“วันนี้กินไรดี?” ทำไมการตัดสินใจเลือกร้านอาหารถึงยากเกินเหตุ

“วันนี้กินไรดี?” ทำไมการตัดสินใจเลือกร้านอาหารถึงยากเกินเหตุ

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
เย็นนี้กินอะไรดี? คำถามที่น้อยครั้งเราจะได้คำตอบชัดเจนและทันท่วงที และบ่อยครั้งที่เราต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง (หรือบางทีก็มากกว่านั้น) ในการตัดสินใจ คิดแล้วคิดอีก เปรียบเทียบราคา ดูข้อดีข้อเสียแต่ละร้าน จนกว่าจะได้คำตอบสักที ซึ่งทุกคนน่าจะเคยประสบปัญหาการตัดสินใจเลือกร้านอาหารไม่ได้ ไม่ว่าจะเดินอยู่กลางห้างสรรพสินค้าที่มีทางเลือกร้านอาหารเป็นร้อยร้าน หรือนั่งไถเลือกร้านอยู่ในแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ไม่ว่าจะเลือกผ่านทางไหน ก็ยากไปซะทุกทาง เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาทำความเข้าใจปัญหาที่ทุกคนต้องเจอกันค่ะ
วันนี้กินไรดี? ทำไมการตัดสินใจเลือกร้านอาหารถึงยากเกินเหตุ
The Choice Overload Effect
ความเป็นไปได้มากที่สุดของการตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกินอะไรดี มักมาจากการมี ‘ทางเลือก‘ มากจนเกินไป มีการทดลองจากมหาวิทยาลัย Columbia University ที่ถูกพูดถึงบ่อยมากเกี่ยวกับปรากฎการณ์ Choice Overload Effect โดยเริ่มจากทีมนักวิจัยตั้งบูธให้ลูกค้าชิมแยมรสชาติต่าง ๆ ซึ่งมี 2 รูปแบบ แบบแรกจะให้ลูกค้าชิมแยมทั้งหมด 6 รสชาติ และเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ก็จะเปลี่ยนให้มีแยมตั้งให้ชิมในบูธนั้นถึง 24 รสชาติ (อ่านไปแล้วก็อยากรู้เลยว่านักวิจัยคิดค้นแยมได้ถึง 24 รสชาติได้ยังไง) โดยหลังการวิจัยครั้งนี้ก็ได้ผลสรุปออกมาว่า
เมื่อบูธชิมแยมมีแยมถึง 24 รสชาติ 60% ของลูกค้าตัดสินใจหยุดดูและขอลองชิม แต่มีเพียง 3% เท่านั้นที่ตัดสินใจซื้อกลับบ้าน ในขณะบูธที่มีแยมให้ชิมเพียง 6 รสชาติ มีลูกค้าเพียง 40% ที่หยุดลองชิม แต่มีลูกค้าจำนวนถึง 30% ที่หยุดชิมแล้วตัดสินใจซื้อแยมนั้นกลับบ้านไปด้วย สรุปง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งทางเลือกเยอะ ก็ยิ่งดึงดูดความสนใจของลูกค้า แต่ทางเลือกที่น้อยต่างหากที่ทำให้ลูกค้าซื้อจริง ๆ
ถ้าเอาปรากฎการณ์นี้มาใช้อธิบายความยากลำบากของการเลือกร้านอาหาร ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อเรามีทางเลือกในการหาร้านอาหารเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะร้านในห้าง หรือในแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ก็ยิ่งทำให้เราตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะกินร้านไหนดี เทียบกับเมื่อก่อนถ้าสั่งอาหารในโรงเรียน หรือโรงอาหารที่มีทางเลือกน้อยกว่า ก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่ากินร้านไหนดีที่สุด
แก้ยังไง?
รู้ปัญหาแบบนี้แล้ว ครั้งหน้าที่ลังเลว่าจะกินอะไรดี ให้เริ่มจากการตัดช้อยส์! ในเมื่อทางเลือกที่เยอะ ยิ่งทำให้เราสับสน ให้หาทางตัดทางเลือกบางอย่างที่ไม่ต้องการแน่ ๆ ออกไป ลองถามคำถามตัวเองว่า ช่วงนี้ต้องการไดเอตรึเปล่า? คนที่เราจะกินข้าวด้วยเป็นมังสวิรัติรึเปล่า? เมื่อมื้อกลางวันเพิ่งกินอาหารญี่ปุ่นมา และไม่อยากกินซ้ำอีกมื้อ ตอบคำถามเหล่านี้เพื่อช่วยคัดทางเลือกร้านอาหารให้น้อยลง หรือเลือกร้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการมาให้ได้สัก 4-6 ร้าน แล้วค่อย ๆ ตัดช้อยส์ออกก็ได้เช่นกัน
Fear and Uncertainty
และต่อจากข้อเมื่อกี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราเลือกไม่ได้สักทีว่าจะกินอะไรดี คือความกลัวและความไม่มั่นใจของเรานี่ล่ะ มีนักวิจัยที่ระบุว่าความกลัว และความไม่ชัวร์ของเราทำให้เราตัดสินใจได้แย่ลง ซึ่งเป็นเพราะยิ่งเรามีความกลัว และความไม่มั่นใจ ยิ่งส่งผลให้สมองของเราจินตนาการผลลัพธ์แย่ ๆ เตรียมไว้ก่อนเลย โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงสักเท่าไร มีงานวิจัยของ Caltech ที่ทำการวิจัยสมองของกลุ่มตัวอย่างและพบว่า ยิ่งมีความไม่มั่นใจมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิด cognitive highjack หรือการตัดสินใจผ่านอคติแทนที่จะใช้สมองส่วนที่ใช้ตรรกะคิดแทน
ลองจินตนาการว่าเวลาเรากำลังตัดสินใจเลือกร้านที่อยากกิน สมองของเราก็จะคิดถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ จากการเลือกอาหารนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มค่าของราคาอาหาร รสชาติของอาหาร สารอาหารที่จะได้จากมื้อนั้น ๆ เพื่อนในกลุ่มที่จะไปกินด้วยกันจะชอบหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรามักจะบอกตัวเองในหัวว่า ถ้าเราเลือกกินชาบูร้านนี้ สุดท้ายตอนกินเสร็จจะต้องรู้สึกอ้วนแน่เลย ถ้าเรากินอาหารคลีนอีกร้านแทน สุดท้ายมันจะไม่อร่อยและแพงเกินเหตุไหมนะ ซึ่งความกลัว และความไม่มั่นใจเหล่านี้ยิ่งทำให้เราตัดสินใจยากขึ้น เพราะ “กลัวที่จะเลือกผิด” นี่ล่ะ
แก้ยังไง?
จับสังเกตว่าสมองของเรากำลังมองโลกในแง่ร้ายอยู่รึเปล่า ร้านชาบูที่อยากกิน อาจจะมีเมนูที่ไม่ต้องสั่งบุฟเฟ่ต์ หรือร้านอาหารคลีนอาจจะมีโปรโมชั่นที่ราคาไม่แพงและอร่อยถูกปากก็ได้ พยายามมองหาโอกาส และข้อดีของการลองร้านอาหารนั้น ๆ มากกว่าที่จะมองหาปัญหาของมัน (และถึงแม้ตัดสินใจกินร้านอาหารที่สุดท้ายแล้วไม่ถูกปาก ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ซะหน่อย ครั้งหน้าจะได้ตัดช้อยส์ถูก)
วันนี้กินไรดี? ทำไมการตัดสินใจเลือกร้านอาหารถึงยากเกินเหตุ
อีกทางแก้ที่ง่ายไปกว่านั้นคือลองตัดความกังวลที่เราต้องมานั่งเลือกออกไป โดยลองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีตอนนี้แทน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันแนะนำอาหารต่าง ๆ หรือค้นหาร้านอาหารใน Google Maps ที่เสิร์ชร้านอาหารใกล้ ๆ สถานที่ที่เราอยู่ได้ พร้อมดูรีวิวแต่ละร้านได้เลย หรือลองเครื่องมือสุ่มอย่างเว็บไซต์ https://wheelcarnival.com/what-to-eat ที่ทำออพชั่นร้านอาหารคร่าว ๆ มาให้แล้ว (เช่น อาหารไทย อาหารอิตาเลียน ซูชิ และอื่น ๆ) โดยไม่ต้องรอโหลดแอป แค่เข้าไปแล้วกดหมุนวงล้อให้โชคชะตาตัดสินใจแทนเราซะเลย ซึ่งเราสามารถเลือกแก้ไขออพชั่นในวงล้อให้ตรงกับร้านที่อยู่ตรงหน้าเราได้ด้วยนะ
ใครที่เจอปัญหานี้ หรือมีคนใกล้ตัวที่เลือกร้านอาหารไม่ได้สักที ลองแชร์บทความนี้ไปให้อ่านดู เผื่อเย็นนี้นัดกินข้าวกันจะได้ไม่ต้องลังเลจ้า!
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา