ผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำตาลต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจ

ผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำตาลต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจ

27 พฤศจิกายน 2566

บทนำ

 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 4 บาท แต่ต่อมากระทรวงพาณิชย์ระงับการขึ้นราคาดังกล่าว เนื่องจากกังวลต่อผลกระทบที่มีแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สูงขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลได้ 2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่าการปรับขึ้นราคาครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจอีกด้วย โดยในด้านบวกนั้น เกษตรกรได้ผลประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาล ทำให้ราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2566/67 เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลที่จะได้ประโยชน์จากราคาจำหน่ายในประเทศที่สูงขึ้น ขณะที่ผลในด้านลบนั้น การขึ้นราคาน้ำตาลครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภคทางตรง โดยจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม คิดเป็นค่าเฉลี่ย 42.9 บาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้บริโภคทางอ้อมจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้นปีละ 2,069.9 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถส่งผ่านต้นทุนหรือราคามายังผู้บริโภคได้ผ่านการขึ้นระดับราคาสินค้า ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะผ่านช่องทางอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลและผลิตภัณฑ์สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำตาลที่ 0.08%-0.10%


ทำไมต้องขึ้นราคาน้ำตาล

 

สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องอนุมัติการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายนั้น เนื่องจาก (1) ต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ยังทรงตัวสูง ทั้งต้นทุนพลังงาน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะอ้อยสด (2) ระดับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายส่งออกในปัจจุบันสูงกว่าราคาจำหน่ายในประเทศ และ (3) การเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/67 โดยปรับเพิ่มขึ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม (โดย 2 บาทแรกเป็นต้นทุนให้เกษตรกร และ 2 บาทที่เหลือเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย1/) ดังนี้

  • ราคาหน้าโรงงานของน้ำตาลทรายขาว จากเดิมกิโลกรัมละ 19 บาท ปรับขึ้นเป็นเป็น 23 บาท
  • ราคาหน้าโรงงานของน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากเดิมกิโลกรัมละ 20 บาท ปรับขึ้นเป็น 24 บาท


นอกจากนี้ ยังปรับขึ้นราคาขายปลีกในท้องตลาดของทั้งน้ำตาลทรายขาวธรรมดาและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 4 บาท จากเดิมราคากิโลกรัมละ 24 และ 25 บาท ขึ้นไปที่ 28 และ 29 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม เพียง 3 วันต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมกำกับดูแลราคาสินค้า โดยคณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติประกาศให้สินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในวันรุ่งขึ้น (31 ตุลาคม 2566) ทันที ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบและลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ “น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าควบคุมและมีผลทันที ซึ่งถือได้ว่าเป็นการระงับการประกาศขึ้นราคาของ สอน. เพื่อตรึงราคาและลดรายจ่ายให้กับประชาชน


 

ต่อมา ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ประชุมและลงมติแก้ไขราคาน้ำตาลรวมถึงปรับเปลี่ยนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

  1. คงมติให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมตามเดิม
  2. มีมติให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย 2 บาทต่อกิโลกรัม (เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จะอยู่ที่ 2.14 บาทต่อกิโลกรัม) โดย
    • ปรับเพิ่มราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงานขึ้น 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายขาว จากกิโลกรัมละ 19 บาทเป็น 21 บาท และปรับขึ้นราคาน้ำทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 บาท เป็น 22 บาทเพื่อให้ได้ราคาอ้อยและน้ำตาลตามสูตรการคำนวณโครงสร้างต้นทุนแบบ Cost Plus2/ ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขณะที่ส่วนเพิ่มเติมที่ขอปรับขึ้นอีก 2 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อใช้ในกองทุนดูแลสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากต้องตรวจสอบถึงผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่านี้
    • ยกเลิกมาตรการควบคุมราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทราย จากเดิมที่ประกาศควบคุมราคาจำหน่ายปลีกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยกำหนดให้แต่ละพื้นที่กำหนดราคาใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากพบว่าผู้ประกอบการร้านค้าในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทยมีต้นทุนน้ำตาลทรายที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากค่าขนส่งที่แตกต่างกัน และป้องกันการฟ้องร้องจากต่างประเทศจากการกำหนดราคา
  3. มีมติยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกน้ำตาลทรายตั้งแต่ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป และยกเลิกคณะอนุกรรมการที่ กกร.จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลมาตรการดังกล่าวด้วย เนื่องจากปัจจุบัน สอน. มีมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการส่งออกน้ำตาลทรายอยู่แล้ว3/ อย่างไรก็ตาม สอน. ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลปริมาณน้ำตาลทรายให้เพียงพอกับความต้องการและป้องกันการกักตุน โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องแจ้งปริมาณการส่งออกและปริมาณน้ำตาลทรายคงเหลือ ให้กรมการค้าภายในรับทราบทุกวันที่ 10 ของเดือน

ทั้งนี้ สอน. จะนำราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายที่ปรับขึ้นใหม่ไปใช้คำนวณราคาอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ซึ่งจะเริ่มในเดือนธันวาคม 2566 โดยนำไปคิดคำนวณราคาอ้อยเพื่อจ่ายให้กับเกษตรกร4/และโรงงานน้ำตาล ตามสัดส่วนระบบแบ่งผลประโยชน์ โดยเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 70% ของรายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศและรายได้จากการส่งออกตลอดทั้งปีการผลิต ขณะที่โรงงานได้รับ 30% ที่เหลือ หรือที่เรียกว่าระบบ 70:30

 

ผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาล?


วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาลจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ในหลายมิติ ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจและประชาชนทั่วไป ได้ดังนี้

  • เกษตรกรไร่อ้อย: ได้รับผลกระทบเชิงบวก เนื่องจากภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ราคาอ้อยที่ชาวไร่ได้รับจะมาจากระบบแบ่งผลประโยชน์ 70 : 30 ซึ่งเมื่อพิจารณาราคาขายปลีกเดิมของน้ำตาลทรายที่กิโลกรัมละ 24-25 บาท พบว่ารายได้ที่เกษตรกรได้รับยังคงต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนในการผลิตที่โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ  19-20 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งค่าแรงงาน ค่าน้ำมัน และค่าปุ๋ยเคมีที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการปรับขึ้นราคาจะส่งผลดีต่อเกษตรกรให้มีรายได้ที่มาจากการแบ่งสัดส่วนจำหน่ายน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น
  • โรงงานน้ำตาล: ได้รับผลกระทบเชิงบวก เนื่องจากระดับราคาขายปลีกเดิมต่ำกว่าระดับราคาตามกลไกตลาดโลกที่ได้ปรับขึ้นสูงเฉลี่ยราว 27-28 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อเทียบกับต้นทุนราคารับซื้ออ้อยที่ปรับสูงตามต้นทุนปัจจัยการผลิตแล้วทำให้กำไรของโรงงานน้ำตาลจึงไม่สูงนัก ดังนั้นการปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานจึงทำให้โรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์
  • ผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ ภาคครัวเรือนหรือประชาชนที่เป็นผู้บริโภคทางตรง และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้บริโภคทางอ้อม โดยแยกลำดับตามการรับผลกระทบ ดังนี้

ผู้บริโภคภาคครัวเรือน: ได้รับผลกระทบเชิงลบ จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายขายปลีก ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันไปตามต้นทุนโรงงาน ค่าขนส่ง และค่าจัดวางสินค้าในห้าง/ร้านค้า ทำให้ในความเป็นจริงผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้ค้าส่งเพื่อจำหน่ายปลีกให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน และขนมปัง ที่ 1.42 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 21.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้นการปรับขึ้นราคาน้ำตาลจะสร้างภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้นแก่ประชาชนทั้งประเทศประมาณปีละ 2,834.3 ล้านบาท หรือ 42.9 บาทต่อคนต่อปี5/ (ตารางที่ 1)

 
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันตามโครงสร้างต้นทุนการผลิต ขนาดกำลังการผลิต อำนาจการต่อรอง และการส่งผ่านราคา ดังนี้
  • ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่ซื้อน้ำตาลแบบขายส่งหรือซื้อโดยตรงจากโรงงาน: ได้รับผลกระทบเชิงลบ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยใช้ปริมาณน้ำตาลสูงถึงปีละ 1.03 ล้านตัน6/ ดังนั้นราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นกิโลกรัมละ 2 บาทจะสร้างภาระเพิ่มขึ้นราว 2,069.9 ล้านบาท หากพิจารณารายอุตสาหกรรมพบว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีปริมาณการใช้น้ำตาลสูงสุดที่ 0.43 ล้านตัน คิดเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 854.3 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำตาล 0.30 ล้านตัน จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 598.1 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์นมที่ใช้น้ำตาล 0.19 ล้านตัน มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 380.5 ล้านบาท (ตารางที่ 1)ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของแต่ละภาคอุตสาหกรรมจะพบว่าขนาดของผลกระทบขึ้นอยู่กับสัดส่วนต้นทุนของน้ำตาลที่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อต้นทุนการผลิตรวม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตลูกกวาดและขนมขบเคี้ยวมีสัดส่วนต้นทุนน้ำตาลในการผลิตเฉลี่ยที่ 33.0% ของโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 2 บาทจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลูกกวาดและขนมขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น 3.4% รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตน้ำอัดลมมีสัดส่วนต้นทุนน้ำตาลเฉลี่ยที่ 24.9% ของโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งหมด จึงมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น 2.6% จากราคาน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น (ศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ได้จากตารางที่ 2) อย่างไรก็ตาม ในระดับรายบริษัทหรือระดับโรงงาน ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือกำลังการผลิตของแต่ละโรงงาน เนื่องจากผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตสูงจะมีการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) มากกว่า รวมถึงปัจจัยด้านอำนาจการต่อรอง โดยหากมีอำนาจการต่อรองสูง ผู้ผลิตอาจผลักต้นทุนย้อนไปยังต้นน้ำ (โรงงานน้ำตาล) เพื่อคงต้นทุนการผลิตเดิม หรือยอมรับต้นทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นแล้วผลักภาระหรือส่งผ่านราคาไปยังปลายน้ำได้
  • ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ซื้อแบบขายปลีก : ได้รับผลกระทบเชิงลบ ตามการปรับขึ้นราคาขายปลีกโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ขนมปัง ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งการผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคทำได้ไม่มากเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการที่มีช่องทางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากการปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการเหล่านี้จะปรับขึ้นเป็นจำนวนเต็มบาทต่อหน่วยสินค้า แต่ด้วยการปรับขึ้นของราคาน้ำตาลที่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนการบริโภค ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มคงราคาจำหน่ายเดิมเพื่อรักษายอดขายและฐานลูกค้า ยกเว้นผู้ประกอบการที่ได้เปรียบด้านอำนาจต่อรอง อาทิ เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น หรือได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง จึงอาจส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภคได้



  • ภาคเศรษฐกิจ : คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการปรับขึ้นของราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและการยกเลิกมาตรการควบคุมราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาล ส่งผลให้อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 8.0%-10.5%7/ ซึ่งเมื่อมีการกำหนดราคาของแต่ละพื้นที่ใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะต้นทุนด้านค่าขนส่ง คาดว่าผลกระทบจะอยู่ที่กรอบ 10%-15%8/ ทำให้ผลกระทบทางตรง9/ ต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้นอีกราว 0.01-0.02% อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร ผลิตภัณฑ์นม ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว และอื่นๆ (ตารางที่ 2) อาจส่งผ่านต้นทุนบางส่วนผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้า ทำให้ผลกระทบรวมต่ออัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ราว 0.08%-0.10%10/ นอกจากนี้ ในทางปฎิบัติ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนิยมปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นจำนวนเต็มบาทต่อหน่วยสินค้า ดังนั้นผลต่ออัตราเงินเฟ้อจึงอาจสูงกว่าที่ประเมินไว้เบื้องต้นนี้ได้

 

1/ เพื่อรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดการสร้างมลพิษ อีกทั้งยังไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาแก้ปัญหา ซึ่งในปีการผลิต 2565/66 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขออนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าตัดอ้อยสดที่ตันละ 120 บาท หรือคิดเป็นวงเงินรวม 8,000 ล้านบาท
2/ Cost Plus เป็นสูตรของ กอน. ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศโดยแปรผันตามต้นทุนของชาวไร่อ้อย ต้นทุนโรงงานน้ำตาล ต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนค่าบริหารจัดการ 
3/ อาทิ การกำหนดให้โรงงานน้ำตาลสำรองน้ำตาลไว้ฉุกเฉินประมาณ 1 เดือน หรือราว 2 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) หรือการขออนุญาต สอน. โดยต้องแจ้งปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายเพื่อติดตามปริมาณน้ำตาลในประเทศให้มีเพียงพอและเกิดสมดุลภายในประเทศ
4/ สูตรการคำนวณราคาอ้อยต่อตัน = [0.7 * (รายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศและต่างประเทศ)] / ปริมาณอ้อยเข้าหีบ
5/ คำนวณจากปริมาณการบริโภคน้ำตาลทรายทางตรงในปี 2565 โดยคิดภาระที่เพิ่มขึ้นจาก 2 บาทต่อกิโลกรัม (ที่มา: สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย และวิจัยกรุงศรี)
6/ คำนวณจากปริมาณการบริโภคน้ำตาลทรายทางอ้อมในปี 2565 (ที่มา: สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย และวิจัยกรุงศรี)
7/ คำนวณจากราคาน้ำตาลทรายระหว่างราคาจำหน่ายก่อนปรับขึ้นและหลังปรับขึ้นราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม
8/ คำนวณจากราคาน้ำตาลทรายระหว่างราคาจำหน่ายก่อนปรับขึ้นและหลังปรับขึ้นราคา 2 บาทต่อกิโลกรัมบวกต้นทุนเชื้อเพลิงขนส่งของภาคธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเฉลี่ยที่ 3%-5%(ที่มา: ตารางปัจจัยการผลิตปี 2558 รวบรวมโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
9/ ไม่รวมค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ
10/ คำนวณจากต้นทุนของแต่ละอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการขึ้นราคาน้ำตาลที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม (ที่มา: ตารางปัจจัยการผลิตปี 2558 รวบรวมโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา