สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง

สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง

by ภัทรพล เหลือบุญชู (Boom JapanSalaryman)
ย้อนไปเกือบ 10 ปีที่แล้วในเรียงความสอบชิงทุนเข้ามหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ข้อสอบข้อเขียนเข้ามหาวิทยาลัยเค้าตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า “ทำไมถึงสนใจอยากเข้าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น”

ผมคิดไว ๆ ตอนนั้นตามประสาเด็กไทยที่เติบโตมาโดยได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งการ์ตูน ของเล่น รวมถึงวิวัฒนาการความก้าวหน้าในอุตสากรรมรถยนต์ ซึ่งเราจะเห็นว่า รถยนต์ส่วนใหญ่ในไทย คือรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น พ่อผมเองก็ขับรถแบรนด์ญี่ปุ่นด้วย ทำให้ตอนเด็กเคยสงสัยอยู่ตลอดว่า “ทำไมญี่ปุ่นถึงเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และทำไมคนไทยถึงชอบซื้อรถญี่ปุ่นกัน?” “ซักวันนึง ถ้าได้ไปเรียนที่นั่นก็คงดีนะ คงได้เรียนรู้อะไรจากญี่ปุ่นอีกเยอะเลย”
 
สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง

แล้ววันนั้นก็มาถึง ผมได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น และท้ายที่สุดก็ได้ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นมาถึงปัจจุบันนี้ (นับจนถึงปัจจุบันก็คลุกคลีอยู่กับญี่ปุ่นจริง ๆ จัง ๆ มา 13 ปีแล้ว)

สำหรับคนไทยนอกจากปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว คนจำนวนไม่น้อย จะรู้สึกว่าอยากมีรถและบ้านเป็นของตัวเอง (รถส่วนมากก็เป็นรถสัญชาติญี่ปุ่น) แต่ในทางกลับกันผมรู้สึกแปลกใจว่า หลาย ๆ ปีมานี้มักจะได้ยินในข่าวที่ออกอากาศในญี่ปุ่นว่า
“คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นยุคนี้ไม่ค่อยอยากมีรถเป็นของตัวเอง” (ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Wakamono no Kuruma Banare)

ข้อมูลอาจจะเก่านิดนึงเป็นของปี 2008 นี่คือภาพแผนที่กรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง พื้นที่สีแดงคือ พื้นที่ ๆ คนรุ่นใหม่ (วัย 20 และวัย 30) มีอัตราการครอบครองรถยนต์มากกว่า 95% ซึ่งจะกระจุกห่างออกไปจากพื้นที่แกนกลางของกรุงโตเกียว ในขณะที่พื้นที่แกนกลางโตเกียวจะมีอัตราการครอบครองรถของคนรุ่นใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นั่นหมายความว่า ยิ่งเข้าไปในเมืองมากขึ้น อัตราการครอบครองรถยนต์ก็ยิ่งน้อยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
 
เอกสารสำรวจการโยกย้ายประชากร ของกรุงโตเกียวและละแวกใกล้เคียง
ข้อมูลจากเอกสารสำรวจการโยกย้ายประชากร ของกรุงโตเกียวและละแวกใกล้เคียง
จาก Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism of Japan

https://www.mlit.go.jp
 

เพราะอะไรคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีรถเป็นของตัวเอง


1. ระบบการขนส่งสาธารณะดีมาก ๆ

อยากไปไหนก็ไปถึง จึงไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปโรงเรียนและที่ทำงานด้วย โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรมากๆ จะเห็นว่าตัวเลขสถิติอัตราการครอบครองรถยนต์ของคนเมืองนั้นจะต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะโตเกียวและโอซาก้า ที่มีสถิติอัตราการครอบครองรถยนต์ต่ำสุดเป็นอันดับ 1 และ 2

อีกทั้งในช่วงวันหยุด ถ้าตั้งใจจะเดินทางไปไหนไกล ๆ และต้องการใช้รถยนต์ ก็มีทางเลือกหลากหลาย เช่น การเช่ารถเป็นครั้งคราว ซึ่งทางเลือกนี้ช่วยให้เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นมากมายขณะครอบครองรถยนต์ (ซึ่งจะได้เล่ารายละเอียดให้ทราบต่อไปในบทความนี้)
 

2. มีผู้ให้บริการเช่ารถยนต์หลากหลาย และสะดวกสบายมาก

เมื่อวิเคราะห์การใช้ชีวิตในชุมชนเมืองแล้วจะรู้สึกว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ขับรถไปไหนมาไหนเอง การเช่ารถเป็นครั้ง ๆ ไป จึงคุ้มกว่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปเมื่อครอบครองรถ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ, ค่าตรวจสภาพรถยนต์, ภาษีรถยนต์ เป็นต้น

เท่าที่ผมได้ค้นหาข้อมูลสถิติจำนวนรถเช่าในประเทศญี่ปุ่นจากสมาคมการตรวจสภาพและการลงทะเบียนข้อมูลรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (AIRIA) พบว่า จำนวนรถเช่าทั่วประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2010  มีจำนวน 228,485 คัน เวลาผ่านไป 10 ปี มีจำนวนรถเช่าทั่วประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2020 มีมากถึง 499,234 คัน ซึ่งมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 2.18 เท่าตัวเลยครับ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นหันมาใช้รถเช่ามากขึ้นเพราะว่า ผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ให้เช่าส่วนใหญ่จะตั้งศูนย์บริการรถเช่าเอาไว้ใกล้ ๆ สถานีรถไฟ และสนามบินใหญ่ ๆ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างบริษัท TOYOTA Rent a car ก็มีศูนย์ให้บริการรถเช่าอยู่มากถึง 1,200 สาขาทั่วประเทศ เห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับว่าจะสะดวกสบายแค่ไหน ช่วงหลัง ๆ ที่ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วต้องการขับรถไปต่างจังหวัดผมก็ใช้บริการรถเช่าที่อยู่ตามสถานีรถไฟนี่ล่ะครับ
 
สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง
 

3. มีรถเมื่อไหร่ ปวดหัวเรื่องค่าใช้จ่ายทันที

เพื่อนๆ คนไหนที่มีรถยนต์อยู่แล้ว น่าจะเข้าใจในประเด็นนี้ คนที่ผ่อนรถก็จะมีค่าผ่อนรถในทุก ๆ เดือน ไหนจะมีค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าประกัน ค่าต่อภาษีรถยนต์ ค่า พ.ร.บ. ค่าบำรุงรักษารถยนต์อีก ซึ่งในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ประเมินไว้คร่าว ๆ ว่า ถ้าซื้อรถยนต์ราคาไม่เกิน 600,000 บาท สรุปรวมค่าใช้จ่ายรวมค่าผ่อนรถยนต์แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ  170,000 - 180,000 บาท/ปี


ทีนี้เรามาดูค่าใช้จ่ายเมื่อมีรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นกันบ้าง


1. ค่าน้ำมัน
ในส่วนตรงนี้ผมจะไม่ไปลงรายละเอียดมาก เพราะราคาน้ำมันจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบโลก แต่ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มีในทุก ๆ เดือนอยู่แล้ว ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งค่าใช้จ่ายสูง
 
สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง

2. ค่าทางด่วน
ถ้าใครมีโอกาสขับรถที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีข้อสงสัยว่าทำไมค่าทางด่วนที่ญี่ปุ่นแพงเหลือเกิน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศญี่ปุ่นไม่ค่อยมีที่ราบ มีภูเขาเยอะ การสร้างทางด่วนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองจึงต้องมีการเจาะอุโมงค์หรือทำสะพานค่อนข้างมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการสร้างทางด่วนสูง นั่นทำให้ค่าทางด่วนของญี่ปุ่นนั้นแพงกว่า ค่าทางด่วนในฝรั่งเศสและอิตาลีอีก โดยระยะทางเพียงแค่ 1 กิโลเมตร มีค่าทางด่วนแพงถึง 25 เยน (ลองคิดดูสิครับ วิ่งรถสัก 20 กิโลเมตรบนทางด่วน ก็มีค่าใช้จ่ายประมาณ 500 เยนแล้ว)

3. ค่าจอดรถ
ที่ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าค่าจอดรถแพงมาก โดยเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ ๆ ถ้าจอดเป็นครั้งคราวไปจะมีค่าใช้จ่ายหลายร้อยเยนต่อชั่วโมง แต่จะถูกลงเมื่อเป็นพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองออกมา แต่สำหรับคนที่ครอบครองรถแล้ว ถ้าบ้านพักอาศัยไม่มีพื้นที่จอดรถ เราอาจจะต้องมีความจำเป็นไปหาที่จอดรถเช่ารายเดือนอีก ซึ่งจากที่ผมหาข้อมูลได้ ค่าเช่าจอดรถรายเดือนในญี่ปุ่นจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8,288 เยน/เดือน แต่สำหรับเมืองใหญ่ที่ดินมีราคาสูงมาก ทำให้ค่าเช่าจอดรถรายเดือนจะแพงเป็นพิเศษ โดยค่าเช่าจอดรถในกรุงโตเกียวจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 เยน/เดือน และในโอซาก้าจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 เยน/เดือน

4. ค่าประกันรถยนต์
ที่ญี่ปุ่นจะมีการทำประกันอยู่ 2 ประเภทหลักๆ
 
ความแตกต่างระหว่างประกันประเภท Jibaiseki-Hoken และ Nini-Hoken
ความแตกต่างระหว่างประกันประเภท Jibaiseki-Hoken และ Nini-Hoken
ข้อมูลจาก https://www.sbisonpo.co.jp/car/beginner/

ประเภทแรกคือ Jibaiseki-Hoken (自賠責保険) เป็นประกันความชดเชยค่าเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยที่เกิดขึ้นให้กับคู่กรณี กรณีเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งเป็นประกันภาคบังคับตามกฎหมาย ผู้ครอบครองรถทุกคนมีหน้าที่ต้องทำประกันตัวนี้ขณะซื้อรถ หรือขณะตรวจสภาพรถยนต์ โดยจะมีค่าใช้จ่าย 25,830 เยนสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา และ 25,070 เยน สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก (และมีระยะเวลาคุ้มครองเป็นระยะเวลา 24 เดือน ถ้าประกันหมดก็ต้องซื้ออีกตอนตรวจสภาพรถยนต์)

ประเภทที่สอง คือ Nini-Hoken (任意保険) เป็นประกันที่สามารถซื้อได้ตามความสมัครใจของผู้ครอบครองรถ มีรูปแบบหลากหลาย และเบี้ยประกันถูกแพงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ประเภทรถยนต์ อายุผู้ทำประกัน ความคุ้มครองหรือทุนประกัน ระยะทางที่ขับขี่ จึงไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนเป๊ะๆ ได้ แต่โดยประมาณแล้ว จะมีค่าเบี้ยประกัน 65,000 เยน/ปี สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา และ 55,000 เยน/ปี สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก โดยคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะตัดสินใจทำประกันประเภทนี้ด้วย เพื่อให้คุ้มครองได้มากกว่าประกันภาคบังคับ เช่น คุ้มครองชีวิต และคุ้มครองทรัพย์สินผู้ขับขี่ด้วย ซึ่งเป็นประกันที่ได้รับความแพร่หลายมาก โดยสถิติเดือนมีนาคม 2019 ที่ระบุไว้เกี่ยวกับอัตราความแพร่หลายของการทำประกันประเภทนี้ในญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีผู้ทำประกันประเภทนี้มากถึง 88.2% ทั่วประเทศ

5. ค่าภาษีรถยนต์
 
สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง

ที่ญี่ปุ่นเมื่อครอบครองรถหนึ่งคัน จะมีภาษีหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ประเภท
  • ภาษีรถยนต์ (Automobile Tax) ซึ่งเป็นภาษีที่ผู้ครอบครองรถจะมีภาระค่าใช้จ่ายทุกปี ถูกแพงขึ้นอยู่กับอัตราการปล่อย CO2 ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-100,000 เยน สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา และ 10,800 เยน สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก
  • ภาษีคิดตามน้ำหนักของรถ (Automobile Weight Tax) ซึ่งเป็นภาษีที่ผู้ครอบครองรถจะมีภาระค่าใช้จ่าย เมื่อขึ้นทะเบียนรถใหม่ หรือตอนตรวจสภาพรถยนต์ สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา จะมีค่าใช้จ่าย 2,500 เยน/น้ำหนัก 0.5 ตัน/ปี (กรณีเป็นรถยนต์ Eco Car) และ 4,100 เยน/น้ำหนัก 0.5 ตัน/ปี(กรณีที่ไม่ได้เป็นรถยนต์ Eco Car) สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็กจะคิดเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดคือ 2,500 เยน/ปี (กรณีเป็นรถยนต์ Eco Car) และ 3,300 เยน/ปี (กรณีที่ไม่ได้เป็นรถยนต์ Eco Car)

6. ค่าบำรุงรักษารถยนต์อื่นๆ (ค่าตรวจสภาพรถยนต์, ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง, ค่าเปลี่ยนยางรถยนต์ เป็นต้น)
ที่ญี่ปุ่นจะมีระเบียบการตรวจสภาพรถยนต์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองรถยนต์ทุกท่าน สำหรับการซื้อรถใหม่ จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ครั้งแรกใน 3 ปีถัดจากปีที่ซื้อ จากนั้นจะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถยนต์จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพรถยนต์ และผู้ให้บริการ

สำหรับการเข้ารับบริการที่บริษัทดีลเลอร์จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 เยน/ครั้ง สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา และ 70,000 เยน/ครั้ง สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก

สำหรับการเข้ารับบริการที่ศูนย์รวมอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์และศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 เยน/ครั้ง สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา และ 50,000 เยน/ครั้ง สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก

นอกจากนี้เมื่อวิ่งรถไปได้ซักระยะ อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง, ค่าเปลี่ยนยางรถยนต์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามประเภทน้ำมันเครื่อง ประเภทยางรถยนต์ และผู้ให้บริการ แต่จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลายพันเยน ไปจนถึง 50,000 เยน/ครั้ง

เห็นมั้ยครับว่า เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังจากครอบครองรถยนต์ตามที่ผมได้ยกตัวอย่างข้างต้น เพื่อน ๆ น่าจะเข้าใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยถึงรู้สึกขยาดหวาดกลัวกับการที่จะต้องเป็นเจ้าของรถใหม่สักหนึ่งคัน ด้วยภาระค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องแบกรับ จะหาที่จอดรถในตัวเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แถมมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงอีก เมื่อเป็นแบบนี้ การตัดสินใจเลือกที่จะเช่ารถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น และใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่า

ถ้าวันข้างหน้าบ้านเรามีระบบขนส่งสาธารณะที่เพียบพร้อมกว่านี้ ไปได้ทุกที่ด้วยการนั่งรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน มีผู้ให้บริการรถเช่าที่คิดค่าบริการถูก ๆ ไม่แน่นะว่า เราอาจจะเห็นค่านิยมแบบเดียวกันในเมืองไทยก็ได้ที่หนุ่มสาวไทยรุ่นใหม่ไม่อยากมีรถเป็นของตัวเอง

อ้างอิงข้อมูลจาก:
  1. ข้อมูลรถเช่าที่ลงทะเบียนไว้กับ Automobile Inspection & Registration Information Association (AIRIA) ประเทศญี่ปุ่น: http://www.rentacar.or.jp
  2. คาร์ทิป: ค่าใช้จ่ายเมื่อมีรถ (มติชนออนไลน์) https://www.matichon.co.th
  3. ภาษีรถยนต์ญี่ปุ่น (ข้อมูลจาก Ministry of Economy, Trade and Industry) http://car-tax.go.jp
  4. ค่าเช่าจอดรถรายเดือนในญี่ปุ่น (ข้อมูลจาก Jidosha Hoken Guide) https://www.car-hokengd.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow