrieved Nov 17, 2023 from https://www3.weforum.org/docs/WEF_Top_10_Emerging_Technologies_of_2023.pdf

สํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) (2023) รายงานการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 เข้าถึงได้จาก https://tdo.onde.go.th/documents/2023/01-A5-Infographic_TIME-202242_V11.pdf



1/ อาทิ S. Cozzens et al. (2010), Rotolo et al. (2015), Stanford University (2023), World Economic Forum (2023)
2/ เช่น World Economic Forum (https://www3.weforum.org/docs/WEF_Top_10_Emerging_Technologies_of_2023.pdf), PwC (https://www.pwc.com/us/en/tech-effect/emerging-tech/essential-eight-technologies.html), องค์กรสหประชาติหรือ UN (https://libraryresources.unog.ch/c.php?g=673842&p=4792828) และมหาวิทยาลัย Standford(https://setr.stanford.edu/sites/default/files/2023-11/SETR_web_231120.pdf)
3/ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Generative AI เทคโนโลยีพลิกโฉมโลก 
4/ https://www3.weforum.org/docs/WEF_Top_10_Emerging_Technologies_of_2023.pdf
5/ https://storymaps.arcgis.com/stories/a6d2537e5acc40fe8dc1da4d6f741d3e 
6/ https://webmedy.com/blog/new-technological-advancements-in-surgery/ 
7/ https://www.nber.org/system/files/chapters/c14760/c14760.pdf 
8/ https://www.pwc.com/gx/en/asia-pacific/hope-and-fears/2023/asia-pacific-hopes-and-fears-survey.pdf 
9/ https://www.pwc.com/us/en/library/pulse-survey/business-reinvention.html 
10/ https://www.unep.org/news-and-stories/story/how-artificial-intelligence-helping-tackle-environmental-challenges 
11/ https://www.nokia.com/networks/bss-oss/ava/energy-efficiency/ 
12/ https://newatlas.com/transport/google-green-light-traffic/ 
13/ งาน Krungsri Tech Day จัดขึ้นวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เป็นงานที่แสดงนวัตกรรมและโชลูชั่นด้าน Digital banking ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.krungsri.com/th/newsandactivities/krungsri-banking-news/krungsri-tech-day-2023-together-now-and-next
14/ สำหรับงานวิจัยนี้ การวิเคราะห์โดยจำแนกขนาดองค์กรกระทำโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) องค์กรใหญ่ที่มีพนักงานเกินกว่า 1,000 คน และองค์กรทั่วไปที่มีพนักงานไม่เกิน 1,000 คน
15/ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เรื่อง การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566
16/ นับรวมผู้ตอบแบบสำรวจที่รู้สึก “กังวลบ้าง” และ “กังวลมากที่สุด”
17/ นับรวมผู้ตอบแบบสำรวจที่รู้สึก “กังวลบ้าง” และ “กังวลมากที่สุด”
18/ https://aflcio.org/press/releases/afl-cios-shuler-state-unions-strong-record-public-support-unprecedented-activism-and
19/ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แนวโน้มเทคโนโลยีในภาคธนาคาร ปี 2023 
20/ https://techhq.com/2024/02/computer-science-education-new-legislation-requirement/
21/ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ แนวโน้มเทคโนโลยีในภาคธนาคาร ปี 2023
 
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา