หมดห่วงเรื่องสุขภาพเมื่อ AI เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์

หมดห่วงเรื่องสุขภาพเมื่อ AI เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์

By Krungsri Plearn Plearn

ในตอนนี้การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือที่พวกเราคุ้นหูกันในชื่อ AI (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามามีบทบาทในการทำงานของมนุษย์ อย่างเช่น ในธุรกิจอุตสาหกรรม ที่มีการใช้หุ่นยนต์ AI คอยทำงานหนัก หรืองานที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ หรือธุรกิจการเงินก็มีการใช้ AI Chatbots หรือ AI Call Center เข้ามาอำนวยความสะดวกกับลูกค้าให้ได้รับการบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอพนักงานให้นาน และตอนนี้ก็มีการนำ AI เข้ามาช่วยเสริมธุรกิจสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการช่วยแพทย์ และพยาบาลดูแลผู้ป่วยตั้งแต่การเริ่มเข้ามารอคิวไปจนถึงการผ่าตัด และการดูแลรักษาตัวระหว่างร่างกายพักฟื้น หากเป็นเมื่อก่อนถ้าเราจะบอกว่าจะมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยดูแลเราร่วมกับคุณหมอ คงจะมีในต่างประเทศ แต่เชื่อไหม เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วในประเทศไทย ด้วยการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาของมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่ได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีเกี่ยวกับบริการสุขภาพ และวันนี้เรามีตัวอย่างเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านสุขภาพจากฝีมือของคนไทยนี่เอง

หมดห่วงเรื่องสุขภาพเมื่อ AI เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์

หุ่นยนต์ AI ผู้ช่วยแพทย์ SOFA

เป็นหุ่นยนต์ AI ด้านสุขภาพ จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีหน้าที่ช่วยสื่อสารกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลไปยังคนไข้ และความสามารถของเจ้าหุ่นยนต์ SOFA ก็คือมีจอภาพที่ติดตั้งไว้ในบริเวณลำตัวช่วยบอกผลการรักษาของผู้ป่วยอย่างละเอียด และมีฟังก์ชันพูดคุยกับคุณหมอผ่านระบบ Video Call ได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้หุ่นยนต์ SOFA ยังมีกล้องตรวจความร้อนช่วยวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย ถึงแม้คุณหมอจะไม่ว่าง ก็สามารถพึ่งการบริการของหุ่นยนต์ AI ได้ ในตอนนี้มีโรงพยาบาลกว่า 20 แห่งในประเทศไทย ได้ยื่นขอติดตั้งระบบหุ่นยนต์ AI นี้เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ป่วย และช่วยลดภาระหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลที่ไม่สามารถทำงานได้เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกวัน

AI ช่วยคัดกรองมะเร็ง Chest 4 All

จากเดิมหากเราสงสัยในสุขภาพว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด หรือโรคที่เกี่ยวกับหน้าอกหรือไม่ก็ต้องไปทำการตรวจแบบเอกซ์เรย์ซึ่งการดูผลตรวจอาจต้องรอนานนับเดือนว่าเราเกิดอะไรกันแน่ แต่ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องรอผลตรวจนานอีกต่อไปเพราะ AI จะเข้ามาช่วยคัดกรองโรคมะเร็งปอด วัณโรค ได้อย่างทันทีเพื่อการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วขึ้นกว่าในอดีต ด้วยการร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วยกันผลิตซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Chest 4 All โดยหลักการทำงานของ AI ตัวนี้จะใช้ผลเอกซเรย์ของผู้ป่วยมาประมวลหาความผิดปกติด้วยเทคนิคของ Deep Learning พร้อมระบุความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปอด หรือโรคที่เกี่ยวกับทรวงอก ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำถึง 94% ช่วยให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางก็สามารถรักษาผู้ได้อย่างทันท่วงที

AI ช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้น Agnos

หากใครรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะป่วย ก็คงไม่พ้นที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค บางทีก็เจอว่าอาการที่เราเป็นไปคล้ายกับอาการของโรคร้าย ทำให้คิดไปเอง และเครียดว่าเรากำลังเป็นโรคร้าย แต่ตอนนี้หากว่าเรารู้สึกว่ากำลังป่วย มีอาการแปลก ๆ เกี่ยวกับร่างกาย เราสามารถบอกอาการที่เราเจอแล้วให้ AI ช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ก่อนที่เราจะไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล จากผลงานของบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Agnos ที่ได้พัฒนา AI เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ และการบริการ ที่นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรค ยังสามารถบอกได้ว่าโรคที่เรากำลังเป็น ยังต้องใช้ยาตัวไหนในการรักษา ซึ่ง AI แบบนี้จะช่วยลดขั้นตอนการตรวจเช็กอาการป่วยในเบื้องต้น เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเราก็สามารถเล่ารายละเอียดที่ AI ได้วินิจฉัยให้กับคุณหมอได้ฟัง และทำการรักษาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น หากใครสนใจอยากลองให้ AI ช่วยวินิจฉัยโรค สามารถทดลองได้ด้วยตัวเองจากแอปฯ Agnos ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android ได้ฟรีเลย
หมดห่วงเรื่องสุขภาพเมื่อ AI เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์

หุ่นยนต์ AI ขนส่งและจ่ายยาอัตโนมัติ B-Hive1

จากปัญหาในแต่ละวันที่ผู้ป่วยต้องเสียเวลารอโรงพยาบาลจ่ายยานานกว่า 1 ชั่วโมง แต่การใช้ AI ในการช่วยจ่ายยาสามารถลดระยะเวลาให้เหลือเพียงแค่ 15 นาที ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงของเชื้อโรคในการแพร่กระจายได้อย่างดี นี่เป็นตัวอย่างจากโรงพยาบาลศิริราช ที่ได้เริ่มนำหุ่นยนต์ AI สุขภาพเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของเภสัชกร ลดความผิดพลาดในการจัดยา และทำให้เภสัชกรได้มีเวลาให้คำปรึกษากับคนไข้มากขึ้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก AI ตัวนี้มาจากการร่วมมือกันของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ AI ในลักษณะนี้ที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ กันเช่น Mum II หุ่นยนต์ AI ด้านสุขภาพช่วยขนส่งอาหารและจัดยาไปยังเตียงของผู้ป่วยโรงพยาบาล ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยในยุค COVID-19 เพราะภายในช่องเก็บอาหาร และยา จะมีการปล่อยแสง UV คอยฆ่าเชื้อโรคที่อาจปะปนมากับภาชนะอยู่ตลอดเวลา และยังมีหน้าจอสำหรับแสดงข้อมูลอาหารที่ผู้ป่วยจะได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการอย่างปลอดภัยที่สุด
มาถึงตรงนี้เห็นได้ชัดแล้วว่าเทคโนโลยี AI ด้านสุขภาพของประเทศเรามีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมากแตกต่างจากในอดีตที่เราเป็นเพียงแค่ผู้ตาม และนำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ในราคาแพง ๆ ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะการให้การสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่องทำให้นักวิจัย และน้อง ๆ นักศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถด้าน AI ได้สร้างผลงานเพื่อเป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน นับเป็นเรื่องที่ดีของคนไทยที่เราสามารถมีเทคโนโลยีล้ำอนาคต ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา