เวลาเราไม่เท่ากัน (The Power of Less) มาบริหารเวลาขั้นเทพกัน

เวลาเราไม่เท่ากัน (The Power of Less) มาบริหารเวลาขั้นเทพกัน

By Krungsri Plearn Plearn

คุณเป็นคนประเภทไหนต่อไปนี้ครับ? ประเภทที่ 1 บริหารจัดการงานในมืออย่าง Professional ส่งงานได้ตรงตาม deadline เข้างานและเลิกงานตรงเวลา แล้วยังมีเวลาไป แฮงก์เอ้าท์กับเพื่อน ๆ ต่อได้อีก หรือประเภทที่ 2 เลิกงานดึกทุกคืน ส่งงานหลุดเดดไลน์ตลอด งานกองสุมอยู่เต็มมือ ชีวิตสังคมหายไป เลิกงานกลับบ้านเช้ามาทำงาน ชีวิตวนลูป อยู่แบบนี้ ถ้าคุณเป็นคนประเภทที่ 1 ต้องขอชมเชยว่าคุณบริหารเวลาได้สุดยอดมากจริง ๆ แต่หากคุณเป็นคนประเภทที่ 2 และอยากเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้ Productive ขึ้น บทความนี้เหมาะสำหรับคุณแล้วครับ!!

ถ้าแต่ละวันคุณมีเรื่องสำคัญที่ต้องทำเยอะแยะจนไม่รู้ว่าจะจัดลำดับยังไง นี่เป็นสัญญาณว่าชีวิตคุณยุ่งเหยิงเกินไปแล้ว เพราะการทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ได้ผลดีเสมอไป ใน 1 วัน เราทุกคนมี เวลา 24 ชั่วโมงเท่า ๆ กัน แต่การบริหารเวลา ที่แตกต่าง ทำให้วันของแต่ละคนต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง แนวคิด The Power of Less “ทำน้อยให้ได้มาก” จะสอนให้คุณมองหาสิ่งสำคัญ และลดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป การทำน้อยไม่ได้หมายความว่าให้ขี้เกียจทำงานนะครับ แต่ให้คุณเลือกทำสิ่งสำคัญก่อนเพื่อให้ใช้พลังและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ก่อนอื่นอยากให้ผู้อ่านหยิบกระดาษเปล่ามา 1 แผ่น หน้าแรกให้เขียนสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน อีกหน้าหนึ่งเขียนเป้าหมายสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตในระยะยาว โดยเป็นเป้าหมายที่เราอยากทำสำเร็จมากที่สุด 3 อย่าง แล้วเก็บกระดาษแผ่นนี้ไว้ หลังจากอ่านหลักการ 5 ข้อของ The Power of Less จบแล้ว ค่อยหยิบกระดาษที่คุณเขียนขึ้นมานะครับ

1. สร้างข้อจำกัด

สำหรับสายอินดี้ อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีไปเสียก่อน การสร้างข้อจำกัดในทุกแง่มุมของชีวิต ไม่ใช่การผูกมัดตัวเอง แต่คือการฝึกฝนให้เรากลายเป็นคนที่เก่งและแกร่งขึ้น อิสระที่มากเกินไปอาจทำให้เราเป็นคนจับจดและไม่อดทน ในด้านการเงิน การที่จะออมเงินก้อนใหญ่ได้ ต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น จำกัดการใช้เงินให้ไม่เกินวันละ 200 บาท หรือแบ่งเงินออมก่อนใช้เมื่อเงินเดือนออก เพื่อสร้างวินัยให้กับตัวเอง

เริ่มง่าย ๆ ด้วยการเขียนข้อจำกัดสำหรับตัวเอง แล้วทดลองทำดูสัก 1 สัปดาห์ ว่าได้ผลดีจริงหรือไม่ แต่ระวังอย่าสร้างข้อจำกัดที่สุดโต่งเกินหรืออ่อนข้อเกินไปนะครับ ควรเริ่มจากเงื่อนไขที่คิดว่าจะทำได้จริง สมมติว่าคุณไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย การเริ่มตั้งเงื่อนไขว่าจะออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง คงจะทำได้ยาก อาจจะเริ่มจากการออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 2-3 วัน เมื่อทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน แล้วค่อยเข้มงวดกับตัวเองขึ้นตามลำดับครับ

2. เลือกทำแต่สิ่งสำคัญให้ชีวิตง่ายขึ้น

มีเรื่องต้องทำเยอะแยะไปหมด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนสำคัญ? ก่อนอื่นลองตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนโดยถามตัวเองว่า สิ่งที่สำคัญกับเราคืออะไร? เรารักและชอบอะไร? และเราต้องการจะทำอะไรให้สำเร็จ? ในแต่ละวันคุณควรทำสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ก่อน วันละ 3 สิ่ง และเริ่มลงมือทำจากเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน ตัดทอนภาระจุกจิกอื่น ๆ ออกไป รู้จักพูดคำว่า “ไม่” ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น จะได้ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น ค่อย ๆ ทบทวนความสำคัญของงานและตัดทอนไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าไม่สามารถตัดอะไรได้อีก ยกตัวอย่างง่าย ๆ

สมมติว่า เป้าหมายของคุณ “ทำสไลด์เพื่อนำเสนอแผนการตลาด” ฉะนั้นคุณต้องมานั่งคิดว่า งานที่สำคัญอะไร 3 อย่างที่จะทำให้คุณทำสไลด์ได้เสร็จ เช่น หาข้อมูลในการทำงาน, เรียงลำดับการนำเสนอ และขึ้นโครงของสไลด์ แล้วเริ่มลงมือ การรู้จักพูดคำว่า “ไม่” ให้กับงานที่คุณไม่ได้กำหนด ไม่ได้หมายถึงให้คุณปฏิเสธการช่วยเหลือทั้งหมด แต่ช่วยหาทางออกอื่นให้กับสิ่งที่จะเข้ามาเช่น ในขณะที่คุณทำสไลด์อยู่ เจ้านายของคุณเข้ามาขอให้ช่วยทำสิ่งอื่น คุณอาจจะใช้วิธีบอกว่าคุณจะช่วยแต่อาจจะต้องรอ และชี้แจ้งว่าสิ่งที่คุณทำอยู่สำคัญกับเจ้านายของคุณหรือบริษัทอย่างไร

3. จดจ่อกับเรื่องเดียว

ทุกวันนี้ชีวิตเราถูก disrupt จากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ไหนจะหน้าฟีด Facebook เพื่อนมาปรึกษาเรื่องแฟน ไปจนถึงอารมณ์ของเราเอง ที่ทำให้คุณเสียโฟกัส และเสียเวลาไปแบบไม่รู้ตัวครับ ทางที่ดีคุณควรโฟกัสกับงานสำคัญให้เสร็จไปทีละอย่าง โดยไม่เผลอไปทำสิ่งอื่น ๆ โฟกัสกับงานตรงหน้าให้เต็มที่ การจดจ่อจะช่วยให้เกิดภาวะลื่นไหล (flow) ทำให้คุณมีสมาธิจนลืมสิ่งรบกวนภายนอกไปได้ นี่เป็นภาวะที่เหมาะกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถนำมาปรับใช้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ทักษะตรงนี้ต้องค่อย ๆ ฝึกฝน อย่าเพิ่งหงุดหงิดเวลาหลุด คนเรามีเผลอกันได้ทุกคนครับ

4. สร้างนิสัยใหม่

การสร้างนิสัยใหม่ ๆ ที่ดีทำให้คุณเอาชนะตัวเอง และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวได้ จริง ๆ หลายคนรู้ข้อเสียของตัวเองดี แต่ก็ยังแก้ไม่ได้สักที แนะนำว่าควรเริ่มเปลี่ยนทีละอย่างก่อน ด้วยการพิชิตคำท้าทายจากตัวเองนี่แหละ วิธีการสร้างนิสัยไม่ยากครับ ตั้งใจทำต่อเนื่องให้ได้ 1 เดือนก่อน แล้วค่อย ๆ ยืดระยะเวลาออกไปให้นานขึ้นจนสามารถทำได้ตลอดไปโดยไม่ฝืน ลองทำดูตามนี้

  • เลือกนิสัยที่ต้องการเปลี่ยนมา 1 อย่าง เช่น จะออกกำลังกาย 3 วันต่อสัปดาห์ให้ได้
  • วางแผนการสร้างนิสัยขึ้นมา ว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน โดยระบุเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้คุณออกกำลังกาย เช่น ต้องการลดน้ำหนักให้ได้ 2 กิโล
  • ประกาศเป้าหมายให้คนอื่นรับรู้ จะเป็นครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนร่วมงานก็ได้ เพื่อเป็นการรับรู้ร่วมกัน และสร้างกำลังใจ
  • รายงานความคืบหน้ารายวันให้กับคนเหล่านั้น เป็นการวัดผลและความสำเร็จไปด้วยในตัว
  • ฉลองให้กับนิสัยใหม่ของคุณ แค่บอกกับตัวเองว่า วันนี้ฉันทำได้แล้วนะ! พรุ่งนี้ต้องดีกว่านี้! ก็เป็นการให้กำลังใจตัวเองแล้วล่ะครับ

5. เริ่มต้นทีละน้อย

บางคนเริ่มต้นแบบหักดิบ โดยทำสิ่งยาก ๆ ก่อน เมื่อทำไม่ได้อย่างตั้งใจอาจทำให้รู้สึกท้อแท้ จนอยากจะล้มเลิกไปดื้อๆ แนะนำให้เริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่หยุด จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณทำสิ่งเหล่านั้นสำเร็จให้มากขึ้น แล้วความสำเร็จจากการทำเรื่องเล็ก ๆ ในแต่ละครั้ง ยังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการทำอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด เช่น การลดน้ำหนักเดือนละ 1-2 กิโล แทนที่จะลดแบบฮวบฮาบ อาทิตย์ละ 1 กิโล ฟังดูน่าจะทำได้ง่ายกว่ากันเยอะเลยใช่มั๊ยล่ะครับ

เป็นไงครับทั้ง 5 ข้อ ไม่ยากเลย ทีนี้ผมอยากให้ผู้อ่านลองหยิบกระดาษที่เขียนเป้าหมาย 3 อย่างขึ้นมา เลือกมาแค่ 1 เป้าหมายที่คุณอยากทำสำเร็จเป็นอันดับแรก แนะนำให้เริ่มจากเป้าหมายระยะสั้นก่อน จากนั้นก็เขียน To Do List หรือสิ่งที่ต้องทำ ลดงานอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วนำแนวทางปฏิบัติของ 5 หัวข้อข้างบนมาปรับใช้ โดยให้จดจ่อกับชีวิตปัจจุบัน ไม่วอกแวกกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่คร่ำครวญถึงปัญหาในอดีต
ตัวอย่างเช่น เป้าหมาย 3 อย่างคือ 1. ได้เลื่อนขั้น 2. ซื้อรถคันใหม่ 3. เก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท
1. เลือกเป้าหมาย - เป้าหมายที่ 1. คือได้เลื่อนขั้น จากพนักงานขาย เป็น ผู้จัดการฝ่ายขาย
2. ทำ To do list
> สร้างผลงานเพื่อให้ได้รับการโปรโมต
> หาลูกค้าเพิ่ม เพื่อเพิ่มยอดขาย
> เสนอแผนการตลาด เป็นต้น
ค่อย ๆ ทำทีละน้อย สบาย ๆ ไม่ต้องฝืน แล้วคุณจะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ที่สำคัญอันดับแรก คุณควรเลิกบ่นสักทีว่า "ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จสักที" ได้แล้ว!!!
ขอบคุณข้อมูลจาก
วิกันดา พินทุวชิราภรณ์. (2557). ทำน้อยให้ได้มาก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วีเลิร์น
Leo Babauta. (2009). The Power of Less: The Fine Art of Limiting Yourself to the Essential...in Business and in Life
facebook.com/brandthink.me,
facebook.com/Langarnbooksreview,
zyo71.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา