สตาร์ทอัพด้าน ESG …พลังเล็กๆ สู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

สตาร์ทอัพด้าน ESG …พลังเล็กๆ สู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

21 ธันวาคม 2566

เมื่อปี ค.ศ. 2015 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยคาดหวังว่าในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ทุกประเทศทั่วโลกจะมีความยั่งยืนในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีความมั่งคั่ง ปลอดภัยและสงบสุข ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนว ทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน1/ อย่างไรก็ตาม ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลกตลอดจนอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับสูงสุดตั้งแต่มีการวัดและบันทึกค่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา2/ จนหลายฝ่ายเกิดข้อกังขาว่ามนุษยชาติจะสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามประสงค์หรือไม่ ภาคส่วนต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance) หรือ ESG

เสาหลักทั้งสามของ ESG ประกอบด้วย 1) สิ่งแวดล้อม (E: Environment) โดยตัวแปรที่ต้องคำนึงถึง เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการขยะรวมถึงการรีไซเคิล และการดำเนินการเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เป็นต้น  2) สังคม (S: Social) ซึ่งพิจารณาความเท่าเทียมในด้านการกระจายรายได้และโอกาสในการทำงาน ความปลอดภัยและสวัสดิการของบุคลากร รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและห่วงโซ่อุปทาน และ 3) ธรรมาภิบาล (G: Governance) หมายถึงการที่องค์กรดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรม แสดงความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีการประเมินความเสี่ยง มีการต่อต้านการทุจริตและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้อง แม้ในปัจจุบันเกณฑ์ในการพิจารณาตัวชี้วัดที่กล่าวมายังเป็นเกณฑ์โดยคร่าวเท่านั้น แต่ก็สะท้อนถึงแนวโน้มการบริหารจัดการองค์กรให้มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้น

ในบรรดาเครื่องชี้ ESG นั้น ประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคธนาคาร และเป็นที่พูดถึงมากที่สุดคือตัว E หรือประเด็นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้คาดการณ์ไว้ว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า และเมื่อพิจารณาแต่ละภาคส่วนจะพบว่า ภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นในบริบทที่แตกต่างกัน โดยภาครัฐมักมุ่งเน้นสร้างความโปร่งใสและสามารถตรวจ สอบได้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ในด้านธรรมาภิบาลโดยตรง ส่วนภาคเอกชนสามารถใช้ตัวชี้วัด ESG สร้างความแตกต่างในเชิงธุรกิจได้ เช่น การนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน3/ หรือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม4/ ซึ่งเมื่อทำการตลาดอาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่ปฏิบัติตามกรอบ ESG แม้ว่าอาจมีราคาสูงกว่าก็ตาม และสำหรับภาคธนาคารนั้น เครื่องชี้ด้าน ESG มีความสำคัญในการจัดทำรายงานความยั่งยืนทางการเงิน โดยแต่ละประเทศมีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนที่แตกต่างกันไป อาทิ สหภาพยุโรปมีกฎ Sustainable Finance Disclosures Regulation (SFDR) ที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยมีกรอบการทำงานที่ครอบคลุมมากกว่าเรื่องการเงิน อาทิ ผลกระทบของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่มีต่อองค์กร ซึ่งธนาคารที่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์นี้จะต้องจ่ายค่าปรับและถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ประเด็นด้าน ESG ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ในรายงาน Who Cares Wins ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกว่า 20 แห่งทั่วโลกและองค์กร UN Global Compact โดยในรายงานดังกล่าวมีข้อเสนอให้ผนวกตัวชี้วัด ESG ในการวิเคราะห์ การบริหารจัดการสินทรัพย์ และการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อให้ลูกค้าได้ตัดสินใจเลือกลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดว่าเป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย5/   นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้องค์กรภาคธุรกิจได้แถลงนโยบายระยะยาวและเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตน รวมถึงรวบรวมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์การเติบโตขององค์กรในอนาคตอีกด้วย โดยสำหรับประเทศไทย หน่วยงานกำกับดูแลอย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และได้จัดทำคู่มือไว้ในปี 2555 สำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว6/ ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดแผน 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) และบรรจุ ESG เป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับความยั่งยืนในตลาดทุน



 

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ  โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้อยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขัน แต่กระแสความตื่นตัวในประเด็นด้านความยั่งยืนที่เริ่มได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นทำให้เกิดคำถามถึงผลกระทบจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีดังกล่าว โดยในรายงาน e-Conomy SEA 2022 ที่จัดทำโดย Google Temasek และ Bain & Company7/ ระบุว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 20 ล้านตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี (เทียบกับปี 2565)  นอกจากนี้ ประเด็นทางสังคมที่มากับการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็มีอย่างเช่นการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมแบบ “จ่ายต่ำทำงานเกิน” (Underpaid and Overwork) ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นด่วน (Fast fashion) โดยเว็บไซต์ข่าว Earth.Org ได้เผยแพร่บทความเรื่อง ‘Fast Fashion: The Danger of Sweatshops’ ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศที่เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นด่วนหลายประเทศ อาทิ บังคลาเทศ จีนและอินเดีย นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 20-50 ของค่าใช้จ่ายที่ครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ในการยังชีพขั้นพื้นฐานเท่านั้น อีกทั้งแรงงานยังถูกบังคับให้ต้องทำงานทุกวันๆ ละ 14-16 ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัย รวมถึงต้องเผชิญการกดขี่ทางวาจา และในบางครั้งอาจมีการทำร้ายร่างกายจากผู้จัดการโรงงานอีกด้วย8/ ส่งผลให้องค์กรขนาดใหญ่ตลอดจนบริษัทขนาดเล็กรวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพต่างตระหนักถึงความสำคัญของประเด็น ESG ตลอดจนความจำเป็นของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานกำกับเริ่มกำหนดให้บริษัทจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Report) เพื่อชี้แจงเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้นๆ ควบคู่ไปกับรายงานประจำปีซึ่งให้ความสำคัญกับเครื่องชี้สุขภาพทางการเงินขององค์กรนั้นๆ ด้วย

สำหรับองค์กรต่างๆ แนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมีอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรกคือการปรับกระบวนการในการทำธุรกิจของตนให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนแนวทางที่สองคือการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ช่วยให้สังคมหรือธุรกิจที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถบรรจุเป้าหมายของตนได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ฝั่งผู้บริโภคหลายกลุ่มก็เริ่มทยอยปรับพฤติกรรม โดยหันมาซื้อหาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลดีต่อสังคมมากขึ้นเช่นกัน อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากหลายทางเช่นนี้ย่อมเป็นโอกาสของธุรกิจน้อยใหญ่และบริษัทสตาร์ทอัพที่จะเข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้าน ESG ตามแนวทางที่สองในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และด้วยความที่ธุรกิจสตาร์ทอัพมักเริ่มต้นจากความคิดริเริ่มหรือนวัตกรรมเล็กๆ มีความคล่องตัวสูง และสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานการทำธุรกิจได้ ย่อมเป็นเหตุให้ “ESG Startup” หรือบริษัทสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการด้าน ESG เติบโตอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนานี้
 

 

สตาร์ทอัพด้าน ESG กระแสดีในยุโรป

 

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับ ESG รวมถึงในภาคธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย ซึ่งแม้ทั่วโลกจะมีบริษัทสตาร์ทอัพกำเนิดขึ้นมากมาย แต่สตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจเกี่ยวข้องกับ ESG โดยตรงและประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักในระดับสากลอาจยังมีจำนวนไม่มากนักและมักอยู่ในทวีปยุโรป เนื่องจากทางฝั่งยุโรปเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG มาก่อนภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในด้านเงินลงทุน นอกจากจะระดมทุนจากภาคเอกชนแล้ว สตาร์ทอัพในยุโรปยังได้รับเงินสนับสนุนจากทางการสหภาพยุโรปผ่านโครงการสนับสนุนเงินทุนแก่สตาร์ทอัพที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอยู่หลายโครงการ อาทิ LIFE Programme ที่สนับสนุนเงินลงทุน 5.4 พันล้านยูโร สำหรับการรักษาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและคุณภาพชีวิต การบรรเทาและการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังมีโครงการ Horizon Europe ที่สนับสนุน 95.5 พันล้านยูโร สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และล่าสุด Innovation Fund จำนวน 10 พันล้านยูโร ที่เป็นเงินทุนเพื่อธุรกิจสตาร์ทอัพสีเขียวและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก17/ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเหล่านี้มีส่วนช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพด้าน ESG ในยุโรปประสบความสำเร็จ โดยบทความนี้จะกล่าวถึงกรณีศึกษาของบริษัท Plan A  Verkor และ Carbon Equity



 
  • Plan A

ก่อตั้งเมื่อปี 2560 (ค.ศ. 2017) โดย Lubomila Jordanova และ Nathan Bonnissaeu มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยบริการหลักของบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้คือการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ (Software as a Service: SaaS) แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยซอฟต์แวร์ของ Plan A ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลและวิเคราะห์กิจกรรมหลักของธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำเสนอวิธีแก้ปัญหาในการลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว อันจะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดทำรายงานความยั่งยืนและตัวชี้วัด ESG รวมถึงช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท Plan A มีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีเป้าหมายร่วมกันมากกว่า 1,500 ราย และมีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งหมดกว่า 1,000 วิธี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Plan A ที่ตั้งใจให้ซอฟต์แวร์ของบริษัทช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ทั่วโลกจำนวน 1 กิกะตันต่อปี18/

  • Verkor

บริษัทสตาร์ทอัพที่ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ก่อตั้งเมื่อปี 2564 (ค.ศ. 2021) โดย Benoit Lemaignan สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส บริษัทตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงการรีไซเคิลโลหะที่ใช้ในแบตเตอรี่อย่างครบวงจร รวมถึงกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ไฟฟ้าหลังการใช้งาน นอกจากนี้บริษัทยังคำนึงถึงที่มาของโลหะที่เป็นวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่กระบวนการขุดเจาะและถลุงแร่สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฟฟ้าในยุโรป บริษัท Verkor ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจำนวน 100 ล้านยูโร ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง19/ และได้นำทุนดังกล่าวมาก่อสร้างโรงงานต้นแบบและศูนย์นวัตกรรม Verkor Innovation Centre ในเมืองเกรโนเบิลเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยศูนย์นวัตกรรมดังกล่าวสามารถผลิตแบตเตอรี่กำลังสุทธิ 150 เมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี20/ หรือเรียกว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ (Megafactory) อีกแห่งหนึ่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Verkor ประสบความสำเร็จคือความสามารถในการระดมทุนและหุ้นส่วนการลงทุน โดยบริษัทผลิตรถยนต์เรโนลต์ (Renault) ตกลงร่วมทุนกับ Verkor ในระยะยาวเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติฝรั่งเศส โดยคาดว่าในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเรโนลต์จะใช้แบตเตอรี่จาก Verkor เป็นครั้งแรก21/

เนื่องจากแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าใช้โลหะที่เป็นวัตถุดิบ อาทิเช่น นิกเกิล แมงกานีส โคลบอลต์ และลิเทียมเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ทางการสหภาพยุโรปจึงได้กำหนดข้อบังคับของฉลากผลิตภัณฑ์ของแบตเตอรี่ที่มีกำลังตั้งแต่ 2 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ว่าต้องระบุปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานความทนทานและสมรรถนะของแบตเตอรี่และพาสปอร์ตแบตเตอรี่ดิจิทัล (Digital Battery Passport) เพื่อสืบค้นที่มาของโลหะที่นำกลับมาใช้ใหม่ ความสามารถในการจัดเก็บแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและการรีไซเคิล ซึ่ง Verkor ได้ปรับตัวโดยการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อติดตามการใช้โลหะตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่นี้ได้โดยยังคงสามารถรักษาความยั่งยืนได้22/ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนตั้งโรงงานขนาดยักษ์ (Gigafactory) เพื่อผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้ากำลังสุทธิ 16 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ที่เมืองดุงคีร์ก ประเทศฝรั่งเศส23/ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพียงพอสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 300,000 คันต่อปี และจะสร้างงานกว่า 1,200 ตำแหน่ง โดยคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในโลกในปี 2573

  • Carbon Equity

บริษัทที่นำเสนอตัวเลือกการลงทุนในกองทุนหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private equity funds) สำหรับนักลงทุนรายย่อยในกิจการสตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ก่อตั้งเมื่อปี 2564 (ค.ศ. 2021) โดย Jacqueline van den Ende สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยกำหนดการลงทุนขั้นต่ำที่ 100,000 ยูโร ในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความสำเร็จของบริษัทเกิดจากตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง อาหารและเกษตร พลังงาน การขนส่ง การพัฒนาระบบวิเคราะห์และการจัดเก็บข้อมูล24/ โดย Carbon Equity ได้ลงทุนในบริษัทอื่นๆ อาทิ 1) Kenoby จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัสดุทดแทนไม้ที่มีความคงทนแข็งแรงกว่าไม้ธรรมชาติด้วยกระบวนการผลิตที่เน้นความยั่งยืน สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้  2) Rondo จากสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทผู้พัฒนาระบบจัดเก็บความร้อนในรูปแบบแบตเตอรี่ความร้อน (Heat battery) สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเป้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) และปัจจุบันได้ร่วมมือกับบริษัท SCG ประเทศไทย ในการพัฒนาวัสดุจัดเก็บความร้อน และ 3) บริษัทจากสหรัฐอเมริกา Funga ผู้พัฒนาการใช้เห็ดและราในการปรับปรุงคุณภาพของดินและช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินเพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด Carbon Equity มีผู้ร่วมลงทุนมากกว่า 500 ราย และมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องทั้งจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Asset Under Management: AUM) และด้านจำนวนผู้ลงทุนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

 

มองเขา มองเรา มองอาเซียน

 

เมื่อหันกลับมามองภาพรวมของภาคธุรกิจไทยในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะพบว่าในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI)25/ จำนวน 26 แห่ง ซึ่งสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9  (พ.ศ. 2557-2565)26/ นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน โดยเปิดตัวระบบจัดการข้อมูล ESG Data Platform ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของ บจ. และเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ใช้งานแบบครบวงจร โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลที่ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางการเงินอื่นๆ27/  และในอนาคต ตลท. มีแผนนำข้อมูลตัวชี้วัด ESG มาใช้ในการประเมินหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) และการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) เพื่อเป็นการลดภาระของ บจ. และลดการส่งรายงานที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย28/


สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในไทยที่แม้จะยังมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่บางส่วนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว ส่วนกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็น ESG Startup ก็เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วเช่นกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 3 บริษัทสตาร์ทอัพไทยที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ได้แก่ บริษัท Happy Grocers ที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัท Vulcan Coalition ที่เปิดโอกาสทางสังคมของผู้พิการ และบริษัท Find Folk ที่โดดเด่นเรื่องความยั่งยืนของชุมชน

  • Happy Grocers

กิจการของนักศึกษาที่ในเวลาต่อมาเติบโตกลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ โดยประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ก่อตั้งเมื่อปี 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดโดย สุธาสินี สุดประเสริฐ และปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย จุดเด่นของบริษัทคือการจำหน่ายสินค้าจำพวกอาหารโดยคำนึงถึงการลดปริมาณขยะจากการเกษตร ตั้งแต่ผลผลิตไปจนถึงบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นกลยุทธ์ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้มีรายได้ที่เป็นธรรมจากการจำหน่ายสินค้า รวมถึงคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคที่นิยมการรับประทานผักและผลไม้อินทรีย์29/ โดยจำหน่ายสินค้าผ่านสองช่องทางคือ 1) แพลตฟอร์มออนไลน์ และ 2) รถขายของชำ (Grocery truck) ที่ตระเวนไปจอดตามอาคารคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  Happy Grocers ได้รับรางวัล NIA’s Startup Thailand League ในปีแรกที่ก่อตั้ง และได้รับรางวัล Impact Collective Accelerator Program ในปีถัดมา

  • Vulcan Coalition

สตาร์ทอัพพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโปรแกรมซอฟต์แวร์โดยคนพิการที่ก่อตั้งในปี 2562 โดยเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ และนิรันดร์ ประวิทย์ธนา บริษัทได้รับรางวัล National Innovation Award 2021 และ Most Creative Business 2022 ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ของบริษัทที่มาจากพนักงานที่เป็นผู้พิการซึ่งทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมภาษาไทยให้เปลี่ยนตัวหนังสือเป็นคำพูด (Text to Speech) สำหรับผู้พิการทางสายตา รวมถึงระบบสั่งงานด้วยเสียงในบ้านอัจฉริยะ (Smart home) ซึ่งบริษัทมุ่งสร้างงานที่ดึงศักยภาพที่แท้จริงของคนพิการเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพตนเองได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งให้พนักงานได้ร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาหลังจากพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์สำเร็จอีกด้วย30/ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมทั้งในด้านโอกาสการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ในอนาคตบริษัทตั้งเป้าการจ้างงานผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงานถึง 60,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของกลุ่มผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงานทั้งประเทศในงานที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปัญญาประดิษฐ์และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งหากสำเร็จจะนับเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านการจัดจำแนกข้อมูล (Data labeling)31/ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก32/

  • Find Folk

ธุรกิจการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครบวงจร ก่อตั้งโดย จักรพงษ์ ชินกระโทก ในปี 2561 สตาร์ทอัพแห่งนี้มีจุดประสงค์ในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่หลายชุมชนทั่วประเทศ โดยช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เป็นที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์ชุมชนด้านการท่องเที่ยวให้กับย่านท่าเตียนในกรุงเทพฯ ในการจัดเทศกาลท้องถิ่น “ท่าเตียนเฟส” (Tha Tien Fest) โดย Find Folk มีหลักการทำงานคือพัฒนาคน พัฒนาทรัพยากร และพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีระหว่างการท่องเที่ยว33/ มีการจัดการที่ดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนท่องเที่ยว โดยหลังจากดำเนินธุรกิจได้ 3 ปี Find Folk ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวด UNWTO Global Rural Tourism Startup 2021 ซึ่งจัดโดยองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ


นอกเหนือจากไทยแล้ว ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีสตาร์ทอัพด้าน ESG ที่น่าศึกษาเช่นกัน ตัวอย่างเช่นสิงคโปร์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอยู่หลายบริษัท และหนึ่งในจำนวนนั้นคือบริษัท Ride Beam ที่ก่อตั้งในปี 2561 โดย Alan Jiang และ Deb Gangopadhyay โดยมีแนวคิดเรื่องการเดินทางระดับจุลภาค (Micromobility) แบบรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้สกู้ตเตอร์ไฟฟ้า (E-scooter) เป็นหลัก ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการเดินทาง ทำให้การเดินทางในเมืองใหญ่มีความสะดวกคล่องตัวขึ้นด้วยการเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะ โดยในปัจจุบัน Ride Beam เปิดให้เช่าสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกีและไทย โดยมีระบบจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและใช้การเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (Internet of Things: IoT) เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้สกู้ตเตอร์ระหว่างการเดินทาง เช่น เพื่อการระบุตำแหน่ง การคำนวณเส้นทาง และการตรวจจับคนเดินเท้าสำหรับระบบปรับความเร็วและระบบเบรกอัตโนมัติ และได้ขยายการดำเนินงานมาถึงประเทศไทยในนาม Beam Thailand ที่ให้บริการตามเมืองท่องเที่ยวหลัก อันได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต อีกทั้งเน้นขยายตลาดไปที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า Ride Beam ประสบความสำเร็จในการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องมลพิษที่เกิดจากการเดินทางในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น  Ride Beam ในออสเตรเลียมีลูกค้าใช้บริการสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าและจักรยานไฟฟ้าครบ 10 ล้านครั้ง ตามเมืองต่างๆ 27 เมือง เมื่อช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 โดยผลสำรวจระบุว่าร้อยละ 67 ของลูกค้าพึ่งพารถยนต์น้อยลง34/ และในปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทได้บรรลุเป้าหมายงดใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยหันมาพึ่งพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ แทน นอกจากนี้ Ride Beam ยังประสบความสำเร็จในการทำงานกับองค์กรท้องถิ่นและเพิ่มโอกาสการจ้างงานภายในท้องถิ่นอีกด้วย


นอกจากสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีสตาร์ทอัพด้านสังคมในกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่น่าศึกษาเช่น  บริษัท MindX สตาร์ทอัพจากเวียดนามที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาการศึกษา (Educational Technology: EdTech) มีเป้าหมายมุ่งเป็นแพลตฟอร์มสอนเขียนโค้ดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท MindX ก่อตั้งโดย Tung Nguyen Ha Nguyen และ Huy Nguyen ในปี 2558 เดิมชื่อว่า Techkids และเริ่มต้นจากการให้บริการสอนเขียนโค้ดผ่านช่องทางออนไลน์และสอนในห้องเรียน โดยในช่วงปีแรกเปิดให้เรียนฟรีก่อนจะเปลี่ยนเป็นธุรกิจเต็มตัว นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายช่วยหางานให้แก่นักเรียนที่เรียนจบ ผ่านพันธมิตรกว่า 200 บริษัทในประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และไทย35/ ปัจจุบันมีศิษย์เก่าที่จบจาก MindX Technology School ถึงกว่า 40,000 คน และได้เข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ แล้วในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนศิษย์เก่าบางส่วนนำความรู้ที่ได้ไปก่อตั้งธุรกิจของตนเอง36/  ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา MindX ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบ Series B จำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการขยายธุรกิจ และในปัจจุบันบริษัทมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ชาวเวียดนามที่ทำงานด้านเทคโนโลยี (Tech workers) เข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจให้แก่คนในชาติแล้ว ยังเป็นการช่วยยกระดับการพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
 

ESG Startup เพิ่มพลังแก่ภาคธนาคาร

 

สำหรับภาคธนาคารแล้ว กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบันสร้างความกดดันให้สถาบันการเงินต้องปรับตัว ตั้งแต่กิจกรรมการให้บริการลูกค้าและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า “งานหน้าบ้าน” (Front-office activities) ไปจนถึงการปฏิบัติงานหลังบ้าน (Back-office operations) ขององค์กร โดย Dun & Bradstreet ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลระบุว่าบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 29 จาก 30 แห่ง จัดให้การดำเนินงานด้าน ESG มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ37/

เมื่อพิจารณาในฝั่งของงานหน้าบ้าน ธนาคารหลายแห่งทั่วโลกนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้แก่คู่ค้าและลูกค้าเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากตัวอย่างในภาพที่ 4 ธนาคารสามารถออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อระดมทุนแก่โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออาจเป็นตัวกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยให้ลูกค้าธุรกิจสามารถดำเนินงานตามกรอบกฎเกณฑ์ในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เป็นต้น


สำหรับการปฏิบัติงานองค์กรในส่วนของ “งานหลังบ้าน” ธนาคารและสถาบันการเงินสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดด้าน ESG ไม่ว่าจะโดยพัฒนาเทคโนโลยีใช้เองหรือร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ รายงานของ Hexaware Mobiquity กล่าวถึงผลการสำรวจผู้บริหารธนาคาร 150 คน ในสหราชอาณาจักร ที่ร้อยละ 76 ระบุว่าธนาคารของตนได้ปรับเปลี่ยนโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ (Digital transformation initiatives) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน38/

ความต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ ESG Startup กำเนิดขึ้นมากมายทั่วโลก และมีสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยที่มุ่งนำเสนอบริการแก่สถาบันการเงินและองค์กรขนาดใหญ่โดยเฉพาะ อาทิ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและรายงานตามตัวชี้วัด ESG การวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน การจัดการผลิตภัณฑ์ธนาคาร การบริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎระเบียบด้านความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทสตาร์อัพผู้ให้บริการข้อมูลของฟินเทค ที่มีชื่อว่า FinTech Global รวบรวมรายชื่อและข้อมูลสำคัญของฟินเทคด้าน ESG ไว้มากกว่า 309 บริษัท39/ เพื่อสนับสนุนให้เกิดตลาดการจ้างงานระหว่างบริษัทใหญ่และบริษัทเกิดใหม่ในลักษณะการจับคู่ทางธุรกิจ (Business matching) และอำนวยความสะดวกให้แก่สถาบันการเงินและสตาร์ทอัพด้าน ESG  เพื่อให้สามารถทำงานและบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกัน




 

มุมมองวิจัยกรุงศรีต่อ ESG Startup

 

ธุรกิจเกิดใหม่หลายธุรกิจแม้จะมีขนาดเล็กแต่มีศักยภาพในการเติบโตและสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับธุรกิจใหญ่ได้ นอกจากนี้ องค์กรขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมานานยังสามารถถอดบทเรียนจากความสำเร็จของบริษัทเกิดใหม่อย่างสตาร์ทอัพด้าน ESG  เพื่อปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับภาคธุรกิจ เมื่อผู้บริโภคให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม (E) เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนหรือซื้อสินค้าและบริการ การที่ภาคธุรกิจแข่งขันตั้งเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย (Win-win situation) นอกจากนี้ในประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (S) บริษัทที่มีนโยบายสนับสนุนชุมชนและรักษาผลประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนย่อมลดความเสี่ยงในองค์กรและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวทั้งที่อยู่ในรูปของตัวเงินและอาจมิใช่ตัวเงิน เช่นชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ส่วนในด้านธรรมาภิบาล (G) ความโปร่งใสในองค์กรภาคเอกชน ตลอดจนความเป็นธรรมและเท่าเทียมในการบริหารองค์กรถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินเป็นข้อกำหนดบังคับใช้ในหลายประเทศ นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มการใช้ตัวชี้วัด ESG ในอนาคตที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการประยุกต์ใช้ในวงที่กว้างขึ้นและมีความเข้มข้นมากขึ้น ภาคเอกชนจึงควรให้ความสนใจกับเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ และควรคำนึงถึงเรื่องการปรับตัวกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน  โดยในอนาคต ภาคธุรกิจอาจต้องจัดเก็บข้อมูลเครื่องชี้ด้าน ESG ผ่านการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (IoT) ตลอดจนประยุกต์ใช้ AI และการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตนเอง (Machine Learning) เพื่อช่วยประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล  เพื่อช่วยลดความเสี่ยงทางด้านต้นทุน การดำเนินงาน การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืนอีกด้วย

ส่วนในภาคธนาคาร โอกาสทางธุรกิจด้าน ESG ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นโดยเฉพาะในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าและคู่ค้า อาทิ ตราสารหนี้และสินเชื่อสีเขียว ซึ่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ในไทยที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาได้เปิดตัวตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเล (Blue bond)43/ อีกทั้งในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ยังคว้ารางวัล Platinum Award for Excellence in Environmental, Social and Governance ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในการประกาศรางวัล The Asset ESG Corporate Awards 2023 ที่จัดโดย The Asset ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการเงิน  นอกจากนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐหลายแห่งก็เริ่มแสดงบทบาทด้าน ESG ที่ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่นธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ได้รับรางวัล Best Green Bond ประเภทสถาบันการเงินจากเวทีระดับโลกสำหรับปี 2565 ที่จัดโดย The Asset44/ เช่นเดียวกัน ส่วนธนาคารออมสิน (GSB) ประกาศตัวเป็นธนาคารเพื่อสังคมภายใต้กรอบ ESG ที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมตามแนวทาง ‘ESG in Action’ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน45/ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) ได้เสนอแนวคิดการธนาคารคาร์บอนต่ำ (Low-carbon banking) และได้กล่าวถึงการใช้ตัวชี้วัด ESG ในแนวทางบริหารจัดการสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน

กระแสการตื่นตัวด้าน ESG บวกกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของภาคธนาคาร ทำให้พลังเล็กๆ อย่างบริษัทสตาร์ทอัพหรือฟินเทคที่กำลังเติบโตและมีบทบาทมากขึ้นสามารถยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหา (Pain point) ได้เป็นอย่างดี โดยธนาคารสามารถร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพด้าน ESG ให้เข้ามาช่วยพัฒนา แก้ปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าจำนวนมากได้ ทั้งผ่านโมเดลธุรกิจแบบพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) หรือธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)  ซึ่งการผสานจุดแข็งของธนาคาร ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทุนและทรัพยากรจำนวนมาก เข้ากับจุดแข็งของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง สามารถก่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ไปสู้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเกิดสังคมที่พึงประสงค์ได้ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ได้เสมอ
 


References


Bernoville, T. & Lugo-Vasquez, E. (2023) Sustainability trends for 2023 [Whitepaper]. Retrieved Aug 4, 2023 from Plan A.

Bursa Malaysia Securities Berhad (2015) Sustainability Reporting Guide.

Corporate Sustainability Reporting Directive (2023) European Sustainability Reporting Standards [Final draft]. Retrieved Aug 4, 2023 available in pdf (csrd-delegated-act-2023-5303_en.pdf)

Data and Ratings Working Group (2023) Consultation on draft code of conduct for environment, social and governance (“ESG”) ratings and data product providers.

Economist Intelligence Unit (Aug 2, 2023) Complexities of battery supply chain may slow EV adoption [Blog post]. Retrieved Aug 7, 2023 from https://www.eiu.com/n/complexities-of-battery-supply-chain-may-slow-ev-adoption/

George, W. (Feb 16, 2023) ESG can be a distraction for startups. Here’s why they should focus on total addressable impact instead [Blog post]. Retrieved Aug 4, 2023 from https://fortune.com/2023/02/15/esg-distraction-startups-focus-total-addressable-impact-insteadwillgeorge/

Google, Temasek, Bain & Company (2022) e-Conomy SEA 2022 [Whitepaper]. Retrieved Nov 21, 2023 from https://www.bain.com/insights/e-conomy-sea-2022/

Mneimneh, F., Al Kodsi, M., Chamoun, M., Basharoush, M. & Ramakrishna, S. (2023) How can green energy technology innovations improve the carbon-related environmental dimension of ESG rating? Circular Economy and Sustainability, in press. https://doi.org/10.1007/s43615-023-00261-6

Moreau, G. (Dec 2, 2021) Sustainability, circularity, and collaboration: recharging the European battery industry [Blog post]. Retrieved Aug 7, 2023 from https://www.capgemini.com/de-de/insights/research/article-by-verkor/

Plan A (2023) ESG: the reporting fundamentals [Whitepaper]. Retrieved Aug 4, 2023 from PlanA.

Reverse Logistics GmbH (July 18, 2023) New EU battery regulation: measures for a sustainable circular economy [Blog post]. Retrieved Aug 8, 2023 from https://rev-log.com/new-eu-battery-regulation-measures-for-a-sustainable-circular-economy/

Singapore Government Agency (updated May 27, 2023) SG green plan [Website]. Retrieved Aug 9, 2023 from https://greenplan.gov.sg/infographics

Swiss Federal Department of Foreign Affairs and United Nations (2004) Who cares wins: connecting financial markets to a changing world.

Verkor (Jan 26, 2022) Energy transition: the challenge of clean and sustainable raw materials [Website]. Retrieved Aug 8, 2023 from https://verkor.com/en/energy-transition-the-challenge-of-clean-and-sustainable-raw-materials/

ณัฐพร ศรีทอง (Feb 10, 2021) ส่องทิศทาง ESG Bond: อนาคตการระดมทุนและการลงทุนที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ณัฐพร ศรีทอง, ฉมาดนัย มาทนวล, ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง (Aug 16, 2023) ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ประเด็น ESG ที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (2022) รายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ประจำปี 2564

รสลิน อมรพิทักษ์พันธ์ (July 5, 2023) โอกาสใหม่ กติกาใหม่กับ Thailand Taxonomy [Powerpoint]. Retrieved Aug 11, 2023 from https://www.bot.or.th/content/dam/bot/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand_Taxonomy_Seminar_5Jul23-ONEP_Slide.pdf 

 

1/ https://sdgs.un.org/2030agenda
2/ https://www.dw.com/en/july-2023-was-the-hottest-month-ever-recorded-eu-confirms/a-66467143
3/ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การผลิตและบริโภคโดยเน้นการนำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล เป็นการใช้วัสดุให้คุ้มค่าและลดขยะ
4/ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Fair Transition) คือ การทำให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยุติธรรม มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเฉพาะกลุ่มและมีความพยายามรวบรวมผู้คนให้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด
5/ https://www.todayesg.com/origin-of-esg-global-compact-who-cares-wins/
6/ แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน
7/ https://www.bain.com/insights/e-conomy-sea-2022/
8/ https://earth.org/sweatshops/
9/ https://finance.ec.europa.eu/capital-markets-union-and-financial-markets/company-reporting-and-auditing/company-reporting/corporate-sustainability-reporting_en 
10/ https://www.fca.org.uk/publications/annual-reports/perimeter-report
11/ https://www.fca.org.uk/news/news-stories/code-conduct-esg-data-and-ratings-providers
12/ https://www.thomsonreuters.com/en-us/posts/esg/state-laws/
13/ https://www.morganlewis.com/pubs/2022/12/japan-introduces-mandatory-esg-disclosures-for-public-companies
14/ https://www.ifcreview.com/articles/2023/april/esg-in-singapore-trends-and-developments/
15/ การฟอกเขียว (Greenwashing) คือการอ้างว่าบริษัทหรือองค์กรมีการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคมเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นการกระทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีเพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุนและผู้บริโภค
16/ https://hhq.com.my/publications/company-level-esg-regulatory-expectations-in-malaysia-2/
17/ https://www.eurocompanyformations.com/blog/obtaining-funding-green-start-ups/
18/ https://plana.earth/about 
19/ https://www.innovationnewsnetwork.com/verkor-announces-e100m-funding-for-developing-sustainable-battery-cells/13079/
20/ https://verkor.com/en/verkor-innovation-centre-opens-for-business/
21/ https://www.reuters.com/business/autos-transportation/renault-strikes-battery-deal-with-verkor-premium-evs-2023-04-13/
22/ https://verkor.com/en/verkor-chooses-v-trace-a-solution-co-developed-by-optel-and-bureau-veritas-to-ensure-the-traceability-and-sustainability-of-its-supply-chain/
23/ https://verkor.com/en/ambition/
24/ https://www.carbonequity.com/climate-tech
25/ Dow Jones Sustainability Index (DJSI) เป็นดัชนีที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท RobecoSAM ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน ร่วมกับ S&P Dow Jones Indices โดยเป็นดัชนีที่คัดเลือก “หุ้นยั่งยืนระดับโลก” กล่าวคือ จะต้องเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีความโดดเด่นในการทำธุรกิจ และคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติมได้จาก https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/65-investhow-djsi-2021
26/ https://www.set.or.th/th/about/setsource/news-release/article/137-djsi
27/ https://www.set.or.th/th/about/setsource/news-release/article/96-esg-data-platform-
28/ https://fintechnews.sg/64661/thailand/thailand-stock-exchange-launches-an-esg-data-platform/
29/ https://readthecloud.co/happy-grocers/
30/ https://readthecloud.co/vulcan-coalition/
31/ การจัดจำแนกข้อมูล หรือ Data Labeling คือ งานระบุข้อมูลโดยจัดเก็บแยกประเภทเพื่อนำไปใช้ต่อด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตัวเอง (Machine Learning)
32/ https://permanent-jakarta.thaiembassy.org/en/content/meetsocialenterprises
33/ https://readthecloud.co/find-folk/
34/ https://www.ridebeam.com/newsroom/aussies-clock-up-10-million-rides-on-e-scooters-and-e-bikes
35/ https://www.businesstimes.com.sg/companies-markets/vietnamese-education-startup-mindx-bags-us15-million-series-b-funding
36/ https://www.techinasia.com/mindx-secures-15m-scale-tech-education-vietnam
37/ https://www.kearney.com/industry/financial-services/article/-/insights/european-banks-can-and-should-do-more-to-lead-on-esg-issues
38/ https://www.intelligentcio.com/eu/2023/06/20/report-finds-sustainability-deprioritised-as-banks-respond-to-the-economic-crisis/
39/ ข้อมูลจาก FinTech Global ณ วันที่ 17 กันยายน 2566 อ้างอิงจาก https://fintech.global/esg-companies/
40/ https://www.businesswire.com/news/home/20220926005159/en/Sweep-Launches-Game-Changing-Solution-for-Financial-Institutions-to-Track-Emissions-Across-Investment-Portfolios
41/ https://www.baringa.com/en/industries/energy-resources/low-carbon-solutions/
42 https://www.baringa.com/en/industries/energy-resources/low-carbon-solutions/
43/ https://www.krungsri.com/th/newsandactivities/krungsri-banking-news/ifc-first-green-and-blue-bond-issued-by-krungsri
44/ https://www.smethailandclub.com/news/10495.html
45/ https://www.krungsri.com/th/newsandactivities/krungsri-banking-news/ifc-first-green-and-blue-bond-issued-by-krungsri
46/ https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000051848
47/ https://www.smethailandclub.com/news/10495.html
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา