“ธุรกิจ Startup ด้านแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ไม่ได้ต้องการเพียงแค่การสร้างการรับรู้ (Awareness) เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องการจริง ๆ คือ ผู้ใช้งาน (Users) และลูกค้า (Customers) ต่างหาก ดังนั้น หน้าที่ของ Growth Hacker คือ การมองหาโอกาสอะไรก็ตามที่อาจเป็นไปได้เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างก้าวกระโดด” วิสัยทัศน์ที่มีต่อเทคนิคการทำการตลาดออนไลน์ Growth Hacking ของแอนดรูว์ เฉินแห่ง Uber หนึ่งในธุรกิจ Startup ที่ใช้กลยุทธ์ Growth Hacking แบบหาตัวจับได้ยากจนกระทั่งกลายเป็นผู้นำตลาดเทคโนโลยีระดับโลกที่เชื่อมต่อผู้โดยสารกับคนขับรถในปัจจุบัน
จากบทความที่แล้ว “Growth Hacking” นวัตกรรมทางการตลาดสุดเจ๋งที่ธุรกิจ Startup ต้องรู้ ทำให้ทุกท่านทราบถึงคำจำกัดความและตัวอย่างเบื้องต้นของการประยุกต์ใช้กลยุทธ์ Growth Hacking เพื่อ “ดึงดูด” และ “รักษา” ลูกค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของธุรกิจ Startup สำหรับบทความนี้จะพูดถึงกระบวนการการปรับใช้กลยุทธ์นี้แบบ Step by step
เริ่มต้นที่สร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตลาด การตลาดแบบดั้งเดิมจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้ออกมาพร้อมขายแล้ว ผลก็คือนักการตลาดจำเป็นต้องโปรโมทสินค้าที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้จริง ๆ แต่กลยุทธ์ Growth Hacking จะต้องมาเปลี่ยนข้อบกพร่องนี้ด้วยการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายว่า พวกเขาสามารถค้นพบและปรับใช้ผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างไร จากนั้นคุณก็สร้างฟีเจอร์ฉลาด ๆ เพื่อช่วยขยายและรักษาฐานผู้ใช้ได้ ที่สำคัญจะต้องใช้งานง่าย
หลังจากนั้นก็ค้นหาช่องโหว่เพื่อเริ่มกลยุทธ์ Growth Hacking ย้ำกันอีกครั้งว่า คำว่า Hack หมายถึงการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่เพื่อค้นหาโอกาสในการสร้างการเติบโต ตัวอย่างเช่น ทิม เฟอร์ริสส์ นักเขียนชื่อดังที่เป็นเจ้าของหนังสือขายดีมากมาย ได้ปล่อยเนื้อหาบางตอนในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาบน BitTorrent ซึ่งเป็นการโปรโมทหนังสือเล่มใหม่ที่ได้ผลชะงัดนักด้วยยอดขายถล่มทลายกว่า 250,000 ฉบับ ลองลืมวิธีการโปรโมทแบบเดิม ๆ อย่างข่าวพีอาร์กับการซื้อพื้นที่ลงโฆษณาดูแล้วหาทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเป็นไปได้อันน่าเหลือเชื่อ
ตามด้วยการสร้างไวรัล หลังจากที่คุณได้ผู้ใช้งานคนแรกมา คำถามต่อไปคือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ใช้งานมีจำนวนมากขึ้น แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณกลายเป็นไวรัล (Viral) ซึ่งหมายถึงการสร้างการบอกต่อแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถโปรโมทอย่างต่อเนื่องด้วยตัวของมันเอง ยกตัวอย่างการทำไวรัลในตำนานอย่าง Hotmail ที่ได้ใส่ประโยค “PS: I Love You. Get Your Free Email at Hotmail” ในทุก ๆ อีเมลที่ส่งออก ผลคือจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนภายใน 6 เดือน และ 10 ล้านคนภายใน 1 ปี
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การรักษาฐานผู้ใช้งานด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างการมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันของคุณ 5 แสนคนที่จ่ายเงินคุณคนละ 5,000 บาท กับการมีผู้ใช้ 10 ล้านคนแต่จ่ายเงินให้คุณเพียงคนละ 50 บาท สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การเสาะหาผู้ใช้งานหน้าใหม่ แต่รวมไปถึงการรักษาฐานผู้ใช้ที่มีอยู่เดิมด้วยการคอยรับฟังเสียงจากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานแบบตอบโจทย์โดนใจลูกค้ามากที่สุด
วิธีการของ Growth Hacking ทั้งหมดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในครั้งเดียว กลยุทธ์นี้จะประสบความสำเร็จได้ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีใครบอกว่าการตลาดแบบดั้งเดิมไม่ดี แต่
กลยุทธ์ Growth Hacking ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการทำการตลาดที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงและได้ผล
กลยุทธ์เจ๋ง ๆ ที่อยากให้ธุรกิจ Startup สัญชาติไทยได้ลองปรับใช้กันเผื่ออนาคตจะได้เห็น Startup ไทยไปผงาดในเวทีระดับโลก (นอกจากการจัดการบริหารแผนการแล้ว Start up มือใหม่ก็อย่าลืมศึกษาเรื่อง
ภาษีกันนะครับ)