เป็นปรากฏการณ์ในโลกโซเชียลมาหลายสัปดาห์กับการฟังธรรมะแบบออนไลน์ ระหว่างพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง แห่งวัดสร้อยทอง ที่มีความร้อนแรงจากพุทธศาสนิกชนกว่าล้านวิว ต่อคลิปสตรีมครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฟังธรรมะออนไลน์ในยุคใหม่ ที่ในอดีตจะมีแต่ผู้สูงอายุที่มักชอบไฟฟังเทศน์ธรรมในวัด แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป วงการสงฆ์ก็มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเหมือนกัน เพราะผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไปวัดกันน้อยลงเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จุดนี้เองทำให้ตอนนี้มี พระนักเทศน์หลายรูปเริ่มศึกษา และใช้ช่องทางออนไลน์เผยแพร่ธรรมะมากขึ้น
ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ได้มองเห็นช่องว่างแล้วจัดการเผยแพร่ธรรมะ ที่เกิดความแปลกใหม่ไปทั้งโซเชียลมีเดีย ด้วยลีลาการตอบคำถาม และการพูดคุยกับผู้ชมที่เข้ามารับฟังธรรม และการใช้ภาษาที่เหมือนเราคุยกับเพื่อน ที่มีการใช้คำพูดที่สนุกสนาน การให้ข้อคิดที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เป็นกระแสในโลกโซเชียล ว่าถ้าใครไม่ได้ฟัง ก็เหมือนพลาดเทรนด์สำคัญไปอีกเรื่องเลย นอกจากปรากฏการณ์ยอดผู้ชมหลักล้านของพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง 2 พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งยุคยังได้สร้างปรากฏการณ์ในเรื่องไหนอีกบ้าง
1. เรียกแบรนด์สินค้ามาชุมนุมกันไม่ได้นัดหมาย
ปกติใน
ไลฟ์สตรีมธรรมะของพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง จะมีแต่ผู้ที่สนใจเข้ามาพูดคุย ทักทาย แต่ก็มาแบบคนทั่ว ๆ ไป แต่กระแสความแรงทำให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เข้ามาจับจองพื้นที่สื่อโดยการนำบัญชีในโลกโซเชียล เข้ามาพูดคุยกับพระทั้งสองรูปในระหว่างที่พูดเรื่องธรรมะ ใช้ช่วงเวลานี้เข้ามา Tie-in สินค้าได้แบบเนียน ๆ รวมถึงการถวายปัจจัยเป็นสินค้าของแบรนด์ตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์กับพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง เพื่ออำนวยความสะดวกในระหว่างไลฟ์สตรีมธรรมะ จากความร้อนแรงในการไลฟ์สตรีมธรรมะ ถึงจุดที่แบรนด์สินค้าเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องที่หลายคนมองว่าเริ่มให้ความสำคัญน้อยลงอย่างเรื่องการฟังธรรม ทำให้หลังจากนั้น พระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง เลยได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่เข้ามาพูดคุยในไลฟ์สตรีม เป็นอีกกระแสสำหรับการเผยแพร่ธรรมะออนไลน์ ในยุคนี้ที่ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
2. สร้างปรากฏการณ์วลีฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง
หลาย ๆ คำศัพท์ที่เราหยิบมาใช้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ในชีวิตประจำวันหลายคำก็มีผลมาจากไลฟ์สตรีมธรรมะของพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง อย่างคำว่า พส จากเดิมคำนี้ก็มีการพูดถึงกันในกลุ่มของ LGBTQ ที่หมายถึง พี่สาว หรือเพื่อนสาว แต่เมื่อไลฟ์สตรีมธรรมะเริ่มเป็นที่นิยม ผู้ชมก็จะเรียกพระทั้งสองรูปว่า พส ที่เป็นตัวย่อของคำว่าพระสงฆ์ ทำให้คำนี้กลายเป็นคำย่อ เมื่อใครจะเรียกพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ก็จะใช้คำนี้เรียกแทน หรือแทนคำลงท้ายประโยคต่าง ๆ เช่น มันดีมากค่ะ พส! หรือมีอีกคำที่ฮิตไม่แพ้กันคือคำว่า สภาพ ถ้าจะพูดให้ได้อารมณ์ต้องลากเสียงยาวด้วยนะ ซึ่งคำนี้ดั้งเดิมมาจากภาษาเมืองทิพย์ ของพระมหาเทวีเจ้า หรือที่ชาวโซเชียลรู้จักกันในนามเจ้หญิงลี ชาว LGBTQ เป็นกระแสพูดถึงมาก่อนหน้านี้ สำหรับคำว่า สภาพ ที่พระมหาไพรวัลย์พูดมักพูดถึงในเวลาที่เหนื่อย หรือปลงกับเรื่องต่าง ๆ ทำให้ชาวโซเชียลหยิบคำพูดเหล่านี้มาใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน สนุกสนานกันไป
ถอดเทคนิคความปังจาก 2 พส ไปใช้กับชีวิต
จากกระแสความดังของไลฟ์สตรีมธรรมะจาก 2 พส เราก็สามารถนำเทคนิคที่ทั้งสองรูปเอามาใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ ยิ่งถ้าเราเป็นร้านค้าออนไลน์ ก็ยิ่งเข้าทางเพราะแต่ละเทคนิคสามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งนั้น ยกตัวอย่าง เช่น
- การปั่นกระแสเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวให้เป็นที่พูดถึง ช่วยให้ทุกคนรอติดตามการเคลื่อนไหวของเราในโลกโซเชียล
- มีการปรับตัวตามยุคสมัยไม่หยุดอยู่กับที่ หรือการใช้เทคโนโลยีให้เป็นผลดีกับตัวเรา และต้องไม่ลืมทำตัวให้เป็นมิตรกับผู้คนในโลกออนไลน์
- รู้จักการสร้างเรื่องราว เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเข้ากับสินค้า หรือตัวเราเองให้เป็นจุดสนใจ
- มองคู่แข่งให้เป็นเพื่อนร่วมทีม ลองร่วมมือกับคนอื่น ๆ ที่ทำสินค้า หรือบริการแบบเดียวกับเรา จับมือมาร่วมกันทำงานบ้าง จะช่วยให้เราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังประโยชน์อีกหลายอย่าง ๆ มาปรับใช้กับชีวิตของเรา เช่น
ข้อคิดธรรมะที่ได้ในไลฟ์สตรีมธรรมะกับพฤติกรรมการใช้เงินของเรา ดังคำสอนของพระมหาไพรวัลย์ที่ว่า
“ถ้าใจเราเล็กความทุกข์จะใหญ่ แต่ถ้าใจเราใหญ่ความทุกข์จะเล็ก”
= ก็เหมือนหลายคนในช่วงนี้ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากเศรษฐกิจ เงินเดือนที่ลดลง ถ้าหัวใจของเรามองเห็นเรื่องนี้เป็นจุดเล็ก ๆ ว่าปัญหามันสามารถแก้ไขได้ ความทุกข์เรื่องเงินที่เราพบเจอมันก็เรื่องสิว ๆ
“การมีวินัยเป็นเรื่องดี แต่การมีวินัยไม่ใช่การเฆี่ยนตี การบีบคั้นในตัวเองมากเกินไปมันไม่ดี”
= บางครั้งการมีวินัยในการเก็บเงินเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับบางคนเคร่งเครียดกับตัวเองมากจนเกินไป การเก็บเงินแบบหักโหม จะส่งผลเสียให้มากกว่าที่คิด เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว
นอกเหนือจากช่องทางการฟังธรรมะออนไลน์จากช่องพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปองตอนนี้ก็ยังมีพระนักเทศน์รูปอื่น ๆ ที่เข้ามาเผยแพร่ธรรมะออนไลน์เหมือนกัน เช่น ท่านพระครูมณีวรรณประดิษฐ์จากวัดร้องเกิด พระนักเทศน์จากภาคเหนือ มีลีลาการเทศน์สนุกสนาน ให้ข้อคิดเหมือนกัน หรือพระอาจารย์ชยสาโร แห่งสำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี พระฝรั่ง ที่มีลีลาการเทศน์ธรรมะที่นิ่มนวล เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาเป็นแค่บางส่วนของพระนักเทศน์ที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ไม่ว่าจะเป็นการฟังธรรมในวัด หรือฟังผ่าน
โซเชียลมีเดีย จุดประสงค์ที่แท้จริงของพระสงฆ์ในทุกยุคก็คือ ‘อยากให้ทุกคนเข้าถึง และเข้าใจ หลักคำสอน ของศาสนาพุทธ’ นั่นเอง หากใครอยากเข้าไปฟังธรรมะออนไลน์ ก็สามารถนำชื่อที่เรายกตัวอย่าง กดค้นหาในโซเชียลมีเดียได้เลย หากใครชอบบทความนี้ ก็สามารถส่งต่อให้เพื่อน ๆ หรือญาติผู้ใหญ่ ก็ได้นะ เพื่อที่ทุกคนจะได้สนุกสนานกับหลักธรรมไปด้วยกัน