ยุคดิจิทัล ใครจะมา ใครจะไป แค่ปรับตัวก็อยู่ได้จริงหรือ

ยุคดิจิทัล ใครจะมา ใครจะไป แค่ปรับตัวก็อยู่ได้จริงหรือ

By อภิชาติ ขันธวิธิ

ในยุคที่อะไร ๆ รอบตัวก็เต็มไปด้วยดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกึ่งบังคับให้อีกหลายอย่างต้องเปลี่ยนตามไปด้วย การใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ธุรกิจก็ต้องปรับทั้งกระบวนการคิดและวิธีการในการบริหารจัดการใหม่เพื่อให้ทันและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและรวดเร็วของลูกค้า เมื่อธุรกิจเปลี่ยนแนวทาง ผู้บริหารเปลี่ยนแนวคิด แล้วคนทำงานหรือมนุษย์เงินเดือนในยุคดิจิทัลล่ะ จะอยู่กันอย่างไร จะต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหน

ผม อภิชาติ ขันธวิธิ หรือที่รู้จักกันทางสื่อออนไลน์ว่า HR The Next Gen ซึ่งเป็นนักบริหารทรัพยากรบุคคล หรือ HR ขอใช้ประสบการณ์มากกว่า 12 ปี ในการให้คำตอบและแนวทาง ทั้งทางด้านบริหารทรัพยากรบุคคลในมุมของผู้บริหาร และวิธีการปรับตัวของมนุษย์เงินเดือนในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี
 

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ในยุคนี้แตกต่างจากเมื่อ 5 ปี หรือ 10 ปีก่อนอย่างไรบ้าง


ความหลากหลายของคนมากขึ้นครับ ซัก 10 ปีก่อน หลาย ๆ องค์กรจะตื่นเต้นกับการเข้ามาของ Generation Y ซึ่งมีวิถีชีวิตและแนวคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ องค์กรเอย ผู้บริหารเอยก็กลัวว่า  Gen Y จะเข้ามาเป็นตัวป่วนองค์กร ซึ่งก็ป่วนจริง ๆ ถึงตอนนี้หลาย ๆ องค์กรก็ยังคงกลัว Gen Y อยู่ โดยที่อาจจะไม่รู้ตัวว่าตอนนี้ Gen Y หลายคนเริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้บริหารทั้งระดับกลาง และระดับสูงในหลายองค์กรแล้ว

ความปั่นป่วนจาก Gen Y ยังไม่ทันหายดี ตอนนี้ Gen Z  ก็เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัยทำงานกันแล้ว ก็เป็นการปรับตัวอีกระลอกหนึ่งของฝ่ายบริหารและ HR ซึ่งปัญหาใหญ่หลังจากนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้ทั้ง Gen Y  ตอนปลายและ Gen  Z ตอนต้นโดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพ อยากจะเข้ามาร่วมงานกับองค์กร ในขณะที่ Trend ของ Startup มาแรงมากและมุมมองของความมั่นคงในมนุษย์เงินเดือนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริหารต้องรีบจับทางให้อยู่ รีบสร้าง Employer Brand ให้เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ เราจะเริ่มเห็นการทำโฆษณาในลักษณะของบริษัทนี้ดีอย่างนั้น บริษัทนั้นดีอย่างนี้มากขึ้น ไม่ใช่โฆษณาสินค้าหรือบริการของบริษัท แต่เป็นการโฆษณาว่า บริษัทน่าร่วมงานด้วยขนาดไหน
 

อาชีพไหนที่กำลังจะหายไปในยุคดิจิทัลที่มีการใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีมากขึ้น


ถ้าตอบง่าย ๆ ก็คือ พวกงานเอกสาร งานแอดมินทั้งหลาย มีโอกาสที่จะไปก่อน ถ้าเอาให้เห็นภาพชัดขึ้นกว่าเดิม คนที่ตามข่าวจะเริ่มเห็นว่า ธนาคารเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น Online Banking มากขึ้น ลูกค้าธนาคารสามารถลงทุนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งคนวิเคราะห์ เพราะให้ระบบคิดคำนวณให้แทน เมื่อเทคโนโลยีมาแทนที่ งานบริการในลักษณะนี้ก็จะค่อย ๆ ลดลง และอาจจะหายไปเลย

ผมว่า สุดท้ายคนบางกลุ่มก็อาจจะโหยหาอะไรที่ไม่ใช่กระแส Back to Basic หรือการให้บริการแบบพรีเมียมก็น่าจะยังมีอยู่ เพียงแต่รูปแบบคงมีการเปลี่ยนแปลงไป ความสามารถของคนที่ต้องการเพื่อทำงานในตำแหน่งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
 

หากเรารู้ตัวว่า เราอยู่ในกลุ่มอาชีพเหล่านั้น เราควรมีแนวทางในการรับมืออย่างไร


ข้อแรก ต้องมองให้ออกว่า เกมจะเดินไปทางไหน ไม่ว่าจะอยู่บริษัทไหน ก็ต้องรู้ให้ได้ว่า บริษัทมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนไปในทางไหนบ้าง คนที่ทำงานทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ถ้าไม่ตามข่าวสารเลยว่า แนวโน้มของสื่อสิ่งพิมพ์จะเปลี่ยนไปเป็นสื่อดิจิทัลมากขึ้น พอถึงเวลาที่บริษัทเปลี่ยนจริง ๆ  เราก็ตกกระแส ก็ไม่แปลกที่จะโดนเขาทิ้งเอาไว้ เพราะตัวบริษัทเองบางทีก็แทบเอาตัวไม่รอดจากการเปลี่ยนแปลง การต้องแบกกันไปหมดก็อาจจะทำให้โอกาสรอดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ข้อที่สอง คือ เราต้องพัฒนาตัวเองให้ทันความต้องการของตลาดด้วย ไม่ได้มองแค่บริษัทเราอย่างเดียว เพราะถ้าบริษัทเราเองก็ไม่รอดจากการเปลี่ยนแปลง แต่เรามีความรู้ความสามารถ และศักยภาพที่จะสู้ได้ ทางเลือกเราก็มีมากขึ้น ยิ่งทางเลือกมากขึ้น ก็ไม่ยากที่เราจะไปต่อได้
 

คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในความคิดของคุณ น่าจะเป็นคนแบบไหน


คนที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอครับ อนาคต คือ สิ่งที่ไม่แน่นอน วันนี้เราอยู่กับโลกดิจิทัล วันข้างหน้าก็อาจจะมีอะไรที่ More than Digital ก็ได้ คนที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง สนุกกับการพัฒนาตัวเอง ก็จะสนุกกับอะไรใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา

ยิ่งเราพัฒนาตัวเราเองมากแค่ไหน เราก็จะยิ่งมีทางให้เลือกเดินมากขึ้นเท่านั้น ทางที่เคยเดินไปแล้วมันไม่ใช่ ถ้าเราไม่มีทางเลือกอื่นเลย เราก็คงต้องยอมเดินต่อไป ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า มันจะไม่สามารถพาเราไปให้ถึงจุดหมายได้แน่ ๆ แต่ถ้าเรามีทางเลือก ถึงเราจะต้องย้อนกลับมาตั้งต้นใหม่ แต่เราก็มีทางใหม่ให้เดิน ถูกไม่ถูก จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่ก็ยังดีกว่าเดินไปในทางที่เรารู้ว่ายังไงมันก็ไม่ประสบความสำเร็จแน่ ๆ
 

มีอะไรอยากฝากคนที่กำลังจะเริ่มงาน (First Jobber) ในยุคนี้บ้าง


คนเราจะเป็นแฟนกันได้ แปลว่า สองฝ่ายตัดสินใจเลือกและคิดแล้วว่าคนนี้แหละที่เราอยากอยู่ด้วย ศีลเสมอกัน คิดอะไรคล้าย ๆ กัน อาจจะมีขัดแย้งกันบ้างระหว่างทาง แต่ปลายทางก็น่าจะมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน คนที่จะมาเป็นแฟนเรา อาจจะไม่จำเป็นต้องสวยที่ 1 ต้องหล่อที่สุด แต่เป็นคนที่เหมาะกับเราที่สุดต่างหาก

หางานก็เหมือนหาแฟน บางคนอาจจะได้งานที่ทุกคนอิจฉา แต่พออยู่ ๆ ไปก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเรา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลาออกจากงานที่ทุกคนอิจฉานั้นมา หรือกระทั่งเรามั่นใจว่าเราเก่งมาก เก่งที่สุดในรุ่น เก่งกว่าทุกคนที่มาลงแข่ง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคนที่ถูกเลือกไม่ใช่เรา

ถ้าเราไม่ได้งาน ไม่ได้แปลว่า เราไม่เก่ง แค่แปลว่า เราไม่เหมาะก็เท่านั้นเอง ขอให้เจอคนที่เหมาะ ๆ ไว ๆ จะได้อยู่ด้วยกันได้นาน ๆ ครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow