อยากลงทุนทำธุรกิจกับคนรู้ใจ เพราะอยากสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยกัน แต่หลายคนก็เตือนไว้ว่าอาจมีปัญหากันภายหลัง เพราะระหว่างทางต้องมีอุปสรรคมาให้ลองใจและท้าทายอีกเยอะ แต่อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะที่จริงแล้วยังมีหนทางให้คุณลงทุนด้วยกันแบบไม่แตกหัก พร้อมแล้วมาจับมือเรียนรู้ไปด้วยกัน
ขึ้นชื่อว่า “ลูกน้อง” หรือ “ลูกจ้าง” คงไม่มีใครคนไหนอยากเป็น หลาย ๆ คนจึงมองหาโอกาสที่จะเปลี่ยนข้างมาเป็น “นายตัวเอง” หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ
การทำงานประจำเป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่าย หลายคนมองว่าเป็นอะไรที่จำเจ ต้องตื่นเช้าฝ่ารถติดไปทำงาน ไปเจอกับงานแบบเดิม ๆ เจอกับเจ้านายจู้จี้ขี้บ่น ไปเจอกับกฎเกณฑ์ที่เยอะแยะในองค์กร จะมีดีอย่างเดียวคือตอนเงินเดือนออก แต่ไม่กี่วันเงินเดือนเหล่านั้นก็หายไป สิ่งที่อยู่ในใจคืออยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
หลายคู่ที่เริ่มคบกันได้พออยู่ตัว จึงมักจะคิดเริ่มต้นวางรากฐานความมั่นคง โดยการมองหากิจการอะไรสักอย่างทำร่วมกัน เริ่มต้นด้วยความชอบของทั้งสองคน และค่อย ๆ เริ่มทำด้วยกัน ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานา เพราะคิดว่าเมื่อกิจการมั่นคง วันนั้นคงจะหนีจากคำว่า “ลูกจ้าง” ได้
แม้ว่าการร่วมลงทุนกับแฟนจะเป็นอะไรที่ดูมีพลังและสร้างความหวังให้กับคู่ที่คบหาดูใจกัน แต่มีไม่น้อยเลยที่การร่วมลงทุนกลับกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการเลิกรากัน สาเหตุเกิดจากตอนเริ่มที่มักไม่ได้ตกลงรายละเอียดกันให้ดีพอ คิดว่าใช้เพียงความสัมพันธ์และความรักก็เพียงพอต่อการทำกิจการแล้ว แต่เมื่อดำเนินกิจการไปก็เกิดปัญหาการแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว และเคลียร์กันไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องแยกย้ายกันไปพร้อมกับความบาดหมางใจ มองหน้ากันไม่ติด อย่างที่เห็นเป็นข่าว ดราม่าของดาราบ่อย ๆ นั่นแหละ
วันนี้เลยมีข้อแนะนำสำหรับคู่หนุ่มสาวที่อยากมีกิจการร่วมกัน จะลงทุนด้วยกันอย่างไรไม่ให้ความสัมพันธ์แตกร้าว
1. ตกลงให้ชัดตั้งแต่เริ่มแรก
- ส่วนของเงินทุน ได้แก่ ค่าสถานที่ พาหนะ และค่าแรง เช่น กรณีกู้ยืมมาลงทุน ให้ทำเป็นสัญญากู้ยืมเงิน และระบุว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ จ่ายเงินต้นคืนอย่างไรไปเลย และค่าสถานที่ ก็ต้องมีค่าเช่า ที่ต้องจ่ายค่าเช่ารายเดือน หรือรายปี และส่วนของการลงแรงก็ควรจะเป็นการจ่ายค่าแรง เป็นเงินรายวัน รายเดือน การตกลงทุกอย่างที่ว่ามาควรจะเขียนให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ทุกฝ่ายเซ็นรับรู้ร่วมกัน เพื่อป้องกันการหลงลืม และถือปฏิบัติโดยยึดหนังสือที่ตกลงร่วมกันนี้เป็นหลัก
- การแบ่งงาน คือ การแบ่งความรับผิดชอบว่าใครต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง แต่ละคนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองไปโดยไม่ก้าวก่ายกัน ในการทำกิจการทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ในสถานะเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่สถานะแฟน
- อำนาจการตัดสินใจ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้บริหารกิจการ ที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้กิจการดำเนินไปสู่เป้าหมาย เช่น หากทำธุรกิจด้วยกันกับแฟน ก็ต้องระบุให้แน่ชัดว่า หากมีเรื่องต้องตัดสินใจ จะให้ใครตัดสินใจ หรือต้องตัดสินใจร่วมกัน อาจจะแบ่งว่าถ้ามีเรื่องต้องตัดสินใจเกี่ยวกับสินค้า ให้ใครตัดสินใจ ถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับลูกค้า ให้ใครตัดสินใจ
- ผลประโยชน์ นอกเหนือจากการจ่ายคืนส่วนของทุนแล้ว เช่น จ่ายค่าสถานที่ ค่าพาหนะ ค่าจ้าง หรือเงินเดือนแล้ว ที่เหลือถือเป็นกำไร ต้องเขียนหนังสือตกลงกันไว้ว่าจะแบ่งกำไรกันอย่างไร ใครได้กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น ตกลงว่ากำไรที่ได้มาให้แบ่งคนละ 40% ส่วนที่เหลือ 20% ไว้เป็นทุนในการต่อยอดกิจการ
- กรณีขาดทุน หลายคู่อาจจะไม่คิดถึงเรื่องนี้ หรือไม่อยากพูดถึงก็ไม่รู้ แต่ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้กิจการจะไม่ราบรื่น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหนังสือไว้ให้ชัดเจนกับเรื่องนี้ เช่น หากขาดทุน จะทำอย่างไรกับส่วนของทุนที่ลงไป ตัวอย่าง กรณีทำร้านอาหาร จะมีทุนในส่วนของโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์จานชามต่าง ๆ อาจตกลงกันว่าจะเซ้งหรือขายปลีกไป เมื่อได้เงินมาจะแบ่งคืนให้คนละครึ่ง
2. เลือกประเภทการจดทะเบียนพาณิชย์
- ร้านค้า (บุคคลธรรมดา) ใช้ชื่อคนเดียวก็จดทะเบียนแบบนี้ได้ การจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเห็นชอบในการกระทำการใด ๆ ในกิจการ ต้องระวังหากจะจดกิจการเป็นประเภทนี้ เพราะแม้จะเป็นที่รู้กันว่าเป็นกิจการของทั้งสองคน แต่ในทางกฎหมายแล้วกิจการนี้เป็นของบุคคลผู้จดทะเบียนคนเดียวเท่านั้น อาจจะเกิดปัญหาในการใช้อำนาจการตัดสินใจได้
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด (นิติบุคคล) ต้องมีหุ้นส่วนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป การจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้สามารถใช้ชื่อคุณกับแฟนได้เลย โดยที่การกระทำการใด ๆ ในกิจการจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคนที่เป็นหุ้นส่วนด้วย แบบนี้จะดีเพราะไม่ว่าตัดสินใจอะไรจะรับรู้กันทั้งสองฝ่าย
- บริษัทจำกัด (นิติบุคคล) ต้องมีหุ้นส่วนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป แสดงว่ากิจการที่จะทำนี้ต้องมีชื่อคนอื่นมาร่วมด้วย นอกจากคุณกับแฟน การจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะแต่งตั้งให้ใครเป็นผู้บริหารและมีอำนาจในการตัดสินใจในกิจกรรมอะไรบ้าง
3. เคารพในสิทธิของแต่ละคน
หากตกลงเรื่องต่าง ๆ ชัดเจนแล้ว ต่อไปคือเรื่องการนำไปปฏิบัติจริง สิ่งที่ควรทำและต้องทำ คือ ยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือหรือสัญญาอย่างเคร่งครัด จะทำให้แต่ละคนไม่หลงทาง ไม่หลงหน้าที่ แม้กิจการจะดำเนินไปแบบไม่มีกำไร หรือต้องปิดตัวลง มันก็จะมีแนวทางเดินของมันตามข้อตกลงที่คุยกันไว้ตั้งแต่ตอนแรก โดยที่แต่ละคนไม่สามารถบิดพลิ้วไปจากข้อตกลงนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ฉันแฟนยังคงเดิม ความเป็นเพื่อนยังคงอยู่ ปัญหาการแตกหักรักร้าวไม่มีอีกต่อไป
4. อย่าเอาเรื่องงานไปปนกับเรื่องส่วนตัว
แม้จะมีหนังสือสัญญาและข้อตกลงแล้ว แต่ยังมีอีกเรื่องที่สร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับแฟนได้ นั่นก็คือการเอาเรื่องงานไปปนกับเรื่องส่วนตัว การทำหน้าที่ในกิจการอาจจะเจอเรื่องสะดุด เจอปัญหาอุปสรรคซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วันวันหนึ่งอารมณ์ของแต่ละคนอาจจะไม่ดีบ้าง พาลไปทำให้เกิดอาการหงุดหงิด และจะพาลไปที่เรื่องส่วนตัว ข้อควรกระทำอย่างหนึ่งที่ต้องจำไว้ คือ การบริหารกิจการนั้น คุณกับแฟนไม่ได้เป็นอะไรกัน นอกเสียจากเพื่อนร่วมงาน อย่าได้นำเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมายุ่งเกี่ยวด้วย เพราะนอกจากจะทำให้การตัดสินใจยุ่งยากแล้ว ยังสร้างปัญหาความสัมพันธ์ของคุณและแฟน นำไปสู่การแตกหักได้
5. อย่าให้บุคคลที่สามเข้ามายุ่งเกี่ยว
เคยเจอมาหลายเคสแล้วที่กิจการต้องยุติลง เพราะมีคนอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือเข้ามามีส่วนช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้นว่า มีพ่อแม่แฟนเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจของแฟน เรียกว่าเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญต้องหันไปถามพ่อแม่ทุกครั้ง แบบนี้จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจได้ และหากบุคคลที่สามนั้นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญ ๆ บ่อย ๆ เมื่อนั้นจะเกิดความเคลือบแคลงใจระหว่างคุณกับแฟน และความสัมพันธ์ร้าวฉานก็อาจเกิดขึ้นได้
ไม่ง่ายเลยใช่ไหม สำหรับการร่วมลงทุนทำกิจการอะไรสักอย่างกับแฟน แต่บางคนก็เอาวิธีนี้มาเป็นวิธีในการดูใจกันก่อนที่จะแต่งงาน แสดงว่าการร่วมลงทุนทำกิจการอะไรสักอย่างกับแฟน เป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับคู่รักเป็นอย่างมาก หรือจะมองให้ดีก็ล่อแหลมต่อการแตกหักของความสัมพันธ์ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น หากจะร่วมลงทุนอะไรกับแฟน จงรอบคอบตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งมือใหม่หัดลงทุน ยิ่งต้องลองศึกษาให้เข้าใจ จะเป็นหนทางแห่งการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้นานที่สุด