แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567

22 มิถุนายน 2565

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2565-2567


ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะพิจารณาครอบคลุมทั้งปัจจัยด้านความท้าทายและโอกาสที่สะท้อนความน่าสนใจ (Attractiveness) ในการทำธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยภายในเฉพาะด้านของอุตสาหกรรมนั้น
 

ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic environments)


เศรษฐกิจโลกปี 2565-2567: ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป
 
  • เศรษฐกิจโลกในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี หลังจากที่อัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูงในปี 2564 ที่ 5.9% จากมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่และการเปิดเมืองของประเทศชั้นนำของโลก แนวโน้มเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (ภาพที่ 1) ปัจจัยสนับสนุนมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ทั้งการฟื้นตัวในภาคบริการและการขยายตัวต่อเนื่องในภาคการผลิต อันเป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่แพร่หลายมากขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการทยอยเปิดเมืองในหลายประเทศ รวมถึงมาตรการการเงินการคลังที่ยังเอื้อต่อการเติบโตแม้จะทยอยลดลงจากช่วงวิกฤต อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ อาทิ การกลายพันธุ์ของ COVID-19 ประสิทธิภาพของวัคซีน และภาวะคอขวดของอุปทานภาคการผลิตที่อาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2565 นอกจากนี้ การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ (Policy normalization) โดยการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป


 
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.0% ต่อปี เทียบกับที่เติบโต 6.0% ในปี 2564 แม้อัตราการเติบโตจะชะลอลงภายหลังผลบวกจากแรงกระตุ้นทางการเงินการคลังและการเปิดเมืองเริ่มเพลาลง แต่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.2% ในเดือนพฤศจิกายน จาก 14.8% ในเดือนเมษายน 2563 ส่งผลให้รายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับดีขึ้น สำหรับภาคธุรกิจเริ่มขยายการลงทุนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ  รวมถึงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงปี 2565-2572 นอกจากนี้ การกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global minimum tax) ซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2566 อาจทำให้เกิดการ reshoring กลับสู่สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ มากขึ้น ส่วนความขัดแย้งกับจีนคาดว่ายังมีต่อเนื่อง แต่การหากลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจจะเข้มข้นขึ้นผ่านโครงการ Build Back Better World ของสหรัฐฯ เพื่อแข่งขันกับ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งอาจเกิดการแบ่งกลุ่มของห่วงโซ่มูลค่าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน เฟดเริ่มปรับลดการผ่อนคลายทางการเงินผ่าน QE ตั้งแต่ปลายปี 2564 และมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 อย่างไรก็ดี จาก Dot Plots ของเฟดชี้ให้เห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปี 2567 จะยังคงต่ำกว่าระดับที่เฟดคาดการณ์ในระยะข้างหน้า (Longer run) ที่ 2.5% ซึ่งสะท้อนนโยบายการเงินที่ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ                                                                                                                                                                           
  • เศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 2.6% ต่อปี เทียบกับที่ขยายตัว 5.0% ในปี 2564 แรงหนุนสำคัญจากการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว ด้านการบริโภคมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและกำลังซื้อจากเงินออมที่สะสมไว้ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด ส่วนการลงทุนมีเงินช่วยเหลือจาก EU Recovery Fund ที่ทยอยเบิกจ่ายและเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนของหลายประเทศซึ่งเน้นการสร้างงาน โครงการดังกล่าวคาดว่าช่วยกระตุ้น GDP ได้ราว 0.7-1.0% ต่อปี ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับดีขึ้นซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตอนใต้ เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ยังช่วยเสริมสภาพคล่องต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่มากเหมือนช่วงวิกฤตโควิดหลังจากการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) วงเงิน 1.35 ล้านล้านยูโร มีแนวโน้มหมดลงในช่วงต้นปี 2565 สำหรับประเด็นที่อาจกดดันเศรษฐกิจยูโรโซน ได้แก่ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกแม้อาจคลายลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 การกลับมากำหนดกฎระเบียบด้านการคลังในช่วงปี 2566 โดยกำหนดเพดานหนี้ไม่เกิน 60% ของ GDP และการขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% ของ GDP อาจจำกัดแผนลงทุนเพิ่มเติมของรัฐบาลในประเทศที่มีปัญหาภาคการคลัง สำหรับแนวคิดด้านเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เร่งตัวขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ทำให้เกิดการรณรงค์ใช้พลังงานสะอาดที่ยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและลดการลงทุนในพลังงานฟอสซิล เมื่อประกอบกับการทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลต่อการขาดแคลนพลังงานและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะสั้น                                                                                                                           
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 1.8% ต่อปี จากที่เติบโต 2.4% ในปี 2564 ปัจจัยหนุนจาก (1) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก (2) การขยายการลงทุน เพื่อรองรับการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวจากอานิสงส์ของมาตรการ  “Go To Travel” และการเริ่มทยอยเปิดประเทศ (3) การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 2.8% ในเดือนตุลาคม 2564 และ (4) มาตรการกระตุ้นอื่นๆ อาทิ งบประมาณเพิ่มเติม 30 ล้านล้านเยน หรือราว 5.6% ต่อ GDP เพื่อเยียวยาผลกระทบของ COVID-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังผลักดันแนวคิด “ทุนนิยมใหม่ (New Capitalism)” ที่มุ่งกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม เช่น การเก็บภาษีจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง การปรับเพิ่มค่าจ้าง และการส่งเสริมการลงทุนในส่วนภูมิภาค ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ทั้งนี้ การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ สะท้อนจากอัตราการออมของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงท่ามกลางความเสี่ยงจาก Deflationary mindset ที่ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศยังเป็นไปอย่างระมัดระวังและมีแนวโน้มเติบโตต่ำ        
  • เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.4% ต่อปี ชะลอลงจาก 8.0% ในปี 2564 ปัจจัยที่ส่งผลกดดันเศรษฐกิจมาจากการที่รัฐบาลเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตในระยะยาว โดยเพิ่มความเข้มงวดกับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรและการผูกขาด รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังใช้นโยบาย Zero-Covid ซึ่งทำให้การเปิดประเทศล่าช้า สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้ามาจาก (1) การส่งออกและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผนวกกับความได้เปรียบจากการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี รวมทั้งผลบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ RCEP และ CPTPP (2) การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ผนวกกับนโยบาย Common Prosperity ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ มาตรการสนับสนุนการจ้างงานผ่านกิจการขนาดย่อมและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย (3) นโยบายหนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายพึ่งพาตนเองโดยสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในจีนเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะการผลิตชะงักงัน (4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศผ่านนโยบายพึ่งพาการเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น (Inward looking policy) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 และ (5) ด้านนโยบายการเงินการคลัง ทางการจีนจะใช้แนวทาง “Cross-cyclical approach” โดยทยอยใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น มาตรการแบบเจาะจงเป้าหมายเพื่อผลักดันการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีความต่อเนื่องแม้อาจชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้า

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก...มีผลต่อทิศทางธุรกิจ/อุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า
 
  • เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 64.3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โลกในปี 2562 เทียบกับ 60.4% ปี 2551 โดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ มีสัดส่วนภาคบริการสูงเฉลี่ย 75% ของ GDP นำโดยธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) อาทิ บริการด้าน IT Software และการเงิน ขณะที่สัดส่วนภาคบริการของไทยอยู่ที่ระดับ 58.3% ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 50.4% ปี 2551 (ภาพที่ 2) นำโดยธุรกิจบริการแบบดั้งเดิม (Traditional services) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อย เช่น ภาคท่องเที่ยว การค้า โรงแรมและภัตตาคาร ส่วน Modern services ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่านั้นมีสัดส่วนเพียง 14% ของ GDP และกระจุกตัวในธุรกิจการเงินและโทรคมนาคมเป็นหลัก


 

ในระยะข้างหน้า สัดส่วนภาคบริการของไทยยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ผลจากธุรกิจภาคบริการหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนานวัตกรรมในภาคบริการมากขึ้น อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก การพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดคนไข้ และบริการผ่าตัดทางไกล ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหันมาเน้นการใช้นวัตกรรมด้านบริการเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้ตัวสินค้า (Servicification) เช่น บริการด้านออกแบบและให้คำปรึกษาโดยใช้เทคโนโลยีด้าน Artificial intelligence และ Big data ช่วยเพิ่มยอดขายและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการจะมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่การผลิตของไทย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ของไทยให้อยู่ในระดับเทียบเคียงกับประเทศพัฒนาแล้วอาจทำได้ช้า ผลจาก (1) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจ/อุตสาหกรรมกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างซบเซา และ (2) ไทยมีกฎระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างชาติในภาคบริการค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนจากดัชนีข้อจำกัดการประกอบกิจการภาคบริการ (Services Trade Restriction Index: World Bank) ล่าสุดปี 2563 พบว่าไทยมีค่าดัชนีฯ อยู่ในอันดับที่ 46 จาก 48 ประเทศ แสดงถึงข้อจำกัดในการเข้ามาดำเนินธุรกิจภาคบริการของผู้ประกอบการรายใหม่ค่อนข้างสูง การเข้ามาของทุนและเทคโนโลยีจากต่างชาติจึงทำได้จำกัด นับเป็นปัจจัยท้าทายของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมไทยที่ต้องปรับตัวยกระดับภาคบริการสู่ Modern services ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างช้าๆ
 

  • เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังเข้ามาปฏิรูปโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ปัจจุบันโลกกำลังอยู่บนคลื่น Digital technology ที่เข้ามาขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการ โดยนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในการเติบโตและเสริมความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีหลักที่จะเข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจในช่วง 3 ปีหน้า ได้แก่
    • The Internet of Things (IoT): มีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมโยงข้อมูลของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันผ่านระบบ Sensors ที่ฝังตัวในผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ ปัจจุบันมีการใช้ในธุรกิจบริการมากขึ้น อาทิ ห้องพักอัจฉริยะของธุรกิจโรงแรมที่ใช้ IoT ควบคุมไฟฟ้าทุกอย่างในห้องพักโดยใช้อุปกรณ์มือถือ หรือธุรกิจขนส่งที่ใช้ IoT ติดตามพัสดุและจัดการระบบการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น
    • Robotics: สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติและมีความแม่นยำสูง ช่วยลดความเสียหายในการผลิตและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานผ่านโปรแกรมที่ตั้งไว้ร่วมกับระบบเซนเซอร์หรือ Microprocessor โดยตัวอย่าง Robotics ที่ใช้ในการผลิตงานซ้ำๆ จำนวนมาก เช่น หุ่นยนต์ขนถ่ายวัสดุอันตรายในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจก่อสร้าง หุ่นยนต์ต้อนรับในโรงแรม หุ่นยนต์ช่วยการเพาะปลูก และหุ่นยนต์ให้อาหารสัตว์ในภาคเกษตร เป็นต้น
    • Artificial intelligence (AI): การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรมมักใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เช่น Cloud และ IoT เพื่อประมวลผล Big data สำหรับการพัฒนาระบบอัตโนมัติทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot) โดยการใช้ในสายการผลิต เช่น กลุ่ม อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ AI สำหรับการควบคุมกระบวนการผลิตเพื่อลดส่วนสูญเสีย และคาดการณ์อุปกรณ์ที่ต้องซ่อมบำรุง กลุ่มธุรกิจการแพทย์ใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคหรือจดจำรูปแบบเพื่อติดตามการระบาดของ COVID-19 ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นำ AI มาใช้ในการออกแบบโครงสร้างอาคาร เป็นต้น
    • 5G technology: เครือข่าย 5G ช่วยสนับสนุนกระบวนการควบคุมเครื่องจักรให้สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนด้านแรงงาน เวลา และข้อผิดพลาดในกระบวนการผลิต ตัวอย่างเช่น HIROTEC Corp. (ญี่ปุ่น) ใช้ 5G ควบคุมระบบการทำงานของเครื่องจักรแบบระยะไกลในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ หรือ MTU Aero Engines (เยอรมนี) ใช้ 5G ในกระบวนการออกแบบเครื่องยนต์เครื่องบิน ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการออกแบบได้ถึง 75% เป็นต้น
    • Drone: อากาศยานไร้คนขับที่ควบคุมได้จากระยะไกล ช่วยลดการพึ่งพาแรงงาน ลดเวลาในการเข้าสำรวจพื้นที่จริงโดยเฉพาะในภาคเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนก่อนเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว รวมทั้งใช้ติดตามและค้นหาสัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการพ่นสารเคมี หรือการใช้ในธุรกิจก่อสร้างเพื่อประเมินขนาดพื้นที่หรือสำรวจพื้นที่ในเขตอันตราย เป็นต้น
    • Blockchain: ระบบการเก็บและบันทึกข้อมูลโดยกระจายฐานข้อมูลให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลกันได้ แต่จำกัดการเข้าถึงด้วยการเข้ารหัส จึงมีความปลอดภัยสูง มักใช้ในธุรกรรมการเงินผ่านการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น เช่น การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อสร้างความโปร่งใสของที่มาผลผลิต รวมทั้งใช้ร่วมกับ Cloud computing ในธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อติดตามและประเมินผลระบบการจัดส่งสินค้า เป็นต้น
    • Edge computing: ระบบประมวลผล Big data ที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านความต้องการของผู้บริโภคไปสู่การปรับเปลี่ยนสายการผลิตหรือรูปแบบธุรกิจแบบทันเวลา (Real time) เพื่อสนองตอบพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่ใช้ในธุรกิจด้านสุขภาพ นันทนาการ และขนส่ง รวมถึงใช้ประเมินสภาพอากาศและโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพื่อวางแผนในธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น
    • Quantum computing: การพัฒนาระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ผ่านอนุภาคย่อยของอะตอมแทนการใช้เลขฐานสอง ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ของ AI ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ในการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ เป็นต้น
    • 3D printing: เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติช่วยควบคุมการออกแบบและผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำและมีความรวดเร็ว ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์และการนำวัสดุกลับมาใช้ในการพิมพ์ใหม่อีกครั้ง (Recycle bot) อาทิ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และการผลิตฟันปลอม รวมถึงใช้ในโครงการก่อสร้าง เช่น การออกแบบสร้างอาคารที่ทำได้เร็วขึ้น
    • Synthetic biology: ส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้เพื่อผลิตเนื้อสังเคราะห์ประเภท Cultured meat ซึ่งผลิตเนื้อสัตว์จากสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบทั้งเนื้อวัว ไก่ หมู และปลาทูน่า และ Plant-based meat เป็นการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชที่มีลักษณะและรสชาติเหมือนเนื้อจริง ช่วยลดการบริโภคเนื้อสัตว์จริงและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหารกรณีเกิดโรคระบาดในสัตว์ รวมถึงช่วยตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
    • Data analytics: เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยผู้ประกอบการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังตัวอย่างการนำไปใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว โดยการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตเพื่อคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์และเสนอแพ็กเกจท่องเที่ยวที่ตรงใจนักท่องเที่ยวรายบุคคล
 
  • ห่วงโซ่มูลค่าโลกหดสั้นลง เพิ่มแรงกดดันด้านการแข่งขัน ทิศทางการกีดกันทางการค้าที่ยังมีต่อเนื่อง และการหันมาพึ่งพาตนเองของประเทศมหาอำนาจโดยแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำของตน ตลาดจนผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่การผลิต เช่นกรณีที่โรงงานประกอบรถยนต์หลายแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราวจากปัญหาการขาดแคลนชิป เหตุเหล่านี้นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เร่งให้ผู้ประกอบการหันมาพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ทำให้ห่วงโซ่มูลค่าโลกมีทิศทางหดสั้นลงเร็วขึ้น และกดดันให้การแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงขึ้นจากช่องทางการค้าที่แคบลง (ภาพที่ 3) กลุ่มประเทศที่ยังมีโอกาสทางการค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เน้นการผลิตสินค้าต้นน้ำ (ส่วนเริ่มต้นที่เป็นฐานการผลิต) หรือปลายน้ำ (ส่วนสุดท้ายของขั้นตอนการผลิต) ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงบนห่วงโซ่มูลค่าโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน (World Bank, 2020) ส่วนประเทศที่ยังเน้นผลิตในส่วนกลางน้ำ ซึ่งมักเป็นการรับจ้างประกอบสินค้าในบางอุตสาหกรรมเช่น อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อยลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในกลุ่มหลังนี้จึงต้องปรับตัวโดยเปลี่ยนตำแหน่งยืนบนห่วงโซ่อุปทานโลกไปสู่การผลิตในส่วนต้นน้ำหรือปลายน้ำมากขึ้น จากการประเมินของวิจัยกรุงศรีพบว่าอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่ควรขยับไปต้นน้ำมากขึ้น เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ปิโตรเลียม เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ควรมุ่งผลิตสินค้าปลายน้ำมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักร เป็นต้น (ภาพที่ 4) โดยควรเน้นใช้ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างพันธมิตรกับประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงบนเวทีโลก เพื่อให้อุตสาหกรรมข้างต้นของไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาตำแหน่งบนห่วงโซ่อุปทานของโลกได้อย่างยั่งยืน

    (รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่ อุตสาหกรรมไทย: อยู่ตรงไหนและจะแข่งขันอย่างไรในเวทีโลก)


 
 
 

 

  • การรวมกลุ่มการค้าโลกมุ่งสู่การสร้างพันธมิตรภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regional trade blocs) มากขึ้น การรวมกลุ่มล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดย CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งไทยยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่จะเข้าร่วม จากข้อกังวลด้านสิทธิคุ้มครองการผูกขาดที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและยา ขณะที่ RCEP ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ  และประเทศคู่ค้าอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการลงสัตยาบันครบจำนวนตามเงื่อนไข[1] ทำให้ RCEP มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยสมาชิก RCEP จะลดภาษีสินค้าเป็นศูนย์เฉลี่ย 90% ของรายการสินค้า (ทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปีตามความพร้อมของแต่ละประเทศ) วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม RCEP ในกลุ่มผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ แม้ผลประโยชน์โดยรวมจากการลดภาษีอาจมีไม่มาก เนื่องจากประเทศสมาชิก RCEP ต่างมีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยอยู่ก่อนแล้ว แต่ในระยะยาว RCEP จะเสริมสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่การผลิตของไทยภายในภูมิภาคสำหรับอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งอยู่แล้วโดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ปิโตรเคมี และพลาสติก นอกจากนี้ มูลค่าตลาดของ RCEP ที่มีขนาดใหญ่ยังช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับสมาชิกในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global supply chain)[2] ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (ภาพที่ 5)

 
เศรษฐกิจไทยปี 2565-2567: ฟื้นตัวจากภาคส่งออกและการเข้าสู่วัฏจักรการลงทุน
 

เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.7% ต่อปี โดยทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 (ภาพที่ 6) ปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) การฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าทำให้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง ส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เมื่อประกอบกับการปรับตัวและดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) รวมถึงการก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง (2) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นลำดับหลังจากไทยเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แต่นโยบายของประเทศต้นทางที่เข้มงวดและความไม่แน่นอนของการระบาดจะยังเป็นข้อจำกัดต่อไป คาดว่าอาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2568 กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้ (3) ภาคส่งออกเติบโตต่อเนื่องและยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและประเทศคู่ค้า กอปรกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2565  น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจเผชิญแรงกดดันจากปัญหาด้านอุปทานทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนที่อาจปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังมีอยู่เป็นระยะๆ (4) การลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตตามวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย ผนวกกับแรงหนุนจากการยกระดับการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล รวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ (5) มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการใช้เงินกู้ที่เหลืออยู่จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 อีกทั้งยังดำเนินมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจ ด้วยการเสริมสภาพคล่องและการปรับโครงสร้างหนี้ การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงินแก่ลูกหนี้ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์



 

แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ยังมีปัจจัยที่จำกัดการเติบโตในระยะข้างหน้า อาทิ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้การใช้จ่ายในประเทศอาจเติบโตในอัตราต่ำ สำหรับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอื่นๆ อาทิ การกลายพันธุ์ของไวรัส COVID-19 ความตึงเครียดทางการเมืองอาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกและไทยอาจเผชิญความผันผวนและประสบปัญหาต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลข้างเคียงจากการที่ประเทศแกนหลักของโลกทยอยปรับลดแรงกระตุ้นทางการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น (Policy normalization)


การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน…จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

 
 

ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า การเร่งตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะเป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ (ภาพที่ 7) โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศ โดยโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ล่าสุดทางการตั้งเป้าหมายลงทุนใน EEC ระยะที่ 2 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะแรกที่ตั้งเป้าไว้ 1.7 ล้านล้านบาท (2561-2564) นอกจากนี้ ในปี 2565 ภาครัฐระบุจะเร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเชื่อมระบบการขนส่ง (Logistic) ระหว่าง EEC กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)

นอกจากนี้  โครงข่ายคมนาคมอื่นๆ ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปี 2565-2567 ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนฉบับล่าสุด พ.ศ. 2561 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้แก่

  1.  โครงการระบบราง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) รวม 4 สัญญา ระยะทางรวมประมาณ 80 กม. โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะที่ 2 ระยะทาง 167 กม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. 
  2. โครงการระบบถนน  อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม.  
  3. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) คาดเปิดประมูลและดำเนินการก่อสร้างปี 2565 แล้วเสร็จปี 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี   โครงการพัฒนาขยายท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 คาดได้ผู้รับเหมาไม่เกินสิ้นปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดให้บริการปี 2567

​หากการลงทุนสามารถดำเนินการได้ตามแผน คาดว่าจะช่วยหนุนโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้กระจายสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การแพทย์สมัยใหม่ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสมัยใหม่ เป็นต้น


ปัจจัยแวดล้อมในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม


ปัญหาเชิงโครงสร้างบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย


ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของไทย (IMD World Competitiveness Ranking) ปี 2564 อยู่ที่อันดับ 28 ทรงตัวใกล้เคียงกับปี2563 (อันดับ 29) แม้ว่าไทยจะมีพัฒนาการดีขึ้นในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government efficiency) และการจัดการทางธุรกิจ (Business efficiency) แต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  กระทบภาคท่องเที่ยวรุนแรง ส่งผลให้สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic performance) ของไทยลดลงถึง 7 อันดับมาอยู่ที่ 21 (ภาพที่ 8) ขณะที่ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีความคืบหน้าน้อยมาก สำหรับปัจจัยด้านทักษะทางเทคโนโลยี/ดิจิทัล ไทยมีอันดับสูงกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งกระทบต่อเนื่องถึงการพัฒนาสิทธิบัตรและนวัตกรรมใหม่ อันเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการพัฒนาความพร้อมของกำลังแรงงานเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในระยะข้างหน้า ด้านสัดส่วนค่าใช้จ่ายรวมด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 1.14% ของ GDP (ภาพที่ 9) ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในเอเชีย สะท้อนถึงทิศทางการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดโลกยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญด้านการลงทุนในนวัตกรรม (Innovation) การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digitalization) ระบบสวัสดิการที่ดี (Welfare benefits) และมีความสมานฉันท์ในสังคม (Social cohesion)

 


การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ของทางการที่อาจมีผลต่อภาคอุตสาหกรรม

อสังหาริมทรัพย์

  • การปรับเกณฑ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ (อยู่ระหว่างศึกษาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) เพื่อจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว ได้แก่
    • ประมวลกฎหมายที่ดิน ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่อาจกำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านสำหรับอยู่อาศัยในโครงการจัดสรรราคา 10-15 ล้านบาทขึ้นไป และซื้อได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในโครงการ (เดิมกฎหมายที่ดินมาตรา 96 ทวิ อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อบ้านหรือที่ดินต้องมีการลงทุนในไทย 40 ล้านบาทขึ้นไป จึงสามารถซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี)
    • พระราชบัญญัติอาคารชุด ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่อาจขยายเพดานให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้มากกว่า 49% ของพื้นที่ขายในโครงการ แต่จะไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด (เดิมพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในอาคารชุด)
    • การเช่าอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่อาจขยายระยะเวลาการเช่าเป็น 50 ปีและต่อสัญญาได้ 40 ปี (เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 540 อนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์สูงสุดไม่เกิน 30 ปี และต่อสัญญาได้ไม่เกิน 30 ปี)

การผลิต

  • การปรับเพิ่มภาษีสำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ตามปริมาณความหวาน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยทยอยปรับขึ้นรวม 4 รอบ ได้แก่ รอบ 1 มีผล 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 รอบ 2 มีผล 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2565 รอบ 3 มีผล 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 และรอบ 4 มีผล 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป มาตรการนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มปรับตัวโดยผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานน้อยลงหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น
  • การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ หมวดโยธาและวัสดุก่อสร้าง อาทิ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (มีผล 15 มีนาคม 2565) เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ (27 กุมภาพันธ์ 2565)  และเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน (28 พฤษภาคม 2565) หมวดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  อาทิ ขั้วรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์และขั้วรับสตาร์ตเตอร์ (28 มกราคม 2565) เครื่องซักผ้าประหยัดพลังงาน (27 กุมภาพันธ์ 2565) หลอดแอลอีดี (29 มีนาคม 2565) และหมวดอาหาร ได้แก่ สับปะรดในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท (16 มกราคม 2565) ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามมาตรฐานใหม่และมีความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

พลังงานและสิ่งแวดล้อม

  • แผนปฏิรูปพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Neutral-Carbon Economy) (คาดบังคับใช้ปี 2566) ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2022) (2) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) (3) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (4) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ (5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) คาดว่าแผนข้างต้นจะส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตและนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน
  • การปรับเกณฑ์ด้านพลังงาน ได้แก่
    • การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและลดสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายใต้ PDP2018 (rev.1) ในช่วงปี 2564-2573 เพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ รวมถึงการเปิดเสรีระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา และส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของอุปทานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน คาดว่าจะก่อให้เกิดการเร่งลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2565
    • การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
    • การเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG โดยอนุญาตให้เอกชนรายใหม่สามารถจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG shipper) จากปัจจุบันตลาดมีผู้รับอนุญาตน้อยราย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ก๊าซในประเทศมีราคาถูกลงในระยะต่อไป
    • การเลื่อนแผนยกเลิกอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (Gasohol E20 & E85 และ Diesel B10 & B20) ออกไปเป็นปี 2567 จากเดิมต้องดำเนินการภายในปี 2565 เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและน้ำมันปาล์มจากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงในช่วง COVID-19
    • การกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์เพื่อลดผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศและปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเลื่อนเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 เป็นภายในปี 2567 และ 2568 จากเดิมกำหนดใช้ปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ เนื่องจากการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนการผลิตรถยนต์สูงขึ้นจากการพัฒนาเครื่องยนต์ตามมาตรฐานที่กำหนด
    • การกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงานหรือ Building Energy Code (BEC) สำหรับอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภท (ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน (หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า) ซึ่งมีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป (มีผลปี 2564) และจะใช้กับอาคารพื้นที่ 5,000 และ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป (มีผลปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ) คาดว่าจะกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจในการออกแบบอาคาร การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ และการปรับปรุงอาคารตามเกณฑ์ที่กำหนด

ท่องเที่ยว

  • การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ
    • การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับธุรกิจโรงแรมปีละ 40 บาทต่อห้อง (มีผล 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2565) เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19
    • รัฐขยายเวลาบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นสิ้นสุดปี 2567 (จากเดิมปี 2564) เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการโรงแรมหรือที่พักขนาดเล็กดัดแปลงอาคารให้ถูกต้อง ทำให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนค่าใช้จ่ายลงทุนได้ 2 เท่า และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ขณะที่ผู้เข้าพักสามารถใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีได้ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมด้านราคา ขณะที่อัตราการเข้าพักจะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น หลังมีการยื่นขออนุญาตผ่อนปรนการปรับปรุงอาคารผิดประเภทเกือบ 2 หมื่นแห่ง จากประมาณ 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
    • การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยภาครัฐอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามเงื่อนไขสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (ตามรูปแบบ TEST & GO) ประมาณปลายเดือนมกราคม 2565

การเงิน

  • มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ) วงเงิน 250,000 ล้านบาท สำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพ ผ่านการปรับลดข้อจำกัดของ Soft loans เดิม โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายเก่าและใหม่ ขยายระยะเวลากู้ และเพิ่มการค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อส่งผ่านสินเชื่อไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเอื้อให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น (เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2564) ขณะที่ภาครัฐจะยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง
  • การรับโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,00 ล้านบาท สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบรุนแรงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันที่สามารถตีโอนชำระหนี้เพื่อลดภาระหนี้ชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราวให้แก่ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถขอเช่าทรัพย์เพื่อดำเนินกิจการต่อได้ หรือเลือกปิดดำเนินการชั่วคราว ช่วยลดปัญหาอุปทานส่วนเกินและลดความเสี่ยงที่ต้องขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินไป (Fire sale) ผู้ประกอบการจะสามารถซื้อทรัพย์คืนจากสถาบันการเงินเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โดยภาครัฐจะยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ธปท. จะสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำในการรับตีโอนทรัพย์ของสถาบันการเงิน
  • มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจทั้ง SMEs และธุรกิจรายใหญ่ โดยเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม รวมถึงจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ปัจจุบันยังไม่มีธุรกิจใดขอใช้วงเงินในโครงการดังกล่าว
  • การผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อลูกหนี้รายย่อยในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เป็นการชั่วคราว (มีผล 19 สิงหาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565)
  • การผ่อนปรนให้สถาบันการเงินลดเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี (เริ่มเมษายน 2563)
  • การเตรียมความพร้อมแก่สถาบันการเงินเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การออกเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเพื่อใช้เป็นข้อมูลทางเลือก (Alternative data) ประกอบการขอสินเชื่อ (มีผลตั้งแต่ 15 กันยายน 2563) แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (2562-2564) ที่เน้นให้ Digital payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน การออกเกณฑ์ควบคุมการประกอบธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer to peer lending platform) (มีผลตั้งแต่กรกฎาคม 2563)
  • การผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่อง (มาตรการ LTV) สำหรับสัญญาเงินกู้ช่วง 20 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) อยู่ที่ 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นที่มีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up) สำหรับกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9.8% ของ GDP

อื่นๆ

  • กระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้ารถจักรยานยนต์ใช้แล้ว (รวมรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน รถจักรยานยนต์และจักรยานไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง) มีผลตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจนำเข้ารถจักรยานยนต์เก่ามาจำหน่ายในประเทศ รวมถึงตลาดรถมือสองและธุรกิจในห่วงโซ่ อาทิ ธุรกิจซ่อมและนำเข้าอะไหล่มือสอง
  • ภาครัฐอนุญาตให้นำพืชพื้นบ้านบางประเภท (ได้แก่ กัญชง กัญชาและกระท่อม) ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเอื้อให้มีการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง


วิจัยกรุงศรีประเมินว่าปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมหภาคและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ดังนั้น การเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมถึงกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นการวางรากฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในระยะยาว

 

อุตสาหกรรมเกษตร


ข้าว

สถานการณ์ปี 2564

  • ในช่วง 10 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 7.7% YoY ผลจากปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2563 เอื้อต่อการเพาะปลูก ประกอบกับโครงการประกันรายได้ภาครัฐจูงใจให้เกษตรกรขยายหรือเพิ่มรอบการเพาะปลูก ขณะที่ดัชนีราคาข้าวเปลือกหดตัว 18.7% YoY จากราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่หดตัวอย่างมาก ผลจาก (1) ผลผลิตปี 2564 ที่ค่อนข้างมาก ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินกดดันราคาปรับลดลง และ (2) แรงกดดันจากการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรปรับลดลง ด้านดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหดตัว 12.5% YoY ตามปัจจัยด้านราคาที่ลดลงมาก
  • ปริมาณส่งออกข้าว 10 เดือนแรกขยายตัว 1.4% YoY อยู่ที่ 4.6 ล้านตัน ผลจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 3 กดดันราคาข้าวปรับลดลงมาก     เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง (เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และจีน) หลังจากหดตัว   ถึง 31.0% YoY ในช่วง 5 เดือนแรกของปีจากราคาข้าวที่แพงกว่าคู่แข่ง ด้านมูลค่าส่งออกข้าวหดตัว 13.2% YoY คิดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามราคาข้าวที่ลดลงต่อเนื่อง
  • ช่วงไตรมาสสุดท้าย (ช่วงเก็บเกี่ยวราว 80% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด) คาดผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้นจาก (1) ปริมาณฝนและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยหนุนการเพาะปลูก และ (2) การขยายพื้นที่/เพิ่มรอบเพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคาที่สูงในช่วงก่อนเริ่มเพาะปลูกและการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ปี 2564 คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2563 อยู่ที่ 29.9 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 4.6% อยู่ที่ 6.0 ล้านตัน จากราคาข้าวไทยที่ลดลงมากในครึ่งปีหลัง ทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
  •  


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี อยู่ที่ 30.3-31.3 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือ 19.7-20.3 ล้านตันข้าวสาร ผลจากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย (ปี 2565-2566 คาดว่ายังได้อานิสงส์จากภาวะ La Niña) ต่อการเพาะปลูกและการกักเก็บน้ำไว้ใช้ นอกจากนี้ ชาวนามีแรงจูงใจจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวจากภาครัฐ อาทิ การประกันรายได้ การประกันภัยพืชผล การวางแผนการผลิตข้าว สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก แผนรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมข้าว และแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับภาคเกษตร
  • ความต้องการบริโภคในประเทศคาดว่าจะกลับสู่ระดับ 10.7-11.1 ล้านตันข้าวสารต่อปี แรงหนุนจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องปรับตัวดีขึ้น
  • การส่งออกข้าวมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 7-8 ล้านตันต่อปี ตามความต้องการในต่างประเทศโดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน เบนิน และญี่ปุ่น
  • ราคาส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำใกล้เคียงปี 2564 สาเหตุหลักจากผลผลิตข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้น และสต็อกข้าวโลกที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง




 

ยางพารา

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 4.9% YoY ผลจากราคายางพาราที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับโครงการประกันรายได้จากภาครัฐจูงใจให้เกษตรกรกรีดยาง หนุนปริมาณส่งออกขยายตัว 3.6% YoY อยู่ที่ 3.5 ล้านตัน ตามความต้องการยางแผ่นและยางแท่งในอุตสาหกรรมยางล้อ ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนซึ่งสต็อกยางในประเทศปรับลดลง ขณะที่น้ำยางข้นมีความต้องการจากอุตสาหกรรมถุงมือยางและอุปกรณ์ยางทางการแพทย์ ความต้องการยางจากตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หนุนราคายางส่งออกปรับขึ้น 29.2% YoY ส่งผลให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 33.9% YoY อยู่ที่ 6.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านความต้องการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นตามการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ถุงมือยาง อุปกรณ์ยางทางการแพทย์ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ
  • ช่วงที่เหลือของปี การผลิตและจำหน่ายยางมีทิศทางปรับดีขึ้น ทำให้คาดว่าปี 2564 ปริมาณการผลิตยางพาราขั้นกลางอยู่ที่ 4.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ด้านการส่งออก แม้จะมีแรงกดดันจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและค่าระวางเรือที่สูง แต่ปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 8.0-10.0% อยู่ที่ 4.8-5.0 ล้านตัน จาก (1) อุปสงค์โลกเพิ่มขึ้นมากจากจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ (2) ผลผลิตของประเทศคู่แข่งมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ประสบปัญหาโรคใบร่วงอย่างต่อเนื่อง และการขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ส่วนราคาส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 20.0-30.0% ตามความต้องการ ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรงตัวระดับสูงโดยเฉพาะน้ำมันดิบ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้น 30.0-35.0% อยู่ที่ 8.2-8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การบริโภคในประเทศจะขยายตัว 3.0-4.0% ตามมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) การขยายพื้นที่ปลูกในช่วงหลายปีก่อนหน้า และ (2) แรงจูงใจจากราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ
  • อุปสงค์คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ต่อปี จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนความต้องการยางในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน ถุงมือยางและอุปกรณ์ยางทางการแพทย์ และการใช้ยางพาราเพื่อสุขอนามัยของสังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการส่งออกจำแนกรายผลิตภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้
    • ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง: คาดปริมาณส่งออกยางแผ่นฯ จะขยายตัว 1.0-2.0% และยางแท่งเติบโต 2.0-3.0% แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ทยอยฟื้นตัว และ (2) การสั่งซื้อยางพาราเพื่อเป็นสต็อก
    • น้ำยางข้น: คาดปริมาณส่งออกจะขยายตัว 1.0-2.0% อัตราการขยายตัวไม่เร่งมากนักจากฐานที่สูงในปี 2564 ประกอบกับผลผลิตยางพาราจากประเทศคู่แข่ง (อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เริ่มฟื้นตัว
    • ยางคอมพาวด์และยางผสม: คาดว่าจะขยายตัว 1.5-3.0% ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง การขนส่ง ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์



 

มันสำปะหลัง

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 10 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตหัวมันสดเพิ่มขึ้น 8.7% YoY ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งได้แรงจูงใจจาก (1.1) ราคามันสำปะหลังที่ปรับเพิ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 (1.2) แผนสนับสนุนภาคเกษตรจากรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ และ (2) ปริมาณฝนและน้ำในเขื่อนที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวดี ดังนี้
    • ปริมาณส่งออกมันเส้น (สัดส่วน 43.0% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) และมันอัดเม็ด (สัดส่วน 0.2%) ขยายตัว 59.3% และ 45.8% YoY  ตามลำดับ ตามความต้องการของตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นจาก (1) ความต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์และเอทานอล เนื่องจากข้าวโพดที่เคยใช้เป็นพืชทดแทนมีราคาสูงขึ้น และ (2) สถานการณ์โรคระบาดในไก่และสุกรเริ่มดีขึ้น ทำ ให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น
    • ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ (สัดส่วน 39.0%)  และดัดแปร (สัดส่วน 14.6%) ขยายตัว 33.8% YoY และ 15.0% YoY ตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของตลาดจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ กาว สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้อัด ยาและเครื่องสำอาง
  • ในช่วงที่เหลือของปี ความต้องการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี 2564 คาดว่าผลผลิตหัวมันสดจะอยู่ที่ 30.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.8% จากที่หดตัว 6.7% ในปี 2563 ขณะที่การจำหน่ายในประเทศจะขยายตัวชะลอลงที่ 1.8% เทียบกับ 4.6% ปี 2563 ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน และแอลกอฮอล์ ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ โดยมันเส้นขยายตัว 50.0-55.0% มันอัดเม็ด 40.0-45.0% แป้งมันสำปะหลังดิบ 26.0-30.0% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 12.0-16.0%



 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ผลผลิตหัวมันสดมีแนวโน้มขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ผนวกกับเกษตรกรมีแรงจูงใจด้านราคา จากตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและมาตรการสนับสนุนภาครัฐ โดยตลาดในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย (2) ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล และ (3) การให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยจึงต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์มากขึ้น ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี ดังนี้
    • มันเส้น: คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 6.1-6.7 ล้านตัน เติบโต 6.0-7.0% ต่อปี โดยจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีแนวโน้มต้องการมันเส้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ผลิตเอทานอลใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงาน รวมถึงผลิตอาหารสัตว์
    • มันสำปะหลังอัดเม็ด: คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ในระดับ1.0-1.5 หมื่นตัน จากการนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์
    • แป้งมันสำปะหลังดิบ: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.5-3.7 ล้านตัน ขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่มในจีน
    • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านตัน เติบโต 1.5-2.5% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางและยาของประเทศญี่ปุ่นและจีนเป็นสำคัญ



 

น้ำตาลและกากน้ำตาล

สถานการณ์ปี 2564

  • ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปี 2563/64 หดตัว 11.0% ทำให้ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 7.6 ล้านตัน หดตัว 8.5% YoY ผลจาก (1) ราคาอ้อยที่ต่ำกว่าต้นทุนการเพาะปลูก และ (2)_สถานการณ์ภัยแล้งที่ต่อเนื่องในปี 2562-2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิ้นปีคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ที่ 85.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 28.6% แรงหนุนจาก (1) สภาพอากาศและน้ำในเขื่อนที่ดีขึ้น (2) เกษตรกรได้แรงจูงใจจากการประกันราคาอ้อยขั้นต่ำปี 2564/65 และ 2565/66 ที่ 1,000 บาท/ตัน (ไม่รวมค่าความหวานและค่าอ้อยสด)
  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลช่วง 10 เดือนแรกหดตัว 44.5% YoY อยู่ที่ 3.1 ล้านตัน แบ่งเป็น น้ำตาลทรายดิบ 1.5 ล้านตัน (-52.2% YoY) น้ำตาลทรายขาว 1.6 ล้านตัน (-26.7% YoY) และกากน้ำตาล 7.1 หมื่นตัน (-81.5% YoY) ผลจากวัตถุดิบอ้อยขาดแคลน (Supply shortage) กระทบการส่งมอบน้ำตาลให้กับประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่มีอยู่ต่อเนื่องโดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เอทานอล และแอลกอฮอล์ ผลักดันราคาส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลเพิ่มขึ้นกว่า 34.4% YoY ทั้งนี้ ปริมาณส่งออกที่ลดลง ทำให้มูลค่าส่งออกหดตัว 25.4% YoY อยู่ที่ 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สำหรับปริมาณและมูลค่าส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลทั้งปี 2564 คาดจะหดตัว 40.0-45.0% และ 20.0-25.0% ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่หดตัว 44.2% และ 41.5% ตามลำดับ ด้านความต้องการในประเทศจะอยู่ที่ 2.3-2.5 ล้านตัน ขยายตัว 1.0-5.0% จากที่หดตัว 4.8% ปีก่อนหน้า แรงหนุนหลักจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เอทานอล และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ภาวะ La_Nina ทำให้มีปริมาณน้ำฝนและน้ำกักเก็บเพื่อการเกษตรมากขึ้น_ประกอบกับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อาทิ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (70:30) เงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และแรงจูงใจจากการประกันราคาอ้อยขั้นต้นของสมาคมโรงงานน้ำตาล โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ 86-99 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาล 9.5-11.5 ล้านตันต่อปี (เติบโตเฉลี่ย 10.0-15.0% ต่อปี)
  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลจะอยู่ที่ 7-11 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 25.0-30.0% ต่อปี  โดยมีแรงหนุนจาก (1) ปริมาณการผลิตน้ำตาลในประเทศที่คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดภัยแล้งปี 2562-2563 และ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย สำหรับการบริโภคน้ำตาลในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-2.7 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี จาก (1) การทยอยเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม เอทานอล และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และ (2) มาตรการสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์จากภาครัฐ



 

ปาล์มน้ำมัน

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ผลปาล์มสดที่ใช้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 13.1 ล้านตัน (+2.4% YoY) แรงหนุนจาก (1) ความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาผลปาล์มสดสูงถึง 6.1 บาท/กิโลกรัม (+52.8% YoY) จูงใจให้เก็บเกี่ยว และ (2) สภาพอากาศและปริมาณฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้ การบำรุงรักษาต้นปาล์มและเก็บเกี่ยวผลปาล์มตามเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เปอร์เซนต์น้ำมันที่สกัดได้เพิ่มเป็น 17.8% จาก 17.7% ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) อยู่ที่ 2.3 ล้านตัน (+3.6% YoY) ขณะที่ความต้องการ CPO ในประเทศลดลงอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน (-6.1% YoY) จากความต้องการไบโอดีเซลภาคขนส่งที่เหลือ 8.6 แสนตัน (-15.1% YoY) ตามมาตรการ Lockdown ของทางการและการทำงานที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 6.1 แสนตัน (+151.4% YoY) มีมูลค่า 699.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+316.7% YoY) จากการเร่งตัวของการส่งออก CPO ที่ระดับ 5.5 แสนตัน (+206.0% YoY) ตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาก และโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินของรัฐบาล เป็นการส่งออกไปตลาดหลัก คือ อินเดีย 3.9 แสนตัน (+190.2% YoY) และมาเลเซีย 1.2 แสนตัน (+277.9% YoY)
  • ช่วงที่เหลือของปีคาดว่าการเก็บเกี่ยวผลปาล์มยังได้แรงจูงใจจากราคาที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปสงค์ได้แรงหนุนจากตลาดส่งออกตามโครงการภาครัฐ ทำให้ทั้งปี 2564 ผลผลิตปาล์มสดจะเพิ่มขึ้น 9.5% อยู่ที่ 16.4 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจะหดตัว 2.0-4.0% ตามความต้องการสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปาล์มลดลงโดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มคาดว่าขยายตัว 85.0-90.0% เนื่องจากอินเดียและมาเลเซียได้เร่งซื้อไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้สต็อก CPO ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 1.6-1.8 แสนตัน ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม 2.0-2.5 แสนตัน ผลักดันให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ 6.7 บาท/กิโลกรัม (+47.3%) ราคา CPO อยู่ที่ 37.1 บาท/กิโลกรัม (+32.0%) และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มคาดว่าเร่งตัวถึง 60.0-65.0%


 

 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ผลผลิตปาล์มสดมีแนวโน้มขยายตัว 4.0-5.0% ต่อปี ผลจาก (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้า ทำให้มีผลปาล์มอยู่ในเกณฑ์อายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และ (2) เกษตรกรมีแรงจูงใจจากราคาปาล์มที่คาดว่าจะสูงและโครงการประกันรายได้ภาครัฐ ด้านความต้องการ CPO ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ตามอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคขนส่ง และการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น B10 (ไบโอดีเซล10% ผสมในน้ำมันดีเซล ) ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าอัตราการเติบโตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% ต่อปี จากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อินเดีย และมาเลเซีย รวมถึงมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มภาครัฐ
    • รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มทรงตัวและไม่แน่นอน จากราคาผลปาล์มสดที่อาจปรับลดลงตามผลผลิตปาล์มที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและประเทศคู่แข่ง (ผลผลิตต่อไร่ของมาเลเซียและอินโดนีเซียมีแนวโน้มสูงขึ้น) ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มอาจผันผวนเป็นระยะ
    • โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ คาดว่าผลประกอบการจะทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม อาทิ การนำ CPO ไปผลิตกระแสไฟฟ้า การสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซลและการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่กำลังการผลิตรวมของโรงสกัดยังคงสูงกว่าปริมาณผลปาล์มสดที่ออกสู่ตลาด ทำให้มีอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น

 

ไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก การผลิตไก่แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปอยู่ที่ 1.9 ล้านตัน หดตัว 2.5% YoY ผลจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในโรงงาน    ทำให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ด้านความต้องการในประเทศหดตัว 1.4% YoY จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงและธุรกิจต่อเนื่องสำคัญ เช่น ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ส่วนปริมาณส่งออกอยู่ที่ 7.0 แสนตัน เพิ่มขึ้น 5.2% YoY นำโดยตลาดญี่ปุ่นที่เร่งนำเข้าเพื่อใช้ในช่วงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงการเร่งส่งมอบไก่ให้ครบโควตาของตลาดยุโรป แต่ด้วยราคาส่งออกลดลง 8.4% YoY ทำให้มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 3.6% YoY
  • ช่วงที่เหลือของปี 2564 คาดว่าโรค COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิตและกำลังซื้อ จึงคาดว่าผลผลิตไก่เนื้อทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ 2.38-2.40 ล้านตัน หดตัว 4.0-5.0% ตามความต้องการในประเทศที่หดตัว 1.0%-2.0% ด้านปริมาณส่งออกไก่ปีนี้คาดอยู่ที่ 0.9-1.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.0-8.0% เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การผลิตไก่ในบางประเทศหยุดหรือชะลอลง ขณะที่ไทยแม้จะได้รับผลกระทบ แต่สินค้าไก่ไทยยังได้รับความน่าเชื่อถือจากมาตรฐานการผลิตที่สูงกว่า ทำให้หลายประเทศมีการนำเข้าไก่จากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่ม CLMV แอฟริกา และตะวันออกกลาง สำหรับราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มเฉลี่ย 33.0-34.0 บาท/กิโลกรัม ลดลงจาก 35.5 บาท/กิโลกรัม ในปี 2563 เนื่องจากช่วงปิดโรงงาน เกษตรกรต้องเลี้ยงไก่เพื่อรอแปรรูป ไก่จึงมีน้ำหนักเกินมาตรฐานส่งออก[1] ส่วนไก่ที่ผ่านการแปรรูปแล้วกลับไม่มีห้องเย็นไว้เก็บสินค้าทำให้ผู้ประกอบการต้องจำหน่ายในราคาต่ำ ด้านต้นทุนแปรรูปไก่เพิ่มขึ้น ทั้งจากต้นทุนในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในคนและสัตว์ ต้นทุนอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพด และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือ ทำให้ธุรกิจมี มาร์จินบางลง


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • คาดว่าอุตสาหกรรมไก่เนื้อจะปรับดีขึ้นทั้งการผลิตและจำหน่าย โดยแรงหนุนมาจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลผลิตไก่เนื้อในประเทศจะอยู่ที่ 2.58-2.79 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.0-6.0% ต่อปี ตามความต้องการบริโภคไก่ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัว 7.0-8.0% ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ส่วนปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จะเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี จากความต้องการบริโภคไก่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีน
  • ผู้ประกอบการอาจเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และต้นทุนจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกนำมาใช้มากขึ้น อาทิ การตรวจสอบวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ต้องไม่มาจากการบุกรุกป่า การเลี้ยงสัตว์ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มให้ความสำคัญและยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถแข่งขันในตลาดโลก



 

ปลากระป๋อง

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก อุตสาหกรรมปลากระป๋องหดตัวแรงสุดในรอบ 4 ปี ผลจาก (1) การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กระทบแรงงานที่ใช้ในการผลิต  (2) ปริมาณแผ่นเหล็กไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและยังมีราคาสูงขึ้นถึง 53.6% YoY กลายเป็นอุปสรรคด้านปริมาณและต้นทุนกระป๋อง และ (3) ปัญหาด้านการขนส่งจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่สูงส่งผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบปลา (ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมความเย็น) และการส่งออก โดยการผลิตปลากระป๋องหดตัว 14.1% YoY จากปลาทูน่ากระป๋อง (-15.8% YoY) และปลาซาร์ดีน (-5.8% YoY) ส่งผลให้ยอดจำหน่ายหดตัวตามไปด้วย โดยตลาดในประเทศ (สัดส่วน 17.4% ของการผลิตทั้งหมด) หดตัว 8.4% YoY นอกจากจะเผชิญปัญหา Supply shortage แล้ว อุตสาหกรรมปลากระป๋องยังเผชิญการกีดกันการค้าจากอัตราภาษีของประเทศผู้นำเข้าที่ค่อนข้างสูง และความต้องการที่ชะลอลง ส่งผลให้ปริมาณส่งออก (สัดส่วน 82.6% ของการจำหน่ายทั้งหมด) หดตัว 23.4% YoY อยู่ที่ 3.7 แสนตัน โดยตลาดหลักหดตัวเกือบทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ (-40.8% YoY) ลิเบีย (-64.5% YoY) ญี่ปุ่น (-19.6% YoY) ออสเตรเลีย (-18.0% YoY) และซาอุดิอาระเบีย (-36.6% YoY) ด้านราคาส่งออกลดลง 2.1% YoY ทั้งปลาทูน่ากระป๋อง (-0.7% YoY) และปลาซาร์ดีนกระป๋อง (-3.8% YoY) จากการแข่งขันรุนแรงกับประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกลุ่มประเทศ ACP (Africa Caribbean and Pacific) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทำให้มูลค่าส่งออกปลากระป๋องอยู่ที่ 1.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 25.1% YoY
  • ช่วงที่เหลือของปี แม้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง แต่ธุรกิจยังเผชิญต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะเหล็กและน้ำมัน รวมถึงคำสั่งซื้อที่ชะลอลง โดยคาดว่าปริมาณการผลิตปลากระป๋องทั้งปี 2564 จะหดตัว 10.0%-14.0% จากที่ขยายตัว 10.7% ในปี 2563 ส่วนปริมาณส่งออกจะหดตัว 20.0-22.0% ตามตลาดปลาทูน่ากระป๋องเป็นหลัก ส่งผลให้มูลค่าส่งออกลดลง 22.0%-24.0%




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • อุตสาหกรรมปลากระป๋องมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการผลิตจะขยายตัว 5.0%-6.0% ต่อปี เนื่องจาก (1) ความต้องการจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก (2) อุตสาหกรรมปลากระป๋องไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-ใหญ่มีความได้เปรียบ ด้านมาตรฐานชีวอนามัยสูง และ (3) ผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง สินค้าจึงมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่าปริมาณและมูลค่าส่งออกจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 4.0%-7.0% และ 3.5%-6.5% ตามลำดับ
  • ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ สภาพอากาศแปรปรวนจะมีผลต่อการจับปลา การขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น (ปลา เหล็ก และพลังงาน) การขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ การกีดกันการค้าที่เข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) เช่น ปัญหาการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีกระแสนิยมบริโภคอาหารสดใหม่เพื่อสุขภาพ ลดการบริโภคอาหารบรรจุกระป๋องหรือแปรรูปจากโรงงาน ปัจจัยท้าทายข้างต้นอาจกระทบความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs



 

อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

 

ผลิตไฟฟ้า

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.0% YoY จากการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วน 45.0% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 5.5% YoY อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็กและโลหะพื้นฐาน ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ตามลำดับ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.7% YoY ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจหดตัว 7.0% YoY โดยธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้าลดลงมากส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร สถาบันการเงิน ห้างสรรพสินค้า อพาร์ทเม้นท์และเกสต์เฮ้าส์ สำหรับการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak demand) อยู่ที่ 30,135.3 เมกะวัตต์ (เดือนเมษายน) เพิ่มขึ้น 5.2% จากระดับการใช้สูงสุดในปี 2563  
  • ปริมาณการผลิตไฟฟ้า 9 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 0.7% YoY ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตโดย EGAT (สัดส่วน 30.8% ของปริมาณผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) หดตัว 5.5% YoY ส่วนผู้ผลิตเอกชนกลุ่มอื่น แบ่งเป็น IPP (สัดส่วน 22.2%) หดตัว 0.2% YoY SPP (สัดส่วน 25.3%) หดตัว 0.6% YoY และ  VSPP (สัดส่วน 5.7%) เพิ่มขึ้น 3.5% YoY ที่เหลือเป็นการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สัดส่วน 16.0%) เพิ่มขึ้น 18.4% YoY
  • ช่วงครึ่งปีแรก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบตามสัญญาการรับซื้อของรัฐ (Selling to the grid) มีกำลังการผลิตติดตั้งสะสมรวม 9,368.4[1] เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 3.1% จากสิ้นปี 2563 โดยกำลังการผลิตจากพลังงานชีวมวล ลม และก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้น 7.0% 1.6% และ 1.5% ตามลำดับ ด้านปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับเป้าหมายตามแผน AEDP 2018 พบว่ามีการผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วคิดเป็น 46% ของเป้าหมาย (26,491[1] เมกะวัตต์ภายในปี 2580) โดยปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลเข้าระบบมากที่สุดคิดเป็น 65% ของเป้าหมาย รองลงมา ได้แก่ พลังน้ำขนาดเล็ก ลม ขยะชุมชน ก๊าซชีวภาพ และแสงอาทิตย์ ตามลำดับ
  • ช่วงที่เหลือของปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้น จากการที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี 2564 จะขยายตัว 1.5% จากที่หดตัว 3.1% ในปี 2563




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาครัฐตามแผน PDP เอื้อให้เกิดการขยายกำลังการผลิตและการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3 ส่วน ดังนี้
    • IPP คาดจะมีการเปิดประมูลหลายแห่ง โดยภาครัฐมีแผนเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ต่อปีในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศช่วงปี 2564-2565 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ทยอยหมดอายุสัญญาในช่วงปี 2568-2570 จำนวน 8,300 เมกะวัตต์
    • SPP มีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติระบบ Cogeneration ที่ทยอยสิ้นสุดอายุสัญญา (ในช่วงปี 2562-2568) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP hybrid firm ซึ่งมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่าราคาขายปลีกค่าไฟฟ้า[2] รวมถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในเขต EEC เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
    • VSPP คาดว่าการลงทุนจะกลับมาเร่งขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐจะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าในปี 2565-2567 อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและแหล่งวัตถุดิบ

 

โรงกลั่นน้ำมัน

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น โดยความต้องการบริโภคอยู่ที่ 96.6 ล้านบาร์เรล/วันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกอยู่ที่ 94.7 ล้านบาร์เรล/วัน อุปสงค์น้ำมันที่มากกว่าอุปทาน ผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้น 58.1% YoY เฉลี่ยที่ 65.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ค่าการกลั่น (Gross Refinery Margins: GRM) เฉลี่ยที่ 0.9 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 0.3 ดอลลาร์ฯ ในช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของไทยมีผลประกอบการซบเซา ตามค่าการกลั่นในตลาดโลกที่อยู่ในอัตราต่ำ และความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่หดตัว 8.3% YoY ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นในเดือนเมษายนต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน โดยการใช้น้ำมันในกลุ่มดีเซล[1] ลดลง 6.0% YoY กลุ่มน้ำมันเบนซิน[2] ลดลง 8.7% YoY และการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลง 46.0% YoY ด้านราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 34.9 และ 27.3 บาท/ลิตร ตามลำดับ (จาก 29.3 และ 20.2 บาท/ลิตรในช่วงเดียวกันปีก่อน) จากต้นทุนน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 77%
  • ช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจโรงกลั่นมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวและการทยอยเปิดประเทศหนุนการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2564 เป็นดังนี้
    • ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 69.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (เทียบกับ 42.2 ดอลลาร์ฯ ในปี 2563) ขณะที่ GRM ในตลาดสิงคโปร์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 2.0 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล (เทียบกับ 0.3 ดอลลาร์ฯ ปี 2563)
    • ความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศคาดว่าจะหดตัว 5.0-6.0% ต่อเนื่องจากที่หดตัว 12.1% ปี 2563 ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลคาดว่าจะเฉลี่ยที่ 35.5 และ 27.9 บาท/ลิตร (เพิ่มขึ้นจาก 29.3 และ 22.4 บาท/ลิตรในปี 2563) ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 77% จาก 81% ปีก่อน เนื่องจากโรงกลั่นบางแห่งมีการขยายเวลาการปิดซ่อมบำรุง 
    •  



 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงปี 2564 โดยปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับเป็นปัจจัยจำกัดการขยับขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 73.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในปี 2565 และขยับลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 70.0 และ 67.5 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลในปี 2566 และ 2567 โดยความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่ฟื้นตัว (แม้น้ำมัน Jet จะยังได้รับแรงกดดันจากข้อจำกัดการบิน) จะหนุนให้ GRM ในตลาดสิงคโปร์ขยับขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 3.0-4.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล/ปี
  • ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้นที่ระดับเฉลี่ย 36.3 บาท/ลิตรในปี 2565 ก่อนลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 35.1 และ 34.3 บาท/ลิตรในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลจะเฉลี่ยอยู่ที่ 27.3 26.1 และ 25.3 บาท/ลิตร ตามลำดับ จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • ผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และ GRM โดยปริมาณรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น (เฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี) จะช่วยหนุนการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปเติบโต 2.5-3.5% ต่อปี ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 80-85% เนื่องจากยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  •  
 

เอทานอล

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้เอทานอลลดลง 9.9% YoY มาอยู่ที่เฉลี่ย 3.60 ล้านลิตร/วัน ตามความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่หดตัว 9.0% YoY ผลจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่รุนแรงตั้งแต่ต้นปี    ทำให้มีการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งรวมถึงควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด ในช่วงที่เหลือของปีความต้องการใช้เอทานอลมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้ความต้องการเดินทางปรับเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าความต้องการใช้เอทานอลเฉลี่ยปี 2564 จะอยู่ที่ 3.79 ล้านลิตร/วัน ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับ 4.03 ล้านลิตร/วัน ในปี 2563
  • ปริมาณการผลิตเอทานอล 9 เดือนแรก ลดลงเหลือ 3.79 ล้านลิตร/วัน (-7.7% YoY) ผลจากปริมาณวัตถุดิบขาดแคลนโดยเฉพาะอ้อยที่เผชิญภัยแล้ง ทำให้การผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลอยู่ที่ 2.25 ล้านลิตร/วัน (-12.7% YoY) และน้ำอ้อย 0.19 ล้านลิตร/วัน (-4.8% YoY) ขณะที่เอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังอยู่ที่ 1.36 ล้านลิตร/วัน (+1.4% YoY) เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังมีปริมาณมากและมีราคาต่ำกว่าอ้อย ปริมาณการใช้ที่ลดลงมากกว่าการผลิต ทำให้สต็อกเอทานอล ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ 101.6 ล้านลิตร (+18.1% YoY) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปี 2564 คาดอยู่ที่ 63% ลดจาก 68% ในปีก่อน
  • ผู้ผลิตเอทานอลจากหัวมันสดและมันเส้นยังมีมาร์จินดี แม้จะเผชิญต้นทุนวัตถุดิบมันสดและมันเส้นที่สูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 2.03 บาท (+14.8% YoY) และ 5.97 บาท (+10.6% YoY) ตามลำดับ ทำให้ต้นทุนผลิตเอทานอลฯ เพิ่มเป็นลิตร ละ 20.77 บาท (+8.5% YoY) และ 23.78 บาท (+6.8% YoY) ตามลำดับ ขณะที่ผู้ผลิตฯ จากกากน้ำตาลแบกรับราคาวัตถุดิบที่สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยราคากากน้ำตาลเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 9.06 บาท (+74.8% YoY) ส่งผลให้ต้นทุนผลิตฯ อยู่ที่ลิตรละ 45.30 บาท (+55.5% YoY) ด้านราคาขายเอทานอลอ้างอิงปี 2564เฉลี่ยที่ลิตรละ 25-26 บาท เพิ่มขึ้นจาก 23.21 บาทปี 2563




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ความต้องการใช้เอทานอลมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 4.2-4.6 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปี ในทิศทางเดียวกับการเติบโตของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 (95) และ E20 (ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ของปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งหมด) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
    • แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในปี 2566 (อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างราคาอ้างอิงเอทานอลใหม่) แทน E10 เพื่อกระตุ้นการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงเตรียมยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E10 (91) ภายในปี 2565 ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 ล้านลิตร/วัน จาก 4-5 ล้านลิตร/วันปี 2564
    • การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) จะขยายตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้น หลังมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศ และมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
    • จำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 30-32 ล้านคัน จาก 29.8 ล้านคัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 โดยเฉพาะจำนวนรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8-9 แสนคันต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ทั้งหมด

 

ไบโอดีเซล

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก การผลิตไบโอดีเซลลดลง 8.0% YoY เฉลี่ยที่ 4.61 ล้านลิตร/วัน ตามความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการจำกัดการเดินทางและสนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน โดยปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (เพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล) ลดลง 9.1% YoY อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 4.64 ล้านลิตร/วัน สำหรับไตรมาส 4 คาดว่าสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่อนคลายและการทยอยเปิดประเทศจะทำให้ปริมาณการผลิตไบโอดีเซลทั้งปี 2564 อยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลง 6.0% YoY ขณะที่ปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 4.76 ล้านลิตร/วัน ลดลง 3.5 แสนลิตร/วันจากปี 2563 ด้านกำลังการผลิตรวมปัจจุบันอยู่ที่ 9.4 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 13.7% จากกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับลดลงมาอยู่ที่ 50.4% (จาก 60.9% ในปี 2563)
  • ราคาขายอ้างอิงช่วง 9 เดือนแรก (ผู้ผลิตไบโอดีเซลขายให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้น 31.6% YoY อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 39.1บาท/ลิตร หรือ 45.2 บาท/กิโลกรัม เนื่องจาก (1) ผลผลิตน้ำมันปาล์มของมาเลเซียและอินโดนีเซีย (ผู้ส่งออกรายใหญ่) ลดลงจากการขาดแคลนแรงงาน และ (2) สต็อก CPO ในประเทศลดลงสู่ระดับคงคลังสำรอง (Buffer stock ที่ 2.0-2.5 แสนตัน) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ CPO และไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) เพิ่มขึ้น 39.9% และ 21.8% YoY อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 35.8 และ 36.2 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ด้านส่วนต่างราคาขายไบโอดีเซลกับราคาวัตถุดิบ CPO (Spread) ช่วง 9 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 9.4 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 8.8 บาท/กิโลกรัม ในช่วงเดียวกันของปีก่อน


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • อุตสาหกรรมไบโอดีเซลช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการใช้จะอยู่ที่ 5.3-5.5 ล้านลิตร/วัน หรือเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก
    • ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก (1) เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว  (2) การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce จะหนุนความต้องการรถขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ (3) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี และ (4) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ช่วยกระตุ้นความต้องการใช้รถเชิงพาณิชย์
    • มาตรการสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐ อาทิ การผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน มาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลโดยเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และอุดหนุนราคาขายผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงมาตรการบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศ
    • ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรองรับ การใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีสัดส่วนไบโอดีเซลที่สูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก



 
 
 

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

 
 

ปิโตรเคมี

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักทั้งหมดปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ Polyethylene (PE) + 28.6% YoY Polypropylene (PP) +30.4% PET +30.5% และ ABS +68.2% YoY ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2564 การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 9.0-9.5% และ 5.0% จากที่หดตัว 4.6% และ 1.5% ในปี 2563 ตามลำดับ
    • 9 เดือนแรก ราคาแนฟทาเฉลี่ยอยู่ที่ 630.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 67.6% YoY ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ โดยทั้งปี 2564 คาดว่าราคาแนฟทาจะเฉลี่ยอยู่ที่ 640 ดอลลาร์ฯ/ตัน
    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น: Spread ของเอทิลีน (Ethylene) เฉลี่ยอยู่ที่ 373.1 ดอลลาร์ฯ/ตัน เพิ่มขึ้นจาก 278.1 ดอลลาร์ฯ ในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ Spread ของเบนซีน (Benzene) เฉลี่ยอยู่ที่ 301.6 ดอลลาร์ฯ/ตัน เพิ่มขึ้นจาก 111.6 ดอลลาร์ฯ ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยทั้งปี 2564 คาดว่า Spread ของเอทิลีนและเบนซีนจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 340 และ 278 ดอลลาร์ฯ/ตัน ตามลำดับ
    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย: Spread ของโพลีเอทิลีน (PE) เฉลี่ยอยู่ที่ 121.2 ดอลลาร์ฯ/ตัน ลดลงจาก 152.1 ดอลลาร์ฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่ม) และ Spread ของโพลีโพรไพลีน (PP) เฉลี่ยอยู่ที่ 282.8 ดอลลาร์ฯ/ตัน เพิ่มขึ้นจาก 149.4 ดอลลาร์ฯ ทั้งปี 2564 คาดว่า Spread ของ PE และ PP จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120 และ 282 ดอลลาร์ฯ/ตัน ตามลำดับ
  • ผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมีปี 2564 มีทิศทางปรับดีขึ้น สะท้อนจากราคาขายและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มอาจกดดันผลประกอบการอยู่บ้าง




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ (เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง การประกอบรถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์) และความกังวลด้านสาธารณสุขหนุนความต้องการผลิตภัณฑ์ อาทิ PE PP และ PET เพื่อผลิตพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เพิ่มขึ้น ด้านราคาน้ำมันดิบโลกคาดว่าจะขยับขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล/ปี ส่งผลให้ spread ปิโตรเคมีภัณฑ์แคบลงบ้าง ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5-4.0% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.0% ต่อปี
  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับสายการผลิตสู่เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ ABS ซึ่งใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูง (Specialty products) เพื่อตอบความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายมีแนวโน้มขยายการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics) และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastics) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
  • การแข่งขันสูงขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในเอเชีย อาทิ โรงงานปิโตรเคมีใหม่ในจีน (ตามนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเคมี) และมาเลเซีย (โครงการ PrefChem ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Petronas และ Saudi Aramco)
  •  


 

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

 

ยาแผนปัจจุบัน

สถานการณ์ปี 2564

  • อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นปลายคือการผลิตยาสำเร็จรูป ยาที่ผลิตได้ในประเทศเป็นยาชื่อสามัญ (Generic drug) ซึ่งผู้ผลิตจะนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญ (Active ingredients) จากต่างประเทศมาผสมและผลิตเป็นยาสำเร็จรูป ส่วนใหญ่จะถูกใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก (สัดส่วนราว 90% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด) ปี 2564 คาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาในประเทศจะอยู่ที่ 193 พันล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 2.8% ปี 2563 ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่แผ่ลามทั่วประเทศ ทำให้จำนวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลปรับลดลงสำหรับโรคไม่รุนแรง ขณะที่การซื้อยาผ่านร้านขายยาชะลอลงตามกำลังซื้อที่ซบเซา สำหรับสถานการณ์ช่วง 9 เดือนแรกของปี สรุปได้ดังนี้
    • มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศ[1]  ส่วนใหญ่ปรับลดลง สะท้อนจากมูลค่าจำหน่ายยาเม็ด (สัดส่วน 48.8%) ลดลง 11.0% YoY ยาน้ำ (สัดส่วน 20.6%) ลดลง 1.0% YoY และยาครีม (สัดส่วน 7.7%) ลดลง 4.2% YoY ขณะที่การจำหน่ายยาแคปซูล (สัดส่วน 9.5%) และยาฉีด (สัดส่วน 8.6%) เพิ่มขึ้น 0.1% และ 2.9% YoY ตามลำดับ
    • ตลาดต่างประเทศ มูลค่าส่งออกหดตัว 5.4% YoY อยู่ที่ 9.3 พันล้านบาท โดยตลาดหลัก CLMV (สัดส่วนรวมกัน 58.3% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด) หดตัว 7.3% YoY และญี่ปุ่น (สัดส่วน 6.6%) หดตัว 5.8% YoY ตลาดฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ (สัดส่วนรวมกัน 17.9% ของมูลค่าส่งออกยา) หดตัว 12.9% YoY  ด้านมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 7.3% YoY อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากเยอรมนี (สัดส่วน 13.1% ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด) +0.2% YoY ญี่ปุ่น (สัดส่วน 8.0%) +31.7% YoY และสหรัฐฯ (สัดส่วน 7.8%) +6.8% YoY ตามการปรับขึ้นของราคาเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้ายาจากอินเดีย (สัดส่วน 12.8%) และจีน (สัดส่วน 3.2%) เพิ่มขึ้นมาก +59.1% และ +22.3% YoY ตามลำดับ จากความต้องการวัตถุดิบสารตั้งต้นและราคายาที่สูงขึ้น 




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.5-4.5% ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก (1) การเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จำเป็นต้องพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง (2) การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน ทำให้ความต้องการบริโภคยาชื่อสามัญจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และ (3) กระแสใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังเผชิญโรค COVID-19 ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะขยายการลงทุนเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น
  • การแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก (1) ผลิตภัณฑ์ยานำเข้าราคาถูกจากอินเดียและจีน (2) การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายใหม่จากต่างชาติ ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยาชื่อสามัญเพื่อรองรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออก (3) การเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น และ (4) ต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S[2] รวมถึงราคายา/วัตถุดิบนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามความต้องการวัตถุดิบสารตั้งต้น

 

ปุ๋ยเคมี

สถานการณ์ปี 2564

  • ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจสำคัญ (อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวนาปรัง ซึ่งมีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูง) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อานิสงส์จากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นทำให้เพาะปลูกได้มาก รวมถึงราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นหนุนกำลังซื้อของเกษตรกร คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีปี 2564 จะอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.0% จากปี 2563
  • ช่วง 9 เดือนแรก ไทยนำเข้าแม่ปุ๋ย (สัดส่วน 65.3% ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด) และปุ๋ยผสมหรือปุ๋ยสำเร็จรูป (สัดส่วน 34.7%) รวมกันเพิ่มขึ้น 8.2% YoY อยู่ที่  4.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท (+46.6% YoY) ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ 5.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.0% จากปี 2563
  • ช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกปุ๋ยเคมี (สัดส่วน 5% ของผลผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศ) เพิ่มขึ้น 28.8% YoY อยู่ที่ 5.7 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 6.7 พันล้านบาท (+55.0% YoY) โดยการส่งออกไปตลาดหลัก CLMV (สัดส่วน 80% ของปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 19.6% YoY ตามปริมาณการใช้ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในตลาดกัมพูชา (สัดส่วน 35.1%) และเมียนมา ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมีของไทยทั้งปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 24.0% อยู่ที่ 7.2 แสนตัน สูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2561
  • ราคาขายปลีกปุ๋ยเคมี[1] ในประเทศ 9 เดือนแรก ส่วนใหญ่ปรับลดลง จากการขอความร่วมมือให้ลดราคาปุ๋ยจากทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ยกเว้นราคาขายปลีกปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยแอมโมเนีย ซัลเฟตเพิ่มขึ้น 4.6% และ 3.3% YoY ตามลำดับ ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง จึงอาจกดดันผลประกอบการของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสม




แนวโน้มปี 2565-2567

  • ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.5% ต่อปี อยู่ที่ 5.6-5.8 ล้านตัน ตามความต้องการใช้ของพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง โดยพืชที่ใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ได้แก่ ข้าว (คาดเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง (คาดเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี) พืชทั้ง 3 ประเภทใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันราว 60% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด 
  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายช่องทางการตลาดใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ (เช่น ปุ๋ยสั่งตัด) และการขยายตลาดส่งออกในประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับปัจจัยท้าทายของธุรกิจมาจากการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์และการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสรักสุขภาพ จึงอาจลดทอนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในอนาคต





 
 

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

 

รถยนต์

  • ผู้ผลิตรถยนต์

สถานการณ์ปี 2564

  • การผลิตรถยนต์ช่วง 8 เดือนแรกเติบโต 31.89% YoY (จำนวน 1.07 ล้านคัน) เนื่องจากค่ายรถญี่ปุ่นปรับแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตยังเผชิญปัญหาขาดแคลนชิปเป็นระยะ และขาดแคลนแรงงานบางช่วงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศเติบโตเพียง 2.4% YoY (จำนวน 0.47 ล้านคัน) จากที่หดตัวแรงในช่วงเดียวกันของ   ปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทบเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ผนวกกับสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการขยายสินเชื่อ ด้านปริมาณส่งออกรถยนต์ขยายตัว 31.94% YoY (จำนวน 0.60 ล้านคัน) ด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 46.9% YoY (1.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากการที่ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว โดยตลาดส่งออกหลักที่เติบโตดี อาทิ มาเลเซีย (+229.5% YoY) นิวซีแลนด์ (+107.1% YoY) ญี่ปุ่น (+69.7% YoY) เวียดนาม (+83.8% YoY) และออสเตรเลีย (+58.2% YoY) ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกรวมกัน 50.7% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งหมด
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตรถยนต์ยังสะดุดเป็นบางช่วงจากปัญหาขาดแคลนชิป ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มคลี่คลายลงบ้าง โดยตลาดในประเทศยังถูกกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง สำหรับทั้งปี 2564 คาดว่าการผลิตรถยนต์จะเติบโต 15.0-17.0% อยู่ที่ 1.64-1.67 ล้านคัน ยอดจำหน่ายในประเทศหดตัว 2.0-4.0% อยู่ที่ 0.76-0.78 ล้านคัน และปริมาณส่งออกเติบโต 24.0-26.0% อยู่ที่ 0.91-0.93 ล้านคัน


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • การผลิตรถยนต์ของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้นหลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานบรรเทาลง และปัญหาขาดแคลนชิปน่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
    • ยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น โดยความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวดี อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
    • ปริมาณส่งออกรถยนต์จะเติบโต 5.0-7.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว  ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับผลตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนจะช่วยลดขั้นตอนการถูกตรวจสอบซ้ำ นอกจากนี้ คาดว่าโอกาสส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น (ตลาดส่งออกอันดับสาม สัดส่วน 7.1% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ปี 2563) เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง



 
  • ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 8 เดือนแรก รายได้จากการขายรถยนต์เติบโตไม่มากนัก (ยอดจำหน่ายรถยนต์ขยายตัวเพียง 2.4% YoY) อยู่ที่ 0.47 ล้านคัน เนื่องจากการผลิตรถยนต์มีแรงฉุดจากการขาดแคลนชิ้นส่วนฯสำคัญเป็นระยะ ทำให้มีรถเข้ามาจำหน่ายน้อยลงในบางช่วงเวลา และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้โชว์รูมรถยนต์มีลูกค้าเข้ารับบริการน้อยลงมาก แม้ค่ายรถจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้านรายได้จากการให้บริการและจำหน่ายอะไหล่มีแนวโน้มลดลง ตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุไม่เกิน 5 ปี (ช่วง 5 เดือนแรก) ที่หดตัว 1.1% YoY อยู่ที่ 4.97 ล้านคัน และผู้ใช้รถบางส่วนยืดเวลาเข้ารับบริการซ่อมบำรุง เนื่องจากมาตรการทำงานที่บ้านทำให้ใช้รถยนต์น้อยลง
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ารายได้ของธุรกิจยังคงซบเซา ส่งผลให้รายได้รวมปี 2564 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะหดตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (-4.0% ถึง -2.0%) อยู่ที่ 0.76-0.78 ล้านคัน ส่วนรายได้จากการบริการและจำหน่ายอะไหล่จะลดลงตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่คาดว่าจะหดตัว 0.7% 

 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • รายได้ของธุรกิจช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว โดยการจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะเติบโตตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ระดับ 3.0-5.0% ในปี 2565 และ 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ส่วนปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนฯสำคัญสำหรับการผลิตรถคาดว่าจะคลี่คลายช่วงครึ่งหลังปี 2565 ด้านรายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีแนวโน้มหดตัวตามการลดลงของจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุน้อยกว่า 5 ปี  แม้จะมีความต้องการซ่อมบำรุงรถยนต์ตามอายุ/ระยะทาง แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ใช้รถบางส่วนอาจเปลี่ยนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายของค่ายรถยนต์ เช่น ให้ตัวแทนจำหน่ายลงทุนปรับปรุงโชว์รูมและศูนย์บริการให้ได้มาตรฐานจึงเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ​
 

 

  • ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 8 เดือนแรก ความต้องการรถยนต์มือสองเติบโตดี เนื่องจาก (1) การผลิตรถยนต์ใหม่ล่าช้าจากการขาดแคลนชิ้นส่วนฯสำคัญ ผู้บริโภคบางส่วนที่ต้องการใช้รถจึงหันมาซื้อรถยนต์มือสองมากขึ้น (2) ความกังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีความต้องการรถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถยนต์สาธารณะ และ (3) ความต้องการรถยนต์เพื่อประกอบอาชีพโดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานประกอบการหลายแห่งปิดตัว นอกจากนี้ รถยึดจากสถาบันการเงินยังเข้าสู่ระบบลดลงจากมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน[1] และการเดินทางข้ามจังหวัดที่ยากลำบากในภาวะโรคระบาดทำให้ยืดรถได้น้อยลง ส่งผลให้ดัชนีราคารถยนต์มือสองขยายตัว 7.1% YoY
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ายอดขายรถยนต์มือสองยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายทั้งปี 2564 จะขยายตัวดี เนื่องจากความจำเป็นในการประกอบอาชีพในสภาวะที่งบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงมาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผู้จำหน่าย โดยมีการตรวจสอบคุณภาพ/รับประกันสินค้าและบริการหลังการขาย


แนวโน้มปี 2565-2567

  • ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าราคารถยนต์มือสองอาจปรับขึ้นได้บ้าง เนื่องจากอุปทานรถยนต์เก่าเข้าสู่ตลาดน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ใช้รถบางส่วนยืดอายุการใช้งานในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นตามการขยายธุรกิจของบริษัทข้ามชาติและบริษัทในเครือของค่ายรถ ส่งผลให้ภาวะการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรง และอาจกดดันผลประกอบการของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME

 

รถจักรยานยนต์

สถานการณ์ปี 2564

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ช่วง 8 เดือนแรกเติบโต 24.5% YoY (จำนวน 1.17 ล้านคัน) โดยยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ (สัดส่วน 81% ของปริมาณผลิตรถจักรยานยนต์ทั้งหมด) เติบโต 7.9% YoY (จำนวน 1.09 ล้านคัน) อานิสงส์จากความต้องการรถจักรยานยนต์เพื่อประกอบอาชีพ Rider  ในกลุ่มธุรกิจ Food delivery และธุรกิจโลจิจิสติกส์เติบโตดีท่ามกลางภาวะการระบาดของ COVID-19 ด้านปริมาณส่งออกเติบโต 51.5% YoY (จำนวน 0.31 ล้านคัน) คิดเป็นมูลค่าขยายตัว 54.4% YoY (1.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวหลังมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากขึ้น โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวดี อาทิ สหรัฐฯ (+142.8% YoY) สหภาพยุโรป (+57.2% YoY) จีน (+46.2% YoY) และญี่ปุ่น (+35.8% YoY) มีสัดส่วนส่งออกรวมกัน 82.5% ของมูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์ทั้งหมดของไทย
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตรถจักรยานยนต์จะมีทิศทางหดตัว ผลจากกำลังซื้อในประเทศของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เกษตรกร ถูกกระทบจากปัญหาอุทกภัย และผู้ใช้แรงงานถูกกดดันจากเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ประกอบกับฐานตัวเลขสูงในช่วงเดียวกันปี 2563 ด้านการส่งออกยังเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ส่งผลให้ทั้งปี 2564 การผลิตรถจักรยานยนต์จะเติบโต 8.0-10.0% จากที่หดตัว 17.1% ในปี 2563 โดยตลาดในประเทศเติบโต 1.0-3.0% และตลาดส่งออกเติบโต 34.0-36.0% เทียบกับที่หดตัว 11.8% และ 20.1% ในปี 2563 ตามลำดับ


แนวโน้มปี 2565-2567

  • ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 2.0-4.0% และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น หนุนแรงงานรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีกำลังซื้อเพิ่ม ด้านตลาดส่งออกคาดว่าปริมาณจะเติบโต 4.0-6.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับผู้ผลิตแบรนด์ “ดูคาติ” ทยอยขยายกำลังการผลิตในไทยภายในปี 2567 เป็น 1.8 หมื่นคันต่อปี จากเดิม 1.2 หมื่นคันต่อปี เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง (ปัจจุบันดูคาติผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 90% ของปริมาณการผลิตในไทย) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์จะเติบโต 2.0-4.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567
 

ชิ้นส่วนยานยนต์

สถานการณ์ปี 2564

  • การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ช่วง 8 เดือนแรกเติบโตเร่งขึ้น สะท้อนจากดัชนีผลผลิต (MPI) ขยายตัว 39.2% YoY โดยความต้องการชิ้นส่วนฯ ในตลาดประกอบยานยนต์ (Original Equipment Manufacturer: OEM) เติบโตตามปริมาณการผลิตรถยนต์ (+31.9% YoY อยู่ที่ 1.07 ล้านคัน) และรถจักรยานยนต์ (+24.5% YoY อยู่ที่ 1.17 ล้านคัน) ส่วนความต้องการชิ้นส่วนฯ ในตลาดทดแทน (Replacement Equipment Manufacturer: REM) ขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนยานยนต์จดทะเบียนสะสม (ตารางที่ 1) การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เติบโต 33.1% YoY (มูลค่า 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นการเติบโตดีในทุกตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน (+36.9% YoY) สหรัฐฯ (+30.4% YoY) ญี่ปุ่น (+29.7% YoY) และสหภาพยุโรป (+10.6% YoY) ซึ่งมีสัดส่วนรวมกัน 60.1% ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนฯ ทั้งหมด
  • ช่วงที่เหลือของปี ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงในทิศทางเดียวกับการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 2564 คาดว่าตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจะกลับมาเติบโตจากที่หดตัวในปีก่อน โดยตลาด OEM จะเติบโตตามปริมาณการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่คาดว่าจะขยายตัว 15.0-17.0% และ 8.0-10.0% ตามลำดับ ส่วนตลาด REM จะเติบโตตามความต้องการซ่อมบำรุงยานยนต์ตามอายุและระยะทางการใช้งาน รวมทั้งความต้องการซ่อมแซมยานยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซารายได้จึงมีความไม่แน่นอน ด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อาทิ อาเซียน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • การผลิตและความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาด OEM ที่คาดว่าจะขยายตัวตามปริมาณการผลิตยานยนต์ ขณะที่ตลาด REM จะเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณยานยนต์สะสม โดยเฉพาะยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีที่มีอยู่มากกว่า 26 ล้านคัน ซึ่งมีความต้องการซ่อมแซม/เปลี่ยนชิ้นส่วนฯ ตามอายุการใช้งาน โดยเฉพาะความต้องการชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง เช่น ระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน เป็นต้น ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนฯ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลงตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่ง Euromonitor คาดว่าจะเติบโต 14% ในปี 2565 (หดตัว 16% ปี 2564) 8% ปี 2566 และ 2% ปี 2567 เนื่องจากราคารถยนต์มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ และกระแสความนิยมใช้รถยนต์ร่วมกัน ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์น้อยลง โดย Euromonitor คาดว่าธุรกิจบริการรถยนต์ Shared mobility หรือ Mobility as a service จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ในช่วงปี 2565-2567 ผู้ให้บริการรายสำคัญ อาทิ Uber Lyft และ Grab



 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

อิเล็กทรอนิกส์

  • ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD)​​

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 8 เดือนแรก อุตสาหกรรม HDD ขยายตัวดี สะท้อนจากดัชนีผลผลิต (MPI) ที่เติบโต 5.8% YoY และมูลค่าส่งออกเติบโต 17.8% YoY ในทิศทางเดียวกับยอดจำหน่าย PC โลกในช่วงครึ่งแรกของปี (PC ส่วนใหญ่ใช้ HDD เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล) ที่เติบโต 19.0% YoY การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีความต้องการคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นจากความจำเป็นต้อง Work from home การเรียนออนไลน์ อีกทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนยังให้ความสำคัญในการลงทุนด้าน IT เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Data center systems หนุนให้ความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงเติบโตต่อเนื่อง
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตและส่งออก HDD ของไทยจะเติบโตตามปริมาณจำหน่าย PC ในตลาดโลกที่คาดว่าทั้งปี 2564 จะขยายตัว 14.2% (IDC, August 2021) และยังมีความต้องการ HDD ความจุสูงเพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ต่อเนื่อง โดยคาดว่าการลงทุน Data center systems ทั่วโลกปี 2564 จะเติบโต 7.4% เทียบกับปี 2563 ที่เติบโต 2.5% (Gartner, Jul 2021) ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการผลิต HDD จะเติบโตในทิศทางเดียวกับมูลค่าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัว 16.0-17.0% YoY เทียบกับหดตัว 1.8% ในปี 2563


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • คาดว่ามูลค่าส่งออก HDD ของไทยช่วง 3 ปีข้างหน้า จะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ตามความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน Cloud computing และ Data center รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ หันมาสนใจลงทุนโครงการ Data center แบบ on-premises [1] มากขึ้นในการจัดการกับ Big data รวมทั้งความต้องการ HDD เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลสำหรับ blockchain กล้องวงจรปิด และ cryptocurrencies ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดย IDC (August 2021) คาดยอดจำหน่าย HDD ความจุสูงระดับ Petabyte จะเติบโตเฉลี่ย 31.0% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568 อย่างไรก็ตาม การส่งออก HDD ยังเติบโตได้อย่างจำกัด เนื่องจากมีแนวโน้มถูกทดแทนด้วย Solid State Drives (SSD) มากขึ้นโดยเฉพาะในคอมพิวเตอร์ Notebooks

 
  • แผงวงจรรวม (IC

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 8 เดือนแรก ดัชนีผลผลิต (MPI) ของ IC ขยายตัว 15.2% YoY และการส่งออก IC ของไทยขยายตัว 19.0% YoY มีมูลค่า 5.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์โลกช่วง 7 เดือนแรกที่เติบโต 24.7% YoY เนื่องจากการทำงานและเรียนที่บ้านผลักดันความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงขึ้น และความต้องการเพื่อใช้กับเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับ IoT รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (วัตถุดิบ) ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 การผลิตและส่งออก IC จึงได้รับผลกระทบเป็นระยะ
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตและส่งออก IC จะเติบโตชะลอลง ผลจากการผลิต IC ตลอดห่วงโซ่อุปทานยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในโรงงาน แต่ความต้องการเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังมีอยู่สูง ประกอบกับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผู้ผลิตยานยนต์บางส่วนกักตุน IC เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 มูลค่าส่งออก IC ของไทยจะเติบโต 15.0-16.0%


แนวโน้มปี 2565-2567

  • มูลค่าส่งออก IC มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี ตามยอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์โลกที่คาดว่าจะเติบโต 10.1% ในปี 2565 (WSTS, August 2021) นอกจากนี้ การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเครือค่าย 5G ในปี 2563-2564 ทำให้เทคโนโลยี 5G มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว [พิจารณาจากคาดการณ์รายได้ของผู้ให้บริการ 5G ทั่วโลกปี 2564 และปี 2565 จะเติบโต 38.9% และ 21.6% ตามลำดับ (Gartner, August 2021)] ซึ่งจะรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มากยิ่งขึ้น ประกอบกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้น [รถยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกช่วงปี 2563-2573 จะเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี (IEA, April 2021)] ส่งผลให้ความต้องการใช้ IC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (วัตถุดิบผลิต IC) คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังผู้ผลิตชั้นนำหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ต่างเร่งลงทุน/ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น


เครื่องใช้ไฟฟ้า​

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 8 เดือนแรก ปริมาณผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 15.1% YoY (อยู่ที่ 33.12 ล้านหน่วย) โดยปริมาณจำหน่ายในประเทศขยายตัว 6.8% YoY (อยู่ที่ 10.51 ล้านหน่วย) อานิสงส์จากนโยบายสนับสนุนการทำงานที่บ้านมากขึ้นของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่เน้นพัฒนาฟังก์ชันด้านสุขภาพ (กำจัดเชื้อโรค/แบคทีเรีย ฝุ่น PM 2.5) และควบคุมการทำงานผ่าน Smart phone ทำให้มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องปรับอากาศ  (+0.5% YoY) ตู้เย็น (+0.5% YoY) ส่วนเครื่องซักผ้าเติบโตถึง 17.2% YoY เนื่องจากร้านสะดวกซัก (เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ) กำลังเป็นที่นิยมและขยายสาขาจำนวนมาก ด้านมูลค่าส่งออกเติบโต 25.4% YoY อยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าเพิ่มขึ้น 28.6% YoY นำโดยตลาดสหรัฐฯ (สัดส่วน 26.2% ของมูลค่าส่งออกเครื่องซักผ้าทั้งหมด) ขยายตัวถึง  162.5% YoY ผลจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ สิ้นสุดลง เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่เติบโตดีรองลงมา ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (+23.9% YoY) และตู้เย็น (+23.6% YoY)
  • ช่วงที่เหลือของปี ยังมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศต่อเนื่องทั้งจากตลาดในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากการเทียบฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ตัวเลขเติบโตต่ำ จึงส่งผลให้ทั้งปี 2564 ปริมาณจำหน่ายในประเทศเติบโต 1.0-2.0% และมูลค่าส่งออกเติบโต 18.0-19.0%

 

 แนวโน้มปี 2565-2567

  • ปริมาณความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 3.0-4.0% ขณะที่ปี 2566 และปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ผลจาก (1) ตลาดที่อยู่อาศัยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ (2) การทำตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาความสามารถควบคุมการทำงานผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (3) สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนช่วยหนุนความต้องการเครื่องปรับอากาศ และ (4) การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการทำตลาดสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจซื้อได้สะดวกมากขึ้น
  • มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ขณะที่ปี 2566 และปี 2567 คาดจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยการส่งออกเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 หลังสิ้นสุดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ขณะที่ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดเอเชียยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหลายประเทศมีอัตราถือครองต่ำกว่า 20% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและกลุ่มคนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชีย



 

อุตสาหกรรมอื่นๆ

 

เครื่องมือแพทย์

สถานการณ์ปี 2564

  • ไทยถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มอาเซียน ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์  ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ (เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศส) ที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกสู่ภูมิภาคอื่น ปี 2564 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะขยายตัว 5.7% ขณะที่ตลาดส่งออกขยายตัว 20-25% จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (โดยเฉพาะถุงมือยาง)  
    • มูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 22.2% YoY อยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท ตามการขยายตัวของตลาดหลักคือ สหรัฐฯ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 92.4% ของมูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +25.7% YoY ส่วนใหญ่เป็นถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์ (สัดส่วน 58.1% ของเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +77.2% YoY ส่วนกลุ่มครุภัณฑ์และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคหดตัว 8.8% YoY และ 6.3% YoY ตามลำดับ 
    • มูลค่านำเข้า 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 19.8% YoY อยู่ที่ 7.29 หมื่นล้านบาท นำโดยกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 29.6% ของมูลค่านำเข้าเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +79.6% YoY และกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 35.3%) +11.0% YoY ส่วนกลุ่มครุภัณฑ์ (สัดส่วน 35.1%) หดตัว 0.3% YoY
  • การผลิตเครื่องมือแพทย์เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการสินค้าหมวดการแพทย์เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขยายการผลิตโดยเฉพาะเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์และทางทันตกรรมช่วง 9 เดือนแรกเติบโต 13.4% YoY โดยเฉพาะการผลิตกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทใช้แล้วทิ้ง อาทิ หน้ากากอนามัย (ที่ได้รับอนุญาต) ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ และชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ตลาดเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและส่งออก จึงคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 7.0% ต่อปี ด้านมูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเหลือ 8.5% ต่อปี หลังมีอัตราการขยายตัวสูงมากในปี 2563-2564 โดยได้อานิสงส์จาก (1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น (2) ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด/เข็มฉีดยา (3) จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565-2567 หลังจากหดตัวถึง 97% ในปี 2564 (4) กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก และ (5) นโยบายสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) สำหรับปัจจัยท้าทายทางธุรกิจที่สำคัญ คือ การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการไทยมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย
  •  


 

ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง

 

รับเหมาก่อสร้าง

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก การลงทุนภาคก่อสร้างมีมูลค่า 1,087.2 พันล้านบาท ขยายตัว 5.0% YoY เป็นการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ 652.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% YoY จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1 เริ่มเดือนกรกฎาคม 2564) และโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนมีมูลค่า 435.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.9% YoY ผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และมีการปิดแคมป์คนงานเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ทำให้โครงการก่อสร้างหลายโครงการถูกเลื่อนออกไป
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐจะขยายตัวต่อเนื่อง  อาทิ  โครงการซ่อมและสร้างถนนระดับรองตามภูมิภาคต่างๆ ส่วนการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนคาดว่าจะยังซบเซา เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อขายและให้เช่ามีแนวโน้มชะลอโครงการใหม่เพื่อเร่งระบายสต็อกที่ยังสูง สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานและโรงแรมช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 หดตัว 3.0% 20.1% และ 37.9% YoY ตามลำดับ การลงทุนก่อสร้างโดยรวมทั้งปี 2564 จึงมีแนวโน้มเติบโต 5.3% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,385 พันล้านบาท แบ่งเป็นงานก่อสร้างภาครัฐและเอกชน 820.0 และ 565.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% และ 1.9% ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2565-2567

  • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวม 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว 4.5-6.5% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 
    • การลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ซึ่งจะเริ่มทยอยดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ทั้งระบบรางและถนน อาทิ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเฟสแรกจะเริ่มในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และ (2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญอื่นๆ ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 
    • การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวระดับต่ำในปี 2565 และทยอยปรับดีขึ้นในปี 2566 และ 2567 หนุนโดย (1) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม (2) การลงทุนใน EEC หนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ (3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย หนุนความต้องการซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น
    • ผู้รับเหมารายใหญ่จะมีความได้เปรียบรายกลางและเล็ก เนื่องจากมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสูงกว่า และมีโอกาสได้งานประมูลมากกว่า ทั้งยังสามารถขยายการก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ด้านผู้รับเหมารายกลางและรายเล็กยังต้องพึ่งพาการรับเหมาช่วง (Sub contract) จากผู้รับเหมารายใหญ่  รายได้จึงไม่แน่นอน อีกทั้งมีโอกาสเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลนจาก COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

วัสดุก่อสร้าง

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ตามการฟื้นตัวของการก่อสร้างภาครัฐ (+7.8% YoY)  โดยปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)  และเหล็กก่อสร้าง(เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) ขยายตัว 1.5%_YoY และ 2.3% YoY ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายกระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกหดตัว 1.7% YoY และ 7.0% YoY ตามลำดับ ตามภาวะก่อสร้างภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย คาดว่าไตรมาส 4 อุปสงค์วัสดุก่อสร้างจะเติบโตต่อเนื่องตามภาวะก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ แต่การก่อสร้างภาคเอกชนยังซบเซา ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศปี 2564 ขยายตัวในอัตราต่ำ 
  • ปริมาณส่งออกวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรกเติบโตดี โดยปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น 13.7% YoY อยู่ที่ 3.0 ล้านตัน เป็นการขยายตัวในตลาดสำคัญ อาทิ เมียนมา ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ  ด้านเหล็กก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10.9% YoY ตามการเติบโตของตลาดหลัก อาทิ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ ส่วนปริมาณนำเข้าเหล็กก่อสร้างเพิ่มขึ้น 14.8% YoY ตามการเติบโตของภาคก่อสร้างในประเทศ ขณะที่สุขภัณฑ์เซรามิกขยายตัว 21.1% YoY จากการสะสมสต็อกของผู้ประกอบการเพื่อรองรับการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยปีหน้า โดยการนำเข้าจากจีน (สัดส่วน 95% ของปริมาณนำเข้าสุขภัณฑ์ฯ ทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 23.0% YoY คาดทั้งปี 2564 ปริมาณส่งออกและนำเข้าวัสดุก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรก ปรับเพิ่มขึ้น 7.5% YoY ตามการเพิ่มของดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (+30.4% YoY) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ลดลง 10.2% YoY (ตามทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลก) ทั้งนี้เป็นผลจากอุปทานส่วนเกินที่ลดลง ในช่วงที่เหลือของปีคาดราคาวัสดุก่อสร้างยังคงทรงตัวในระดับสูงตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น  ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างทั้งปี 2564 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 7.0-9.0%




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ตลาดในประเทศ: ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนดังนี้
    • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยคาดว่าการก่อสร้างจะหนาแน่นยิ่งขึ้นในช่วงปี 2565-2567
    • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว หนุนโดย (1) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม (2) โครงการ EEC จะหนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ (3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย หนุนความต้องการซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น

 
  • การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดี ปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หนุนความต้องการปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง ด้านกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์  แรงหนุนหลักจากนักลงทุนจีนที่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน
  • ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย ตาม (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคก่อสร้าง (2) มาตรการภาครัฐกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศ[1] (3) การปรับราคาเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบนำเข้า อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) เหล็กแท่งเล็ก (Billet) ตามทิศทางราคาในตลาดโลก และ (4) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงาน
 
  • กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:
    • ร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว หนุนโดยพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกครบวงจร ผู้ประกอบการจึงปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ อาทิ (1) ปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อขยายจำนวนสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น  (2) การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อรองรับความต้องการที่เจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (3) การเพิ่มสัดส่วนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของตนเองมากขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนและเพิ่มมาร์จิ้น (4) การพัฒนาช่องทางจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า อาทิ Online channel และ  Mobile application และ  (5) การลงทุนขยายสาขาในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    • ร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิมมีแนวโน้มซบเซาถึงทรงตัว แบ่งเป็น (1) ร้านค้าส่ง ธุรกิจมีแนวโน้มทรงตัวถึงเติบโตเล็กน้อย แม้จะเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ (2) ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและมีจำนวนมาก มักมีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้มีสินค้าไม่หลากหลาย อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันสูงจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ รวมทั้งพึ่งพาลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงที่ผ่านมา เช่น การถูกเลิกจ้าง และปรับลดเงินเดือน/ค่าจ้าง เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง


 

เหล็ก

  • เหล็กแผ่นรีดร้อน

สถานการณ์ปี 2564

  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน (Hot-rolled coils/sheets) (วัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน) ช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 2.2 ล้านตัน ขยายตัว 20.7% YoY ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกขยายตัวดี หลังจากเผชิญภาวะซบเซาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจะขยายตัว 18.0-21.0% จากปี 2563
  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 5.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 44.0% YoY ส่วนช่วงที่เหลือของปีคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2564 ปริมาณการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนจะอยู่ที่ 6.8 ล้านตัน ขยายตัว 31.5% จากปี 256
  • ปริมาณส่งออก Hot-rolled coils/sheets และ Hot-rolled P&O ช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 325.1% YoY ตามการเติบโตของตลาดมาเลเซียและสเปน (สัดส่วน 58% และ 30% ของปริมาณส่งออก HR sheet ตามลำดับ) รวมถึงอินโดนีเซีย (สัดส่วน 70% ของปริมาณส่งออก HR sheet P&O) ด้านปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 68.5% YoY จากแหล่งนำเข้าหลัก คือ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 91% และ 74% ของปริมาณนำเข้า HR sheet และ HR sheet P&O ตามลำดับ) เพิ่มขึ้น 42.8% YoY และ 41.2% YoY ตามลำดับ
  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตจากจีนปรับลดลง (จากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม) โดยอยู่ที่ 31,261 บาท/ตัน (+69.3% YoY) คาดว่าทั้งปี 2564 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนยังคงทรงตัวในระดับสูงที่ 30,000-33,000 บาท/ตัน เทียบกับ 19,287 บาท/ตันในปี 2563



 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การที่ไทยไม่มีการผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง การแข่งขันในประเทศจึงเสียเปรียบเหล็กนำเข้าโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งปรับกระบวนการผลิตเหล็กราคาถูกให้มีคุณภาพสูงขึ้น
  • ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 7.5 ล้านตันต่อปี คำสั่งซื้อหลักมาจากภาคการผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ  ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก 
  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ตามความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลจากจีนมีแนวโน้มลดการผลิตเหล็กโดยทยอยปิดโรงงานเหล็กที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดการส่งออกด้วยการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก (Rebate tax) สินค้าเหล็กหลายประเภท ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของปัญหาอุปทานส่วนเกินของโลก ทำให้ราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
  •  
 
  • เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ

สถานการณ์ปี 2564

  • ปริมาณการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มเหล็กทรงยาว) ช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 1.6% YoY ตามการขยายตัวในภาคก่อสร้าง โดยคาดว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการผลิตเหล็กทั้งสองประเภทจะเติบโต 2.3% จากปี 2563
  • ความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 2.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.3% YoY ตามภาคก่อสร้างซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ใช้เหล็กประเภทนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐขยายตัว 7.8% YoY สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้เหล็กทั้ง 2 ประเภทยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากโครงการ Made in Thailand ที่กำหนดให้โครงการก่อสร้างของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน: Public Private Partnership)  ต้องใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างโครงการนั้นๆ ด้านการก่อสร้างภาคเอกชนคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความต้องการเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.6% YoY อยู่ที่ 3.8 ล้านตัน
  • ปริมาณส่งออกเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณช่วง 9 เดือนแรก มีปริมาณ 0.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.9% YoY ตามการเติบโตของตลาดหลัก อาทิ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์  ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 14.8% YoY ตามการเติบโตของภาคก่อสร้างในประเทศ
  • ราคาเหล็กเส้นช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 52.7% YoY ตามทิศทางราคาในตลาดโลก  ส่วนช่วงที่เหลือของปี ราคาเหล็กโลกยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ทั้งปี 2564 ราคาจะอยู่ที่ระดับ 25,000-27,000 บาท/ตัน เทียบกับ 17,335 บาท/ตันปี 2563
 



 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ความต้องการใช้เหล็กมีแนวโน้มกลับมาเติบโต 4.0-5.0% ต่อปี อยู่ที่ 4.0-4.4 ล้านตันต่อปี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะงานก่อสร้างระยะแรก เช่น งานวางฐานรากและเสาของทางยกระดับโครงการรถไฟฟ้า ขณะที่งานก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากอุปทานคงค้างสะสมยังมีจำนวนมาก
  • ปริมาณการผลิตเหล็กมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี หนุนโดยงานก่อสร้างภาครัฐที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการ Made in Thailand  และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะหนุนให้เกิดการสร้างโรงงานและคลังสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเหล็กไทยยังคงเผชิญการแข่งขันสูงจากผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าจากจีน
  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ตามราคาวัตถุดิบหลักที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ขณะที่ปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกคาดว่าจะคลี่คลายลง จากการลดกำลังการผลิตเหล็กของจีน



 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์​

 

ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล​

สถานการณ์ปี 2564

  • ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย[1] ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงครึ่งแรกของปีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้โครงการเปิดขายใหม่ลดลง 18.8% YoY อยู่ที่ 22,171 ยูนิต โดยบ้านแนวราบมีจำนวน 12,212 ยูนิต (-34.0% YoY) ส่วนคอนโดมิเนียมมีจำนวน 9,959 ยูนิต (+13.3% YoY) แม้ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2563 แต่ก็ยังต่ำกว่าคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เฉลี่ยในอดีตอยู่มาก ด้านยอดขาย (Pre-sale) ที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้น 32.9% YoY อยู่ที่ 34,065 ยูนิต (จากที่หดตัวถึง 46.2% ในช่วงครึ่งแรกปี 2563) ปัจจัยหนุนหลักมาจากกลุ่มระดับบนที่ยังคงมีกำลังซื้อ และมาตรการภาครัฐช่วยกระตุ้นกำลังซื้อที่แท้จริง อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับต่ำยังช่วยลดต้นทุนการกู้เงิน
  • ช่วงครึ่งปีหลัง ความต้องการที่อยู่อาศัยยังไม่ฟื้นตัว จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาโดยเฉพาะไตรมาส 3 รวมทั้งหนี้ครัวเรือนทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มสินเชื่อของสถาบันการเงิน (LTV ratio) จาก ธปท.[2] จะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยทำให้อุปสงค์ไม่ลดลงมากนัก สำหรับทั้งปี 2564 คาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 ขณะที่การเปิดขายโครงการใหม่จะหดตัว 17% (ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่หดตัวถึง 41.6%) เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแผนเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจและเน้นระบายสต็อก 
  • ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยรวม[3] ช่วงครึ่งปีแรกเติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์ลดราคาเพื่อเพิ่มยอดขายโดยดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 1.8% YoY และ 1.0% YoY ตามลำดับ (เทียบกับ +5.5% และ +5.6% ช่วงเดียวกันปี 2563) ด้านดัชนีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 0.7% (เทียบกับ +6.0% ช่วงเดียวกันปี 2563) คาดว่าทั้งปี 2564 ราคาที่อยู่อาศัยจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่เน้นเร่งระบายสต็อกคงค้าง





 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว การเร่งเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ อาทิ การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV การแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้[4] ตลอดจนการเข้ามาลงทุน/ทำงานในไทยของชาวต่างชาติ (Expatriates) อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยอยู่ที่ 7.4 หมื่นยูนิตในปี 2567 (เทียบกับค่าเฉลี่ย 9.9 หมื่นยูนิตช่วงปี 2557-2562) เนื่องจากตลาดระดับกลางลงมายังฟื้นตัวได้จำกัดและสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
  • การเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14-15% ต่อปี ตามแผนลงทุนของผู้ประกอบการ โดยสัดส่วนการเปิดขายโครงการใหม่ของบ้านแนวราบจะใกล้เคียงกับคอนโดมิเนียมเพื่อรองรับความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะอยู่ที่ 8 หมื่นยูนิตในปี 2567 ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1 แสนยูนิตช่วงปี 2557-2562 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยรายใหญ่ยังประคับประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะที่รายกลาง-เล็กจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงทั้งด้านยอดขายและราคาที่ดินซึ่งหายากขึ้นและมีราคาแพง
    • บ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์): อุปสงค์มาจากผู้ซื้อหันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอย/ ฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยบ้านแนวราบในทำเลชานเมืองจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจาก (1) ราคาที่ดินยังไม่สูงเท่าย่านใจกลางเมืองและสามารถแบ่งเฟสในการพัฒนาโครงการได้ ต่างจากคอนโดมิเนียมที่ต้องสร้างเสร็จทั้งโครงการจึงจะโอนกรรมสิทธ์ได้ และ (2) การขยายเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น
    • คอนโดมิเนียม: คาดว่าจะปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองและแนวรถไฟฟ้าบางเส้นทาง ซึ่งคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งด้านการบริหารโครงการ การตลาดและแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ แม้อุปทานคอนโดมิเนียมใหม่จะชะลอลงมากในปี 2564 แต่ในบางพื้นที่ยังมีอุปทานคงค้างอยู่ในระดับสูง เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางนา-สมุทรปราการ) ซึ่งเป็นพื้นที่รอบนอกและมีศักยภาพเชิงทำเลต่ำกว่าพื้นที่อื่นโดยเปรียบเทียบ
    • สำหรับทิศทางในระยะต่อไป คาดว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มพัฒนาโครงการเพื่อตอบสนองลูกค้าในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น อาทิ การพัฒนาโครงการรูปแบบผสมผสาน (Mixed-use) การพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับกระแสรักสุขภาพ/ คุณภาพชีวิตที่ดี (Wellness residence) และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aged society) การพัฒนาบ้านอัจฉริยะ (Smart home) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการขายที่อยู่อาศัยแบบสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold)


 
  • ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เช่น การทำงานที่บ้านอาจทำให้มีความต้องการบ้านแนวราบนอกเมืองที่มีพื้นที่ และ (2) การแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินในไทยได้
 

ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)

สถานการณ์ปี 2564

  • ในช่วงครึ่งปีแรก ภาวะที่อยู่อาศัย 6 จังหวัดหลักในภูมิภาค[1] โดยรวมซบเซามากทั้งแนวราบและแนวสูง โดยอุปทานเปิดใหม่ของบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียมหดตัว 21.8% และ 69.1% YoY ตามลำดับ ขณะที่ ยอดขายที่อยู่อาศัยโดยรวมหดตัว 27.6% YOY ตามกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น (90.5% ของ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2564) ประกอบกับความเข้มงวดในการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินส่งผลให้ยอดขายบ้านแนวราบลดลง 22.9% YoY ส่วนคอนโดมิเนียมลดลง 37.1% YoY โดยเฉพาะในเชียงใหม่และภูเก็ตซึ่งยอดขายหดตัว 79.7% และ 45.7% YOY ตามลำดับ
  • ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าตลาดจะยังซบเซาต่อเนื่อง ผลจากกำลังซื้อยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่สต็อกคงค้างสะสมในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนมากอยู่ที่ 8.3 หมื่นยูนิต ผู้ประกอบการจึงไม่เร่งเปิดโครงการใหม่ คาดว่ายอดขายโดยรวมทั้งปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปรับลดลงทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม


 

แนวโน้มปี 2565-2567

ความต้องการที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักมีแนวโน้มปรับดีขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) เศรษฐกิจในภูมิภาคที่ทยอยฟื้นตัว (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีความคืบหน้าโดยเฉพาะพื้นที่ EEC ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในชลบุรีและระยองฟื้นตัวได้เร็วกว่าจังหวัดอื่น และ (3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวหลังมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น โดยแนวโน้มการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อให้ต่างชาติสามารถครอบครองที่อยู่อาศัยในไทยได้มากขึ้น[2] จะช่วยหนุนดีมานด์ของที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองอุตสาหกรรม เช่น EEC

  • ที่อยู่อาศัยแนวราบ: คาดว่าการเปิดโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ต่อปี โดยความต้องการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อในตลาดระดับกลางถึงบน โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากราคาที่ยังไม่สูงมากนัก อีกทั้งพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาทิ การทำงานที่บ้าน (Work from home) ทำให้มีความต้องการบ้านแนวราบมากกว่าคอนโดมิเนียม
  • ที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม): การฟื้นตัวจะช้ากว่าแนวราบ โดยคาดว่าการเปิดโครงการใหม่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5% ต่อปี จากที่หดตัวแรงในปี 2564 โดยอุปทานคอนโดมิเนียมใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในพื้นที่แถบ EEC เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามามากขึ้นและในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากแรงหนุนของกฎระเบียบการครอบครองอสังหาฯ ของต่างชาติที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง





 

อาคารเชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

  • อาคารสำนักงาน​

สถานการณ์ปี 2564

  • ครึ่งปีแรก ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่ายังคงถูกกดดันจากความต้องการเช่าพื้นที่ลดลง ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ต่อเนื่องจากปลายปี 2563 ผนวกกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและเปราะบาง ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนต้องปิดกิจการ ลดพื้นที่เช่า หรือชะลอการขยายกิจการ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามรักษาฐานผู้เช่าเดิมและดึงดูดผู้เช่าเข้าสู่โครงการ โดยการตั้งราคาค่าเช่าให้ต่ำลง (โดยเฉพาะสำนักงาน Grade B ในพื้นที่ Non-CBD) ส่งผลให้อุปสงค์พื้นที่สำนักงานสะสมหดตัวเพียง 0.6% YoY อยู่ที่ 8.3 ล้านตารางเมตร ขณะที่อุปทานสะสมเพิ่มขึ้น 2.5% YoY อยู่ที่ 9.4 ล้านตารางเมตร ทำให้ Occupancy rate อยู่ที่ 88.7% ลดลงจาก 91.6% ในช่วงเดียวกันปี 2563
  • ช่วงครึ่งปีหลัง การเพิ่มขึ้นของอุปทานอาคารสำนักงานใหม่มีต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานยังซบเซา ส่งผลให้ทั้งปี 2564 อัตราการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ระดับ 88% เทียบกับ 91% ในปี 2563 ด้านอัตราค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน Grade  A ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากยังเป็นที่ต้องการของผู้เช่าโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ ธุรกิจด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและอี-คอมเมิร์ซ อัตราค่าเช่าโดยรวมจึงไม่ปรับลดมาก ขณะที่อัตราค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน Grade B อาจปรับลดลงในปี 2564 เนื่องจากผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเติบโตในอัตราเฉลี่ย 1.5% ต่อปีตามปัจจัยหนุนด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ผนวกกับการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ จะช่วยหนุนให้ผู้ประกอบการลงทุน/ ปรับปรุงอาคารสำนักงานให้เช่าในพื้นที่ CBD และ Non-CBD เพิ่มขึ้น โดยความต้องการเช่าพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การค้าและกลุ่มเทคโนโลยี ด้านอุปทานอาคารสำนักงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะพื้นที่สำนักงานในโครงการ Mixed-use หลายโครงการ อาทิ สยามสเคป  เดอะ ยูนิคอร์น พาร์ค สีลม เอ็มสเฟียร์วันแบงค็อก (เฟส 1) อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางโครงการที่ต้องเลื่อนกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จออกไปจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คาดว่าปี 2565-2567 พื้นที่สำนักงานที่มีกำหนดแล้วเสร็จจะอยู่ที่ 8 แสนตารางเมตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% ต่อปี เมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่มีทิศทางปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 86% แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลต่อค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง เนื่องจากผู้เช่ามีอำนาจต่อรองมากขึ้นจากตัวเลือกพื้นที่อาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้น
  • สำนักงานให้เช่าใน CBD มีโอกาสทำกำไรได้ดี  โดยเฉพาะอาคารสำนักงานให้เช่า Grade A เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ทำให้อัตราการเช่าและราคาค่าเช่าสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ส่วนอาคารสำนักงานในพื้นที่ Non-CBD และพื้นที่ปริมณฑล รายได้อยู่ในระดับทรงตัวหรือชะลอลง โดยการลงทุนจะมีตั้งแต่อาคารสำนักงานขนาดเล็กเพื่อเป็นที่ตั้งกิจการของตนเองแต่มีการแบ่งพื้นที่ให้เช่า อุปทานค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นอาคาร Grade B ทำให้การแข่งขันสูง ซึ่งเจ้าของอาคารพยายามต้องการรักษาผู้เช่าเดิมไว้และดึงดูดผู้เช่ารายใหม่ จึงไม่สามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้มากนัก
  • การแข่งขันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังวิกฤตแพร่ระบาดของ COVID-19 บรรเทาลง พนักงานบางส่วนมีโอกาสทำงานที่บ้านต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี อาจลดทอนความต้องการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานบางส่วน และการแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากแผนการลงทุนโครงการอาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วงปี 2565-2567 ท่ามกลางอุปสงค์การเช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การปรับขึ้นค่าเช่าทำได้จำกัด


 
  • พื้นที่ค้าปลีก  ​

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วงครึ่งปีแรก พื้นที่ค้าปลีกใหม่ (New supply) เปิดให้บริการอยู่ที่ 83,000 ตารางเมตร อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ  COVID-19 ทำให้พื้นที่ค้าปลีก[1]สะสมอยู่ที่ 6.52 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.7% YoY ด้านความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีก (Occupied space) อยู่ที่ 6.1 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 0.2% YoY ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) เฉลี่ยรวมอยู่ในระดับที่ 94.4% ลดลงจาก 95.8% ในช่วงเดียวกันปี 2563 โดยผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์ลดราคาเพื่อรักษาฐานผู้เช่า/ ร้านค้า
  • ครึ่งปีหลัง ธุรกิจยังคงถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผนวกกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปราะบาง ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนยังคงชะลอการขยายกิจการหรือลดการเช่าพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ค้าปลีกใหม่เปิดให้บริการเพียง 17,000 ตารางเมตร คาดว่าทั้งปี 2564 ความต้องการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มหดตัว 2.5%  ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีกใหม่ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ แม้อาจจะมีบางโครงการที่ต้องเลื่อนกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จออกไปจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงคาดว่าจะมีพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าทั้งหมดอยู่ที่ 6.53 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.6%


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจค้าปลีก โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้า ความต้องการเช่ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยที่ 3.0% ต่อปี ด้านผู้ประกอบการยังมีแผนเปิดโครงการพื้นที่ค้าปลีกใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยรวมกว่า 800,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7% ต่อปี อัตราการขยายตัวของอุปทานที่สูงกว่าความต้องการ ส่งผลให้อัตราการเช่าลดลงสู่ระดับ 90% และค่าเช่าอาจปรับลดลงในบางพื้นที่
    • ศูนย์การค้าแบบปิด รายได้มีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อยจากอุปสงค์ที่ยังฟื้นตัวได้ช้า สำหรับทำเลย่านใจกลางเมืองมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ใหม่ ผู้ประกอบการจึงหันมาเน้นลงทุนปรับปรุงรูปแบบพื้นที่ค้าปลีกให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้า ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย
    • คอมมูนิตี้มอลล์ รายได้มีแนวโน้มทรงตัว โดยอุปทานน่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ค้าปลีกขนาดเล็กใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก และหาทำเลเพื่อพัฒนาโครงการได้ง่าย  ขณะที่อุปสงค์ขยายตัวในระดับต่ำ จากกำลังซื้อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายได้ระดับกลาง-ล่างยังต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว จึงกระทบยอดขายของผู้เช่า ทำให้ค่าเช่าพื้นที่อาจปรับขึ้นได้ยาก
    • พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน รายได้โดยรวมอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าอุปทานจะขยายตัวเร่งขึ้นมากโดยเฉพาะปี 2565-2566 อัตราการเช่าพื้นที่จึงมีแนวโน้มปรับลดลงส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มชะลอลง
 
  • ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ายังเผชิญการแข่งขันจากธุรกิจร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) ที่มีบทบาทมากขึ้น อาจลดทอนความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกลงบางส่วน อย่างไรก็ตาม ยอดขายผ่านออนไลน์ยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายผ่านหน้าร้าน (3-4% ของยอดขายทั้งหมด) แต่มีศักยภาพการเติบโตสูงในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว

 

นิคมอุตสาหกรรม

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วงครึ่งปีแรก ยอดขายหรือให้เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอยู่ที่ 659 ไร่ ลดลง 13.2% YoY โดยเฉพาะยอดขายในภาคตะวันออกที่ลดลงถึง 29.5% YoY จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาครัฐออกมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการซื้อขายและโอนที่ดินนิคมอุตสาหกรรม (75% อยู่ในภาคตะวันออก)
  • ด้านอุปทาน ช่วงครึ่งปีแรก นิคมอุตสาหกรรมจัดตั้งใหม่มีจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ 6,191 ไร่ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกทั้งสิ้น  ได้แก่ จ.ชลบุรี 3 แห่ง (4,185 ไร่) และ จ.ระยอง  2 แห่ง (2,006 ไร่)  สอดคล้องกับมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในภาคตะวันออกที่เพิ่มขึ้น 56.6% YoY สะท้อนถึงศักยภาพด้านพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ทั้งนี้ จำนวนนิคมฯ ทั่วประเทศ (จาก 16 จังหวัด) มีทั้งสิ้น 65 แห่ง (ข้อมูลครึ่งแรกปี 2564) รวมเป็นพื้นที่ 1.68 แสนไร่ โดยภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 77.7% ส่วนยอดขายหรือให้เช่าที่ดินสะสมทั่วประเทศคิดเป็นสัดส่วน 76.9% (จำนวน 1.29 แสนไร่) ของจำนวนพื้นที่นิคมฯ ทั้งหมด
  • ช่วงครึ่งหลังของปี ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่ในนิคมฯ มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งการแพร่ระบาดของ  COVID-19 ทั่วโลกยังปะทุเป็นระยะ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน  ส่งผลให้ทั้งปี 2564 ยอดขาย/เช่าที่ดินจะอยู่ที่ 1,100 ไร่ ลดลง 15.4% จากปี 2563


แนวโน้มปี 2565-2567

ยอดขายและให้เช่าที่ดินฯ ช่วง 3 ปีข้างหน้าจะกลับมาขยายตัวดีเฉลี่ย 35.0-37.0% ต่อปี อยู่ที่ 1,700 ไร่ 2,300 ไร่ และ 2,800 ไร่ ตามลำดับ ปัจจัยหนุนจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะหนุนการส่งออกของไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ (2) ความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่    EEC_ด้านผู้ประกอบการนิคมฯ มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาคบริการและสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อทดแทนรายได้จากการขายและเช่าที่ดินซึ่งมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งมีการจะพัฒนานิคมฯ ในรูปแบบ Smart park ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน ตลอดจนพัฒนานิคมฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม พื้นที่นิคมฯ ใหม่ (พื้นที่จัดตั้งใหม่และการขยายพื้นที่ของนิคมฯ เดิม) มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด จากราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และทำเลที่มีศักยภาพหายากมากขึ้น
  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่จะยังเติบโตจากความได้เปรียบเชิงกายภาพด้านการคมนาคมขนส่ง หนุนให้รายได้ยังคงเติบโตดี โดยเฉพาะรายได้จากค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าเช่า
  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่ยังอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากต้องรอแรงผลักดันจากภาครัฐในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน   โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน SEZ และพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้รายได้ของนิคมฯ ในพื้นที่นี้มีแนวโน้มเติบโตช้า





 
 

ธุรกิจให้บริการ

 

โรงแรม

สถานการณ์ปี 2564

  • ธุรกิจโรงแรมช่วง 9 เดือนแรกซบเซาหนัก ผลจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าคาด ทำให้ทางการทยอยออกมาตรการควบคุมเข้มงวด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 98.7% YoY อยู่ที่ 8.6 หมื่นคน โดยนักท่องเที่ยวที่มาไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน และฝรั่งเศส ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศลดลง 48.9% YoY อยู่ที่ 27.6 ล้านทริป อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วงเดียวกันปรับลดลงมาอยู่ที่ 10.0% เทียบกับ 28.5% ช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านราคาห้องพักลดลง 20.1% YoY ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90 บาท (-72.2% YoY) จาก 323 บาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ช่วงที่เหลือของปี การฉีดวัคซีนเริ่มครอบคลุมมากขึ้น ทางการจึงทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด อาทิ (1) นโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ 63 ประเทศโดยไม่กักตัว (ตามเงื่อนไข) มีผล 1 พ.ย. (2) ยกเลิกเคอร์ฟิวทุกพื้นที่และกำหนดให้ 17 จังหวัด (รวมกรุงเทพฯ) เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวช่วง 1-30 พฤศจิกายน และขยายเป็น 33 จังหวัดช่วง 1-31 ธันวาคม และ (3) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (อาทิ We Travel Together-Phase 3 ตั้งแต่ 24 กันยายน 2564 - 31 มกราคม 2565 และทัวร์เที่ยวไทย ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2564 - 31 มกราคม 2565) อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงระมัดระวังเรื่องการเดินทาง ประกอบกับนโยบายด้านท่องเที่ยวของประเทศต้นทางยังไม่ผ่อนคลายเต็มที่ ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง คาดทั้งปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 3.5 แสนคน (-94.8%) ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทาง 52 ล้านทริป (-42.5%) ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 14.0% (ปี 2563 อยู่ที่ 29.5%)




 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่คลี่คลายหลังการกระจายวัคซีนทั่วถึงมากขึ้น หนุนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวน 7.5 ล้านคนในปี 2565 21 ล้านคนปี 2566 และ 35 ล้านคนปี 2567 โดยจะกลับมาเท่าช่วงก่อน COVID-19 (ปี 2562) ที่ 39-40 ล้านคนในปี 2568 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวเร็วกว่าจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยกลับสู่ระดับเทียบเท่าก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2567 ที่ 170 ล้านทริป ด้านอัตราเข้าพักเฉลี่ยจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 35% ในปี 2565  45% ในปี 2566 และ 60% ในปี 2567
    • โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต): คาดรายได้ทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565 โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยมีโอกาสสูงถึง 60% ในปี 2567
    • โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญและจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค: รายได้ทยอยปรับดีขึ้นในปี 2566-2567 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
    • โรงแรมในจังหวัดอื่นๆ: รายได้ยังฟื้นตัวช้า อัตราการเข้าพักมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs จึงมีโอกาสปิดกิจการสูง

 

โรงพยาบาลเอกชน

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี รายได้ของธุรกิจเติบโตจากจำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดรุนแรงของ COVID-19 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ธุรกิจยังได้ปัจจัยบวกจากความต้องการใช้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับ COVID-19 อาทิ การตรวจหาเชื้อ การฉีดวัคซีน การเปิด Hospitel รองรับผู้ป่วยร่วมกับพันธมิตร และการขยายฐานของกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในประเทศบางกลุ่มยังคงชะลอ/เลื่อนการเดินทางมารักษาพยาบาลในกรณีไม่เร่งด่วน ทำให้รายได้จากการรักษาโรคซับซ้อน (เช่น โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง) ชะลอลง ขณะที่รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติปรับดีขึ้นบ้างหลังรัฐอนุญาตให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการรักษาในไทยได้ แต่โดยภาพรวมยังถูกกดดันจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2563
  • ช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจได้ปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการปิดพื้นที่ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ผนวกกับการให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน หนุนให้ผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มขึ้น 8.0-10.0% หลังจากหดตัว 12.0% ปี 2563

แนวโน้มปี 2565-2567

รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ขณะที่จำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,000 เตียง จากประมาณ 3.6 หมื่นเตียงในปี 2564

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลจาก
    • ประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องการบริการการแพทย์ที่ต่อเนื่องและซับซ้อน โดยภาครัฐคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 2.3 แสนล้านบาทในปี 2565 จาก 6.3 หมื่นล้านบาทปี 2553
    • จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาใช้บริการการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น ผลจาก (1) การทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่อเนื่องในจังหวัดที่ฉีดวัคซีนแล้ว 70% ของประชากร และ (2) ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) อันดับต้นๆ ของโลก
    • กระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้น หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร
  • ผู้ประกอบการขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งด้านการให้บริการ การขยายสาขา และลงทุนผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมจุดแข็งและสร้างห่วงโซ่อุปทานครบวงจร รวมถึงการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และกำหนดให้ “การแพทย์ครบวงจร” เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ช่วยดึงดูดให้มีการขยายฐานธุรกิจโรงพยาบาลมากขึ้นในเฉพาะในเขต EEC
    • โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่: ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดีจากความพร้อมรองรับผู้ป่วยและการให้บริการในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูง นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายสาขาและพันธมิตรทางธุรกิจ จึงสามารถขยายขอบเขตให้บริการเจาะจงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทำให้ฐานรายได้กว้างขึ้น
    • โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก: ผลประกอบการเติบโตได้ต่อเนื่อง โรงพยาบาลหลายแห่งมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประกอบกับมีฐานลูกค้าประกันสังคมจึงช่วยลดความผันผวนของรายได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทำให้โรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายจะถูกกดดันมากกว่าจากการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด
 

 





 

ธุรกิจค้าปลีก
 

ร้านค้าปลีกสมัยใหม่

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ซบเซาต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกไทยลดลงต่อเนื่อง โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบเข้มงวด (ลดระยะเวลาเคอร์ฟิว ให้เวลาห้างร้านเปิดดำเนินการมากขึ้น) ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ผนวกกับการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปี เอื้อประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของการบริโภคโดยรวม 
  • ช่วงไตรมาสสุดท้าย คาดว่ายอดขายของกลุ่มดิสเคาท์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อจะกระเตื้องขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ส่งผลให้ทั้งปี 2564 ยอดขายร้านค้าปลีกสมัยใหม่จะหดตัว 5.5-6.5% ชะลอลงจากที่หดตัว 12% ในปี 2563


 

แนวโน้มปี 2565-2567

รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก

  • กำลังซื้อในประเทศทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ จาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาครัฐ (2) การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 7.5 ล้านคนในปี 2565 และเพิ่มเป็น 21 และ 35 ล้านคนในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ และ (3) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ CLMV หนุนร้านค้าปลีกตามแนวชายแดน
  • ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว เพื่อขยายฐานรายได้และกลุ่มลูกค้าในระยะยาว โดย (1) ขายออนไลน์เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการขายหน้าร้าน (2) การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจอื่น เช่น โลจิสติกส์ และ (3) ขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดรอง รวมถึงพื้นที่ EEC และแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่มีแนวโน้มขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโต
  • แนวโน้มการเติบโตของรายได้ร้านค้าปลีกแต่ละประเภท มีดังนี้
    • ห้างสรรพสินค้า คาดขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.5% ต่อปี จากที่หดตัว 7.5% ในปี 2564 ปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในประเทศที่กระเตื้องขึ้นตามเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการเน้นลงทุนในจังหวัดที่มีศักยภาพ รวมถึงในต่างประเทศ
    • ดิสเคาท์สโตร์ คาดเติบโตเฉลี่ย 1.5-2.8% ต่อปี จากที่หดตัว 6.0% ในปี 2564 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ปานกลางหรือต่ำ ซึ่งเน้นสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาภายในธุรกิจยังคงรุนแรง และยังต้องแข่งขันกับร้านค้าปลีกอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ
    • ซูเปอร์มาร์เก็ต คาดเติบโตเฉลี่ย 2.8-4.7% ต่อปี จากที่หดตัว 6.0% ในปี 2564   หนุนโดยการจับจ่ายของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง
    • ร้านสะดวกซื้อ คาดเติบโตเฉลี่ย 1.7-3.5% ต่อปี จากที่หดตัว 6.6% ในปี 2564 จากการขยายสาขาครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก



 

ธุรกิจบริการทางการเงิน

 

บัตรเครดิต

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบหดตัว 4.8% YoY อยู่ที่ 1,218.1 พันล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้างหดตัว 0.3% YoY ผลจาก COVID-19 ที่มีความรุนแรงกระทบต่อรายได้และการใช้จ่าย ท่ามกลางภาคท่องเที่ยวที่ซบเซาและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 89.3% ของ GDP การใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ที่ยังเติบโตได้ดีอยู่ในหมวดประกันภัย ช้อปปิ้งออนไลน์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เกมส์และสตรีมมิ่ง และของใช้ในครัวเรือนและตกแต่งบ้าน ด้านจำนวนบัญชีบัตรเครดิตขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 2.6% YoY ผลจากผู้ประกอบการเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติบัตรเครดิตของลูกค้าใหม่
  • ช่วงไตรมาส 4 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของทางการหลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจหลายภาคส่วนทยอยกลับมาดำเนินงานตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ผนวกกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวหลายพื้นที่ และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “ช้อปดีมีคืน” ทำให้ทั้งปี 2564 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัวลดลงอยู่ที่ 1.0-2.0%


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.0-7.0% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจ E-commerce มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 
  • ผู้ประกอบการจะขยายฐานลูกค้ารายใหม่อย่างระมัดระวัง โดยเน้นขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาระหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสีย
  • การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินและ Non-banks การขยายตลาดบัตรเครดิตผ่านการชำระเงินออนไลน์ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเข้าถึงฐานลูกค้าในอนาคต



 

ธุรกิจบริการอื่นๆ

 
 

บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี รายได้ของธุรกิจหดตัว 1.1% YoY ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ของผู้ประกอบการหดตัวในช่วง -3.0 ถึง -5.0% ผลจากกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอลง ภาคท่องเที่ยวซบเซาและการปิดศูนย์บริการชั่วคราวตามมาตรการจำกัดการเดินทางภาครัฐ เพื่อควบคุมผลกระทบจากโรคCOVID-19 นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันด้านราคาเพื่อจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชดเชยกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้ราคาทรงตัวระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังได้ปัจจัยหนุนจากการทำงานที่บ้าน (Work from home) การเรียนออนไลน์ การเติบโตของธุรกรรมซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ ความต้องการใช้งานด้านข้อมูล (Data) ที่เพิ่มขึ้นและการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ปัจจัยข้างต้นช่วยจำกัดการลดลงของรายได้ระดับหนึ่ง
  • ช่วงที่เหลือของปี รายได้ค่าบริการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จะทำให้ฐานลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ค่าบริการทั้งปี 2564 จะทรงตัวหรือลดลง 1.0% เทียบกับที่ลดลง 3.2% ในปี 2563


 

แนวโน้มปี 2565-2567

ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโต คาดรายได้ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุนดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    • เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการทยอยเปิดประเทศ จะหนุนฐานลูกค้าระบบเติมเงินขยายตัว ประกอบกับผู้ให้บริการมีแนวโน้มออกแคมเปญกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการย้ายมาเป็นระบบรายเดือนเพื่อเพิ่มรายได้
    • ความนิยมใช้งานด้านข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ เช่น การใช้งานอินเตอร์เน็ต บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง การใช้งานโซเชียลมีเดีย การทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น เพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและรายได้
    • การเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมสู่ระบบดิจิทัล (เช่น กลุ่มค้าปลีก การผลิต ขนส่ง และกระจายสินค้า) จะทำให้มีความต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น
    • นโยบายภาครัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการสมาร์ทซิตี้ และการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ทำให้มีการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมกระจายไปทั่วประเทศ (ปัจจุบันเครือข่ายเทคโนโลยี 5G ครบ 77 จังหวัด) กระตุ้นความต้องการใช้งานจากผู้บริโภคในพื้นที่ใหม่ๆ
  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนขยายโครงข่ายต่อเนื่องและพัฒนารูปแบบบริการเสริมเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ในระยะยาว เช่น ลงทุนในแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจดิจิทัล ขยายฐานสู่ลูกค้าองค์กร และให้บริการด้านโครงข่ายเฉพาะกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจอื่น เช่น สถาบันการเงิน ค้าปลีกและสาธารณสุข ท่ามกลางการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายโครงข่ายและการประมูลคลื่นความถี่


 

โลจิสติกส์

  • คลังสินค้าทั่วไป

สถานการณ์ปี 2564

  • ธุรกิจคลังสินค้าโดยรวมเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 หลังภาคการผลิตทยอยกลับมาดำเนินการได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย การกระจายวัคซีนที่ทั่วถึงมากขึ้น และการทยอยเปิดเมือง ทำให้มีการเร่งนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเพื่อสะสมสต็อกสินค้าคงคลังไว้ผลิตและจำหน่าย (Re-stocking) ประกอบกับมาตรการเว้นระยะห่าง การปิดห้างร้าน และการทำงานที่บ้าน ทำให้มีการสั่งสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น หนุนให้การใช้พื้นที่สต็อกสินค้าเพื่อเก็บและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นตาม คาดว่าปี 2564 ความต้องการใช้พื้นที่คลังสินค้าจะเติบโต 3.3% อยู่ที่ 5.05 ล้านตารางเมตร จากที่ขยายตัว 3.5% ในปี 2563
  • ด้านอุปทาน ผู้ประกอบการยังระมัดระวังการขยายพื้นที่คลังสินค้า เนื่องจากอุปทานพื้นที่เช่ายังว่างอยู่มาก ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอก มีผลให้การลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อรองรับอุปสงค์ใหม่ชะลอลง การขยายพื้นที่เช่าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นคลังสินค้าที่สร้างตามสั่ง (Built to suit) ตามแผนธุรกิจเดิมของลูกค้าประจำ ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าปี 2564 จะขยายตัว 2.3% อยู่ที่  5.96 ล้านตารางเมตร ชะลอลงจากที่เติบโต 2.7% ในปี 2563 การที่อุปทานใหม่เพิ่มขึ้นน้อย ขณะที่ความต้องการเช่าเติบโตมากกว่า ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) มีแนวโน้มปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.7% เทียบกับ 83.9% ในปี 2563 ขณะที่ค่าเช่าทรงตัวใกล้เคียงปีก่อนหน้า

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 3.5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) กิจกรรมการผลิตและการค้าทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจหนุนการส่งออกและการบริโภค (2) การเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐหนุนความต้องการพื้นที่จัดเก็บและกระจายสินค้าในพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และ (3) การจับจ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์เร่งให้มีความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพื่อรับส่งและกระจายสินค้ามากขึ้น
  • อุปทานในระยะ 3 ปีข้างหน้า คาดว่าพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 แสนตารางเมตรต่อปี (ขยายตัวเฉลี่ย 3.0% ต่อปี) โดยมีแรงหนุนจากความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม เขตปลอดอากร และ Warehouse farm ต่างๆ  ของผู้ประกอบการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ ทำให้เกิดรูปแบบคลังสินค้าสมัยใหม่ครบวงจรที่พร้อมรองรับนวัตกรรมการผลิต การค้าและการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนใหญ่อยู่ในทำเล BMR EEC ศูนย์กลางในภูมิภาคและจังหวัดชายแดนที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวกและสามารถเชื่อมต่อไปในเมือง (Downtown) ต่างๆ ในภูมิภาค ตลอดจนประตูการค้าในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางแห่งลงทุนสร้างคลังสินค้าใช้เองแทนการเช่า จึงส่งผลให้แนวโน้มการขยายพื้นที่เป็นไปอย่างระมัดระวังในช่วงที่ยังมีอุปทานคลังสินค้าที่เหลือว่างสูง ทั้งนี้ อุปสงค์พื้นที่เช่าที่เติบโตสูงกว่าอุปทาน ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85-86%
  •  

 
  • บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจาก (1) รายได้ค่าโดยสารลดลงตามปริมาณผู้ใช้บริการ ผลจากรัฐประกาศมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่เกิดขึ้นหลายระลอก โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (มกราคม เมษายน) ทั้งการปิดห้างร้าน สถานบริการต่างๆ และการจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน ประกอบกับมาตรการเว้นระยะห่าง รวมถึงการเน้นทำงานที่บ้านและการเรียนทางออนไลน์ของสถานศึกษาต่างๆ ส่งผลให้ธุรกิจต้องจำกัดความหนาแน่นของผู้โดยสารและมีช่วงเวลาในการเดินรถน้อยลง และ (2) รายได้ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีและพื้นที่โฆษณาในลานจอดรถลดลง จากการถูกยกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนและการปรับลดค่าเช่าเพื่อจูงใจลูกค้า
    • รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS): ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันลดลง 48.2% YoY อยู่ที่ 2.0 แสนครั้ง ผลจากการเว้นระยะห่าง การทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปแทบทั้งหมด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน (สัดส่วนประมาณ 5-6% ของผู้ใช้บริการ, ที่มา: BTS)
    • รถไฟฟ้ามหานคร (MRT): จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันลดลง 44.8% YoY อยู่ที่ 1.4 แสนครั้ง เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการช่วงการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เป็นปกติและการสัญจรของผู้โดยสารจากชานเมืองสู่เมืองชั้นในลดลง
    • รถไฟฟ้าชานเมืองแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL): ผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันลดลง 48.3% YoY อยู่ที่ 2.1 หมื่นครั้ง เนื่องจากการปิดประเทศ การงดเดินทางข้ามจังหวัดในบางช่วงที่มีการระบาดรุนแรง ส่งผลให้ผู้ใช้บริการจากสถานีสุวรรณภูมิลดลง โดยเฉพาะสัดส่วนผู้โดยสารต่างชาติใช้บริการอยู่ประมาณ 20-30% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด
  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันขยับขึ้นเป็น 5.5 แสนครั้ง เทียบกับ 3.6 แสนครั้งในช่วง 9 เดือนแรก ปัจจัยบวกจากภาครัฐผ่อนคลายความเข้มงวดลง โดยทยอยลดเวลาช่วงเคอร์ฟิว อนุญาตให้รับ-ส่งผู้โดยสารเต็มความจุ และการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือนตุลาคม ประกอบกับสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่มีระยะทางรวม  37.6 กม. พร้อมเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจทั้งปียังซบเซา คาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการ BTS จะหดตัว 41.7% MRT หดตัว 40.4% และ ARL หดตัว 48.1% จากปี 2563 ที่หดตัว 40.8%  22.6% และ 43.0% ตามลำดับ 




 
แนวโน้มปี 2565-2567
  • จำนวนผู้โดยสาร (Trips per day) มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็น 6.0-6.5 แสนครั้งต่อวัน หลังการกระจายวัคซีนทั่วถึงและรัฐทยอยผ่อนคลายการเปิดประเทศ ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว (2) จำนวนผู้พักอาศัยในโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า บริเวณใกล้เคียงสถานีหรือจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานี  และ (3) การเปิดเดินรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ที่มีจุดเชื่อมต่อกับสายเดิม และการเพิ่มจุดจอดรถ (Park and ride) ช่วยเพิ่มความสะดวกและเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการทั้งขาเข้า-ขาออกระหว่างเมืองชั้นนอกและตัวเมืองชั้นใน
  • ช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมีรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่แถบชานเมืองเปิดบริการอีก 3 เส้นทางรวมระยะทาง 84.4 ก.ม. ได้แก่ (1) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (เปิดกลางปี 2565 และส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช –เมืองทองธานี จะเปิดช่วงปลายปี 2567  (2) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดเดือนกรกฎาคม 2565  และ (3) สายสีส้มตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) กำหนดเปิดปลายปี 2567 จะส่งผลให้ผลประกอบการของผู้ให้บริการมีแนวโน้มเติบโตตามรายได้ค่าโดยสาร และการบริหารจัดการพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริการดูแลระบบรถไฟฟ้าและบริการระบบการสื่อสาร ตลอดจนรายได้จากการรับจ้างเดินรถให้กับภาครัฐ (กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.) ก็เพิ่มสูงขึ้น

 
  • บริการขนส่งสินค้าทางทะเล

สถานการณ์ปี 2564

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจเติบโตสูง พิจารณาจากดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI) และดัชนีค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ (HRCI) ที่ปรับขึ้น 221.7% และ 284.3% YoY ตามลำดับ เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักทยอยฟื้นตัว (IMF คาดเศรษฐกิจโลกปี 2564 ขยายตัว 5.9% ขณะที่ปริมาณการค้าโลกเติบโต 9.7%) ทำให้มีการเร่งสั่งซื้อวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ จำนวนมาก (2) วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือและบริเวณโดยรอบ จำนวนแรงงานที่ลดลง ทำให้การเคลื่อนย้ายตู้สินค้าหมุนเวียนมาใช้ซ้ำเป็นไปด้วยความล่าช้า ส่งผลให้ตู้บรรจุสินค้าในรอบถัดๆ ไปขาดแคลนยิ่งขึ้น การเกิดปัญหาความแออัดทำให้เรือต้องจอดรอคิวเพื่อขนถ่ายสินค้านานขึ้น และกระทบให้การขนส่งทางเรือใช้เวลาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราค่าระวางเรือจะทรงตัวระดับสูงตลอดช่วงที่เหลือของปี จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและระวางบรรทุกที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย


 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ปี 2565-2567 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลมีแนวโน้มเติบโตดีตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยอุปสงค์สินค้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อความต้องการใช้เรือขนส่ง ตู้สินค้า หนุนให้ค่าระวางเรือยังทรงตัวสูงในปี 2565 ก่อนจะทยอยปรับลดลงในปี 2566-2567  ปัจจัยบวกจาก (1) IMF คาดเศรษฐกิจโลกปี 2565 2566 และ 2567 จะเติบโต 4.9% 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ  ขณะที่ UNCTAD คาดปริมาณการค้าทางทะเลโลกจะเติบโต 3.2% 2.4% และ 2.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามลำดับ (2) ความเข้มงวดในการควบคุมโรค COVID-19 ส่งผลให้เรือส่งมอบใหม่เข้าตลาดล่าช้า โดย BIMCO คาดว่าอุปทานเรือตู้คอนเทนเนอร์จะเติบโตเฉลี่ย 3.2% ต่อปี ขณะที่อุปทานเรือเทกองเติบโตเฉลี่ย 2.9% ต่อปี โดยกองเรือใหม่จะทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และ (3) การบริหารจัดการท่าเรือทั่วโลกที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นระยะ อาจส่งผลให้การเคลียร์ของออกและเข้าท่าเรือล่าช้า ขณะที่ความต้องการสินค้ายังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะทยอยปรับลดลงในปี 2566-2567
  • สำหรับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง โดยราคาน้ำมันเตาชนิดกำมะถันต่ำมีแนวโน้มปรับขึ้นตามอุปสงค์การใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากค่าระวางเรือที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงคาดว่าจะกระทบรายได้ของธุรกิจไม่มากนัก

 

บริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์

สถานการณ์ปี 2564

  • ธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้รวมของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.0-17.0% ในปี 2564 จาก 22.3% ในปี 2563 ส่วนใหญ่เติบโตตามกลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัลและอื่นๆ ดังนี้
    • บริการดิจิทัล: รายได้เพิ่มขึ้น 25.1% ผลจากมาตรการเข้มงวดของภาครัฐเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะการสนับสนุนการทำงานจากบ้าน ทำให้ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ หันไปเน้นการทำธุรกรรมบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประเภทธุรกิจในกลุ่มนี้ที่เติบโตสูง ได้แก่ e-Retail และ e-Logistics รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจ Online media ที่มีการบริโภคข้อมูล ข่าวสาร และสื่อบันเทิงผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น
    • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์: รายได้ขยายตัวในอัตราต่ำ 2.4% ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการและคำปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ที่ออกแบบเพื่อใช้กับโครงการที่เฉพาะเจาะจงขององค์กรขนาดใหญ่ ส่วนรายได้ด้านการลงทุนในซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ยังชะลอตัวจากการประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรตามภาวะธุรกิจที่ยังซบเซา
    • ดิจิทัลคอนเทนต์: รายได้เพิ่มขึ้น 5.0% ส่วนใหญ่มาจากเกมส์บน Mobile/Tablet โดยเฉพาะ Cloud gaming ที่มีการนำ AR/ VR มาใช้มากขึ้นในการดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ในช่วงการทำงานที่บ้าน ส่วนรายได้จากธุรกิจ Animation และ Character ยังเติบโตจำกัดตามจำนวนงานว่าจ้างที่ยังน้อย
 

 

แนวโน้มปี 2565-2567

  • ธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตดี โดยคาดว่ารายได้รวมจะขยายตัวในช่วง 9.0-10.0% เนื่องจากภาคธุรกิจเร่งปรับโครงสร้างองค์กรที่เน้นขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
    • บริการดิจิทัล: คาดว่ารายได้จะขยายตัวในอัตรา 11.0-12.0% โดยมีปัจจัยหนุนหลักจาก (1) การพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่จะเชื่อมโยงสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในปี 2565  และ (2) รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานที่มีแนวโน้มจะยังคงพึ่งพาบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าและข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ส่วน Fintech ยังเติบโตตามความนิยมของ e-Wallets แต่การแข่งขันยังสูงจากผู้เล่นที่มีจำนวนมาก
    • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์: คาดว่ารายได้จะขยายตัวในอัตรา 7.0-8.0% จาก (1) แนวโน้มการลงทุนด้านซอฟต์แวร์และระบบ Cloud IT ของภาคเอกชนที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงของการฟื้นฟูธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยอุปสงค์จากธุรกิจ SMEs มีแนวโน้มขยายตัว จากมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการฯ ในปี 2564-2565 เพื่อสนับสนุน Digital transformation ให้ SMEs แข่งขันได้ และ (2) ภาคหน่วยงานราชการมีแนวโน้มปฏิรูปโครงสร้างภายในที่ต้องพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านออนไลน์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น
    • ดิจิทัลคอนเทนต์: คาดว่ารายได้จะขยายตัวในอัตรา 7.0-8.0% โดยได้แรงหนุนการเติบโตจากธุรกิจเกมส์ผ่านอุปกรณ์ Smart technology ซึ่งจะมีการพัฒนาสู่เกมส์รูปแบบใหม่บนระบบ Cloud ที่รวดเร็วบนเครือข่าย 5G ที่ดึงดูดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มรายได้จากธุรกิจ Animation และ Characters มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นแต่ในอัตราไม่สูงนักตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ว่าจ้างผลิตโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว



 

[1]  จะบังคับใช้ต่อเมื่อสมาชิกลงสัตยาบันแล้ว สำหรับอาเซียนลงสัตยาบันอย่างน้อย 6 ประเทศ นอกประเทศอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ 
[2] สะท้อนจาก Value chain สินค้าและบริการของประเทศสมาชิก RCEP คิดเป็นมูลค่าถึง 26% ของ Global supply chain โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่มีการเติบโตของมูลค่าการค้าอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศสมาชิก RCEP (เติบโตถึง 50% ในช่วงปี 2553-2561 และมีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นใน Value chain 5 อันดับ ได้แก่ เครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ส่วนประกอบของยานพาหนะ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 60% ของมูลค่า value chain ทั้งหมดในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องจักรกลที่มีมูลค่าต่อ Global value chain ถึง 37% (อ้างอิงจากงานสัมมนา โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย)

Note:  กัญชา (Cannabis) อนุญาตให้ผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง (มีผลตั้งแต่ 14 กันยายน 2564) เพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
           กัญชง (Hemp) อนุญาตให้ผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง (มีผลตั้งแต่ 29 มกราคม 2564) ภายใต้เงื่อนไข (1) เพื่อใช้ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ (2) ใช้เส้นใยตามประเพณี  วัฒนธรรม/วิถีชีวิต และบริโภคในครอบครั (ปลูก ได้ครอบครัวละไม่เกินหนึ่งไร่) (3) เพื่อใช้เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม (4) เพื่อใช้ทางการแพทย์ (5) เพื่อศึกษา วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ และ (6) เพื่อใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง
           กระท่อม (Kratom) อนุญาตให้ปลูก ครอบครอง ซื้อ/ ขาย และบริโภค ตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 (มีผล 24 สิงหาคม 2564) โดยจะทยอยประกาศใช้ พรบ.พืช กระท่อม พ.ศ…(กฎหมายลูก) ซึ่งระบุรายละเอียดการใช้ การขาย การผลิต และการกำกับดูแลในช่วงไตรมาส 4/2564-ไตรมาส 1/2565 ทั้งนี้ คาดว่าพืชกระท่อมจะเพิ่มมูลค่าและสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้ปลูก) กลางน้ำ (ผู้แปรรูปและโรงสกัด) และปลายน้ำ (อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยา)
ไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
[1] โดยทั่วไปการส่งออกจะใช้ไก่น้ำหนัก 2.6-2.7 กิโลกรัม/ตัว แต่การปิดโรงงานแปรรูปทำให้ไก่ที่เลี้ยงมีน้ำหนักเกินมาอยู่ที่ 3-4 กิโลกรัม/ตัว
ผลิตไฟฟ้า
[1] ไม่รวมกำลังการผลิตจากพลังน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2,920 เมกะวัตต์
[2] ต้นทุนประมาณ 1.81 บาทต่อหน่วย ขณะที่ราคาขายปลีกประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย
โรงกลั่นน้ำมัน
[1] กลุ่มดีเซล คือ กลุ่มดีเซลหมุนเร็ว (B7 B10 B20) และกลุ่มดีเซลพื้นฐาน
[2] กลุ่มเบนซินหรือแก๊สโซลีน คือ น้ำมันเบนซิน (ULG95) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 E20 และ E85
ยาแผนปัจจุบัน
[1] ผลสำรวจจากผู้ประกอบการในประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายยาสามัญ จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
[2] Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) เป็นกรอบความร่วมมือ ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ตรวจ GMP ของประเทศ    ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มาตรฐานในการตรวจสอบ GMP ในการผลิตยาในแต่ละประเทศเป็นไปใน    แนวทางเดียวกัน ซึ่งไทยได้รับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นสมาชิก ลำดับที่ 49 ตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2559 
ปุ๋ยเคมี
[1] ราคาขายปลีกท้องถิ่น ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0), ปุ๋ยแอมโมเนีย ซัลเฟต (21-0-0), ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 15-15-15, 16-16-8 และ 13-13-21 ซึ่งปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั้ง 6 ชนิดดังกล่าวรวมกันคิด
เป็นสัดส่วนกว่า 90% ของปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีรวมทั้งประเทศ 
รถยนต์
[1] ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการพักชำระหนี้รถยนต์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน หรือ ไม่เกิน 3 งวดมีผลตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-ธันวาคม 2564 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1) เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 2) ไม่เป็นลูกหนี้ NPL  (ค้างชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 และ 3) มียอดค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 งวด ณ วันที่ลงทะเบียน ทั้งนี้ แต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินมีสิทธิ์ในการพิจารณามาตรการช่วยเหลือตามผลกระทบที่ลูกค้าได้รับตามแต่กรณี หากมีการขอเลื่อนการพักชำระหนี้ออกไป อีกจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตามแต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ เป็นผู้กำหนด
อิเล็กทรอนิกส์ 
[1] Data Center แบบ on-premises คือ การจัดเก็บข้อมูลบนระบบ Server ที่ตั้งอยู่ในบริษัทของตนเอง ทำให้การจัดเก็บข้อมูลมีความปลอดภัย  มากขึ้น แต่จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า Data Center แบบ on-Cloud (การเช่าระบบ Server กับผู้ให้บริการ Cloud เพื่อจัดเก็บข้อมูล) เนื่องจากต้อง มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง บำรุงรักษา และต้องลงทุน Upgrade Hardware และ Software ใหม่ ทุก 3-5 ปี
วัสดุก่อสร้าง
[1] รัฐบาลออกมาตรการ Made in Thailand โดยกำหนดให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐ (ไม่รวมโครงการร่วมกับเอกชน หรือ PPP) ใช้เหล็กก่อสร้างที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในการโครงการก่อสร้างนั้นๆ 
ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 
[1] ที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม
[2] กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราวสำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
[3] ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม โดยคำนวณจากข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 17 ธนาคาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 
[4] ยังอยู่ในระหว่างศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินตามมติครม.วันที่ 14 ก.ย. 64
ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)
[1] ที่อยู่อาศัย 6 จังหวัดหลักภูมิภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต
[2]  ยังอยู่ในระหว่างศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินตามมติครม.วันที่ 14 ก.ย. 64
อาคารเชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
[1] พื้นที่ค้าปลีก หมายถึง ศูนย์การค้า 3 ประเภท ได้แก่ ศูนย์การค้าแบบปิด คอมมูนิตี้มอลล์ และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน
โรงพยาบาลเอกชน
[1] BCG’s Center for Customer Insight
บัตรเครดิต
[1] ข้อมูลจำนวนบัตรเครดิตที่ปรับลดลงในปี 2558 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ ธปท. ได้ปรับฐานข้อมูลจำนวนบัตรเครดิต  ย้อนหลังเนื่องจาก (1) ผู้ให้บริการที่เป็น Non-bank ได้ปรับจำนวนบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว (Non-movement accounts) ตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2558 (2) ธนาคารพาณิชย์ได้หยุดให้บริการบัตรเครดิตบางประเภทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา