9 ขั้นตอนเริ่มทำธุรกิจ ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้

9 ขั้นตอนเริ่มทำธุรกิจ ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้

By Krungsri Academy
“เจ้าของธุรกิจส่วนตัว หรือ Entrepreneur” นับว่าเป็นความฝันสูงสุดของผู้ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะการทำงานประจำมันค่อนข้างน่าเบื่อและยังไม่ตอบโจทย์คนที่คิดนอกกรอบเท่าไรนัก หลายปีที่ผ่านมานี้ มีเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งที่เป็น SME และ Startup หลายคนมองการเป็นเจ้าของธุรกิจจะทำงานได้ตามใจ ได้เงินง่าย รวยเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำธุรกิจให้ “รวย” นั้น ยากเสียยิ่งกว่าหางานที่ให้ค่าตอบแทนดี ๆ เสียอีก เพราะต้องอาศัยความมุ่งมั่น ทุ่มเทและทำงานหนักอย่างไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่ริเริ่มไปจนธุรกิจเข้าที่เข้าทาง ก็ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาธุรกิจให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ตลอดจนไม่พลาดในเรื่องการเงินหรือภาษีที่ใช้หลักคำนวณยากและเยอะกว่าภาษีเงินได้ของคนทำงานประจำ ดังนั้นคำว่า “รวยเร็ว รวยง่าย” จึงไม่มีจริง มีแต่ต้องริเริ่มและคิดอย่างเป็นขั้นตอนถี่ถ้วน

9 ขั้นตอนง่ายๆที่คุณก็ทำได้ ถ้าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว

1. ถามตัวเองชัด ๆ ว่า อยากลงทุนทำธุรกิจอะไรดี

คำถามแรกที่ต้องถามใจตัวเองว่า มีไอเดียอยากทำอะไร แล้วสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้แค่ไหน ไม่ใช่แค่อยากทำก็ทำ ผู้ที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวหลายต่อหลายคนก็ล้มง่าย ๆ เพราะแค่อยากทำธุรกิจส่วนตัวแต่ไม่รู้จะทำอะไร หรือลองลงทุนไปก่อนโดยไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายของธุรกิจเอาไว้ พอเป้าหมายไม่ชัด ธุรกิจก็ไม่ดำเนินไปในทางที่ควร ดังนั้นสิ่งสำคัญก่อนจะไปไกลเกินก็คือ “เป้าหมายที่ชัดเจน” ที่นำไปสู่ Passion นั่นเอง

2. ไอเดียทำธุรกิจที่มี ตอบโจทย์ตลาดอย่างไร

สมัยนี้ที่ใคร ๆ ก็เปิดร้านกาแฟกันเป็นว่าเล่น ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องง่าย แต่เพราะอาจเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เรามีร้านกาแฟเต็มไปหมด แต่ถ้าหากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจในรูปแบบเดียวกับคนอื่น สิ่งที่จำเป็นต้องมีเลย คือ “ความแตกต่าง” โดยอาจจะเริ่มจากการหาจุดเด่นในธุรกิจของตนเอง เช่น การตกแต่งร้าน การตกแต่งเมนู รสชาติ ไปจนถึงกิมมิคอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล เช่น มุมถ่ายภาพในร้าน เป็นต้น

3. มองหาลูกค้า

ไม่ว่าธุรกิจเราจะไอเดียดีขนาดไหน แต่ถ้ากลุ่มลูกค้าแคบเกินไป หรือไม่มีคนซื้อเลย ธุรกิจก็ไปต่อได้ยาก หากโมเดลธุรกิจของผู้ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองไม่เจ๋งพอ แถมยังต้นทุนไม่หนา ก็อาจจะดำเนินธุรกิจได้ไม่ไกลอย่างหวัง

4. วางกลยุทธ์แบบแผน A และแผน B

เช่นเดียวกับการทำงานประจำ แต่การเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวต้องมีแผนที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วน รอบคอบและควรเตรียมแผนสำรองไว้เสมอ หากมีครอบครัว ก็ควรเปิดใจคุยกันว่า จากนี้จะออกจากงานประจำเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว เพราะนอกจากแผนธุรกิจและแผนสำรองแล้ว คุณก็ต้องการกำลังใจจากคนใกล้ตัว

5. ไม่ลืมว่า Digital Never Die

ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่อะไร ๆ ก็ซื้อง่ายขายคล่องบนโลกเสมือนจริง จนการตลาดออนไลน์เป็นอีกช่องทางสำคัญหรืออาจจะเป็นช่องทางที่เกิดมาเพื่อผู้ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจแต่ไม่มีทุน ดังนั้นหากใครมีไอเดียทำธุรกิจดี ๆ แล้วล่ะก็ อย่าลืมนึกคิดแพลตฟอร์มนี้ด้วยล่ะ เพราะต้นทุนไม่สูงและมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้ดี รวมทั้งใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการทำงาน ซึ่งจะที่ช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น

6. เรียนรู้สิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรมี

หาไอเดียว่าจะทำธุรกิจส่วนตัวอะไรดี ก่อนจะวางโมเดลธุรกิจแล้ว ทักษะการเป็นนายตนเองและนายผู้อื่น คุณก็ควรเรียนรู้ไว้ ไม่ว่าจะมาจากการอ่านหนังสือ การศึกษาเพิ่มเติม หรือการเข้าอบรมต่าง ๆ เพราะนอกจากไอเดียที่ดีแล้ว ทักษะในการจัดการ การตลาด การเงิน การใช้นวัตกรรมทางการเงินเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ไหลลื่น และที่สำคัญเรื่องของ “ภาษี” ก็ควรเข้าใจเอาไว้เช่นกัน

7. มองหาทุนเริ่มต้นและทุนสำรองในการทำธุรกิจส่วนตัว

เมื่อรู้แล้วว่าจะลงทุนทำธุรกิจอะไรดี มีไอเดียพร้อม แผนพร้อมแล้วทุนล่ะ พร้อมหรือยัง ? เจ้าของธุรกิจบางคนเริ่มต้นจากการทำงานประจำ ค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบ หรือเริ่มจากอาชีพเสริมหลังเลิกงานและบางคนอาจโชคดีที่มีเงินทุนตั้งต้นจากที่บ้าน แต่นอกจากทุนเริ่มต้นแล้ว ก็อย่าลืมนึกถึงทุนสำรอง เพราะมันเป็นแผนสองเผื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา หากใครอยากเป็นเจ้าของธุรกิจแต่ไม่มีทุนก็ควรเตรียมตัวมองหาทุนกู้ยืมก็เป็นทางเลือกที่ดี

8. คำถามสุดท้าย “พร้อมไหม”

หลังจากบรรดาผู้ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ คิดถึงการทำธุรกิจส่วนตัวและผ่านขั้นตอนด้านบนมาได้สักพัก ก็คงมีเสียงในจิตใจที่คอยกระซิบถามว่า พร้อมหรือไม่ คุณควรถามตัวเองให้ถี่ถ้วนและมั่นใจก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวอย่างจริงจัง เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวคุณแน่นอน

9. ได้เวลาลุย !

ถ้าคำตอบของข้อที่แล้วตอบว่า “พร้อม !” คราวนี้ก็ได้เวลาออกไปลุยแล้วล่ะ

แนวโน้มและจำนวนของผู้ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะมีโอกาสและช่องทางเพิ่มมากขึ้น หากเริ่มต้นทำแค่เพียงเพราะอยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตัวเอง โดยไม่คิดวางแผนให้รอบคอบแล้ว ก็อาจพลาดท่าเสียทีได้ เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ใช่การลุ้นโชค แต่เป็นการวางแผนเตรียมตัวให้พร้อมจริง ๆ ต่างหาก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา