กฎหมายจราจรที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าอยากเป็นนักขับที่ดี

กฎหมายจราจรที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าอยากเป็นนักขับที่ดี

By Krungsri Plearn Plearn
“อย่าต้องให้ใคร..บาดเจ็บบนท้องถนนอีกเลย”

ต้องยอมรับเลยว่าท้องถนนบ้านเรามีอุบัติเหตุติดเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก โดยส่วนใหญ่เกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ รถบรรทุก หรือรถยนต์ทั่วไป สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากพฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะที่รวดเร็ว และหวาดเสียว ซ้ำร้ายบางคนยังมีอาการเมาแล้วขับ หรือมีอาการหลับในระหว่างขับรถ ทั้งเกิดจากความตั้งใจ และความประมาท ที่คิดว่าขับรถแค่นี้ สบาย ๆ ขับอยู่ทุกวันจะเป็นอะไรไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น หากเกิดอุบัติเหตุ ไม่ใช่แค่เราที่จะบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่นี่รวมถึงคนอื่น ๆ ที่อยู่บนท้องถนน หรือคนที่ใช้ชีวิตอยู่โดยรอบด้วย เพื่อลดการสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เรามาทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปเพื่อใช้ปกป้องตัวเอง และช่วยเตือนสติหากจะใช้ยานพาหนะทุกครั้งบนท้องถนน
ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด

1. ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด

ข้อนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด เวลาเกิดข่าวที่เกี่ยวข้องกับการจราจร โดยกฎหมายได้ระบุไว้ว่าหากขับรถในเมืองต้องมีความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากขับรถนอกเขตเมืองความเร็วที่ทำได้ต้องไม่ควรเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในกรณีที่เราใช้งานทางด่วนพิเศษ หรือใช้ทางมอเตอร์เวย์ กฎหมายก็บอกไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องใช้ความเร็วไม่ควรเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องการใช้ความเร็ว อาจมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
แต่เรื่องกฎหมายจราจรนอกจากการขับรถเร็ว ยังมีเรื่องที่นักขับที่คนควรให้ความสนใจด้วยคือหากการขับรถของเราเร็วเกินไปจนเกิดอุบัติเหตุโดยประมาท จนต้องทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ ทางกฎหมายบอกไว้ว่าเราอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้มีคนต้องเสียชีวิต อาจโดนโทษทางกฎหมายหนักที่สุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สรุปง่าย ๆ เลย หากไม่อยากต้องโทษจำคุก หรือทำผิดกฎหมายข้อไหนเลย ช่วงเวลาขับรถบนท้องถนน ให้ใช้สติก่อนเหยียบคันเร่งทุกครั้ง
ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย

2. ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย

เป็นที่พูดถึงมากกับกรณีนี้ที่เราพบเห็นได้บ่อย ๆ ในโซเชียลมีเดียที่ผู้ขับขี่รถบนท้องถนน ไม่ยอมหยุด หรือชะลอรถบริเวณทางม้าลาย ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุชน หรือเฉี่ยวผู้ใช้ทางม้าลายให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต หากนักขับคนไหนที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมการขับรถที่เจอทางม้าลายแล้วไม่หยุดรถให้คนใช้ทางม้าลายไปก่อน แต่เลือกที่จะพุ่งไป อาจต้องระวังเรื่องของกฎหมายจราจรอาจโดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
นอกจากนี้หากขับรถชนทำให้เกิดการบาดเจ็บ อาจต้องโทษทางกฎหมายจำคุกไม่เกิน 3 ปี และกรณีนี้หากเราขับรถชนผู้ที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามม้าลายเสียชีวิตจะมีโทษทางกฎหมายจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปีเช่นเดียวกัน ท้องถนนทุกวันนี้ เราก็เห็นอยู่แล้วว่ามีข่าวในกรณีนี้บ่อย ๆ หากเราเจอผู้ใช้ทางม้าลาย เรารู้ว่ากำลังรีบ แต่การหยุดรถเพียงไม่กี่วินาที คงไม่ทำให้ธุระที่จะไปทำเสียหาย อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องมาเกิดความเสียใจ หากเกิดอุบัติเหตุ
ขับรถช้าแช่ช่องขวา / ขับแซงช่องซ้ายสุด

3. ขับรถช้าแช่ช่องขวา / ขับแซงช่องซ้ายสุด

นี่ก็เป็นอีกปัญหาบนท้องถนนที่รถช้าไม่อยู่ในช่องเลนซ้าย ช่องกลาง แต่ไปอยู่ในช่องเลนขวาสุด ส่งผลให้การจราจรติด และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะว่าเมื่อช่องเลนขวามีรถยนต์ที่ขับช้า รถยนต์คันอื่น ๆ มักจะใช้วิธีขับแซงในช่องเลนซ้าย เพื่อทำความเร็ว จนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ตัวอย่างที่เราเห็นได้บ่อย ๆ คือการใช้ทางด่วนที่เรามักเจอเหตุการณ์แบบนี้ ที่มีรถยนต์ขับช้าที่ช่องเลนขวาสุด ผู้ขับขี่ที่ไม่ยอมเคารพกฎจราจรมักจะเลือกใช้วิธีเข้าเลนซ้ายสุดที่มีไว้สำหรับรถจอดเสียฉุกเฉิน บางครั้งก็มีอุบัติเหตุชนคน หรือชนท้ายรถเสียที่จอดรอการช่วยเหลือ เกิดข่าวเศร้ากันมากมาย
หากใครที่มีนิสัยชอบขับช้าแช่ขวา ในทางกฎหมายจราจรมีความผิดเหมือนกัน หากมีรถที่ขับขี่ตามมาด้วยความเร็วกว่า รถของเราต้องหลบหลีกให้ ไม่อย่างนั้นจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และในกรณีที่มีช่องทางเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไปถ้าหากเราขับรถแซงซ้าย ผู้ขับขี่อาจมีความผิดที่โดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นถนนที่มีสองเลนปกติ สามารถขับรถแซงซ้ายได้ปกติ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก่อนจะเปลี่ยนเลน ให้เปิดไฟเลี้ยวเป็นสัญญาณก่อนทุกครั้ง และดูว่าเลนที่จะไป มีสิ่งกีดขวาง มีรถจอดเสีย หรือมีรถเข้า-ออก ซอยหรือไม่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไม่คาดฝัน
ขับรถไม่เปิดไฟในช่วงกลางคืน

4. ขับรถไม่เปิดไฟในช่วงกลางคืน

หากใครที่ใช้ท้องถนนในช่วงเวลากลางคืน แล้วเจอรถยนต์ที่ไม่เปิดไฟหน้ารถคงต้องมีความรู้สึกหวั่น ๆ ไม่มากก็น้อย เพราะกลัวเราจะขับรถไปชน หรือคนใช้ท้องถนนจะไม่เห็นรถยนต์เมื่อวิ่งผ่านมา และถ้าหากรถของใครมีสีดำ หรือสีเข้มจะยิ่งมองเห็นได้ยากขึ้นไปอีก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย ๆ หากเราเป็นผู้ขับขี่ หากจะใช้รถเวลากลางคืน อย่าลืมเด็ดขาดที่จะเปิดไฟหน้ารถ เพื่อช่วยส่องมองทาง และยังทำให้ผู้ใช้ถนนร่วมกันมองเห็นรถของเราได้ง่ายยิ่งขึ้น หมดปัญหาขับรถชนท้ายเพราะมองไม่เห็นรถคันข้างหน้า หรือคนทั่วไปใช้เป็นสัญญาณหากคิดจะข้ามทางม้าลาย เห็นรถกำลังวิ่งมาจะได้หยุดข้าม
สำหรับโทษทางกฎหมายสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่เปิดไฟหน้ารถจะมีโทษปรับที่ไม่เกิน 500 บาท และถึงจะเปิดไฟส่องสว่างหน้ารถ แต่ใช้ไฟผิดประเภท เช่น ไฟซีนอน สีฟ้า สีม่วง สีเขียว แบบที่รถซิ่ง ๆ ชอบทำกันอันนี้ก็ผิดกฎหมายนะ จะมีโทษปรับที่ไม่เกิน 2,000 บาท หากผู้ขับขี่คนไหนกำลังใช้ไฟหน้ารถแบบนี้อยู่ให้เปลี่ยนเป็นตามที่กฎหมายกำหนดคือ สีเหลืองอ่อน และสีขาว เท่านั้น แต่จะมีอีกกรณีหนึ่งใช้สีไฟถูกต้อง และเปิดไฟหน้ารถ แต่เปิดเป็นแบบไฟตัดหมอกตลอดเวลา อันนี้ก็ผิดกฎหมายเหมือนกัน จะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เอาเป็นว่า ขับรถกลางคืน เปิดไฟทุกครั้ง และใช้สีไฟที่เป็นมิตรกับเพื่อน ๆ ร่วมถนน จะได้ปลอดภัยจนถึงที่หมาย
นี่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจราจรยังมีเรื่องควรรู้อีกเยอะเลย ที่ผู้ขับขี่ต้องสนใจเมื่อใช้ถนน แต่การป้องกันอุบัติเหตุดีที่สุด คือการมีสติไม่ง่วง หยุดการเมาแล้วขับ ทำตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับไม่แซงซ้าย ไม่ขับรถปาดหน้ากัน หรือเปิดไฟเลี้ยวเป็นสัญญาณหากจะเปลี่ยนช่องถนน แล้วการใช้ท้องถนนจะมีแต่ความปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าเราป้องกันดีแล้ว เกิดอุบัติเหตุจากคนอื่น เราอาจต้องมีประกันอุบัติเหตุ หรือประกันรถยนต์ติดตัวไว้ให้อุ่นใจสักหน่อย เพราะถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา เจ็บทั้งตัว ทรัพย์สินเสียหาย แต่ยังปลอดภัยเพราะมีประกันช่วยคุ้มครองเราไว้
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow