รู้ไว้สักนิด ก่อนตัดสินใจเป็น

รู้ไว้สักนิด ก่อนตัดสินใจเป็น "ผู้ค้ำประกัน" ให้ใคร

By Krungsri Guru
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับ “ทันตแพทย์สาวหนีหนี้ทุน ให้ผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทน” เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการจุดประเด็นทางสังคมในเรื่องที่มีตัวละครสำคัญอย่างคำว่า “หนี้สิน” “เจ้าหนี้” “ลูกหนี้” และ “ผู้ค้ำประกัน” ให้กลับมาได้เรียนรู้เป็นอุทาหรณ์กันอีกครั้ง ฉะนั้น บทความนี้จะมาแนะนำข้อควรระวังและอัปเดตความรู้ด้านกฎหมายที่ทุกคนต้องศึกษากันสักนิด ก่อนคิดจะเซ็นค้ำประกันให้ใคร

ผู้ค้ำประกัน คือใคร?

“ผู้ค้ำประกัน” ตามภาษากฎหมาย หมายถึง บุคคลหนึ่งที่ยอมรับที่จะชำระหนี้แทนอีกบุคคล หากบุคคลนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

แต่อีกนัยหนึ่งหมายถึง ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นคนที่รักลูกหนี้มาก ๆ มากเสียจนยอมเอาชีวิตและอนาคตไปเสี่ยง หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และนี่คือข้อควรระวังที่สำคัญของการเป็นผู้ค้ำประกันที่คุณจำเป็นต้องใช้สติและถามตัวเองให้ดีก่อนที่จะเซ็นค้ำประกัน

กฎหมายค้ำประกัน รู้ไว้ย่อมได้เปรียบ

เมื่อถามถึงกฎหมายผู้ค้ำประกันที่มีการผลักดันต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้ค้ำประกันนั้น ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กับ “กฎหมายค้ำประกันฉบับปรับปรุงใหม่ 2558” ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในส่วนของผู้ค้ำประกันที่แตกต่างจากกฎหมายฉบับเก่า ดังนี้
  1. ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเซ็นค้ำประกันควรตกลงกับลูกหนี้เพื่อกำหนดเพดานชำระหนี้แทนให้ดี และเซ็นสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร
  2. ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมดเหมือนกับลูกหนี้ทุกประการอีกต่อไป ซึ่งหมายถึง ผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบชำระหนี้แทนในส่วนของตนเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย โดยหลังจากที่ผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทนลูกหนี้แล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ย โดยฟ้องลูกหนี้เรียกเงินตามจำนวนที่ชำระไปแทนพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่น ๆ ได้
  3. ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันให้ทราบก่อนภายใน 60 วัน และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันในทันที จนกว่าพยายามไล่เบี้ยหรือเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถแล้ว

ก่อนที่คุณจะเซ็นค้ำประกันให้ใคร นอกจากที่คุณจะถามตัวเองแล้ว คุณก็ควรที่จะตั้งคำถามถึงความพร้อมของเขาด้วย ว่าพร้อมที่จะเป็นหนี้แล้วจริง ๆ หรือยัง มีความสามารถในการชำระหนี้แล้วหรือไม่ รวมถึงศึกษากฎหมายและข้อสัญญาให้ดี หรือไม่ก็พากันเข้ามาปรึกษาที่ Plearn เพลิน by Krungsri GURU ก่อนที่จะเริ่มกู้ยืม จะได้ไม่มีใครต้องเดือดร้อน แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา