เปิดโลกทัศน์ 'หญิงเก่งนักบริหาร' ในวงการแม่และเด็ก

เปิดโลกทัศน์ 'หญิงเก่งนักบริหาร' ในวงการแม่และเด็ก

By Krungsri Guru

“ในปัจจุบันที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของผู้คนจนแทบจะแยกกันไม่ออก หรืออาจเรียกได้ว่าสื่อออนไลน์นั้นได้กลายเป็นปัจจัยที่ห้าที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภคในยุคนี้ไปแล้วก็ว่าได้ ด้วยเหตุที่ว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้นักการตลาดหันมาสนใจและทำการแข่งขันกันในตลาดดิจิทัลกันอย่างเนืองแน่นเพื่อที่จะครอบครองใจผู้บริโภคยุคนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตลาดแม่และเด็กที่สื่อดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ที่ไม่ได้มีแค่เพียงการเล่นอินเทอร์เน็ตด้วยคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการท่องโลกอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตที่มากขึ้นในกลุ่มคุณแม่ชาวไทยถึง 82 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย” คุณณัฐธนธร ฟอร์ด ผู้จัดการประจำประเทศไทยของเว็บไซต์ The Asianparent.com เว็บไซต์สังคมออนไลน์ที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยถึงส่วนหนึ่งของผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณแม่ยุคดิจิทัล และพฤติกรรมการรับสื่อ ระหว่างสื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ของคุณแม่ชาวไทย (Digital Mum Report 2015 & Mum’s Media Usage) โดยบริษัท ทิคเคิล มีเดีย จำกัด ประเทศสิงคโปร์

คุณณัฐธนธร ฟอร์ด หรือ คุณแนท หญิงเก่งนักบริหาร ในวงการแม่และเด็ก ตัวแทนคุณแม่ยุคใหม่ ที่ไม่เพียงแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถทางด้านการบริหารและประสบการณ์ เกือบ 20 ปี เท่านั้น นอกจากนี้เธอยังมีบทบาทเป็นคุณแม่ยุคใหม่ที่สามารถบริหารจัดการเรื่องงานและครอบครัวได้อย่างลงตัวอีกด้วย เธอได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยของเว็บไซต์ theAsianparent.com ที่มีผู้เข้าชมมากกว่า 6 ล้านคน จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดให้บริการกับคุณพ่อคุณแม่ใน 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย รวมทั้งแฟนเพจผู้ติดตาม theAsianparent.com Thailand กว่า 6 แสน ที่เข้าชมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และดูแลบุตร ณ เว็บไซต์แห่งนี้ คุณแนทได้นำเอาประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเธอพลักดันให้ theAsianparent Thailand เป็นสังคมออนไลน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดแห่งหนึ่งของ ประเทศไทย
คุณแนท หรือที่รู้กันในวงการดิจิทัลมีเดียว่า ‘แนท ฟอร์ด’ เริ่มต้นประสบการณ์ทำงานของเธอในวงการการขายและการตลาด หลังจากจบปริญญาตรีหลักสูตรบริหารระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยหอการค้า ด้วยความเป็นคนคล่องแคล่ว ชอบท้าทายตัวเองอยู่เสมอ และเชื่อมั่นว่า “อะไรที่ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้เช่นกัน” ทำให้คุณแนทก้าวเข้าสู่สายงานทางด้าน ไอที ซอฟต์แวร์ และอี-คอมเมิร์ซ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของตัวเธอหลังจากจบปริญญาโททางด้านการจัดการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business Management) จากมหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากนั้นเธอได้มีโอกาสร่วมงานกับนิตยสารบันทึกคุณแม่ ด้วยความสนใจงานทางด้านสายงานมีเดียที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ในการวางแผนสื่อให้กับลูกค้าซึ่งเป็นงานที่สนุกและท้าทายอีกงานหนึ่ง คุณแนทได้ก้าวเข้าสู่วงการออนไลน์อย่างเต็มตัวในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายขายของเว็บไซต์ DDproperty.com ในกลุ่มบริษัท Property Guru ของสิงคโปร์ และบริษัท iCar Asia Thailand ในฐานะผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาดของเว็บไซต์ Autospin.com และ One2car.com ก่อนที่จะได้รับการทาบทามจาก บริษัท ทิคเคิล มีเดีย จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยของเว็บไซต์ theAsianparent Thailand จนถึงปัจจุบัน

ความแตกต่างของ theAsianparent Thailand


“ข้อแตกต่างของ theAsianparent Thailand อย่างแรกก็คือ การที่เราเน้นในเรื่องของการเรียนรู้และทำความรู้จักกับผู้ชมเว็บไซต์ของเราผ่านการศึกษาวิเคราะห์วงจรของการตัดสินใจซื้อสินค้า (customer journey) ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เข้าเว็บไซต์ของเราได้เป็นอย่างดี และนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เพื่อพัฒนารูปแบบเนื้อหาของเว็บไซต์ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเข้ามาสนับสนุนความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างแท้จริง”
“อย่างที่สอง ก็คือ การมีการแบ่งปันทรัพยากรภายในองค์กร (resource sharing) จาก 6 ประเทศที่เราเปิดให้บริการ รวมทั้งประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ทำให้เรามีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ หลากหลายที่สามารถนำมาแชร์กันและปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศนั้น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง”
“และอย่างที่สาม คือ การที่เรานำเสนอเนื้อหาที่เป็นประสบการณ์ตรงจากคุณแม่สู่คุณแม่ หรือในรูปแบบเพื่อนแนะนำเพื่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปิดกว้างมากขึ้นที่จะแสดงความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น theAsianparent จึงเป็นพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกลุ่มคุณแม่ถึงคุณแม่ หรือกลุ่มผู้ที่ต้องการหาความรู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากแฟนเพจของ theAsianparent Thailand แล้ว เรายังมีบริการเฟซบุ๊กกรุ๊ป เช่น คนท้องคุยกัน นมแม่แสนอร่อย คุณแม่นักช็อป หรือ คุณแม่ปีวอก เป็นต้น ใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องต่าง ๆ สำหรับคุณแม่อีกด้วย” คุณแนท กล่าว
“นอกจากนี้เราจะมีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน theAsianparent บนมือถือ ที่รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) เพื่อตอบสนองการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ด้วย”

มุมมองอนาคตธุรกิจแม่และเด็กในประเทศไทย


“สำหรับมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจแม่และเด็กในประเทศไทย แนทมองว่าธุรกิจแม่และเด็กนั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจสักเท่าไหร่ เนื่องจากว่าโดยทั่วไปของผู้เป็นแม่ย่อมต้องการให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรธุรกิจแม่และเด็กจะยังคงเติบโตต่อไปได้เสมอ ทั้งนี้ผู้บริโภคจะฉลาดเลือกมากขึ้นเนื่องจากตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการให้ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ แก่ผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน”
ในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยจากการวิจัยพฤติกรรมของคุณแม่ยุคดิจิทัลของเว็บไซต์ theAsianparent.com ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากคุณแม่คนไทยกว่า 1,600 คน เพื่อศึกษาพฤติกรรมและเทรนด์การบริโภคสื่อยุคดิจิทัลของว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และคุณแม่มือใหม่ พบว่า ผู้หญิงในบทบาทของ “แม่” นั้นมีอิทธิพลอย่างมากในการตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว หรือที่เรียกว่า “Chief Household Officer” ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน และเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยกว่าครื่งหนึ่งของคุณแม่กลุ่มสำรวจใช้เวลาราว 1-6 ชั่วโมงต่อวันกับการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืนหลังจากที่ลูกหลับที่จะมีการเสิร์ชหาข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มแม่ด้วยกัน จากการสำรวจคุณแม่ชาวไทยพบว่า
อันดับหนึ่ง 99 เปอร์เซ็นต์ นิยมใช้ เฟซบุ๊ก (Facebook)
 
อันดับสอง 64 เปอร์เซ็นต์ นิยมใช้ กูเกิล พลัส (Google+)
 
อันดับสาม 62 เปอร์เซ็นต์ นิยมใช้ อินสตาแกรม (Instagram)
นอกจากนี้ยังพบว่า คุณแม่ชาวไทยเป็นกลุ่มที่มีการใช้แอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ในการส่งข้อความมากที่สุดจากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มสำรวจจาก 6 ประเทศ (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย) มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย (ที่มา: th.theasianparent.com)

คุณแม่ยุคใหม่นอกจากเก่งเรื่องงานแล้ว ก็ต้องเก่งเรื่องครอบครัวด้วยเช่นกัน


“สำหรับผู้หญิงในปัจจุบันที่มีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวนั้น การมีแนวคิดเรื่องการวางแผนการเงินที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน สำหรับตัวแนทแล้ว ในฐานะที่เป็นคุณแม่ยุคใหม่ที่ต้องดูแลและวางแผนทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัวไปพร้อม ๆ กันนั้น ในเรื่องของการวางแผนการใช้จ่ายสำหรับครอบครัว
แนทจะมีการกำหนดงบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยประเมินล่วงหน้าว่าจะต้องมีรายการใช้จ่ายคร่าว ๆ อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น ซึ่งข้อดีก็คือ จะทำให้เราได้เห็นเทรนด์ในการใช้จ่ายและสามารถจัดเตรียมงบประมาณล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ก็จะมีในเรื่องของการวางแผนการออมทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีการวางแผนการออมระยะยาวให้กับลูกในอนาคต และการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งนี้แนทจะมีการปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับการใช้เงินของลูกตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วย โดยจะฝึกให้น้องรู้จักคุณค่าของเงินผ่านการออม และสะสมเงินหยอดกระปุกไว้เพื่อฝากธนาคาร ทั้งยังสร้างความคุ้นเคยเมื่อได้มีโอกาสพาลูกไปธนาคารก็จะอธิบายให้น้องฟังถึงบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของธนาคารและแนวคิดเรื่องการลงทุนเบื้องต้นสำหรับเด็กอีกด้วย”
“นอกจากการวางแผนเรื่องการเงินที่ดีแล้ว การแบ่งเวลาให้กับครอบครัวก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน โดยแนทจะใช้เวลาในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา เช่น พาลูกไปสวนสาธารณะ ทานข้าวนอกบ้านพร้อมคุณพ่อและคุณตาคุณยาย เพื่อให้น้องได้มีโอกาสใกล้ชิดผู้ใหญ่ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความอบอุ่นให้แก่ครอบครัวอีกด้วย” คุณแนทกล่าวในเรื่องของมุมมองการดูแลครอบครัว

แนวคิดการบริหารบุคคลในองค์กร


“ก่อนอื่นเราจะต้องดูตั้งแต่การรับสมัครพนักงานให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของเราเสียก่อน โดยจะต้องพิจารณาจากคนที่มีแนวความคิดในการทำงานที่สอดคล้องกับทีมงานที่มีอยู่ เพื่อให้ทุกคนได้ก้าวไปพร้อมกัน นอกจากนี้ในแง่ของการบริหารบุคคลในองค์กร เราจะต้องพูดภาษาเดียวกับลูกทีม โดยในการทำงานนั้นแนทจะนั่งทำงานรวมกับทุก ๆ คน และคอยให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ตลอดจนชักจูงให้ทุกคนมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่มุ่งเป้าไปที่ตัวชี้วัด (KPI) ของแต่ละคนเท่านั้น เช่น ในการทำการแข่งขันชิงรางวัล (contest) บนเฟซบุ๊กให้กับลูกค้า แนทก็จะกำหนดให้ทุกคนมีตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPI) เดียวกัน ทีมก็จะมาแชร์ความคิดกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ไปด้วยกัน นอกจากนี้การแสดงความประทับใจในผลงานของลูกน้องก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ทีมมีกำลังใจในการพัฒนาผลงานต่อไปด้วย”

ความแตกต่างระหว่างการทำงานในองค์กรไทยและต่างประเทศ


“ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่แนททำงานกับองค์กรต่างชาติมาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธะกิจที่ชัดเจนขององค์กร ตลอดจนการวัดผลตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งทำให้เรามีความคิดที่ก้าวไกลมากขึ้นในการทำงาน และการบริหารองค์กร ทั้งนี้ถ้าหากมองในแง่ประสิทธิภาพการทำงานของคนไทยเมื่อเทียบกับต่างชาติแล้ว แนทคิดว่าเราไม่แพ้ชาติใด ๆ ในโลกอย่างแน่นอน ในแง่ของการติดต่อประสานงานกับทีมระหว่างประเทศก็จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารจึงไม่เป็นปัญหาในเรื่องนี้ ส่วนในเรื่องของเนื้อหาข้อมูลบทความ การสำรวจวิจัย และความรู้ต่าง ๆ ที่เราแบ่งปันกันระหว่างประเทศ ก็จะถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ต่อไป”

คุณสมบัติที่ดีของนักบริหาร


“คุณสมบัติที่ดีของนักบริหารสำหรับแนท ในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้านายและลูกทีม ก็คือเราต้องสามารถสื่อสารความต้องการของหัวหน้าไปยังลูกทีมให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของบริษัท และจะต้องปกป้องสิทธิ์ในการทำงานของลูกน้องด้วยเช่นกัน”

การแก้ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน


“ในแง่ของแนวทางการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน แนทมองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ เปรียบเสมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ดังนั้นก่อนจะทำอะไร แนทจะมองไปถึงแนวทางผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือ จะคิดถึงกรณีดีที่สุด (best case scenario) ไปจนถึงแย่ที่สุด (worst case scenario) ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาและอุปสรรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามลำดับ ด้วยวิธีการนี้จึงทำให้เราไม่รู้สึกกดดันเมื่อเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคเฉพาะหน้าต่าง ๆ”
“นอกจากนี้การนำประสบการณ์ที่ผ่านมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหายังสามารถช่วยให้เราคาดเดาคำตอบและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถตอบคำถามของลูกค้าได้ในทันทีว่าเราสามารถทำสิ่งนั้นได้หรือไม่อย่างไร”

แรงบันดาลใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน


“สำหรับแรงบันดาลใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ แนทจะมองไปในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง (self-motivation) คือ แนทเป็นคนที่ชอบท้าทายตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ โดยจะพยายามหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ของตัวเรา เพราะว่าความรู้ที่ได้จากประสบการณ์นั้นแตกต่างจากการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะมีครูมาคอยสอนและชี้ทางเราว่าควรทำไปทางไหนอย่างไร ในทางตรงกันข้ามสำหรับการทำงานแล้วเราจะต้องเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้จากการสั่งสมความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการคิดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเราเอง นอกจากนี้แนวคิดที่ว่า “ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงก็ต้องทำได้เช่นกัน” การไม่ยอมแพ้ต่อคำสบประมาท และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้แนทประสบความสำเร็จ และสามารถก้าวมาถึงปัจจุบันนี้ได้”

ข้อคิดดี ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จ


“อยากจะฝากข้อคิดไว้สำหรับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จ บางคนอาจยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่าชอบทำอะไร หรืองานแบบไหนที่เหมาะสมกับเรา อยากขอให้มีความอดทนและตั้งใจกับงานที่ทำอยู่เพราะทุก ๆ อย่างจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่ากับเราเสมอ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วงานที่เราทำจะเป็นงานอะไรก็ตาม เรื่องของการจัดสรรและบริหารเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องหัดวางแผนและลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราต้องทำในแต่ละวันเพื่อให้เราได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้หากมีสิ่งไหนที่เราไม่เข้าใจ อย่ามัวแต่เก็บไว้โดยคิดไปเองว่าสิ่งต่าง ๆ มันจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เราสามารถถามจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง หรืออาจจะลองศึกษาด้วยตัวเองก่อน จากนั้นจึงปรึกษาหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเพื่อแชร์ประสบการณ์และมุมมองในการทำงานที่บางทีเราอาจไม่เคยทราบมาก่อนก็เป็นได้” คุณแนทได้ฝากข้อคิดและมุมมองการทำงานที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จเช่นเธอ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา