เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร หากเราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดกาล

เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร หากเราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดกาล

04 กุมภาพันธ์ 2564

เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร หากเราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดกาล

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจไทย ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังเพิ่มความเสี่ยงที่การระบาดอาจยืดเยื้อออกไปในระยะยาว วิจัยกรุงศรีทำการศึกษาผลกระทบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และครัวเรือนพบว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร้านอาหารและการขนส่งผู้โดยสารจะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ขณะที่รายได้ของกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำจะลดลงมากกว่ารายได้ของกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในเมืองจะเป็นสองกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดและฟื้นตัวได้ช้า จากสิ่งที่เกิดขึ้นจะพบว่า การฟื้นตัวในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจและครัวเรือน ที่สำคัญ หากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดจะไปซ้ำเติมความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เป็นต้นทุนอยู่เดิม วิจัยกรุงศรีมองว่า การสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรการผลิตไม่ว่าจะเป็นกำลังแรงงาน เงินทุน และวัตถุดิบระหว่างอุตสาหกรรมและระหว่างพื้นที่ จะสามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นและยกระดับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวได้​

การระบาดระลอกใหม่ในช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แม้ภาครัฐใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายกว่าและเฉพาะเจาะจงกว่าเมื่อปีก่อน แต่การระบาดมีความรุนแรงในจังหวัดสำคัญที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน อาทิ อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร การผลิต การค้าปลีกและค้าส่ง เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจซึ่งยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จึงได้รับผลซ้ำเติมอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบดังกล่าวถูกส่งผ่านมายังภาคอุตสาหกรรมแตกต่างกัน แรงงานและครัวเรือนไทยจึงได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปในระยะสั้น แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ภูมิทัศน์ระบบเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คงอยู่ตลอดไป ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด อุตสาหกรรมใดจะสามารถประคับประคองธุรกิจต่อได้และประเทศไทยควรทำอย่างไรเพื่อให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังเปราะบางสามารถอยู่รอดต่อไปในอนาคต
 

ภาคบริการไทยได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด 

 

การควบคุมการแพร่ระบาดมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ ล็อกดาวน์พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวต่างประเทศดับลง อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว แม้ว่าการออกมาตรการควบคุมจะเป็นผลดีทางด้านสาธารณสุข  แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีทำการวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลรวมของทั้งการระบาดระลอกแรกและระลอกใหม่ พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นำโดย อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโรงแรม อุตสาหกรรมร้านอาหาร (รูปที่ 1) โดยในปี 2021 โดยรวมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในปีก่อน อย่างไรก็ดีผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการระบาด


 

แรงงานไทยได้รับผลกระทบจากการลดลงของค่าจ้างและจำนวนชั่วโมงการทำงาน แรงงานทักษะต่ำเสี่ยงสูญเสียรายได้ในระดับสูง

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละภาคอุตสาหกรรมถูกส่งต่อมายังตลาดแรงงานผ่านความพยายามในการปรับลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ที่ลดลง ภาคธุรกิจจึงทำการลดต้นทุนแรงงานในด้านค่าจ้างและจำนวนชั่วโมงการทำงาน โดยค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวลดลงแตกต่างกันตามผลกระทบทางลบในแต่ละภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบระดับต่ำคือ อุตสาหกรรมที่ค่าจ้างปรับตัวลดลงน้อยกว่า 10 % ในปี 2021 เมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาด ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตร การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์​ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการบริการและการท่องเที่ยวซึ่งมีการลดลงของค่าจ้างในระดับสูงอยู่ที่ 18% ถึง 45% นำโดยธุรกิจโรงแรมและที่พัก การเดินทาง กิจการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม แม้ว่าสัดส่วนของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบระดับรุนแรงจะมีจำนวนน้อย แต่การลดลงของค่าจ้างกลับมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (รูปที่ 2) สะท้อนถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากโครงสร้างที่ยังกระจุกตัวในกิจกรรมที่ผูกโยงกับอุปสงค์จากต่างประเทศ ดังนั้น ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยย่อมขึ้นกับปัจจัยการระบาดในต่างประเทศด้วยเช่นกัน  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามรักษาระดับการจ้างงานไว้ แต่แลกมาด้วยการปรับลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างลง ถึงแม้ว่าในปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนสามารถดำเนินต่อได้และชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอาจปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการระบาด (รูปที่ 3)



 


ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นของอาชีพเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ของแรงงาน วิจัยกรุงศรีมองว่าแรงงานในกลุ่มที่มีทักษะระดับกลางหรือต่ำจะสูญเสียรายได้มากถึง 8% จากระดับรายได้ในปี 2019 แรงงานกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 75% ของแรงงานทั้งหมด (รูปที่ 4) เช่น แรงงานในภาคเกษตร แรงงานในภาคก่อสร้าง พนักงานขายและให้บริการ พนักงานทำความสะอาด ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดของอาชีพที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ประกอบกับแรงงานบางส่วนอยู่ในกิจการที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้ข้อจำกัดของอาชีพ การลดลงของชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างซึ่งยังไม่ปรับตัวดีขึ้น แรงงานที่มีทักษะระดับกลางหรือต่ำจึงได้รับผลกระทบมากกว่า สะท้อนว่าตลาดแรงงานไทยจะได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบรายได้และอาจกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเป็นลำดับถัดไป



 

คนจนเมืองยังคงวิกฤต ท่ามกลางภาวะโควิดที่ยังคงระบาด

 

การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ได้ฉายภาพความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยอย่างชัดเจน ผ่านผลกระทบต่อแต่ละกลุ่มรายได้ที่แตกต่างกัน วิจัยกรุงศรีทำการประเมินผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ครัวเรือนรายจังหวัดโดยแบ่งตามระดับรายได้ พบว่ากลุ่มคนชนชั้นกลางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุดผ่านการลดลงของรายได้ถึง 7.6% เมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาด ซึ่งผลกระทบกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ขณะที่คนรวยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มรายได้อื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ จากรายได้ที่ลดลงราว 6.6% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มคนจนเมืองซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 7,500 บาทต่อเดือนและอาศัยอยู่ในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจกลับมีการสูญเสียรายได้รุนแรงที่สุด นำโดยครัวเรือนในจังหวัดชลบุรีซึ่งรายได้ลดลงถึง 12.7%  ตามด้วยกรุงเทพฯ (12.3%) ภูเก็ต (12.2%) เชียงใหม่ (9.8%) และกระบี่ (9.4%) ตามลำดับ (รูปที่ 5) เมื่อเป็นเช่นนี้ การดำรงชีวิตในเมืองใหญ่ของคนจนจึงเปลี่ยนไป รายได้ที่หายสวนทางกับต้นทุนการใช้ชีวิตที่ยังสูง กลุ่มคนเหล่านี้จึงต้องมองหากันชนทางเศรษฐกิจของตนเองเพื่อรองรับแรงกระแทกจากโควิดทั้งในปัจจุบันและช่วงเวลาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า


 

ครัวเรือนที่มีกันชนทางการเงินในระดับต่ำถูกซ้ำเติมจากการสูญเสียรายได้มากที่สุด

 

ในสภาวะปกติแล้ว ครัวเรือนไทยมีความเปราะบางค่อนข้างมากจากการมีเงินออมน้อยและมีกันชนทางการเงินระดับต่ำเป็นทุนเดิม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวกัดกร่อนความแข็งแรงทางการเงิน ภาคครัวเรือนจึงมีแนวโน้มที่จะเปราะบางมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากระดับหนี้ครัวเรือนซึ่งเพิ่มขึ้นสู่ 86.6% ของ GDP ในไตรมาส 3 ของปี 2020 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ จากการขยายตัวของหนี้สินคงค้างที่สวนทางกับรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อครัวเรือนในภาวะวิกฤตเช่นนี้

วิจัยกรุงศรีทำการประมาณการผลกระทบในมิติของรายได้และสินทรัพย์ของครัวเรือนโดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนไทยที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่าครัวเรือนละ 2 แสนบาทจะได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด ไม่ว่าครัวเรือนนั้นจะเป็นครัวเรือนที่มีรายได้ระดับใด โดยครัวเรือนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 22% ของครัวเรือนไทย ทั้งนี้เนื่องจากครัวเรือนที่มีเงินออมน้อยจะมีความเปราะบางมากกว่า จากการมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่น้อยกว่า ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและมีข้อจำกัดในการหาสินทรัพย์ทดแทนเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนที่มีสินทรัพย์มากกว่าจะสามารถรองรับความเสียหายและลดทอนผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ได้ดีกว่า (รูปที่ 6)



ข้อค้นพบนี้ได้ฉายภาพครัวเรือนไทยออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีสินทรัพย์ระดับสูง ซึ่งได้รับผลจากการสูญเสียรายได้ในระดับต่ำและแม้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ครัวเรือนเหล่านี้จะยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มที่มีสินทรัพย์ระดับต่ำซึ่งมีความเปราะบางอยู่ตั้งแต่ต้น กลับถูกซ้ำเติมจากการสูญเสียรายได้ที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และผลกระทบต่อครัวเรือนกลุ่มนี้อาจทวีความรุนแรงขึ้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโลกและไทยยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างล่าช้าและรายได้ครัวเรือนยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด
 

การบริโภคฟื้นตัวระดับปานกลางในปี 2021 แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดในทุกหมวดสินค้า

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งกดดันรายได้และกำลังซื้อของครัวเรือนไทย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาสมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย ในปี 2021 ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง ผ่านแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่ายซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคครัวเรือนได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราไม่ทิ้งกันและเราเที่ยวด้วยกัน อีกทั้งแผนการแจกจ่ายวัคซีนซึ่งมีความหวังว่าจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจกลับมามีมุมมองบวกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี ปัจจัยส่งเหล่านี้อาจยังไม่เพียงพอให้การบริโภคกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด วิจัยกรุงศรีคาดว่าภาพรวมการใช้จ่ายของครัวเรือนในปี 2021 จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิดที่ 2.5% (รูปที่ 7)



 

เมื่อพิจารณารายสินค้าพบว่าการใช้จ่ายในหมวดการท่องเที่ยว ยานยนต์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยจะต่างจากระดับก่อนการระบาดอยู่มาก จากการปรับลดการบริโภคมากที่สุดในปี 2020 และแม้ว่าสินค้าเหล่านี้ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ในตะกร้าของกลุ่มคนรายได้สูงซึ่งเป็นแรงส่งสำคัญในด้านการบริโภค แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังถูกรุมล้อมด้วยความเสี่ยง จึงไม่ได้ยืนยันถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของสินค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบหนักและใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน จากมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามประเทศที่ยังเข้มงวดและความสามารถในการจับจ่ายในประเทศที่น้อยลง

ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้างต้นอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยสามารถควบคุมได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดยังมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อต่อเนื่องจากสองปัจจัย ปัจจัยแรก รูปแบบการระบาดในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ยังเกิดขึ้นได้ง่าย และปัจจัยที่สอง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ซึ่งเกิดได้สองวิธีคือ การมีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีน ซึ่งจากแผนการฉีดวัคซีนของไทยพบว่า ณ สิ้นปี 2564 มีเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะได้รับวัคซีน ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ราว 70-91.3% (Sinovac and AstraZeneca/Oxford) และประสิทธิภาพอาจลดลงหากเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์มากขึ้น นอกจากนั้น ในภาพกว้าง ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดยังคงมีอยู่ คำถามที่น่าสนใจชวนให้ขบคิดต่อก็คือ หากการระบาดของโควิด-19 อยู่กับเราตลอดไป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและครัวเรือนไทยจะเป็นอย่างไร

 


 

วิจัยกรุงศรีมองว่าหากการระบาดของโควิด-19 อยู่ตลอดไปจะส่งผลต่อภูมิทัศน์โครงสร้างเศรษฐกิจ 6 ประการ ดังนี้

  • รายจ่ายด้านสุขภาพและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐต้องแบกรับต้นทุนการดูแลรักษา ขณะที่ภาคเอกชนและครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการป้องกันการแพร่ระบาด
  • มาตรการควบคุมการระบาดและข้อจำกัดการเดินทางจะลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น การจัดแสดง การแข่งกีฬา และคอนเสิร์ต การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะถูกกระทบอย่างยาวนานจากความเข้มงวดในการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
  • ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น ตามค่าใช้จ่ายของการป้องการโรคที่มากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ แม้สามารถทำการเว้นระยะห่างทางกายภาพได้ (Physical distancing) แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการและการทำงานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายของบริษัท โดยเฉพาะในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มี Face-to-face contact สูง
  • ประสิทธิภาพของแรงงานมีแนวโน้มต่ำลง จากการศึกษาของ Bank of England และ Stanford University[1] ระบุว่าในช่วงที่มีการระบาด ประสิทธิภาพของแรงงานลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับก่อนการระบาด และยังคงมีแนวโน้มลดลงราว 2% ภายหลังจากควบคุมการระบาดได้ ประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลงเกิดจากผลิตผลที่ได้ลดลงและต้นทุนการทำงานเพิ่มขึ้น
  • ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีเร็วขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านดิจิทัล เพื่อรองรับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังต้องปรับขบวนการทำงานเพื่อให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
  • กำลังแรงงานและทรัพยากรจะถูกเคลื่อนย้ายระหว่างพื้นที่และอุตสาหกรรม โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนและอุตสาหกรรมแตกต่างกัน การระบาดเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นแรงงาน เงินทุน และวัตถุดิบ จากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไปยังอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า ทั้งนี้ ผลกระทบที่แตกต่างกันในเชิงพื้นที่ยังส่งผลให้มีการย้ายถิ่นของแรงงาน
 

จากสมมติฐานข้างต้น วิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลอง General equilibrium เพื่อศึกษาผลต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมพบว่า หากการระบาดของโควิด-19 อยู่ตลอดไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมรุนแรงมากขึ้นและชะลอการฟื้นตัวให้เป็นไปอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจะมีการปรับตัว ผ่านการโยกย้ายปัจจัยการผลิตจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าไปยังภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า ทำให้เห็นอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์และได้รับผลกระทบชัดเจนมากขึ้น ในกรณีที่การระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผลผลิตโดยรวมเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลง 4.7% จากระดับก่อนการระบาด แต่หากการระบาดของโควิด-19 คงอยู่ตลอดไป ผลผลิตโดยรวมมีแนวโน้มลดลง 6.4% จากระดับก่อนการระบาด เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสารยังคงเป็นอุตสาหกรรรมที่ได้รับผลกระทบสูง จากมาตรการควบคุมการระบาดและระดับความเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในอุตสาหกรรมไอทีและการสื่อสาร โรงพยาบาล และอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มกลับมาสูงกว่าระดับก่อนการระบาด


 

ผลของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อเผชิญโจทย์ใหม่จากการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน

 

ผลจากการระบาดตลอดไปของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมตอกย้ำความเปราะบางของครัวเรือนไทย วิจัยกรุงศรีศึกษาผลต่อเนื่องไปยังครัวเรือนไทยในมิติต่าง ๆ เช่น ระดับรายได้ พื้นที่ ทักษะแรงงาน และอุตสาหกรรมที่แรงงานอยู่ พบสิ่งที่น่าสนใจ 3 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1:  ผลกระทบต่อแรงงานที่มีทักษะต่างกันเพิ่มมากขึ้น รายได้ของกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำจะฟื้นตัวช้ากว่าแรงงานที่มีทักษะสูง โดยในระยะยาว แรงงานที่มีทักษะต่ำได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจาก 2.4% เป็น 4.6% หากโควิด-19 ยังระบาดต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานทักษะสูงกลับไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น (รูปที่ 11)

ประการที่ 2: ผลกระทบต่อค่าจ้างตามรายอุตสาหกรรมแตกต่างกันมากขึ้น แรงงานในภาคท่องเที่ยว ร้านอาหารและการขนส่งผู้โดยสารได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น (รูปที่ 12)



 

ประการที่ 3: คนจนเมืองและชนชั้นกลางยังคงเป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงสุด และความแตกต่างของผลกระทบมีมากขึ้น จากรูปที่ 13 จะเห็นได้ว่า รายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกลับฟื้นตัวได้เร็วแม้การระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลานาน ส่วนชนชั้นกลางยังคงได้รับผลกระทบรุนแรง ขณะที่คนจนในเมืองกลับเผชิญผลกระทบรุนแรงมากขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมเชิงรายได้และพื้นที่ของครัวเรือนไทย
 

 

การเอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรช่วยบรรเทาผลกระทบและลดช่องว่างของรายได้


แม้การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง การระบาดอย่างยาวนานทำให้ผู้คนและธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งการปรับตัวที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายทรัพยากรทั้งในด้านแรงงาน เงินทุน วัตถุดิบจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบสูงหรือมีประสิทธิภาพต่ำไปยังภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบต่ำกกว่าหรือมีประสิทธิภาพสูงกว่า จากการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า หากแรงงานและทรัพยากรต่างสามารถเคลื่อนย้ายข้ามไปมาระหว่างอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น (ต้นทุนของการเคลื่อนย้ายทรัพยากรลดลง 10%) จะช่วยเพิ่มผลผลิตโดยรวมประมาณ 0.19% และจะช่วยให้หลายอุตสาหกรรมขยายตัว นอกจากนี้ ยังเพิ่มค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยถึง 0.24% บ่งบอกได้ว่าการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้นจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ได้



โดยสรุป หากโควิด-19 อยู่กับเศรษฐกิจไทยตลอดไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เพียงถูกจำกัด แต่ยังเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันต่อภาคครัวเรือนของไทย ซึ่งจะยิ่งย้ำความยากลำบากของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า การเพิ่มความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นกำลังแรงงาน เงินทุน และวัตถุดิบระหว่างอุตสาหกรรมและพื้นที่ จะสามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ โดยอาจทำผ่านการสร้างแพลตฟอร์มให้แรงงานเข้าถึงตำแหน่งงานที่สนใจรวมถึงหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มโอกาสและความยืดหยุ่นในการเข้าถึงตลาดแรงงาน ส่งเสริมและลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจใหม่ ๆ และธุรกิจขนาดเล็ก ให้เอื้อต่อการยกระดับศักยภาพธุรกิจ อีกทั้งการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจที่มีอยู่เดิมทั้งด้านภาษีและการถือครองกรรมสิทธิ์ในการลงทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการ การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ไปยังภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต


ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณกุศลิน จารุชาต สำหรับความช่วยเหลือในการเขียนบทความฉบับนี้ 
[1] Bloom, Nicholas and Bunn, Phillip and Mizen, Paul and Smietanka, Pawel and Thwaites, Greg, The Impact of Covid-19 on Productivity (December 21, 2020). Bank of England Working Paper No. 900
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา