ไอเดียการตลาดเก๋ ๆ จากสตาร์บัคส์ญี่ปุ่น

ไอเดียการตลาดเก๋ ๆ จากสตาร์บัคส์ญี่ปุ่น

By เกตุวดี Marumura

แม้สตาร์บัคส์ จะเป็นบริษัทจากอเมริกา แต่เมื่อเข้ามาในญี่ปุ่น ก็พยายามซึมซับ และปรับตัวเองเพื่อให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ได้ นั่นทำให้กลายมาเป็นร้านกาแฟ หรือสินค้าเก๋ ๆ ที่มีความเป็นญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ยังคงกลิ่นอายของสตาร์บัคส์ไว้อย่างดี ลองมาดูกันนะคะ

1. ร้านสตาร์บัคส์ร้านแรกในโลกที่ต้องนั่งจิบกาแฟบนพื้น

ร้านสตาร์บัคส์สาขา Ninenzaka Yasaka Chaya ในเมืองเกียวโต ดัดแปลงบ้านโบราณกว่าร้อยปี ให้มาเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ รับแขก
 
ร้านสตาร์บัคส์สาขา Ninenzaka Yasaka Chaya ในเมืองเกียวโต

ประตูทางเข้า มีผ้า “โนเร็น” แขวนต้อนรับ และดูกลมกลืนเหมือนการไปเยี่ยมบ้านใครสักคน
 
บริเวณชั้น 2 ของร้าน จะเป็นที่นั่งบนเสื่อตาตามิทั้งหมด หากใครจะใช้บริการ ต้องถอดรองเท้า และขึ้นไปนั่งจิบกาแฟ สบาย ๆ ได้ที่นี่
 
ร้านสตาร์บัคส์สาขา Ninenzaka Yasaka Chaya ในเมืองเกียวโต

ร้านนี้ อยู่บริเวณวัดน้ำใส (Kiyomizudera) เดิน 17 นาที จากสถานีรถไฟ Gion-shijo สาย Keihan รอบ ๆ เป็นบ้านไม้มุงหลังคากระเบื้องแบบโบราณเกือบหมด หากเดินเข้าไปในร้าน จะให้ความรู้สึกเหมือนการไปเยี่ยมบ้านคนญี่ปุ่น
 
โปรเจ็คนี้ เริ่มจากการที่ทีมสตาร์บัคส์ตั้งใจที่จะสร้างร้านพิเศษ เพื่อให้คนสัมผัสประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเกียวโตให้ได้มากที่สุด แต่กว่าจะได้บ้านโบราณแห่งนี้ ทางทีมต้องตระเวนหาหลายที่มาก เนื่องจากบ้านโบราณแบบญี่ปุ่น มีลักษณะเล็ก แคบ และด้านนอก มีการตกแต่งด้วยสวนญี่ปุ่นเล็ก ๆ ให้ได้ดื่มด่ำบรรยากาศอย่างลงตัว
 
ร้านสตาร์บัคส์สาขา Ninenzaka Yasaka Chaya ในเมืองเกียวโต

2. ร้าน Starbucks Reserve™ Roastery Tokyo

ร้าน Starbucks Reserve™ Roastery Tokyo

ร้านสตาร์บัคส์โรสเตอรี่ลำดับที่ห้าของโลก ออกแบบโดยสถาปนิกญี่ปุ่นชื่อดัง Kengo Kuma (คนเดียวกันกับที่ออกแบบสตาร์บัคส์ที่ Dazaifu เมืองฟุกุโอกะ)

เพดานกระเบื้อง ดัดแปลงจากศิลปะการพับกระดาษโอริกามิ ส่วนถังทองแดงที่นำไว้เก็บเมล็ดกาแฟ ก็ใช้ศิลปะ Tsuchime ซึ่งเป็นวิธีการตีทองแดงแบบญี่ปุ่น พร้อมประดับดอกซากุระที่ทำจากทองแดงเช่นกัน ไว้รอบ ๆ ด้วย
 
ร้าน Starbucks Reserve™ Roastery Tokyo

นอกจากนี้ ยังมีของที่ระลึกที่จำหน่ายในร้านแบบ Limited Edition อย่างกาต้มน้ำร้อนจากแบรนด์ BALMUDA ... แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าพรีเมี่ยมของญี่ปุ่น หรือแก้วลาย Limited Edition ต่าง ๆ

3. แก้วสตาร์บัคส์ที่ (น่าจะ) แพงที่สุดในญี่ปุ่น

แก้วสตาร์บัคส์ในญี่ปุ่น

แก้วกระจกใสใบนี้ ราคา 35,000 เยน หรือประมาณ 1 หมื่นบาท จำหน่ายเฉพาะที่สาขาสตาร์บัคส์ในบริเวณเขตซุมิตะเท่านั้น (เช่น สาขาที่ตึก Tokyo Skytree)
 
แก้วแต่ละใบ ถูกหล่อและเจียระไนอย่างดีจากช่างฝีมือญี่ปุ่นแห่งร้าน Hirota Glass ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่าร้อยปี
 
ช่างฝีมือญี่ปุ่นแห่งร้าน Hirota Glass

จริง ๆ แล้ว แก้วใบนี้ เป็นสินค้าพิเศษในโปรเจ็ค “Jimoto Made Series” ซึ่งแปลว่า “ทำในท้องถิ่น”

ในซีรี่ส์ “ทำในท้องถิ่น” นี้ สตาร์บัคส์จะไปสืบเสาะหาวัฒนธรรมท้องถิ่นในญี่ปุ่นแต่ละแห่ง และนำมาดัดแปลงกับสินค้าสตาร์บัคส์ ซึ่งตอนนี้ มีเมืองท้องถิ่น 9 แห่งที่เข้าร่วมแล้ว
แก้ว Starbuck

สินค้าตัวหนึ่งที่ขายดี (จนขาดตลาด) คือ แก้วจากเมือง Tsugaru ในจังหวัดอาโอโมริ ซึ่งสีแต่ละสี สะท้อนเอกลักษณ์ของอาโอโมริ เช่น ลายสีชมพู แสดงถึงต้นซากุระในสวนฮิโรซากิ หรือลายสีน้ำเงิน แสดงถึงสีน้ำทะเลในอ่าว Tsugaru ตัดกับสีแดง ซึ่งแสดงถึงเทศกาลเนบุตะ ... ประเพณีการแห่โคมชื่อดังในจังหวัด
 
แก้ว Starbuck

4. จากแก้วกาแฟสู่ปลายพู่กัน

เมนู “Goma Goma Goma Frappuchino” เป็นเมนูใหม่เฉพาะฤดูกาลจากแคมเปญ “STARBUCKS® JAPAN WONDER PROJECT”
 
ในโครงการนี้ จะมีการนำวัฒนธรรมอาหารหรือเครื่องดื่มญี่ปุ่น มาผสมผสานกับสตาร์บัคส์ สิ่งที่สตาร์บัคส์ญี่ปุ่นปรารถนา คือ “การให้ผู้คนได้หันกลับมามองสิ่งเดิม ๆ ในโลกใบเดิม ด้วยมุมใหม่ และสนุกไปกับการเรียนรู้
 
ในฤดูหนาวปี 2018 ที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเลือก “โกมะ” หรือ งา ซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมดา ๆ ของญี่ปุ่น แถมใช้คำว่า “โกมะ” คำตรง ๆ จากภาษาญี่ปุ่น แทนที่จะใช้คำภาษาอังกฤษอย่าง “เซซามี่” แบบทุกที เป็นการชูความเป็นญี่ปุ่นถึงที่สุด
 
สตาร์บัคส์ชวนคนญี่ปุ่นมองวัตถุดิบธรรมดา ๆ นี้ในมุมใหม่ โดยโยงเข้ากับธรรมเนียม “Kaki-Hajime” หรือการเขียนพู่กันในช่วงปีใหม่
 
ในวันที่ 2 มกราคม คนญี่ปุ่นจะเขียนพู่กัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นการเขียน “ครั้งแรก” ของปีนั้น คำที่เขียน จึงมักเป็นคำมงคล เช่น “สุขภาพดี” หรือ “อายุยืน”
 
Goma Goma Goma Frappuchino

สตาร์บัคส์เห็นว่า สีงาดำที่ตัดกับนมและกาแฟในแก้ว คล้ายกับหมึกสีดำที่ตัดบนกระดาษสีขาว  จึงออกเมนู Goma Goma Goma Frappuchino นี้ขึ้นมา
 
Goma Goma Goma Frappuchino
เมนูยอดนิยมที่จำหน่ายเพียงช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคมเท่านั้น
cr. letronc-m.com

แบรนด์ต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลกนั้น โดยมาก มักเป็นแบรนด์ที่ Glocalized กล่าวคือ มีความเป็นนานาชาติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ปรับบางส่วน เช่น สินค้า ให้เข้ากับรสนิยมคนท้องถิ่น
แต่สตาร์บัคส์ญี่ปุ่นพัฒนาไปอีกขั้น

จะเห็นได้ว่า จาก 4 ไอเดียการตลาดข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม การดีไซน์ร้าน การออกแบบเมนูเครื่องดื่มใหม่ หรือของที่ระลึกในร้าน ทางสตาร์บัคส์ญี่ปุ่น ได้ศึกษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของญี่ปุ่นเป็นอย่างลึกซึ้ง บางครั้ง ก็หยิบเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเล่น บางครั้ง ก็หาธรรมเนียมดี ๆ ของญี่ปุ่น ดังเช่น การเขียนพู่กัน มาสร้างสรรค์ร่วมกับเมนูเครื่องดื่ม ... เป็นการกลับมาชวนเจ้าของประเทศ ให้หันมาทบทวน และภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมอันดีของตน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา