แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2567-2569: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

เครื่องดื่ม

เครื่องดื่ม

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2567-2569: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

14 พฤศจิกายน 2566

EXECUTIVE SUMMARY


อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยพึ่งพาตลาดในประเทศกว่า 79% ของปริมาณจำหน่ายทั้งหมด โดยในปี 2565 สถานการณ์การผลิตและจำหน่ายโดยรวมเริ่มฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติ แต่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ภาวะการผลิตและจำหน่ายโดยรวมปรับลดลงตามภาวะกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและมาตรการขึ้นภาษีควบคุมความหวาน โดยในปี 2567-2569 การผลิตมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยการจำหน่ายในประเทศจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี จาก (1) การฟื้นตัวเต็มรูปแบบของกิจกรรมภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ผับ และบาร์ (2) สภาวะอากาศที่ร้อนชื้นจากผลกระทบของภาวะ El Niño และ (3) การขยายตัวของเมืองและร้านสะดวกซื้ออย่างต่อเนื่อง ด้านการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 1.5-2.5% ต่อปี จากการทยอยเปิดด่านการค้าระหว่างชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังซื้อทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตามการขยายตัวของผลผลิตจากการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยที่ผ่านมาอาจทำให้การส่งออกเติบโตได้ไม่มากนัก

มุมมองวิจัยกรุงศรี


แนวโน้มผลประกอบการผู้ผลิตเครื่องดื่มโดยรวมของไทยในปี 2567-2569 มีทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาพเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมร้านอาหาร และการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาฟื้นตัว แต่อาจเผชิญต้นทุนน้ำและวัตถุดิบเกษตรที่สูงขึ้นจากภาวะ El Niño ที่จะรุนแรงขึ้น

  • ผู้ผลิตน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: คาดว่ารายรับจะเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ช่วยหนุนอุปสงค์ต่อน้ำดื่ม  โดยเฉพาะจากธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่คำนึงถึงความสะอาด ไม่ปนเปื้อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือและมีมาตรฐานการผลิตสูง นอกจากนี้ความต้องการน้ำสะอาดจากประเทศ CLMV ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักจะมีทิศทางฟื้นตัวหลังจากการค้าชายแดนกลับมาปกติ

  • ผู้ผลิตน้ำอัดลม: กิจกรรมภาคธุรกิจที่กระเตื้องขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเครื่องดื่มที่ทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น แม้จะมีผลกระทบจากมาตรการภาษีความหวาน แต่ผู้ผลิตหลายรายได้ปรับตัวหันไปใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ อาทิ น้ำอัดลมผสมวิตามิน น้ำอัดลมแต่งกลิ่น/รสชาติเลียนแบบแอลกอฮอล์ และโซดารสผลไม้ต่างๆ จะช่วยหนุนให้รายได้มีแนวโน้มปรับดีขึ้น

  • ผู้ผลิตเบียร์: รายได้คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงหนุนจากธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์  และสถานที่เที่ยวกลางคืนที่กลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติรองรับกิจกรรมการพบปะสังสรรค์ที่จะมีมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลายและรสชาติแปลกใหม่เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่สูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง อาจจะกดดันความสามารถในการทำกำไร 

  • ผู้ผลิตสุรา: ปริมาณการบริโภคที่มีแนวโน้มลดลง จากราคาที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ในภาวะที่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปเน้นเครื่องดื่มเชิงสุขภาพมากขึ้นแทน กดดันให้ผู้ผลิตมีแนวโน้มต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเพิ่มคุณภาพของส่วนผสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีในการบริโภคมากขึ้น.


ข้อมูลพื้นฐาน


อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยมีสัดส่วนของปริมาณการผลิตภายในประเทศ 98.3% ของปริมาณเครื่องดื่มที่บริโภคในประเทศทั้งหมด  โดยเน้นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 78.7%1/ ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของไทย ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีสัดส่วนเพียง 1.7% ของปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศทั้งหมด โดยมีสัดส่วนปริมาณนำเข้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 43:57 ในเชิงปริมาณ และ 20:80 ในเชิงมูลค่า  ในปี 2565 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในไทยมีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 393 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก โดยจังหวัดนครปฐมมีการจัดตั้งโรงงานเครื่องดื่มมากที่สุดจำนวน 38 โรงงาน รองลงมาได้แก่ ปทุมธานี (30 โรงงาน) ชลบุรี (29 โรงงาน) พระนครศรีอยุธยา (24 โรงงาน) สมุทรสาคร (18 โรงงาน) และกรุงเทพฯ (18 โรงงาน) จำนวนโรงงานเครื่องดื่มทั้งหมดแบ่งเป็น 1) โรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 332 แห่ง  คิดเป็น 84% ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด และ 2) โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 61 แห่ง คิดเป็น 16% ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด

ในปี 2565 ปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศของไทยอยู่ที่ 12,112.2 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 14,363.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ2/ แบ่งเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 77:23 ในเชิงปริมาณ และ 40:60 ในเชิงมูลค่า (รูปที่ 1) มีรายละเอียดดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 9,334.6 ล้านลิตร คิดเป็น 5,703.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วน 77.1% และ 39.7% ในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่าของการจำหน่ายเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็นน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดซึ่งมียอดจำหน่ายรวมกัน 5,008.8 ล้านลิตร คิดเป็น 53.7% ของปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ น้ำอัดลมและโซดา (31.1%) ชาพร้อมดื่ม (4.3%) น้ำผลไม้ (3.5%) เครื่องดื่มชูกำลัง (3.2%) และเครื่องดื่มอื่นๆ (4.2%) ตามลำดับ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 2,777.6 ล้านลิตร คิดเป็น 8,660.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วน 22.9% และ 60.3% ในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่าของการจำหน่ายเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็นเบียร์ซึ่งมียอดจำหน่าย 2,017.1 ล้านลิตร คิดเป็น 72.6% ของปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สุรา (25.5%) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม (0.9%) ไวน์ (0.9%)  และน้ำผลไม้ที่ผ่านกระบวนการหมักหรือบ่มกับยีสต์ (0.1%) ตามลำดับ


 

ปริมาณการส่งออกเครื่องดื่มของไทยอยู่ที่ 2,580.3 ล้านลิตร คิดเป็น 2,726.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 (รูปที่ 2) ประเทศกัมพูชาเป็นคู่ค้าหลักในการส่งออกเครื่องดื่มของไทย มีสัดส่วน 21.2% ในเชิงปริมาณ ตามด้วย เวียดนาม (15.1%) เมียนม่า (12.5%)  สหรัฐฯ (12.3%) และจีน (6.2%) โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกแบ่งเป็น 1) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 93.0% ในเชิงปริมาณ และ 85.0% ในเชิงมูลค่า ประเทศกัมพูชาเป็นคู่ค้าหลัก มีสัดส่วน 22.2% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ เวียดนาม (16.2%) สหรัฐฯ (13.1%) เมียนม่า (9.6%) และจีน (6.6%) และ 2) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 7.0% ในเชิงปริมาณ และ 15.0% ในเชิงมูลค่า ประเทศเมียนม่าเป็นคู่ค้าหลัก มีสัดส่วน 49.4% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สหรัฐ (12.7%) กัมพูชา (10.4%) ญี่ปุ่น (5.1%) และฟิลิปปินส์ (2.3%)​


 

พัฒนาการและโครงสร้างอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทย
 

การผลิตเครื่องดื่มในเชิงพาณิชย์ของไทยในระยะแรกเป็นการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ เพื่อจำหน่ายทดแทนการนำเข้า ระยะต่อมาภาครัฐได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) อย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในไทยขยายตัวและสามารถผลิตเครื่องดื่มหลากหลายประเภททั้งเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพัฒนาการของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่สำคัญในไทย มีรายละเอียดดังนี้

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ในยุคแรกเป็นการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ เช่น กิจการผลิตน้ำอัดลม “Coca Cola” และโรงงานน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด “POLARIS” ของนักลงทุนชาวอเมริกันที่เข้ามาลงทุนในปี 2492 และปี 2493 ตามลำดับ ต่อมาเมื่อเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้รับการตอบรับจากตลาดในประเทศมากขึ้น รัฐบาลไทยจึงออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมอุตสาหกรรมในปี 2503 เพื่อผลิตสำหรับบริโภคในประเทศ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) โดยอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลายในไทย โดยเฉพาะการผลิตน้ำผัก/น้ำผลไม้ ทำให้มีการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นมากและสามารถผลิตสนองความต้องการตลาดในประเทศและตลาดส่งออกได้มากขึ้นเป็นลำดับ โดยประเภทและเงื่อนไขของการจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในไทยภายใต้ พรบ.การจัดตั้งโรงงานปี 2535 สามารถจำแนกตามขนาดของจำนวนคนงานและตามกำลังการผลิตได้ดังนี้ (ตารางที่ 1)


 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีการผลิตหลากหลายประเภท ซึ่งโครงสร้างการผลิตและการตลาดในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันดังนี้

  • อุตสาหกรรมน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงในช่วงเริ่มแรก โดยปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีการกรองน้ำก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจนสามารถกรองน้ำได้สะอาดตามมาตรฐาน ด้วยต้นทุนเครื่องจักรและต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง ทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้บางรายมีการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์หรือกิจการเฉพาะอื่นๆ อาทิ โรงแรม โรงพยาบาล และมีการผลิตเครื่องดื่มประเภทอื่นควบคู่ด้วย เช่น น้ำอัดลม สุรา เบียร์ น้ำผลไม้ ฯลฯ ทำให้มีความได้เปรียบในการทำกลยุทธ์ขยายช่องทางการตลาด โดยผู้ผลิตน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดที่สำคัญ ประกอบด้วย บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (แบรนด์คริสตัล และช้าง), บจก. บุญรอดบริวเวอรี่ (แบรนด์สิงห์), บจก. เนสท์เล่ (ไทย) (แบรนด์เนสท์เล่ เพียวไลฟ์), บจก. โคคา-โคลา(ประเทศไทย) (แบรนด์น้ำทิพย์) และ บจก. ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค  เบเวอเรจ (ประเทศไทย)(แบรนด์อควาฟิน่า) ในปี 2565 ผู้ผลิตกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 57.6% ของมูลค่าตลาดน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดทั้งหมดในไทย โดยมีช่องทางการตลาดผ่านร้านค้าปลีก โมเดิร์นเทรด และร้านอาหาร รวมทั้งจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์และขายตรง (จัดส่งตามบ้านและอาคารสำนักงาน) นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แบรนด์ท้องถิ่น (Local brand) ที่เน้นตลาดต่างจังหวัดซึ่งจำหน่ายในร้านค้าและร้านอาหารทั่วไป

  • อุตสาหกรรมน้ำอัดลม เป็นอุตสาหกรรมในตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดไม่ง่ายนัก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการซื้อเครื่องจักร (ต้นทุนคงที่) จึงจำเป็นต้องมีการผลิตในระดับที่เกิดการประหยัดจากขนาด และต้องอาศัยการนำเข้าหัวเชื้อจากบริษัทแม่ ผู้ประกอบการรายสำคัญ ประกอบด้วย บจก.โคคา-โคลา (ประเทศไทย) (แบรนด์โคคา-โคลา, แฟนต้า, สไปรท์ และชเวปส์ ), บจก.ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) (แบรนด์เป๊ปซี่, มิรินด้า และเซเว่นอัพ), บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (แบรนด์เอส) และ บจก. อาเจไทย (แบรนด์บิ๊ก) โดยในปี 2565 ผู้ผลิตกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 98.4% ของมูลค่าตลาดน้ำอัดลมทั้งหมด

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีพัฒนาการมาจากการผลิตสุราพื้นบ้านหรือสุราแช่ (สุราที่เกิดจากการหมักข้าวหรือน้ำตาล) ในปี 2470 ซึ่งเป็นการผลิตของไทยในยุคแรก รัฐเป็นผู้ผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุรา โดยผลิตสุราขาวที่โรงงานสุราบางยี่ขัน และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสุราขาวมาผลิตสุราประเภทอื่นเพิ่มเติม อาทิ สุราผสม (ใช้สมุนไพรมาสกัดและแช่เพื่อผลิตสุราดีกรีสูงสำหรับเป็นหัวเชื้อ แล้วจึงนำมาปรุงแต่ง รส กลิ่น สี) และสุราปรุงพิเศษ ต่อมารัฐบาลมีนโยบายอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการผลิตสุราได้ตั้งแต่ปี 2502 โดยให้เอกชนประมูลสิทธิดำเนินกิจการโรงงานสุราบางยี่ขันในช่วงปี 2503-2542 ก่อนที่จะมีนโยบายเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราในปี 2543 ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจครั้งสำคัญจากการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานสุราอีกหลายแห่ง รวมทั้งเริ่มมีการผลิตเบียร์ในไทยซึ่งเป็นการร่วมทุนของทุนไทยและบรรษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขในการจัดตั้งและข้อจำกัดสำคัญ อาทิ การจัดตั้งโรงงานทุกขนาดจะถูกจัดอยู่ในประเภทโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งต้องรับใบอนุญาตก่อนจัดตั้งโรงงาน ข้อกำหนดกฎหมายจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่อนุญาตให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ รวมถึงการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในการสร้างการรับรู้ของตลาดผู้บริโภค โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมจำแนกได้ดังนี้

  • อุตสาหกรรมเบียร์ กฎกระทรวงฉบับปัจจุบันปี 2565 ได้ยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ (จากเดิมต้องไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี) และทุนจดทะเบียน (จากเดิมต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ผลิตเบียร์ที่สำคัญ ประกอบด้วย บจก. บุญรอดบริวเวอรี่ (แบรนด์ลีโอ, สิงห์, สโนวี่ ไวเซ่น และยู เบียร์), บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (แบรนด์ช้าง, อาชา และเฟเดอร์บรอย), บจก. ไฮเนเก้น (แบรนด์ไฮเนเก้น) โดยในปี 2565 ผู้ผลิตกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 95.7% ของมูลค่าตลาดเบียร์ทั้งหมด

  • อุตสาหกรรมสุรา กฎกระทรวงปี 2565 อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขยายโรงงานเป็นขนาดกลางได้ จึงทำให้มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น แต่การผลิตสุราบางส่วนก็ยังคงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขปริมาณการผลิตขั้นต่ำไว้อย่างเดิม เช่น สุราชนิดพิเศษ และสุรากลั่นอื่นๆ ได้กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำไว้ในระดับที่สูงมาก สำหรับผู้ประกอบการผลิตสุรารายสำคัญ ประกอบด้วย บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (แบรนด์รวงข้าว, หงษ์ทอง และเบลนด์ 285), บจก. ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) (แบรนด์จอห์นนี่ วอล์คเกอร์, สเมอร์นอฟ และเบนมอร์), บจก. รีเจนซี่ บรั่นดีไทย (แบรนด์รีเจนซี่) โดยในปี 2565 ผู้ผลิตกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 71.2% ของมูลค่าตลาดสุราทั้งหมด






สถานการณ์ที่ผ่านมา


การผลิตเครื่องดื่มของไทย

สถานการณ์การผลิตค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมาโดยในปี 2565 ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยเพิ่มขึ้น +2.1% ก่อนที่จะปรับลดลง -3.9% YoY ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 และคาดว่าการผลิตโดยรวมทั้งปี 2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น 0.0-2.0% (รูปที่ 4) โดยจำแนกรายผลิตภัณฑ์ได้ดังนี้


 

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ น้ำดื่มบริสุทธิ์และน้ำแร่บรรจุขวด น้ำอัดลมและโซดา และเครื่องดื่มให้พลังงานรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ ซึ่งดัชนีการผลิตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.4% แรงหนุนหลักมาจากด้านอุปสงค์ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังมีการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว แม้ผู้ประกอบการต้องเผชิญแรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนการผลิตตามราคาน้ำมัน โดยเฉพาะต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ รวมถึงต้นทุนพลังงานที่ใช้ในการผลิตและขนส่ง (รูปที่ 5) สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 การผลิตปรับลดลง -2.9 YoY เนื่องจากการผลิตที่ลดลงในกลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงานและเกลือแร่ (-13.9% YoY) และเครื่องดื่มรสน้ำผลไม้ (- 5.1% YoY) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักได้รับผลกระทบจากการเพิ่มภาษีน้ำตาลตามโครงสร้างภาษีใหม่ที่มีผลบังคับใช้เดือนเมษายน 2566 (รูปที่3) อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพรวมการผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมของไทยน่าจะทรงตัวหรือขยายตัวในช่วง 0.0-2.0% ในปี 2566 ซึ่งได้แรงหนุนจากผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบริสุทธิ์และน้ำแร่บรรจุขวด น้ำอัดลมและโซดา จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวและการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลของผู้ประกอบการ

    • น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: ปี 2565 ดัชนีการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น +5.2% และยังคงเติบโตต่อเนื่อง +1.8% YoY ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 (รูปที่ 6) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นตามภาวะฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับผู้ผลิตบางรายเร่งการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าจากภาวะ El Niño ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจนอาจจะส่งผลต่ออุปทานน้ำและทำให้ต้นทุนน้ำสูงขึ้นได้ในระยะถัดไป และคาดว่าการผลิตน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดทั้งปี 2566 น่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.0-.3.0%

    • น้ำอัดลมและโซดา: ปี 2565 ดัชนีการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.1% และขยายตัวถึง +6.4% YoY ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 (รูปที่ 7) ตามการกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องของกิจการร้านอาหาร สถานบันเทิง รองรับการฟื้นตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ประกอบกับทิศทางต้นทุนบรรจุภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก และอลูมิเนียม) เริ่มปรับลดลง ขณะที่ราคาน้ำตาลและภาษีความหวานที่ปรับเพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบค่อนข้างจำกัด จากการปรับตัวของผู้ผลิตน้ำอัดลมที่หันไปใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ทำให้คาดว่าการผลิตน้ำอัดลมและโซดาทั้งปี 2566 น่าจะะปรับเพิ่มขึ้น 5.5-.6.5%

 
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มนี้ ได้แก่ เบียร์ และสุรา โดยในปี 2565 การผลิตขยายตัว +9.0% ก่อนที่จะปรับลดลง -4.9% YoY ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 โดยคาดว่าทั้งปี 2566 การผลิตโดยรวมน่าจะหดตัว (-4.0)-(-5.0)% แบ่งเป็น  

    • เบียร์: ปี 2565 ดัชนีการผลิตเพิ่มขึ้น +12.1% รองรับกิจกรรมสันทนาการที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกระเตื้อง โดยเฉพาะการเปิดประเทศรองรับการทยอยเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผู้ผลิตได้ปรับตัวทางธุรกิจรองรับมาตรการภาษีโดยปรับสูตรเครื่องดื่มให้มีระดับความเข้ม (Degree) ของปริมาณแอลกอฮอล์ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 การผลิตปรับลดลง -5.0% YoY (รูปที่ 8)  เนื่องจากต้นทุนนำเข้ามอลต์ปรับเพิ่มขึ้นถึง +36.0% YoY และผู้ผลิตทยอยลดการผลิตเพื่อระบายสต๊อกสินค้า (Destocking) หลังจากที่ได้เร่งการผลิตไปมากในปี 2565 (รูปที่ 9) โดยทั้งปี 2566 คาดว่าการผลิตเบียร์น่าจะปรับลดลง (-4.5)-(-5.0)%

    • สุรา: ปี 2565 ดัชนีการผลิตหดตัว -11.1% จากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น อาทิ กากน้ำตาล (+2.0%) และเอทานอล (+7.6%) ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากราคาอ้อยที่สูงขึ้น (+15.6%) โดยการผลิตยังคงลดลงต่อเนื่อง -4.7% YoY ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (รูปที่ 10) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรยังคงมีราคาสูงขึ้น อาทิ อ้อย (+7.6% YoY) ข้าวเปลือกเจ้า (+16.1% YoY) ประกอบกับสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวขึ้นตามการหดตัวของยอดจำหน่ายสินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตเพื่อระบายสินค้า (รูปที่ 11) โดยการผลิตสุราในปี 2566 น่าจะปรับลดลง (-3.0)-(-4.0)%





 

การจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศ8/


ปี 2565 ปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโดยรวมทุกประเภทภายในประเทศเพิ่มขึ้น +6.1% จากการผ่อนปรนมาตรการ COVID-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่างๆเริ่มทยอยฟื้นตัว โดยธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ สามารถกลับมาเปิดให้บริการ และประชาชนออกมารับประทานอาหารนอกบ้านได้ตามปกติ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีช่องทางการจำหน่ายและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง +6.7% YoY แรงหนุนจากอากาศที่ร้อนติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการเครื่องดื่มดับกระหายมากขึ้น รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้คาดว่าปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศทั้งปี 2566 น่าจะเติบโต 3.5-4.0% โดยสถานการณ์ความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศจำแนกได้ ดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ในปี 2565 ปริมาณจำหน่ายขยายตัว +5.8% ตามการทยอยกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นปกติมากขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายยังคงเติบโต +10.2% YoY จากแรงหนุนต่อเนื่องของปัจจัยในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคบริการทั้งธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว โดยปัจจัยหนุนดังกล่าวยังคงส่งผลต่อเนื่องไปตลอดปี 2566 ทำให้คาดว่าปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะเติบโต 5.5-6.5% โดยผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มนี้แบ่งเป็น  

    • น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: ปี 2565 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้น +6.5% จาก 1) ความกังวลด้านโรคระบาดที่ยังมีอยู่ทำให้ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพ ความสะอาด และเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย 2) การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว และ 3) การขยายตัวประชากรและความเป็นเมือง โดยมีปัจจัยจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและ Mass Transit ที่เชื่อมต่อสู่พื้นที่ชานเมืองมากขึ้น (Conglomeration) สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายยังคงขยายตัว +3.9% YoY (รูปที่ 12) จากปัจจัยบวกที่ต่อเนื่องจากปีก่อน ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะคลื่นความร้อนและการเริ่มเข้าสู่ปรากฎการณ์ El Niño ทำให้ตลาดน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดยังคงขยายตัว โดยทั้งปี 2566 ปริมาณการจำหน่ายน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 2.5-3.0%

    • น้ำอัดลมและโซดา: ปี 2565 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้น +5.4% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรคระบาดที่หนุนการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ และสถานบันเทิง รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมสู่ทางเลือกที่หลากหลาย โดยเฉพาะการพัฒนาสูตรไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาลน้อยเพื่อตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพ สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายเติบโต +17.1% YoY (รูปที่ 13) นอกจากได้แรงหนุนของธุรกิจร้านอาหาร และสถานบันเทิง ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งยังเกิดจากอุปสงค์ของร้านค้าหรือผู้จำหน่ายตามช่องทางอื่นๆ ที่ต้องการสต๊อกสินค้าไว้ก่อนที่ผู้ผลิตน้ำอัดลมจะปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายน้ำอัดลมและโซดาในปี 2566 ทั้งปีมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น 9.0-11.0%



 

  • ​เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ในปี 2565 ปริมาณจำหน่ายขยายตัว +6.9% จากการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวที่ช่วยหนุนการกลับมาให้บริการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ผับ บาร์ และสถานบันเทิง อย่างไรก็ตาม สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายกลับมาหดตัว -4.0% YoY จากภาวะค่าครองชีพสูงบั่นทองกำลังซื้อ ทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยท่ามกลางกระแสของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น คาดว่าปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมทั้งปี 2566 น่าจะปรับลดลง (-3.0)-(-3.5)% โดยผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มนี้แบ่งเป็น   

    • เบียร์: ปี 2565 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้น +9.9% ตามการเพิ่มขึ้นของช่องทางจำหน่ายหลังจากที่ธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์กลับมาให้บริการตามปกติ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เบียร์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค อาทิ เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ เบียร์กลิ่นผลไม้ เบียร์เอล เบียร์ลาเกอร์ สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายหดตัว -4.2% YoY (รูปที่ 14) จากผลของการปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงเปราะบาง ทำให้คาดว่าปริมาณจำหน่ายเบียร์ทั้งปี 2566 น่าจะปรับลดลง (-3.0)-(-4.0)%

    • สุรา: ปี 2565 ปริมาณจำหน่ายลดลง -1.0% เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีดีกรีต่ำมากขึ้น โดยบางส่วนหันไปบริโภคเบียร์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่มีการพัฒนารสชาติใหม่ๆให้ทดลองได้หลากหลาย สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณจำหน่ายยังคงหดตัวต่อเนื่อง -1.9% YoY (รูปที่ 15) เนื่องจากผู้ผลิตได้ปรับเพิ่มราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงผู้บริโภคบางส่วนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกระแสรณรงค์ด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้คาดว่าปริมาณจำหน่ายสุราในปี 2566 น่าจะปรับลดลง (-1.0)-(-2.0)%



 

การส่งออกเครื่องดื่มของไทย​


ปี 2565 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 2.6 พันล้านลิตร (-6.4%) ขณะที่มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+6.0%) (รูปที่ 16) โดยปริมาณการส่งออกที่หดตัวส่วนใหญ่มาจาก สุรา (-15.3%) และน้ำอัดลมและโซดา (-39.7%) สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณส่งออกหดตัวเล็กน้อย -1.2% YoY และมูลค่าหดตัว -0.1% YoY จากภาวะกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ และค่าเงินที่อ่อนค่าของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้าหลัก  อาทิ กัมพูชา และเมียนม่า โดยทั้งปี 2566 คาดว่าปริมาณการส่งออกน่าจะหดตัว (-0.5)-(-1.5)% โดยจำแนกรายผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักได้ดังนี้


 

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ในปี 2565 ปริมาณการส่งออกหดตัว -6.9% ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว +2.5% โดยปริมาณส่งออกที่หดตัวส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมและโซดา โดยเฉพาะในประเทศเมียนม่าซึ่งยังเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายห้ามนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มบางประเภท9/ สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณส่งออกหดตัว -0.3% YoY และมูลค่าส่งออกหดตัว -0.3% YoY โดยทั้งปี 2566 ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะเติบโต 0.0-2.0% แบ่งเป็น  

    • น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: ปี 2565 การส่งออกเพิ่มขึ้น +77.1% ในเชิงปริมาณ และ +34.3% ในเชิงมูลค่า มาจากการขยายตัวทั้งในตลาดหลัก ได้แก่ กัมพูชา (+68.5%) และจีน (+53.0%) ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 68% ของปริมาณส่งออกน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดของไทย รวมถึงตลาดประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อาทิ ลาว (+54.4%) เมียนม่า (+429.1%) และเวียดนาม (+55.1%) จากการเปิดการค้าระหว่างชายแดน สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกขยายตัว +14.0% YoY ในเชิงปริมาณ และ +23.6% YoY ในเชิงมูลค่า (รูปที่ 17) โดยปริมาณส่งออกในตลาดที่ขยายตัวดี ได้แก่ กัมพูชา (+6.8%) จีน (+53.7%) และลาว (+66.1%) จากการกลับมาเปิดด่านการค้าชายแดน และการเพิ่มด่านการค้าใหม่ รวมทั้งตลาดจีนได้ลดความเข้มงวดในมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้า ประกอบกับความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดที่นำเข้าจากไทย ทำให้ทั้งปี 2566 ปริมาณส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.0-12.0%

    • น้ำอัดลมและโซดา: ปี 2565 การส่งออกหดตัว -39.7% ในเชิงปริมาณ และ -15.5% ในเชิงมูลค่า ส่วนใหญ่มาจากการหดตัวของตลาดเมียนม่า (-16.4%) จากการห้ามนำเข้าเครื่องดื่มบางประเภทจากทุกประเทศผ่านทางการขนส่งทางบก ขณะที่มาเลเซียหดตัว (-60.7%) จากอุปสงค์ในการสต๊อกสินค้าลดลง หลังจากที่ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารและปัญหาภัยพิบัติเริ่มคลี่คลาย สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 ปริมาณส่งออกหดตัว -6.4% YoY และมูลค่าลดลง -7.5% YoY (รูปที่ 18) จากปริมาณส่งออกที่หดตัวในตลาดเมียนม่า (-11.4% YoY) และลาว (-33.4% YoY) เนื่องจากทั้ง 2 ตลาดคู่ค้ายังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัญหาเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าซ้ำเติมให้กำลังซื้ออ่อนแอ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังค่าใช้จ่ายในกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็น โดยทั้งปี 2566 คาดว่าปริมาณส่งออกจะลดลง (-2.0)-(-3.0)%



 

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: นปี 2565 การส่งออกขยายตัว +7.1% ในเชิงปริมาณ และ +31.5% ในเชิงมูลค่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ของประเทศเพื่อนบ้านคลี่คลาย ทำให้คู่ค้าหลัก อาทิ เมียนม่า และกัมพูชา (สัดส่วน 53.3% และ 7.6%) กลับมาเปิดด่านระหว่างพรมแดนซึ่งเป็นช่องทางหลักของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จากไทย สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกหดตัว -11.9% YoY ในเชิงปริมาณ และ +1.1% YoY ในเชิงมูลค่า โดยทั้งปี 2566 ปริมาณส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยคาดว่าจะหดตัว (-10.0)-(-11.0)% แบ่งเป็น  

    • เบียร์: ปี 2565 การส่งออกเพิ่มขึ้น +1.5% ในเชิงปริมาณ และ +8.5% ในเชิงมูลค่า โดยปริมาณส่งออกขยายตัวจากประเทศเมียนม่า (+20.8%) และกัมพูชา (+44.1%) จากการเปิดด่านการค้าชายแดนตามปกติ สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกหดตัว -8.3% YoY ในเชิงปริมาณ และ +4.5% YoY ในเชิงมูลค่า (รูปที่ 19) โดยปริมาณส่งออกที่หดตัวมาจากตลาดเมียนม่า (-15.5% YoY) ซึ่งที่ผ่านมาราคาส่งออกโดยเฉลี่ยจากไทยได้ปรับสูงขึ้น (+14.0% YoY) ไม่จูงใจให้นำเข้า และผลจากที่ผู้ประกอบการในไทยได้เข้าไปลงทุนและขยายกิจการในตลาดเหล่านี้มากขึ้น โดยทั้งปี 2566 ปริมาณส่งออกคาดว่าจะปรับลดลง (-8.0)-(-10.0)%

    • สุรา: ปี 2565 การส่งออกหดตัว -15.3% ในเชิงปริมาณ และ +46.2% ในเชิงมูลค่า โดยปริมาณส่งออกที่หดตัวมาจากตลาดไต้หวัน (-94.5%) และฟิลิปปินส์ (-39.2%) สัดส่วนรวมกัน 21.9% ของปริมาณส่งออกสุราจากไทยทั้งหมด เนื่องจากทั้งสองประเทศลดการนำเข้าสำหรับการสต๊อกแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากไทย10/ หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ได้คลี่คลาย ปัจจัยดังกล่าวยังคงทำให้ การส่งออกหดตัว -16.8% YoY ในเชิงปริมาณ และ +11.9% YoY ในเชิงมูลค่า ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 (รูปที่ 20) ทำให้ทั้งปี 2566 คาดว่าปริมาณส่งออกคาดการณ์จะปรับลดลงต่อเนื่อง (-14.0)-(-16.0)%​




 

แนวโน้มอุตสาหกรรม​


แนวโน้มปริมาณการผลิตเครื่องดื่มคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 1.5-2.5 % ต่อปี โดยแรงหนุนการเติบโตมาจาก 1) ภาวะ El Niño ส่งผลให้อุณหภูมิของไทยเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่ม และ 2) สต๊อกสินค้าที่มีแนวโน้มลดลงจากการเร่งระบายสต๊อกในช่วงที่ผ่านมา (Destocking) โดยเริ่มเข้าสู่การสะสมสต๊อกรอบใหม่ (Restocking) เพื่อรองรับทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านอุปทานที่อาจกดดันการผลิตมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของภาวะ El Niño  ที่จะรุนแรงขึ้น ส่งผลให้น้ำและพืชผลเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แม้ว่าต้นทุนบรรจุภัณฑ์อาจจะลดลงบ้างตามทิศทางราคาพลังงานที่ปรับตัวลง โดยรายละเอียดในแต่ละผลิตภัณฑ์เป็นดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ปริมาณการผลิตในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดจะขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี และ 2) น้ำอัดลมและโซดาจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี โดยการขยายตัวส่วนใหญ่มีแรงหนุนจากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ (Demand Driven) โดยเฉพาะจากธุรกิจท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับคืนสู่ระดับก่อนช่วง COVID-19 ในปี 2568 ทำให้ผู้ผลิตบางรายเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมากระตุ้นตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มในเชิงสุขภาพ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ปริมาณการผลิตในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.0-2.0% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) เบียร์คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.0-2.0% ต่อปี และ 2) สุราจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.0-1.0 ต่อปี  โดยปัจจัยหนุนมาจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว และธุรกิจสถานบันเทิง แต่ยังคงมีข้อจำกัดของการเติบโตด้านอุปทานจากต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ อาทิ อ้อย และข้าว คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของ El Niño ที่รุนแรงมากขึ้น


 

แนวโน้มปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ต่อปี ตามความต้องการของผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้นจากผลของสภาวะอากาศที่ร้อน การฟื้นตัวเต็มรูปแบบของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ผับ บาร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้การขยายตัวของเมืองและร้านค้าปลีกสมัยใหม่อย่างต่อเนื่องยังส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย โดยแบ่งเป็นรายผลิตภัณฑ์ ดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี จาก 1.1) ผู้บริโภคเลือกบริโภคสินค้าที่มีมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยมากขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์ COVID-19 1.2) ภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นและภัยแล้งทำให้ความต้องการน้ำดื่มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้บริโภคในพื้นที่ห่างไกลต้องพึ่งพาน้ำบรรจุขวด เนื่องจากสภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูง น้ำประปา/น้ำบาดาลในบางพื้นที่จึงมีรสชาติเค็มหรือรสชาติที่เปลี่ยนไป และ 1.3) การขยายตัวของชุมชนเมืองและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ช่วยหนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น และ 2) น้ำอัดลมและโซดาจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี แรงหนุนมาจาก 2.1) การฟื้นตัวเต็มรูปแบบของธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  2.2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ภาวะโลกเดือดมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องการบริโภคเครื่องดื่มที่ทำให้รู้สึกสดชื่นและดับกระหาย อย่างไรก็ตาม มาตรการเข้มงวดในการควบคุมความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรอบล่าสุดที่มีผลตั้งแต่เดือนเมษายา 2566 ยังเป็นข้อจำกัดการเติบโตของเครื่องดื่มกลุ่มนี้ในตลาดในประเทศ แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมที่ตอบรับกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ ไม่มีน้ำตาล/น้ำตาลน้อย และมีแคลอรีต่ำแล้วก็ตาม

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะยังทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย ที่ 0.0-2.0% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น  เบียร์ขยายตัว 1.0-2.0% ต่อปี และสุราขยายตัวเล็กน้อย 0.0-1.0% ต่อปี โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวที่ชัดขึ้นของธุรกิจท่องเที่ยว และการกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องของกิจกรรมทางธุรกิจ หนุนความต้องการที่มาจากธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ และสถานบันเทิง อย่างไรก็ตามปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตให้อยู่ในอัตราต่ำ ได้แก่ 1) กระแสใส่ใจด้านสุขภาพที่มากขึ้นทำให้ผู้บริโภคบางส่วนลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง และ 2) ช่องทางการจำหน่ายที่ยังถูกจำกัดจากกฎหมายควบคุมให้จำหน่ายผ่านร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Offline Retail) เท่านั้น รวมทั้งการห้ามโฆษณา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคตามสื่อและช่องทางออนไลน์ต่างๆ แม้ว่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆโดยเฉพาะเบียร์ที่มีรสชาติแปลกใหม่และพัฒนาคุณภาพของส่วนผสม เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีในการบริโภคก็ตาม

แนวโน้มปริมาณส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ต่อปี จากการเปิดด่านชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญ ประกอบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบางประเภททำให้ได้รับความนิยมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น11/  โดยแบ่งเป็นรายผลิตภัณฑ์ดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดจะขยายตัว 11.5-12.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายช่องทางการค้าของกลุ่มประเทศ CLMV อาทิ เมียนม่า ลาว กัมพูชา ที่เป็นคู่ค้าหลักซึ่งส่วนใหญ่ยังมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำสะอาดที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย 2) น้ำอัดลมและโซดาจะหดตัว (-2.0)-(-3.0)% ต่อปี เนื่องจากคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนม่า มีการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทย บริษัทข้ามชาติ และบริษัทท้องถิ่นมากขึ้น ประกอบกับราคาจำหน่ายเครื่องดื่มท้องถิ่นมีราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้า 3) เครื่องดื่มให้พลังงานจะขยายตัว 4.5-5.5% ต่อปี โดยแรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากประเทศเวียดนาม ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการแหล่งพลังงานที่สดชื่นและรวดเร็วตามวิถีชีวิตที่เร่งรีบและทำงานหนักมากขึ้น และ 4) น้ำผลไม้จะทรงตัวที่ 0.0-1.0% ต่อปี โดยตลาดที่ขยายตัวได้แก่ ประเทศจีนซึ่งผู้บริโภคนิยมนำน้ำผลไม้ไปผสมเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ความต้องการจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอาจยังฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะหดตัว (-4.5)-(-5.5)% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) เบียร์จะหดตัว (-4.0)-(-5.0)% ต่อปี และ 2) สุราจะหดตัว (-5.0)-(-6.0)% เนื่องจาก i) ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่งเป็นตลาดหลักยังมีแนวโน้ม ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยตามภาวะกำลังซื้อที่ยังมีแนวโน้มเปราะบาง ii) การแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศยังเผชิญการแข่งขันค่อนข้างสูงจากการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ






1/ ที่มา : Euromonitor, Ministry of Commerce
2/ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2565 ที่ 35.07 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
3/ เป็นการใช้เครื่องมือหรือวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมคุณภาพเพื่อให้มีแอลกอฮอล์เพียงพอที่จะนำไปกลั่น ตัวอย่างเครื่องมือและวิธี อาทิ Density Meter, Gas Chromatograph, UV-Visible Spectrophotometer (ที่มา: กรมสรรพสามิต) 
4/ Suggested  Retail Price คือ ราคาขายที่ผู้ผลิต แนะนำให้ผู้ขายหรือผู้ค้าปลีกจำหน่ายสินค้า
5/ Alcohol by Volume คือปริมาณแอลกอฮอล์โดยปริมาตร หรือเรียกอีกอย่างว่า ดีกรี
6/ ที่มา: ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเสียภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละศูนย์สำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้และน้ำพืชผัก
7/ ที่มา: ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเสียภาษีในอัตราตามมูลค่าสำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารหรือสารอื่น
8/ การจำหน่ายของปี 2565 ใช้ข้อมูลจาก Euromonitor และการจำหน่ายของ 8 เดือนแรกปี 2566 ใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
9/ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟและชา กาแฟสำเร็จรูป นมข้นหวาน และนมข้นจืด ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน (ที่มา: รัฐบาลไทย)
10/ แอลกอฮอล์ที่ใช้นั้นจะมีเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ต่อปริมาณของสารละลายมากกว่า 80 ขึ้นไป ซึ่งสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหรือเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุรา (ที่มา : U.S. Food & Drug Administration และ กรมสรรพสามิต)
​11/ ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา