The New Normal : ความปกติที่ไม่ปกติ

The New Normal : ความปกติที่ไม่ปกติ

By วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
“โลกกำลังจะเปลี่ยนไป”
มันเร็วกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้มาก ๆ ความเสื่อมถอยของธรรมชาติทุก ๆ อย่าง ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ไฟไหม้ผืนป่าทั่วทุกมุมโลก ภัยแล้งในออสเตรเลียและแอฟริกา คลื่นความร้อนปะทะยุโรป การล้มตายของปะการัง ขยะในมหาสมุทร อากาศที่เป็นพิษมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศ (Climate Refugee) ที่หนักหน่วงขึ้นทุกที
คำว่า "ปกติ" กำลังจะเปลี่ยนไป ตัวแปรที่เราไม่รู้จักและคาดเดาไม่ได้จะปรากฏตัวออกมาเรื่อย ๆ
"ธรรมชาติ" ที่พวกเรารู้จักจะ "ไม่เป็นธรรมชาติ" อีกต่อไป เพราะความรวดเร็วของความเปลี่ยนแปลงจะทวีคูณขึ้นภายในไม่กี่ทศวรรษหลังจากนี้ และความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของธรรมชาติที่เรามีมาก่อนหน้านี้ จะใช้อธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไม่ได้เลย
และก็ยังไม่มีใครตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราบ้าง
"โลกร้อน" ผมเชื่อว่าทุกคนได้ยินคำคำนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก แต่คงไม่ใช่ทุกคน ที่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไรกันแน่ อะไรคือโลกร้อนที่เราสัมผัสได้ อะไรบ้างที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์
จริง ๆ แล้วโลกร้อน หรือ Global Warming เป็นคำศัพท์ที่นักวิชาการต่างประเทศไม่ค่อยสนับสนุนให้ใช้นัก เพราะมันสื่อถึงการที่โลกอุณหภูมิสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นมีมากมายหลายแบบและมีรายละเอียดมากกว่าแค่โลกร้อนขึ้น คำว่า "Climate Change" หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นคำที่เหมาะสมกว่า แต่แน่นอนว่าพอเป็นภาษาไทยมันก็อาจจะยาวไป โลกร้อนก็เลยใช้ง่ายกว่า
แต่แน่นอนว่าตัวแปรต้นที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบทุกอย่างตามมาก็คืออุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น เพราะก๊าซเรือนกระจกที่กักความร้อนจากพระอาทิตย์ไว้ในชั้นบรรยากาศ แต่การที่อุณหภูมิสูงขึ้นในแต่ละพื้นที่ของโลกนั้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องในแบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งผมจะลองยกตัวอย่างให้ฟังสักสามอย่าง

ตัวอย่างผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น

Polar Vortex : อุณหภูมิของโลก เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปัจจุบันสูงขึ้นแล้วประมาณ 1 องศา แต่ในโซนบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือและใต้ กลับร้อนขึ้นมากกว่าโซนอื่น ๆ ของโลกประมาณ 2 เท่า คือปัจจุบันแถบ Arctic และ Antarctic อุณหภูมิสูงขึ้นแล้วประมาณ 2 องศา นั่นทำให้อุณหภูมิของแถบขั้วโลกเหนือกับบริเวณที่อยู่ต่ำลงมามีความแตกต่างกันน้อยลง ซึ่งส่งผลให้กระแสลม Jet stream ซึ่งปกติพัดหมุนเป็นวงกลมอยู่รอบขั้วโลกเหนือ และกักอากาศหนาวไว้ให้ลอยตัวอยู่แค่บริเวณขั้วโลก เกิดความแปรปรวน เปลี่ยนรูปร่าง ส่งผลให้อากาศขั้วโลกถูก "เท" ลงมายังทวีปอเมริกาเหนือ ส่งผลให้อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างไม่น่าเชื่อในบางพื้นที่ Polar Vortex ได้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเมื่อต้นปี 2019 และทำให้เมืองใหญ่บางเมือง เช่น Chicago, New York อุณหภูมิลงไปประมาณ -50 ถึง -60 องศาเซลเซียส สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย และทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มป่วยล้มตาย
ปะการังฟอกขาว : ปะการังฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงยุค 80 โดยเหตุผลหลัก ๆ ก็คือน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ปะการัง "เครียด" และปล่อยสารเคมีที่ขับไล่สาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนปะการังทุกชนิดให้แยกตัวออกไป ซึ่งสาหร่ายพวกนี้มีหน้าที่คือ 1. สังเคราะห์แสงเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับตัวปะการัง 2. ทำให้ปะการังมีสีสันต่าง ๆ ซึ่งพอไม่มีสาหร่ายเกาะอยู่ เนื้อปะการังก็กลายเป็นสีขาว ซึ่งปะการังฟอกขาวนั้น ยังไม่ถือว่าตาย แต่หากอุณหภูมิของน้ำไม่ลดลงและสาหร่ายไม่กลับมา ปล่อยไปสักพักปะการังก็จะอดอาหารตาย เพราะไม่มีสาหร่ายมาสังเคราะห์แสงให้ และปะการังนั้นถือว่าเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลเลยก็ว่าได้ เพราะว่าเป็นสถานอนุบาลปลาทะเลมากมายหลายชนิด และเป็นแหล่งอาหารของปลาใหญ่ ไปจนถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในหลายประเทศ ในอนาคตสภาวะน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น และเป็นกรดมากขึ้น (เพราะ Carbon ที่มนุษย์ปล่อยและถูกดูดซับลงสู่ทะเล) อาจจะทำให้ปะการังหายไปหมดทั้งโลกเลยก็เป็นได้ และนั่นจะส่งผลกระทบสู่ทรัพยากรทางทะเลอีกมากมาย ทั้งการท่องเที่ยว การประมง และวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ไฟป่า : ในปี 2019 ที่ผ่านมา นอกจากไฟออสเตรเลียที่ทุกคนน่าจะได้เห็นตามข่าวแล้ว ก็มีข่าวคราวไฟไหม้ป่าทั่วโลกให้ได้ยินกันตลอดทั้งปี ทั้งป่าแอมะซอน สุมาตรา กรีนแลนด์ ไซบีเรีย จนถึงประเทศไทย ไหม้กันตลอดทั้งปี ซึ่งจริง ๆ แล้วไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีทุกปีอยู่แล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ป่าที่ไม่เคยไหม้ ปัจจุบันก็ไหม้ ส่วนป่าที่ปกติไหม้แล้วดับได้ ไฟกลับรุนแรง ควบคุมไม่ได้ ไหม้นานขึ้น และขยายพื้นที่ออกไปมากกว่าเดิม ซึ่งอันนี้เป็นผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ร้อนขึ้น แล้งขึ้น และอากาศแห้งขึ้น ไฟป่าต้องการองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1. ประกายไฟ 2. เชื้อไฟ 3. ลม ซึ่งการที่โลกร้อนขึ้นก็ทำให้ทั้ง 3 องค์ประกอบมีความรุนแรงขึ้น ไปจนถึงประกายไฟที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยความประมาท หรือด้วยความตั้งใจในการเผาพื้นที่ป่าทำเหมืองหรือทำการเกษตร ก็ดับไม่ได้และควบคุมยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ต้นไม้ที่ถูกเผาปล่อยคาร์บอนทั้งหมดที่เก็บเอาไว้คืนออกสู่ชั้นบรรยากาศ เพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นอีก และในขณะเดียวกันก็ลดพื้นที่สีเขียวซึ่งมีหน้าที่ในการดูดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศลง พูดได้อีกอย่างว่าป่ายิ่งไหม้ โลกก็ยิ่งร้อน โลกยิ่งร้อน ป่าก็ยิ่งไหม้
นอกจากทั้ง 3 อย่างนี้ ยังมีปรากฏการณ์อื่น ๆ อีกมากมายที่เชื่อมโยงกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น ภาวะขาดแคลนน้ำจืด ผลผลิตการเกษตรที่ลดลง คลื่นความร้อน พายุโซนร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น มลภาวะทางอากาศ รวมไปถึงสงครามและความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากร และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่กำลังจะทำให้โลกที่เรารู้จักทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้
นั่นแปลว่า สิ่งที่สังคมมนุษย์ให้ "คุณค่า" ไม่ว่าจะในเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อีกไม่นานนี้ จะต้องผูกเข้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่ามันจะมีผลกับทุกอย่างของชีวิตเรา ตั้งแต่อากาศที่เราหายใจ วิธีการเดินทาง และการใช้พลังงานในทุก ๆ วัน ไปจนถึงประเด็นทางการเมืองที่จะกลายเป็นที่ถกเถียงกัน ฯลฯ
แต่ก่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกับเป็นเรื่องทางจริยธรรม สำหรับผู้มีจิตสำนึก ผู้อยากทำความดี รักษ์โลก เก็บธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ดู
มาตอนนี้เรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่จะมาเป็นอันดับหนึ่งในทุก ๆ เรื่องการตัดสินใจของมนุษย์
เรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องทางจริยธรรมหรือการทำความดีอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นเรื่องของการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ทุกคนและสรรพสัตว์ทุกตัวบนโลกใบนี้
เรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องของอนาคต และคนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเดียวอีกแล้ว เพราะมันได้มาถึงแล้ว วิกฤตโลกร้อนที่เราหวาดหวั่นกันมานานหลายทศวรรษ สิ่งนี้ได้มาถึงแล้วในยุคสมัยของพวกเรานี่เอง
และความปกติ จะกลายเป็นความที่ทุกอย่างไม่มีอะไรปกติ ไม่มีอะไรคาดเดาได้อีกต่อไป
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงและบรรเทาได้ ถ้าหากว่ามนุษย์ทั้งโลกหันมาใส่ใจปัญหานี้ และหาทางออกร่วมกันในอนาคตอันใกล้
แต่ถึงผมจะไม่บอก...คุณก็พอจะเดาได้ ว่าสิ่งนั้นมันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเหลือเกิน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow