บทสรุป COP28 และก้าวต่อไปของการรับมือโลกรวน

บทสรุป COP28 และก้าวต่อไปของการรับมือโลกรวน

30 มกราคม 2567

บทสรุปผู้บริหาร

 

การประชุมระดับโลกว่าด้วยการจัดการกับปัญหาโลกรวน ครั้งที่ 28 (COP28) สิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2566 พร้อมกับข้อสรุปว่าโลกจะต้องเร่งรัดการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทดแทน และเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานทดแทนเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 นอกจากนี้ ความคืบหน้าสำคัญจาก COP28 คือการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุนชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย ในปี 2567 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบาง รวมถึงการวางกรอบแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ผลลัพธ์จาก COP28 สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การทบทวนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับทิศทางโลก ตลอดจนการเตรียมพร้อมด้านการปรับตัวและเยียวยา ซึ่งทั้งหมดล้วนสร้างความท้าทายแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูง


กว่าจะมาเป็น COP28

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาที่นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญมาอย่างยาวนาน โดยหากย้อนไปกว่า 30 ปีก่อน ประชาคมโลกได้มีความพยายามร่วมกันในการจัดการกับปัญหาข้างต้นเป็นครั้งแรก ผ่านการลงนามภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อปี 2535 ก่อนที่กรอบอนุสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ในปี 2537 จากนั้นในปี 2538 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ (Conference of Parties: COP) เกิดขึ้นเป็นสมัยแรก และประเทศต่างๆ ได้หารือกันผ่านเวทีการประชุมดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยผลลัพธ์จากการประชุมครั้งสำคัญสรุปได้ดังตารางที่ 1



 

นับตั้งแต่การเจรจาภายใต้ COP ครั้งแรกจนผ่านไปสองทศวรรษ ความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ได้เกิดขึ้นในเวที COP21 ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อภาคีทั่วโลกเห็นตรงกันและลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (°C) เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 °C จากยุคก่อนอุตสาหกรรม

ความตกลงปารีสได้สร้างกลไกให้แต่ละภาคีกำหนดทิศทางการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่าเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ซึ่งเปรียบเสมือนการให้คำมั่นสัญญา (Pledge) กับ UNFCCC ทุกๆ 5 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2566 รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ประเมินว่า ด้วยเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาไว้ขณะนี้ อุณหภูมิของโลกอาจเพิ่มขึ้น 2.5 - 2.9 °C ในปี 2643 ซึ่งเกินกว่าระดับที่เห็นพ้องต้องกันในความตกลงปารีส

ด้วยเหตุนี้ การประชุมภาคีสมัยที่ 28 ครั้งล่าสุด หรือ COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก (Global Stocktake) เป็นครั้งแรก หลังจากความตกลงปารีส รวมถึงหารือแนวทางลดช่องว่าง ให้สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับแผน แนวทาง ตลอดจนเป้าหมาย NDC ของแต่ละประเทศที่จะต้องจัดส่งอีกครั้งภายในปี 2568 ที่จะถึงนี้


บทสรุป (ที่ยังไม่สรุป) จาก COP28

 

ในเวที COP28 รัฐภาคีจำนวน 198 ประเทศ ได้มีการเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลากหลายประเด็น จนบรรลุฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Consensus) ซึ่งสามารถสรุปข้อถกเถียงและผลลัพธ์ที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้

การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ขององค์กรต่างๆ สะท้อนว่าการดำเนินการของโลกในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามความตกลงปารีส ดังนั้น COP28 จึงได้เน้นย้ำการมุ่งไปที่เป้าหมาย 1.5 °C ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 43% ภายในปี 2573 และ 60% ในปี 2578 เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซฯ ในปี 2562 รวมทั้งตั้งเป้าเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

หัวข้อการเจรจาที่เข้มข้นที่สุดในการประชุมคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซฯ มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภาคส่วนที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับหลายประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่แต่ละฝ่ายจะเห็นตรงกัน โดยเฉพาะพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กลุ่มประเทศที่ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมไว้สูง (High Ambition Coalition: HAC1/) และนิวซีแลนด์ เรียกร้องให้ทยอยยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด (Phase out all fossil fuels) ในขณะที่สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ มีจุดยืนที่ผ่อนปรนกว่า ด้วยการสนับสนุนการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (Phase out unabated fossil fuels) ในทางตรงข้าม รัสเซีย และกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา คัดค้านการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกกรณี ส่วนกลุ่มประเทศ G77+China2/ ซึ่งมีสมาชิก เช่น ซาอุดีอาระเบีย UAE รวมถึงไทย มีจุดยืนไม่สนับสนุนการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ตารางที่ 2) ในท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุม COP28 ได้บรรลุมติครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกันว่าโลกจะเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Transition away from fossil fuels) ซึ่งดูเหมือนเป็นข้อสรุปที่อยู่ตรงกลางระหว่างข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นควรให้ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงลดการใช้ และจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ดังนั้น แม้ว่ายุคหลัง COP28 จะยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของพลังงานฟอสซิลเสียทีเดียว แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการค่อยๆ ถอยห่างออกจากการพึ่งพาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูงไปพร้อมๆ กัน

สำหรับวาระที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน ที่ประชุมมีข้อถกเถียงน้อยกว่า โดยได้ข้อสรุปว่าโลกจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า ภายในปี 2573 ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 12.3% ของอุปทานพลังงานทั้งหมดของโลก แปลว่าสัดส่วนดังกล่าวต้องเพิ่มเป็นราว 37% ในปี 2573 ทั้งนี้ แม้เป้าหมายข้างต้นจะมีความท้าทายเพราะต้องลดการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมลงอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ให้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูงอีกถึงกว่า 60% สะท้อนว่าการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลคงต้องใช้เวลาพอสมควร นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้เพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 และเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ซึ่งรวมถึงการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS)


 

การสูญเสียและความเสียหาย

อีกหนึ่งความสำเร็จจาก COP28 คือการจัดตั้งกองทุนชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบางที่ไม่สามารถรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวนได้ ซึ่งภาคีตกลงกันตั้งแต่วันแรกของการประชุมว่าจะเริ่มดำเนินงานกองทุนภายในปี 2567 นี้ โดยในช่วง 4 ปีแรก ธนาคารโลกจะเป็นองค์กรที่บริหารจัดการกองทุนนี้ ก่อนที่กองทุนฯ จะมีสถานะเป็นกองทุนอิสระภายใต้ UNFCCC ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนจะอยู่ในรูปแบบทั้งเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Concessional loan/soft loan)

ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงจากภาวะโลกรวน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา G77+China ซึ่งรวมถึงไทย ค่อนข้างมีบทบาทต่อประเด็นการดำเนินงานของกองทุนฯ โดยมีจุดยืนสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดเข้าถึงกองทุนฯ ได้ และเรียกร้องให้เงินทุนมาจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ในขณะที่สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ คัดค้านข้อเสนอข้างต้น ท้ายที่สุด COP28 มีมติอนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางสูงสามารถเข้าถึงเงินทุน แต่จะกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของการจัดสรรเงินช่วยเหลือแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Islands) อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การสมทบเงิน เพียงแต่เชิญชวนให้รัฐภาคีแบ่งปันเงินเข้ากองทุนโดยสมัครใจ ซึ่งภายหลังการประชุมสิ้นสุด ประเทศต่างๆ ได้แสดงความมีน้ำใจเป็นเงินรวมกันกว่า 792 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนเงินมากที่สุดจากเวที COP28 โดยในจำนวนนี้มาจากเยอรมนี และเจ้าภาพ UAE ประเทศละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การปรับตัวต่อภาวะโลกรวน

นอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) แล้ว การประชุม COP เป็นหนึ่งในแรงผลักดันการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Adaptation) อย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า ระบบจัดการน้ำ และโครงสร้างพื้นฐาน โดย COP28 ทำให้เกิดความคืบหน้าสำคัญผ่านการจัดตั้ง UAE Framework for Global Climate Resilience ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการปรับตัวในสาขาต่างๆ เช่น เกษตรกรรมและอาหาร สุขภาพ การตั้งถิ่นฐาน ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม โดยที่ประชุมมีมติเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ประเมินผลกระทบและความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงจัดทำแผนการปรับตัวระดับชาติ (National Adaptation Plan) ภายในปี 2568 และนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนวางกลไกติดตามผลการดำเนินงาน ภายในปี 2573

แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวต่อภาวะโลกรวนคือเงินทุน ซึ่ง COP28 ก็ได้ระบุความสำคัญในการขยายขนาดเงินทุนเพื่อการปรับตัวเพิ่มเติมเป็น 2 เท่าของขนาดปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้ระบุข้อผูกมัดของการสมทบเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี จากการประชุม ภาคีได้ประกาศสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อการปรับตัว (Adaptation Fund) กว่า 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจจากการประชุม ได้แก่ การเน้นย้ำความจำเป็นของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate finance) โดยเร่งรัดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสนับสนุนเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจนถึงปี 2568 การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just transition) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะก๊าซมีเทน รวมถึงการให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งหลังจาก COP28 สิ้นสุดลง ภาคีจำนวน 159 ประเทศได้รับรองปฏิญญาการดำเนินการด้านการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Agriculture, Food & Climate) ที่มีจุดประสงค์เพื่อเร่งพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน ตลอดจนเรียกร้องให้ผนวกประเด็นข้างต้นในแผนการปรับตัว และเป้าหมาย NDCs ของแต่ละประเทศ ก่อนการประชุม COP30


มุมมองวิจัยกรุงศรี: ทิศทางหลัง COP28 และนัยต่อประเทศไทย

 

COP28 ปิดฉากลงไปด้วยบทสรุปสำคัญที่ว่า โลกจะ “เปลี่ยนผ่าน” จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แม้จะเป็นเป้าหมายที่เข้มข้นน้อยกว่า “การเลิกใช้” พลังงานฟอสซิล แต่นับเป็นครั้งแรกที่นานาประเทศบรรลุข้อตกลงร่วมกันเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ อีกทั้งยังเห็นตรงกันว่าโลกควรจะเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานทดแทนเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 ทั้งหมดนี้เพื่อเร่งรัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันจะนำไปสู่เป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า COP28 เป็นจุดเริ่มต้นของอวสานแห่งพลังงานฟอสซิล ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้จาก COP28 จะนำไปสู่การเร่งรัดและปรับปรุงแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย (NDCs) ของแต่ละประเทศ ซึ่งจะต้องส่งให้ UNFCCC อีกครั้งก่อนที่ COP30 จะมาถึง โดยในกรณีของไทย วิจัยกรุงศรีคาดว่า บทสรุปจาก COP28 จะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

 

  • การเร่งลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล แม้ประเทศไทยไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการเลิกใช้พลังงานฟอสซิลในเวที COP28 แต่จำเป็นต้องลดการพึ่งพาพลังงานดังกล่าวตามทิศทางของโลกด้วย ซึ่งในปัจจุบันไทยยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนสูง โดยคิดเป็นกว่า 80% ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานการณ์ด้านพลังงานทดแทนของไทย พบว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย สะท้อนจากที่ไทยพึ่งพาพลังงานทดแทนเป็นสัดส่วน 19% ของอุปทานพลังงานทั้งหมดในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนเฉลี่ยของโลกที่ 12% ถึงอย่างนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 ตามที่ได้ตกลงกันใน COP28 นับว่าเป็นประเด็นท้าทายสำคัญ เพราะการเปลี่ยนผ่านออกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลย่อมส่งผลให้ธุรกิจในภาคพลังงานได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงผู้บริโภคในประเทศด้วย

  • การทบทวนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาใน NDC ฉบับล่าสุดเมื่อปี 2564 ไว้ว่าจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ในปี 2573 เมื่อเทียบกับกรณีดำเนินงานปกติ (Business as Usual: BAU) และอาจยกระดับเป็น 40% หากไทยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 40% ข้างต้น ไทยประเมินไว้ว่าต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ในปี 2573 ซึ่งถ้าเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 2562 ที่ 373 MtCO2e คิดเป็นการลดลงเพียง 11% เท่านั้น หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 43% ตามผลการหารือหลัง COP28 พอสมควร นอกจากนี้ ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าสู่ Net Zero Emission ในปี 2608 ซึ่งไกลกว่าเป้าหมายของประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นบางประเทศ เช่น อินเดีย กานา และไนจีเรีย และช้ากว่าที่มติ COP28 ตั้งเป้าไว้ในปี 2593 สะท้อนว่าเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยยังเข้มข้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ไทยต้องทบทวนการตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับเวทีโลกยิ่งขึ้น โดยตามกำหนดการ ไทยต้องจัดส่ง NDC ฉบับถัดไปในปี 2568 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่เข้มข้นขึ้นย่อมมาพร้อมกับแรงกดดันต่อภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70% ของประเทศ



 
  • ความพร้อมในการปรับตัวและชดเชยความเสียหาย COP28 เน้นย้ำความสำคัญของการปรับตัว รวมถึงการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกรวน ด้วยการจัดตั้งและเริ่มดำเนินงานกองทุนชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญความเสี่ยงด้านผลกระทบจากปัญหาโลกรวนเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ควรผลักดันและใช้ประโยชน์จากกลไกกองทุนดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ ส่วนในด้านการปรับตัว ไทยได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand's National Adaptation Plan) แล้ว แต่อาจต้องทบทวนสถานการณ์และแนวทางให้สอดคล้องกับกรอบของ COP28 และบริบทของไทย รวมถึงติดตามผลการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรมซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 15% ของทั้งประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง หรือน้ำท่วม อีกทั้งยังเป็นภาคส่วนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่า

พัฒนาการของ COP ที่ก้าวหน้าขึ้นในทุกๆ ปี สะท้อนว่าการจัดการกับปัญหาโลกรวนของโลกจะมีทิศทางเข้มข้นและมีเป้าหมายท้าทายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองกลับมาที่ไทย การเร่งออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถปรับตัวตามฉันทามติของโลกได้ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องติดตามกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นคำมั่นสัญญาระดับประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผ่านมายังระดับองค์กร ในขณะที่ภาคการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition finance) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bond) สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green loan) เพื่อให้ย่างก้าวสู่ Net Zero ของไทยเป็นไปอย่างแข็งแรง และไม่ตกขบวนแห่งความยั่งยืนของโลก


1/ กลุ่มประเทศที่ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมไว้สูง (High Ambition Coalition: HAC) ก่อตั้งโดยสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ เมื่อปี 2557 เพื่อผลักดันความตกลงปารีสให้มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยสมาชิก HAC ประกอบด้วยประเทศต่างๆ เช่น ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา เนเธอร์แลนด์ และวานูอาตู
2/ กลุ่มประเทศ G77+China ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศ เช่น บราซิล คิวบา เคนยา อินเดีย จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา