ปั้นธุรกิจร้านยำยังไงให้โดนใจลูกค้า

ปั้นธุรกิจร้านยำยังไงให้โดนใจลูกค้า

By Krungsri Plearn Plearn

ถ้าพูดถึงชื่ออาหารแซ่บ ๆ คงหนีไม่พ้นที่จะนึกถึง “ยำ” เพราะตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา ถือเป็นปีแห่ง “ยำ” เลยก็ว่าได้ กระแสกินยำระบาดไปทั่วเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เรียกได้ว่าแทบไม่มีใครไม่เคยลิ้มลองร้านยำเจ้าดังที่กำลังฮิตติดท็อปชาร์ต ต่อให้ต้องรอคิวนานแค่ไหน เพื่อยำรสแซ่บที่โปรดปราน เราทนได้!

“ยำ” ถือเป็นอาหารที่ถูกปากคนไทยและสามารถพบเจอได้ตั้งแต่ร้านอาหารระดับ Street food ไปจนถึงระดับโรงแรมเลยทีเดียว แต่กว่าที่ธุรกิจยำจะประสบความสำเร็จและเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าได้นั้นก็จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ มากมายในแง่ของธุรกิจ ซึ่งมีดังนี้
 
ปั้นธุรกิจร้านยำยังไงให้โดนใจลูกค้า

รสชาติแซ่บ

ขึ้นชื่อว่ายำ ความแซ่บต้องมาก่อนเสมอ ไม่จำเป็นต้องคิดเมนูพิสดารเสมอไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องอร่อยนัว ได้กินแล้วต้องอยากกินอีก รวมไปถึงใส่ใจวัตถุดิบ ความสดสะอาดในการปรุงอาหาร หัดลองทำเมนูใหม่ ๆ เสมอ เพื่อฝึกฝนฝีมือและให้รสยำมีความเสถียร ยิ่งแซ่บยิ่งนัวเท่าไหร่ลูกค้าก็ยิ่งติดใจมากเท่านั้น อย่างร้าน After Yum ที่อยู่ไกลถึงพัทยา แต่มีคอยำไปต่อคิวยาวแบบข้ามวันข้ามคืน เพียงแค่ขอให้ได้ชิมยำร้านนี้สักครั้ง ขณะที่ลูกค้าเก่าก็มาแล้วมาอีกเพราะต้องใจในน้ำยำรสเด็ด นอกจากจะมีรสชาติน้ำยำที่เด็ดดวงแล้ว วัตถุดิบที่ใช้ก็ยังมีความสดใหม่ คัดสรรเกรดพรีเมี่ยม และคัดขนาดใหญ่พิเศษที่ถือว่าคุ้มค่ากับราคามาก ซึ่งคุณภาพของวัตถุดิบที่เลือกใช้ก็จะส่งผลต่อราคาและกลุ่มลูกค้าด้วย

เลือกโลเกชันร้าน

สถานที่ขายจะสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้า เช่น ถ้าเลือกขายยำริมถนน หรือตลาดนัด ราคาต้องไม่แพงจนเกินไป เพราะส่วนมากคนที่บริโภคอาหาร Street food คือคนมีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และต้นทุนเริ่มต้นไม่ควรเกิน 5,000 บาท สำหรับเมนูยำ 4-5 เมนูยืนพื้นไว้ เช่น ยำหมูยอ ยำทะเล ยำปูม้า ยำรวมมิตร ยำแหนม เป็นต้น ตัวอย่างร้านดังที่โดดเด่นเรื่องโลเกชันและกลุ่มเป้าหมาย คือ ร้านส้มตำ ยำยั่ว ๆ by โบตั๋น ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่โลเกชันของร้านที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็คือนักศึกษา โดยแต่ละเมนูที่ขายก็ตั้งราคาไม่สูงและเอื้อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษา ราคายำเริ่มต้นที่ 60 บาท ส่วนราคาส้มตำเริ่มต้นที่ 40 บาทเท่านั้น เมื่อโลเกชันร้านดีและราคาสบายกระเป๋าขนาดนี้ก็ยิ่งทำให้ขายดิบขายดีจากทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษาและบุคคลทั่วไปด้วย

แต่ในทางกลับกัน หากกลุ่มเป้าหมายของคุณคือผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ทำเลที่ตั้งเปิดเป็นร้านค้ามีโต๊ะนั่งแถวสุขุมวิท แบบนี้ต้องมีการลงทุนสูง ราคายำแต่ละจานก็จะสูงเป็นหลักหลายร้อยได้ และเมนูต้องมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้เป็นที่ติดอกติดใจและเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของคุณ

ใช้ social media โปรโมทร้าน

ร้านยำสมัยนี้ แม้กระทั่งร้านยำข้างทางต่างก็มีเฟซบุ๊กของร้านทั้งนั้น เพื่อให้สื่อสารกับลูกค้าได้เร็วยิ่งขึ้น บางร้านก็ให้ลูกค้าแอดไลน์ร้านได้ด้วย เป็นการเพิ่มช่องทางขาย บางร้านก็เปิดรับออร์เดอร์ทาง เฟซบุ๊กและทางไลน์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรสชาติของยำและการให้บริการ เพื่อนำความต้องการของลูกค้า มาปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้น ร้าน After Yum เองก็โด่งดังและเป็นกระแสมาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งคงจะต้องยกความดีความชอบให้เน็ตไอดอลหุ้นส่วนร้านทั้งสองคน คือ คุณแต็งค์และคุณดุจดิว ที่สร้างกระแสร้านยำจนโด่งดัง และที่สำคัญลูกค้าของร้านส่วนใหญ่ก็ตามมาจากโซเชียลมีเดียทั้งนั้น

มีบริการ delivery

อยากกินต้องได้กิน คือคอนเซ็ปต์ธุรกิจเดลิเวอรี่ในยุคปัจจุบัน นอกจากที่คุณจะเปิดรับออร์เดอร์ออนไลน์แล้ว การเป็นพาร์ทเนอร์กับแอปเดลิเวอรี่อาหารต่าง ๆ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดที่ดีมาก ๆ ผู้ให้บริการส่งอาหารที่เป็นที่นิยมก็อย่างเช่น Grab Food, Line Man หรือ Get เป็นต้น แล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแต่อยู่ต่างพื้นที่ได้มีโอกาสลิ้มชิมรสชาติยำแบบแซ่บ ๆ ยั่ว ๆ ของเราอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

นำความคิดสร้างสรรค์มาใช้

เพราะแค่ยำธรรมดาโลกไม่จำ ทุกวันนี้การตลาดชนะกันที่ใครคิดได้สร้างสรรค์กว่า แค่การออกแบบโลโก้ร้าน หรือสติ๊กเกอร์ อาจธรรมดาไปแล้วสำหรับยุคนี้ การตั้งชื่อยำเก๋ ๆ ให้เป็นที่จดจำและบอกต่อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือจะเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างเมนูใหม่ ๆ ให้น่าจดจำก็ยิ่งจะทำให้ร้านมีจุดสนใจและเป็นที่จดจำของลูกค้า เช่น ในกรณีของร้านส้มตำ ยำยั่ว ๆ by โบตั๋น ก็มีการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ เช่น ยำไข่เยี่ยวม้า และตั้งชื่อเมนูให้เป็นที่จดจำ เช่น ยำสำส่อน (ยำทะเลรวม) ซึ่งในช่วงแรก ๆ ลูกค้าจะยังไม่กล้าสั่งเมนูแปลก ๆ มาลอง แต่พอได้ลองแล้วก็จะสั่งอีกจนตอนนี้ขายหมดเกลี้ยงทุกวันแบบยั่ว ๆ เลยทีเดียว
 
ปั้นธุรกิจร้านยำยังไงให้โดนใจลูกค้า  
อย่างที่ทราบกันดีครับ ไม่ว่าคุณจะเลือกเปิดร้านอาหารหรือกิจการอะไรก็ตามแต่ ย่อมมีความเสี่ยงทั้งนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ ตามที่บอกไปแล้วข้างต้น ยังต้องมีการบริหารจัดการและวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย เช่น การมีเงินสำรองถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ เพราะเมื่อประสบปัญหา เงินสำรองจะช่วยให้ธุรกิจของคุณยังคงดำเนินต่อไปได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ คุณควรแยกเงินส่วนตัวและเงินสำหรับธุรกิจออกจากกัน เพื่อจะได้ไม่ใช้เงินผิดประเภทและจะได้เก็บเงินส่วนตัวไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ควรมีการทำบัญชีบันทึกกระแสเงินสดเอาไว้ เพื่อที่จะได้รู้รายรับ-รายจ่ายและความเป็นไปของเงิน การทำบัญชีจะสามารถทำให้คุณตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าคุณเผลอนำเงินของธุรกิจไปใช้จ่ายส่วนตัวหรือไม่ และแน่นอนการทำธุรกิจย่อมต้องหวังผลกำไร ฉะนั้นกำไรจากการทำธุรกิจไม่ควรต่ำกว่า 10% ของเงินที่ลงทุนไปเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้

สำหรับมือใหม่ยังไม่เคยมีธุรกิจหรือลงทุนเปิดร้านของตัวเอง คุณก็อาจจะลองทำเป็นอาชีพเสริมโดยการเปิดร้านเล็ก ๆ ที่ทำควบคู่ไปกับงานประจำหรืองานหลักที่คุณทำอยู่ก่อนก็ได้ เมื่อมั่นใจและเห็นทิศทางการเติบโตที่ดีของร้านยำของคุณแล้วค่อยออกมาบริหารธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวก็ยังไม่สาย รับรองได้ว่าหนทางยืนหนึ่งในธุรกิจยำของคุณอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก
food.mthai.com,
thepattayanews.net,
thaismescenter.com,
amarinacademy.com,
taokaemai.com,
moneyhub.in.th
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา