Wellness 2020 เทรนด์ความสุขสมบูรณ์ที่จะกลับมาอีกครั้ง

Wellness 2020 เทรนด์ความสุขสมบูรณ์ที่จะกลับมาอีกครั้ง

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
หลาย ๆ คนคงเคยไถ Instagram แล้วมักเจอโพสต์อย่าง อินฟลูเอนเซอร์แชร์วิดีโอออกกำลังกายในบ้าน และเพื่อนทำอาหารเช้าเป็นขนมปังหน้าอโวคาโด สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานให้เราเห็นว่าเทรนด์ของ Wellness หรือที่ภาษาไทยอาจใช้คำว่า “ความสุขสมบูรณ์” นั้น ยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะสำหรับคนเจเนอเรชั่นมิลเลนเนียล เคยมีผลการศึกษาจาก Pew Research Center ที่ระบุว่าคนยุคมิลเลนเนียลมีวินัยในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ มิลเลนเนียลใช้เวลากับการดูแลตัวเอง อย่างการออกกำลังกาย ทำแพลนไดเอทให้ตัวเอง และการบำบัดตนเอง มากกว่าคนเจเนอเรชั่น Baby Boomers ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
และมันก็ส่งผลดีต่อ startup ต่าง ๆ ในยุคนี้ ที่จับเอาประเด็นดังกล่าวมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนมิลเลนเนียล ถ้าลองมองย้อนไปเมื่อสองสามปีที่แล้ว คำว่า Wellness หรือ Self-Care แทบจะเป็นอะไรที่เราได้ยินทุกที่ ในปี 2018 หนึ่งในหมวดแอปพลิเคชั่นที่มียอดดาวน์โหลดเติบโตสูงที่สุดทั้งใน iOS และ Android ก็คือหมวด Self-Care ซึ่งมียอดดาวน์โหลดในสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวถึง 15 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และมากถึง 27 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐสำหรับยอดดาวน์โหลดทั่วโลก ถึงขั้นที่ ‘Self-Care’ ได้คว้าตำแหน่ง App Trend of the Year จาก Apple ประจำปี 2018 ไปครอง
ความยิ่งใหญ่ของเทรนด์ Wellness ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะยังมีงานประชุมระดับโลกที่มีชื่อว่า Global Wellness Summit ซึ่งถูกก่อตั้งมาเมื่อต้นปี 2000 เพื่อรวบรวมเหล่าเจ้าของกิจการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ Wellness ทั้งหลายมาเจอกัน แลกเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน โดยงานประชุมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2007 ในนิวยอร์ก จนถึงปัจจุบัน Global Wellness Summit จัดขึ้นมาถึง 13 ครั้ง โดยในปี 2020 Global Wellness Summit ยังรวบรวมเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2020 เอาไว้ด้วย อย่างการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพจิตและความสุขสมบูรณ์ หรืออุตสาหกรรมดนตรีที่จะหันมาสร้างเสียงเพื่อความสุขสมบูรณ์มากขึ้น คล้าย ๆ กับดนตรีบำบัดที่เราเคยได้ยินกัน
และหนึ่งในเทรนด์นั้นยังพูดถึงก็คือ ความถูกต้องของหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับความสุขสมบูรณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือ ในปี 2020 คนจะตั้งคำถาม และหาที่มาของความสุขสมบูรณ์แบบที่เชื่อถือได้มากขึ้น เราต้องแยกแยะให้ออกว่าอันไหนคือการบำบัดเพื่อความสุขสมบูรณ์จริง ๆ และอันไหนคือหลอกขายของแบบลวงโลก ซึ่ง Global Wellness Summit ยังมีการยกตัวอย่างบริษัท Goop ของนักแสดงสาว Gwyneth Paltrow ที่กลายเป็นข่าวฉาวจากกรณี pseudoscience (วิทยาศาสตร์ปลอมเปลือก) จากการขายผลิตภัณฑ์แปลก ๆ อย่าง หยกรูปไข่สำหรับใช้สำเร็จความใคร่ ราคา 66 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ที่เหล่าสูตินรีแพทย์ก็ออกมาบอกแล้วว่ามันไม่ควรสุด ๆ ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า Wellness และ Self-Care แบบไหนกันแน่ ที่เชื่อได้ และจะส่งผลดีกับตัวเราได้จริง ๆ
อย่างไรก็ตาม Wellness และ Self-Care อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราพอทำได้ และเป็นประโยชน์กับตัวเองในช่วงเวลาแบบนี้เหมือนกัน ถ้าคุณอ่านแล้วอยากลองจอยเทรนด์นี้ดู เรามีตัวอย่างง่าย ๆ มาให้

Gratitude Journal

สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้ยินคำนี้ Gratitude Journaling หมายถึงการบันทึกเรื่องที่เรารู้สึกขอบคุณ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องบวกในชีวิตที่เราได้พบได้เจอมา ซึ่งมีผลการศึกษา มากมายที่ออกมาบอกว่าการรู้สึกขอบคุณนั้นมีข้อดีมากมาย ทั้งการนอนหลับที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวที่ดีขึ้น ความพึงพอใจกับชีวิตที่มากขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ แต่การเริ่มเขียน Gratitude Journal สำหรับคนที่ไม่เคยเขียน ดูจะเป็นไอเดียที่ยากสักหน่อย มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากลองเขียน Gratitude Journal ว่าให้เขียนสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ ยิ่งบรรยายได้อย่างละเอียดยิ่งดี โดยอาจจะแบ่งหมวดในการเขียนเพื่อให้ง่ายขึ้น เช่น หมวดความสัมพันธ์, หมวดโอกาสที่ได้รับในวันนั้น ๆ, หมวดเรื่องดี ๆ ที่เจอหรือเห็น, และหมวดสิ่งง่าย ๆ รอบตัวที่เราเห็นแล้วรู้สึกดี (อาจจะเป็นแค่ ตื่นมาเห็นแสงแดดส่องเข้ามาในห้องนอน หรืออาหารที่ได้กินวันนั้นก็ได้)

Online Mindfulness

อย่างที่เราบอกว่าแอปพลิเคชั่นหมวด Self-Care นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเยอะมาก และก็มีแอปพลิเคชั่นที่ได้รับความสนใจ และมียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง Calm, หรือ Headspace อย่างไรก็ตามยังมีแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ดาวน์โหลดฟรี และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกเพิ่มรายปี อย่าง Simple Habit แอปพลิเคชั่นฝึกการนั่งสมาธิแบบใช้เวลาไม่มาก ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่มีตารางงานแน่น ๆ ไม่มีเวลา แต่อยากลองฝึกนั่งสมาธิดู โดยเราสามารถเซ็ตเวลาล่วงหน้าประจำแต่ละวันเอาไว้ และเลือกโหมดการนั่งสมาธิ ทั้ง การทำสมาธิเพื่อการนอนหลับที่ดีขึ้น, ลดความเครียด หรือโหมดอื่น ๆ โดยใช้เวลาแค่ 5 นาทีต่อวันเท่านั้น หรือแอปพลิเคชั่นอย่าง Stop, Breathe & Think ที่มีฟังก์ชั่นให้เช็คอินก่อนด้วยการลดแสงสว่างหน้าจอมือถือและให้เลือกความรู้สึกที่รู้สึกวันนี้เพื่อบันทึกอารมณ์แต่ละวัน ก่อนที่จะเริ่มการทำสมาธิแบบมีแอปพลิเคชั่นช่วยไกด์ให้

Work It Out

Wellness ย่อมหมายความรวมถึงจิตใจ และร่างกายเช่นกัน หากพูดถึงการออกกำลังกายที่มีคำว่า Wellness หรือ Self-Care พ่วงมาด้วย อาจจะทำให้เรานึกถึงอะไรเบา ๆ แบบโยคะ แต่แท้จริงแล้วการออกกำลังกายแบบ High-intensity workout ก็เวิร์คเหมือนกันและที่สำคัญยังใช้เวลาน้อยกว่า และเบิร์นไขมันได้มากกว่าด้วย (ถ้าทำถูกวิธี) โดยในเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่มีวิดีโอสอนออกกำลังกายที่บ้านจำนวนมากให้ดูกันฟรี ๆ ทั้งใน Youtube หรือตาม Instagram ของเทรนเนอร์ชื่อดัง โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น หรือเสียเงินสมัครสมาชิกโปรแกรมใด ๆ เลย
ช่องใน Youtube อย่าง Popsugar Fitness ก็เป็นหนึ่งในแชนเนลที่ทำตามได้ง่าย และได้รับความนิยมมาก เพราะมีการกำหนดเวลาในการออกกำลังกายแต่ละครั้งที่ชัดเจน (น้อยสุดอยู่ที่ประมาณ 5 นาที ไปจนถึง 45 นาที) และยังมีทีมนำท่าออกกำลังกายที่แบ่งระดับความยากง่ายให้คนดูทำตามได้ทุกเลเวล หรือถ้าใครสะดวกดูไลฟ์ผ่านอินสตาแกรม เราแนะนำแอคเค้าท์อย่าง @jtm_fit สำหรับผู้ชาย ที่บอกรายละเอียดแต่ละท่า จำนวนครั้ง ไว้ให้ทำตามเหมือนมีเทรนเนอร์วางตารางให้ หรือ @msjeanettejenkins เซเลบริตี้เทรนเนอร์สำหรับสาว ๆ ที่บางทีก็ไลฟ์ให้เล่นตามแบบสด ๆ เลย

Connect

ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญมาก และอาจมีหลายครั้งที่เรามองข้ามความอันตรายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเหงา’ ไป ที่จริงแล้วมีรายงานที่ระบุว่าความรู้สึกเหงา (loneliness) และการอยู่แยกคนเดียว (isolation) เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้สูงสุดถึง 50% ยิ่งในช่วงเวลาแบบนี้การออกมาเจอกันอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่เราพอทำได้คือการติดต่อกับเพื่อน ครอบครัว และคนรักอยู่เสมอ เพื่อให้เราเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับคนที่เรารัก
นอกจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแล้ว การหันมาเชื่อมต่อกับความรู้สึกภายในใจของตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน Vivek Murthy ผู้เขียนหนังสือ Together: The Healing Power of Human Connection in a Sometimes Lonely World ได้ทิ้งท้ายไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งของเขาว่า “พลังของความสันโดษคือการที่มันให้เวลาเราอยู่กับตัวเองแบบไม่มีเสียงรบกวนรอบข้าง และมันยังให้โอกาสเราในการทบทวนตัวเองจริง ๆ...การที่เราจะหาทางเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือถามตัวเองก่อนว่าเราสามารถดูแลพวกเขาได้อย่างไร”
บางข้ออาจจะทำตามได้ง่าย ๆ แต่บางข้ออาจจะต้องใช้เวลาปรับจิตใจสักหน่อย แต่เรายังหวังว่าโลกของเราจะใช้โอกาสจากช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ในการหันมาใส่ใจตัวเอง และคนรอบข้างตามแบบฉบับความสุขสมบูรณ์ที่แท้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow