แกะสูตรความสำเร็จ

แกะสูตรความสำเร็จ "ธุรกิจเช่าคุณลุง" อาชีพใหม่มาแรงในญี่ปุ่น

By Japan salaryman
หน้าเพจธุรกิจให้เช่าคุณลุง
ครั้งหนึ่งในเมืองไทยเคยมีการนำเสนออาชีพแปลกในญี่ปุ่นที่ชื่อว่า “ธุรกิจเช่าคุณลุง” โดยอาชีพนี้จะมีรูปแบบเป็นเว็บไซต์ให้เช่าคุณลุง มีคุณลุงให้เลือกหลากหลาย แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน และผู้เช่าจะเลือกเช่าได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000 เยน/ชั่วโมง หรือประมาณ 250 บาท

จากสถิติที่เก็บโดยเจ้าของธุรกิจแล้ว ผู้เช่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง 70% เช่าคุณลุงเพราะอยากปรึกษาหรือหาคนรับฟังสิ่งที่เค้าพูด และอีก 30% เช่าคุณลุงเพื่อขอให้ช่วยงานบางอย่าง เช่น ช่วยติดตั้งคอมพิวเตอร์, ช่วยซ่อมไฟฟ้าในบ้าน ฯลฯ

ครั้งแรกที่ผมเห็นรูปแบบธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาในญี่ปุ่นก็ค่อนข้างแปลกใจ และรู้สึกตื่นเต้นไปพร้อม ๆ กัน ถ้ามีโอกาสอยากลองสัมผัสประสบการณ์การเช่าคุณลุงสักครั้ง แต่ก็เสียดายที่ต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทยก่อน เลยไม่ได้มีโอกาสเช่าคุณลุง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีโอกาสค้นหาดูว่า “ธุรกิจเช่าคุณลุง” ยังมีอยู่ไหม เพราะเคยคิดว่าธุรกิจแบบนี้คงอยู่ได้ไม่นานหรอก แต่ก็ต้องตกใจมาก เพราะว่า ธุรกิจเช่าคุณลุงยังคงอยู่ดีถึงทุกวันนี้ นับตั้งแต่การเริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2012 มาถึงวันนี้ก็เกิน 10 ปีแล้ว มีจำนวน “คุณลุง” ให้เช่ามากขึ้น และมีตัวเลขผู้ใช้บริการโตขึ้นตามไปด้วย จึงน่าสนใจมากว่าทำไมธุรกิจสุดแปลกอย่าง “ธุรกิจเช่าคุณลุง” นี้ถึงดำเนินกิจการไปได้นานกว่า 10 ปีในประเทศญี่ปุ่น เราจะมาแกะความสำเร็จธุรกิจตัวนี้ไปพร้อม ๆ กันครับ

ธุรกิจเช่าคุณลุงในญี่ปุ่น มีหน้าตาเป็นอย่างไร เช่าคุณลุงแล้วจะได้อะไรบ้าง?

ตัวอย่างบริการธุรกิจให้เช่าคุณลุง
หากคุณยังไม่รู้จักธุรกิจ “การเช่าคุณลุง” มาก่อนเลย ผมอยากเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจนี้เริ่มต้นมาจากชายญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่อว่า Takanobu Nishimoto อาชีพหลักของเขาคือโปรดิวเซอร์งานแฟชั่น ทำงานสไตลิสต์ และช่วยดูทิศทางให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ (Brand Direction) จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 2012 ขณะที่เขามีอายุ 44 ปี

เขาขึ้นรถไฟแล้วบังเอิญได้ยินบทสนทนาของเด็กสาวมัธยมปลายกำลังคุยล้อเลียนกันเกี่ยวกับเรื่อง “ขนหู” ของคุณลุง (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นคุณลุงท่านไหนนะ) เขาคิดว่า เด็กหนุ่มสาวญี่ปุ่นยุคนั้นไม่ได้มอง “คุณลุง” ในแง่ดีเท่าไหร่ เขาเองตอนนั้นอายุ 44 ปี แม้ไม่ใช่วัยที่จะถูกเรียกว่า “คุณลุง” แต่เมื่อรู้ว่าสังคมมองคุณลุงแบบนั้น เลยอยากจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้คุณลุงดูดีขึ้นในสายตาคนส่วนใหญ่ จึงเกิดมาเป็น OSSAN RENTAL หรือบริการให้เช่าคุณลุง โดยกำหนดราคาไว้ที่ 1,000 เยน/ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เข้าถึงง่าย เหมือนใช้เงินซื้อข้าวหนึ่งมื้อ

ปัจจุบันคุณ Takanobu Nishimoto ออกแบบการเช่าคุณลุงไว้ค่อนข้างครอบคลุม แม้สองปีแรกจะมีเขาเพียงแค่คนเดียวที่คอยให้บริการในธุรกิจ แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ของธุรกิจ เขาสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกคุณลุงเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น จนปัจจุบันมีคุณลุงอยู่ในระบบของเขาประมาณ 70 คน โดยจะมีช่วงอายุที่ค่อนข้างกว้างตั้งแต่อายุ 30 ปลาย ๆ ไปจนถึงอายุ 70 ปี

(ฮะ!! แบบนี้เราก็เข้าไปอยู่ในระบบ “คุณลุง” ของคุณ Takanobu ได้แล้วสิ)

โดยเงื่อนไขของการเป็นคุณลุงในระบบนี้คือ

  • มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี
  • ไม่อวดอ้าง ไม่ขี้โม้ ไม่เอาแต่พูดเรื่องของตัวเอง
  • ไม่ใช้โอกาสพบปะลูกค้าในการโฆษณางานหลักของตัวเอง
  • ห้ามมีพฤติกรรมหรือวาจาละเมิดเรื่องเพศเด็ดขาด
  • หากลูกค้ายังไม่บรรลุนิติภาวะ สามารถอยู่ด้วยไม่เกิน 20:00 น.
  • หากลูกค้าเคลมเกิน 3 ครั้งใน 1 ปี จะถูกพิจารณาไล่ออก
โดยคุณลุงแต่ละคนจะมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวที่เป็นจุดขาย เช่น คุณลุงทนาย, คุณลุงชอบขับรถ, คุณลุงที่ชอบฟังเรื่องของคนอื่นเป็นชีวิตจิตใจ, คุณลุงที่เกษียณเร็วมีชีวิตอิสระ, คุณลุงทำงานสาย IT ที่ชอบเล่นไวโอลิน เป็นต้น สำหรับคนเช่าคุณลุงแค่อ่านประวัติ และข้อความแนะนำตัวของคุณลุงแต่ละคนที่พยายามนำเสนอก็จะรู้สึกสนุกแล้ว

หากใครอ่านภาษาญี่ปุ่นได้ เข้าไปอ่านประวัติคุณลุงแต่ละคนได้ที่นี่เลยนะครับ

ทุกคนเขียนสนุกมาก อ่านแล้วอยากจะเช่าคุณลุงบ้างจริง ๆ (ข้อมูลจาก: ossanrental.thebase.in)

“ธุรกิจเช่าคุณลุง” เปิดมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ทำไมยังได้รับความนิยมอยู่

ครั้งแรกที่ผมรู้จักอาชีพนี้ผมแอบคิดว่าน่าจะเป็นอาชีพตามกระแส ที่อยู่ได้ไม่นานหรอก

แต่เมื่อรู้ว่าอาชีพดังกล่าวอยู่ได้นาน จนถึงปี 2023 และยังมีคุณลุงให้เช่าอยู่ในระบบนี้มากกว่า 70 คน อีกทั้งมีลูกค้าใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งทำให้น่าสนใจว่า ทำไมธุรกิจนี้ถึงอยู่ได้นานมากกว่า 10 ปี

ผมขออนุญาตสรุปตามความเข้าใจของผม เผื่อจะเป็นเกร็ดความรู้ให้กับคนที่สนใจปั้นธุรกิจให้อยู่ได้ยาวนานแบบนี้บ้าง
ธุรกิจให้เช่าคุณลุงไปเที่ยว

1. ธุรกิจที่เข้าใจทั้งฝั่งผู้ให้บริการ และรู้ใจความต้องการของลูกค้า

อย่างที่ผมเล่าไว้ตอนแรกว่าคุณ Takanobu Nishimoto เริ่มต้นธุรกิจด้วยความนึกสนุกว่า อยากจะทำให้ภาพลักษณ์ “คุณลุง” ในญี่ปุ่นดูดีขึ้น บริการนี้จะช่วยจับคู่คุณลุงที่พร้อมให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกันไปให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้บริการ

โดยในฝั่งของลูกค้านั้น คุณ Takanobu เล่าว่าลูกค้าที่มาใช้บริการประมาณ 80% เป็นผู้หญิง และเน้นขอคำปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์ในชีวิตมาก่อนอย่างคุณลุง ซึ่งช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคุณลุงในญี่ปุ่นที่เข้าหายาก และมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยจะดี กลายเป็นคุณลุงที่พึ่งพาได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือปรึกษาปัญหาเรื่องงาน

สำหรับฝั่งคุณลุงที่เป็นผู้ให้บริการบอกไว้ว่า รายได้ที่ได้จากการให้บริการ 1,000 เยน/ชั่วโมง ไม่ได้เป็นเงินมากมายสำหรับเขา แต่สิ่งที่เขาได้รับคือ เสียงขอบคุณจากลูกค้า และการได้รับรู้ว่าตัวเขานั้นมีประโยชน์ต่อคนมากมาย เป็นการเติมเต็มความรู้สึกทางใจได้ดีมาก ๆ และนี่คือสาเหตุที่ทุก ๆ ปีจะมีคุณลุงในระบบต่อสัญญาอยู่เรื่อย ๆ บางคนเป็นคุณลุงให้เช่ามามากกว่า 5 ปีแล้ว

2. ธุรกิจที่แปลกแหวกแนว ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มักจะได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก (ที่สำคัญอาจได้โฆษณาฟรี ๆ ด้วย)

ธุรกิจ Ossan Rental หรือการให้เช่าคุณลุง ที่เริ่มต้นด้วยความปรารถนาดีที่มีต่อคุณลุงในญี่ปุ่น เมื่อป่าวประกาศออกไปได้ไม่นาน ก็มีสื่อออนไลน์หรือโทรทัศน์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมาติดต่อขอสัมภาษณ์และทดลองใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้อาชีพนี้กลายเป็นอาชีพใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างล้นหลาม จากความคิดเห็นของผู้ชมที่ดูสื่อนั้น ๆ พบ ว่า ผู้คนอยากทดลองอะไรใหม่ ๆ แบบนี้ และนี่ก็เป็นสาเหตุให้ธุรกิจนี้ยังมีจำนวนคนที่ยังอยากใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ

3. ธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือตอบโจทย์ปัญหาให้สังคม

ธุรกิจ “ให้เช่าคุณลุง” ถูกออกแบบด้วยความคิดอยากช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ผู้คนที่มีต่อ “คุณลุง” โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ (ต้องยอมรับว่ายังมีความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิงในประเทศญี่ปุ่น) โดยส่วนมากสิทธิการตัดสินใจหลายอย่างเกิดขึ้นจากผู้ชาย ทำให้ภาพลักษณ์ผู้ชายที่มีอายุ ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ จากสายตาคนหนุ่มสาว อาชีพให้เช่าคุณลุงเป็นเหมือนกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ “คุณลุง” มีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น ลดช่องว่างความเข้าใจผิดที่อาจมีต่อ “คุณลุง” เปลี่ยนเป็นความรู้สึก “ขอบคุณ” ที่คุณลุงช่วยแก้ไขปัญหาความกังวลต่าง ๆ ให้ เป็นการเอาจุดแข็งของคุณลุงมาสร้างประโยชน์ตอบโจทย์ปัญหาของสังคมนั่นเอง

นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากที่ธุรกิจใหม่สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างรวดเร็วและอยู่คู่กับสังคมนั้น ๆ มากกว่า 10 ปี ซึ่งอาชีพให้เช่าคุณลุงคือตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าธุรกิจใหม่ ๆ นั้นสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้จริง ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน หากวันนั้นที่คุณ Takanobu Nishimoto ขึ้นรถไฟแล้วไปได้ยินเด็กมัธยมปลายนินทาเรื่องคุณลุงแล้วปล่อยผ่านไป คงไม่มีธุรกิจให้เช่าคุณลุงเหมือนทุกวันนี้ ย้อนกลับมาที่ตัวเราถ้าหากเราสนใจที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาต้องคำนึงว่าแนวคิดใหม่ที่เราจะทำนี้จะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เพื่อเข้าถึงผู้คนได้อย่างไร และจะต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจให้น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมได้อย่างไรบ้าง เหมือนกับที่คุณ Takanobu Nishimoto สร้างธุรกิจให้เช่าคุณลุง เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้คนที่มาใช้บริการ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow