ทีมงาน คือหัวใจแห่งความสำเร็จของ SME

ทีมงาน คือหัวใจแห่งความสำเร็จของ SME

By Tim Pita

นับเป็นสิ่งที่ท้าทายผมเป็นอันดับต้นๆ อย่างคำโบราณที่ว่า “คุมเครื่องคุมง่าย คุมคนคุมยาก” มันเป็นเช่นนี้จริงๆ อาจจะจริงสำหรับทุกองค์กร ว่าคนคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่สำหรับธุรกิจเล็กๆ ตามนิยามของ SME แล้ว ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีกเยอะ

สำหรับชีวิตการทำงานของผมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอกชนไทย เอกชนฝรั่ง ภาครัฐ ทำงานในฐานะลูกทีม ในฐานะหัวหน้าทีม ทั้งในไทยและเทศ รู้สึกได้ทันทีว่าความสำเร็จการทำงานเป็นทีมนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และการมีทีมเวิร์คที่ดีนั้นอาจไม่ทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างอัตโนมัติ แต่การไม่มีทีมเวิร์คนั้นคือหายนะขององค์กรอย่างอัตโนมัติ
ถ้าให้ผมนึกถึงประสบการณ์ ของการทำงานเป็นทีมแล้วประสบความสำเร็จนั้น การทำงานเป็นทีมมีองค์ประกอบคล้ายๆ กัน คือ
1) มีกลยุทธ์ (Strategy ที่ชัดเจน)
2) มีกระบวนงานเป็นระบบ (Process)
3) มีโครงสร้าง (Structure)
4) มีคนที่พร้อม อยากทำ และมีความสามารถที่จะทำ (People)
ทีมเวิร์คกับกลยุทธ์เป็น 2 คำที่ผมไม่ค่อยได้ยินคู่กันมากเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่กลยุทธ์ถูกคิดโดยผู้นำหรือกลุ่มคนไม่กี่คน แล้วให้คนหมู่มากปฏิบัติ อย่างไรก็ตามมากคนก็มากความ ถ้าองค์กรไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ทีมย่อมสับสนและปฏิบัติไม่ถูก เริ่มไม่อยากทำ เริ่มขี้เกียจ เริ่มมีตัวถ่วง (Free Rider) และกลายเป็นวงจรอุบาทว์ในที่สุด ข้อนี้คิดว่าทุกท่านคงเคยประสบกับตัวเองคงไม่ต้องเขียนมาก
เรื่องโครงสร้างบริหาร (Structure) และ กระบวนการ (Process) ผมคิดว่ามีความซับซ้อนและน่าเขียนถึงมากกว่ามาก ถ้ากลยุทธ์เป็น “What” โครงสร้างบริหาร กระบวนการน่าจะเป็น “How” ซึ่งผมคิดว่ายากกว่ามาก ที่ยากเพราะเราต้องสร้างระบบที่ทั้งสามารถรุกและรับได้ หมายถึงเราต้องสร้างโครงสร้างและกระบวนการที่สามารถทำให้งานลื่นไหลคล่องตัว แต่ในขณะเดียวกันระบบต้องตรวจสอบได้และคานอำนาจกันและกันได้ ถ้าอยากให้องค์กรทำงานได้เร็วไม่สลับซับซ้อนเหมือนบริษัทใหญ่ SME ก็ต้องมีองค์กรที่ลีน “Lean” แม่ทัพที่อยู่หน้างานสามารถตัดสินใจได้เอง ไม่ต้องกลับมาข้ออนุมัติเจ้านาย ไม่ต้องมีรายงานที่ไม่มีคนอ่านให้เสียเวลา แต่การทำงานแบบนั้นไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ การทำงานอาจผิดพลาดได้ง่าย ผลลัพท์ออกมาไม่แน่นอน การโกงอาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นโครงสร้างในการตรวจสอบและกระบวนการที่ใช้มอนิเตอร์ทีมก็ต้องมี SME จึงต้องบริหารและลองผิดลองถูก เพื่อหาจุดสมดลของโครงสร้างและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีและเสมอต้นเสมอปลาย
เรื่องสุดท้าย เรื่องของคนในทีมยังไม่ต้องพูดถึงว่า ถือว่าท้าทายมากที่สุดสำหรับ SME “Ready, Willing and Able” เป็นสิ่งที่ผู้นำ ผู้จัดการ โค้ช ผู้ประกอบการ คว้านหากันในทุกอุตสาหกรรม ในทุกการแข่งขัน ซึ่ง SME โดยนิยามแล้ว ‘เล็ก ทรัพยากรน้อย ให้ฐานเงินเดือนได้น้อย ไม่มีชื่อเสียง’ ย่อมเป็นการยากที่จะดึงดูดใจให้คนเก่งๆ มาทำงานด้วย เมื่อเทียบกับองค์กรใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียง การจะจ้างงานซักคนหนึ่งเราอยากได้คนที่ “พร้อม” มีประสบการณ์ มีคุณวุฒิ เท่านั้นยังไม่พอ คนที่พร้อมต้อง “เต็มใจ” ที่จะทำด้วย คนที่ “เต็มใจ” ที่จะทำต้อง “สามารถ” ที่จะทำได้ด้วย นั้นคือที่มาของ “Ready, Willing and Able” คำถามต่อมา คือ เราจะหาคนแบบนั้นอยู่ในทีมของเราได้อย่างไร?
สำหรับ SME แล้วสรุปได้สั้นๆ ว่า เถ้าแก่ต้องลุยเอง บริษัทอย่างเราๆ เจ้าของกิจการ ต้องลุยภาคสนามให้มากที่สุด เหตุผลไม่มีอะไรมาก ถ้าเราลุยเอง การตัดสินใจทั้งหมดจะเร็วขึ้น โอกาสในการทำธุรกิจย่อมไม่หลุดลอยไปง่ายๆ เข้าไปรับรู้เรื่องราวให้มือเปื้อน เท้าเปื้อน ยิ่งทำให้วางแผนและตัดสินใจได้ดีมากขึ้น
ตอนเริ่มผมจะบริหารงานมากกว่าคน พอธุรกิจเริ่มนิ่ง ตั้งไข่ได้แล้ว ผมจะบริหารคนไม่บริหารงาน แล้วให้คนที่ Ready, Willing and Able ทำงานและตัดสินใจให้เรา ถ้าเรามีกลยุทธ์ที่ดี โครงสร้างที่เหมาะสม กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เราก็สามารถจะขับเคลื่อนธุรกิจไปในมิติใหม่ๆ ของธุรกิจได้ แล้วธุรกิจของเราก็จะไม่เล็กอีกต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา