ส่งออกหดตัว: เจาะลึกผลทางตรง-ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย

ส่งออกหดตัว: เจาะลึกผลทางตรง-ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย

24 กันยายน 2562

ส่งออกหดตัว: เจาะลึกผลทางตรง-ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้ากำลังส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย มูลค่าส่งออกสินค้ามีสัดส่วนสูงถึงราว 50% ของขนาดเศรษฐกิจ และในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มูลค่าส่งออกไทยหดตัวถึง 2.9% YoY จากที่เคยเติบโตสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมไปยังภาคการผลิตอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) จากการประเมินผลทางตรงและทางอ้อมพบว่าราว 66% ของภาคการผลิตในประเทศได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ อุปกรณ์ขนส่ง คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง อาทิ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งนี้ มีผู้ใช้แรงงานกว่า 80% ของการจ้างงานรวมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าว ความเสี่ยงต่อกำลังซื้อในประเทศส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาและผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน 

มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หดตัว 2.9% YoY หลังจากการขยายตัวสูงเกือบ 10% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การส่งออกที่ลดลงกระจายตัวทั้งในแง่ของกลุ่มสินค้าและประเทศคู่ค้า สะท้อนว่าวัฏจักรเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งยังได้รับแรงฉุดจากความไม่แน่นอนและความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐ-จีน การลดลงของอุปสงค์จากต่างประเทศไม่เพียงส่งผลทางตรงต่อธุรกิจส่งออก แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อภาคการผลิตต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกันในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด และท้ายสุดคงเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประกอบการและแรงงานไทยภายในประเทศจะได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน  Research Intelligence ฉบับนี้ต้องการประเมินว่า 1) การลดลงของการส่งออกส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อกิจกรรมการผลิตใดบ้าง และมากน้อยเพียงไร 2) ผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็ก บริษัทไทยหรือต่างประเทศ และ 3) แรงงานกลุ่มไหนเปราะบางต่อผลกระทบดังกล่าว​

ภาคการผลิตโลกก้าวเข้าสู่ขาลง ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการค้าฉุดให้การผลิตชะลอตัวแรง 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้ากำลังส่งผลต่อภาคการผลิตทั่วโลก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Manager Index: PMI) ของโลกในเดือนสิงหาคมลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (ภาพที่ 1) บ่งบอกว่าภาคการผลิตโลกหดตัวต่อเนื่อง โดยการผลิตในสหรัฐลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบทศวรรษ การผลิตในยูโรโซนและญี่ปุ่นหดตัวติดต่อกันหลายเดือน รวมทั้งภาคการผลิตในจีนยังอ่อนแอ ดัชนีฯดังกล่าวสะท้อนว่ากิจกรรมการผลิตซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้ากำลังเข้าสู่ขาลงในหลายประเทศสำคัญของโลก

Picture1.png

แม้ว่าสหรัฐและจีนเริ่มหันหน้ามาเจรจาการค้า แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้ายังคงมีอยู่ อีกทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันหลายรอบตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศอื่นๆทั่วโลกผ่านห่วงโซ่การผลิต ล่าสุด ในช่วงต้นเดือนกันยายนปีนี้ สหรัฐปรับขึ้นภาษี 15% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 112 พันล้านดอลลาร์ และในเดือนธันวาคม มีแผนจะขึ้นภาษีต่อสินค้าจีนมูลค่า 160 พันล้านดอลลาร์ ด้านจีนเองก็มีแผนเก็บภาษี 5-10% ต่อสินค้าสหรัฐมูลค่า 75 พันล้านดอลลาร์  ซึ่งแบ่งเป็นสองรอบในเดือนกันยายนและธันวาคม ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางการค้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดภาคการผลิตและการส่งออกทั่วโลก หลายประเทศที่พึ่งพิงอุปสงค์ต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงประสบปัญหาไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าสูงถึงราว 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศหรือ GDP (ภาพที่ 2)

Picture2.png

ผลทางอ้อมจากการลดลงของส่งออกรุนแรงกว่าผลทางตรง เนื่องจากมีความเชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตอื่นๆทั้งห่วงโซ่การผลิต

การลดลงของการส่งออกจะส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการผลิตหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจส่งออก กิจกรรมที่มิใช่ส่งออกซึ่งรวมถึงภาคบริการ ผลกระทบทางตรง คือ การลดลงของมูลค่าการส่งออกและธุรกรรมในขั้นแรกที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ ผลทางลบต่อกิจกรรมการผลิตต้นน้ำอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องทั้งห่วงโซ่การผลิต เช่น การผลิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ

ในกรณีทั่วไป หากการส่งออกสินค้าทุกหมวดลดลงในอัตราที่เท่ากัน (ภาพที่ 3 สมมติให้ลดลง 10% ทุกหมวด) จะพบว่า อุตสาหกรรมเกือบทุกหมวดจะได้รับผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่าผลกระทบทางตรงอย่างมาก สะท้อนว่าการส่งออกที่ลดลงไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจส่งออกเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตของอุตสาหกรรมอื่นๆในประเทศ ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมมากนำโดยการผลิตอุปกรณ์ขนส่ง คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษและสิ่งพิมพ์ เคมีและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต  (ภาพที่ 3)

Picture3.png

ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการส่งออกที่ลดลงทำให้การผลิตในประเทศโดยรวมลดลง 1.1% กลุ่มภาคการผลิตที่ได้รับผลทางลบมีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 66% ของการผลิตทั้งประเทศ (ภาพที่ 5) ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรง (การผลิตลดลงมากกว่า 5%) ได้แก่ อุปกรณ์ขนส่ง คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีและเคมีภัณฑ์  ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรวมกันประมาณ 8% ของภาคการผลิตทั้งประเทศ  ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง (การผลิตลดลง 1-4%) นำโดย เหมืองแร่ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะแปรรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ ในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการผลิตรวม 26% ของภาคการผลิตทั้งประเทศ สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย (การผลิตลดลงไม่ถึง 1%) ส่วนใหญ่เป็นภาคการผลิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งออกโดยตรง เช่น ภาคการเงิน สาธารณูปโภค ค้าส่ง-ค้าปลีก และการขนส่ง ในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการผลิตคิดเป็น 53%  ทั้งนี้จากการคำนวณเพื่อแยกองค์ประกอบของการส่งผ่านผลกระทบ พบว่า ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงมากกว่าผลกระทบทางตรง นำโดยภาคการผลิตอุปกรณ์ขนส่ง คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีและเคมีภัณฑ์ เหมืองแร่ กระดาษและสิ่งพิมพ์ และยานยนต์ สินค้าเหล่านี้นับเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตหรือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญให้กับภาคการผลิตอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
 

Picture4.png
Picture5.png

ผลกระทบในระดับรุนแรงและปานกลางส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทต่างชาติ

จากการนำข้อมูลผลการคำนวณผนวกเข้ากับข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบในระดับรุนแรงและปานกลางจากการหดตัวของการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 70-80% ในแต่ละอุตสาหกรรม (ภาพที่ 6 ในส่วนของกราฟแท่งสีเหลืองอ่อน) อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยต่างชาติเป็นหลัก (ภาพที่ 7 ในส่วนของสีเทาเข้มและเทาอ่อน) กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หรือต่างชาติมักจะมีสภาพคล่องสูงและมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาในภาคส่งออกได้พอสมควร อย่างไรก็ตาม จากภาพดังกล่าวสะท้อนว่าบริษัทไทยที่มีขนาดเล็กและปานกลางอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในบางอุตสาหกรรม แม้จะมีสัดส่วนไม่มากก็ตามแต่เป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงจากการหดตัวของการส่งออก หากมีการให้ความช่วยเหลือบริษัทขนาดกลางและเล็ก เช่น การช่วยเสริมสภาพคล่อง อาจมีส่วนบรรเทาผลกระทบทางลบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มเหล่านี้

Picture6.png

แรงงานในประเทศ 80% อยู่ในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ความเสี่ยงต่อกำลังซื้ออยู่ที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มแรงงานที่ทำงานล่วงเวลา

แม้ผลกระทบระดับรุนแรงและปานกลางจะกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบการจ้างงานในประเทศ จากผลการคำนวณผนวกเข้ากับข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แรงงานในภาคการผลิตที่ถูกกระทบจากการส่งออกมีจำนวนมากถึง 80% ของการจ้างงานทั้งหมด แรงงานส่วนใหญ่ (ราว 69%) อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย ในขณะที่จำนวนแรงงานซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและปานกลางคิดเป็นสัดส่วน 4% และ 11% ตามลำดับ (ภาพที่ 8)  หากจำแนกตามระดับรายได้ของแรงงานในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ (มากกว่า 50%) เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท (ภาพที่ 9) ซึ่งนับเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออก

Picture7.png
Picture8.png

ทั้งนี้ ผลกระทบของการส่งออกที่หดตัวลงอาจไม่ได้ส่งผลกระทบทันทีต่อจำนวนการจ้างงานประจำหรือการจ่ายเงินเดือนโดยตรง แต่อาจส่งผลต่อการจ้างงานล่วงเวลาหรือการจ่ายค่าล่วงเวลาในการทำงาน (Overtime employment) เนื่องจากเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตในเบื้องต้นได้ จากข้อมูลของสำนักสถิติฯ พบว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากจากการหดตัวของส่งออก จะมีสัดส่วนการจ้างงานล่วงเวลาต่อการจ้างงานรวมสูงประมาณ 20-40% (นำโดยคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (41%), อุปกรณ์ขนส่ง (27%), เคมีและเคมีภัณฑ์ (23%)) ส่วนในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลาง สัดส่วนการจ้างงานล่วงเวลาอยู่ที่ 11-48% (นำโดย อุตสาหกรรมยานยนต์ (48%), อุปกรณ์ไฟฟ้า (35%), เครื่องจักรและอุปกรณ์ (33%) ) (ภาพที่ 10) ตัวเลขดังกล่าวนับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยซึ่งส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ้างงานล่วงเวลาไม่ถึง 10% ในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณการลดลงของจำนวนแรงงานที่ทำงานล่วงเวลา โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาในภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) เฉลี่ยลดลงถึง 8.8% YoY จากที่เคยขยายตัวราว 5% ในปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 11) สัญญาณเชิงลบดังกล่าวนับเป็นปัจจัยที่สะท้อนความเสี่ยงต่อรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆและความเสี่ยงต่อกำลังซื้อในประเทศภายหลังจากการหดตัวของการส่งออก ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม การส่งออกไทยหดตัวถึง 4% บ่งชี้ว่ายังต้องระวังแรงกระเพื่อมไปสู่ภาคการผลิตต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิต การจ้างงานและภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

Picture9.png
Picture10.png

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา