ตกงานไม่อดตาย ด้วยวิธีออมเงินฉบับคนว่างงาน

ตกงานไม่อดตาย ด้วยวิธีออมเงินฉบับคนว่างงาน

By Krungsri Plearn Plearn
วางแผนใช้เงินเดือนเสียดิบดี แต่กลายเป็นคนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ต้องกลัวไปเพราะยังไงก็ไม่อดตาย ถ้าคนว่างงานอย่างคุณรู้จักออมเงินและวางแผนการใช้จ่ายอย่างถูกวิธี
เมื่อเราเริ่มทำงานแล้วมีเงินเก็บสักก้อนหนึ่ง คำถามที่ต้องเกิดขึ้นในใจของใครหลาย ๆ คนอย่างแน่นอนก็คือ เราจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไรดี เล่นหุ้นดีมั้ย ? หรือว่าจะเอาไปซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีก่อนดี ? หรือจะไปดาวน์คอนโดแล้วปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้อีกทาง ?
เชื่อว่าทุกความคิดที่ว่าจะเอาเงินไปลงทุนทำให้เงินงอกเงยนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราลองย้อนกลับมาดูตามหลักการวางแผนการเงินแบบสากล สิ่งที่เราควรทำอย่างแรกยังไม่ใช่เรื่องการลงทุนทำให้เงินงอกเงยเลย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเรื่อง "การบริหารความเสี่ยง" ต่างหากล่ะ
ลองนึกเหตุการณ์ตามนี้ดูว่า เราซื้อ LTF/RMF เพื่อลดหย่อนภาษีจะได้เสียภาษีน้อยลงนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะรู้จักการบริหารเงิน ลดภาระเรื่องภาษีไปได้ แต่เงื่อนไขของการลดหย่อนภาษีของ LTF ก็คือ ต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน และ RMF กว่าจะขายได้ก็ปาเข้าไปอายุ 55 ปีโน่นเลย

แล้วถ้าสมมติระหว่างนั้น เราเกิด “ตกงาน” ขึ้นมาล่ะจะเกิดอะไรขึ้น


จะเป็นอย่างไรถ้าอยู่ดี ๆ รายได้เราก็ลดน้อยหรือหายไปเลย อย่าลืมว่าแม้รายได้เราจะหยุด แต่รายจ่ายที่เข้ามาเคาะประตูบ้านทุกวัน ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอาหาร ต่างเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใช้ทั้งนั้นเลย ถ้าเราเอาเงินไปลงทุนหมดจะทำอย่างไร ?
จะขาย LTF/RMF ออกมาหรือ ? ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่อย่าลืมว่าการขาย LTF/RMF นั้นถ้าเราทำผิดเงื่อนไข เราจะต้องคืนภาษีที่ลดหย่อนไปพร้อมค่าปรับ ก็ตกเดือนละ 1.5% แพงพอ ๆ กับบัตรเครดิตเลยล่ะ ! จะเห็นได้ว่าค่าปรับหรือโอกาสที่เราเสียไปไม่น้อยจริง ๆ
ดังนั้นสำหรับคนที่มีเงินเก็บก้อนแรกตามหลักสากลแล้ว สิ่งที่ควรมีมากที่สุดก็คือ "เงินสำรองฉุกเฉิน" โดยควรมีอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เงินก้อนนี้เผื่อไว้ในกรณีที่เราตกงานแจ็กพอตมาลงที่เรา หรือวันไหนที่รายได้เราหยุดลง เราจะได้มีเงินสำรองเพื่อค่าใช้จ่ายสำหรับปรับตัวหางานใหม่หรือหาจังหวะที่ทำให้รายได้เรากลับมา
ถ้าถามต่อว่าเราจะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนได้บ้างสำหรับเงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้ ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า เราต้องเน้นที่ "สภาพคล่อง" เป็นหลัก เพื่อเวลาที่เกิดเรื่องฉุกเฉินหรือเอาแบบที่เน้นถอนง่ายคล่องมือ อารมณ์ประมาณว่าถ้าอยากใช้เงินหรือต้องการเงินสดก็สามารถแปลงออกมาถึงมือเราได้ทันที แต่แน่นอนว่าแหล่งที่สภาพคล่องสูง ๆ หน่อยอย่างพวกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากชนิดพิเศษต่าง ๆ หรือถ้าเป็นกองทุนก็พวกกองทุนรวมตลาดเงิน ผลตอบแทนจะไม่ได้สูงมากแต่ก็เพื่อแลกกับสภาพคล่อง
เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ควรมีมากจนเกินไป ทางที่ดีไม่ควรเกิน 12 เดือนเพราะเงินก้อนนี้ถือว่าเป็นเงินขี้เกียจ (Lazy Money) ที่ไม่ช่วยสร้างรายได้หรือความมั่งคั่งให้กับเราเลย จึงควรมีอย่างเหมาะสมแล้วนำเงินที่เหลือไปบริหารหรือลงทุนอย่างอื่นแทน ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าเหมาะสมกว่านั่นเอง
นอกจากแผนเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว จริง ๆ ก็ยังมีแผนอื่น ๆ ด้วยที่เราควรเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องตกงานเท่านั้น เพราะในชีวิตจริงยังมีอีกหลายเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เราควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น การวางแผนเกษียณอายุ เพราะไม่มีใครที่จะทำงานไปได้ตลอดชีวิต เราไม่สามารถที่จะเอาเวลาไปแลกเงินได้ตลอด จะต้องมีเวลาที่รายได้ของเราหยุดลง แต่รายจ่ายยังคงเดินหน้าต่อไป หรือสำหรับครอบครัวที่มีลูกตัวน้อย ๆ ก็ต้องมี แผนการศึกษาของลูกเรา พร้อมกับทำแผนความคุ้มครองไว้ด้วย เผื่อไว้ในกรณีที่เราไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ ถ้าอยากรู้ว่าเราจะเริ่มวางแผนได้อย่างไรบ้าง ลองเข้ามาวางแผนกัน จะทำให้เราเห็นภาพอนาคตต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและเตรียมพร้อมมากขึ้น ถึงเวลาจำเป็น คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจไม่ต้องกังวลแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow