รู้กันใช่ไหมครับว่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ AEC กำลังจะเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศต่างๆ มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และแน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า บริการ การลงทุนต่างๆ รวมถึงแรงงาน และอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับเรื่องของภาษีนั้น @TAXBugnoms คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันครับ เพราะการเคลื่อนย้ายต่างๆ ทั้งด้านสินค้า บริการ และวิชาชีพนั้น จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและระบบภาษีของแต่ละประเทศอย่างแน่นอน
ถ้าลองสังเกตดีๆ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้าน “ภาษี” อย่างมากมายและต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการปรับปรุงเรื่องอัตราภาษีและโครงสร้างภาษี ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั่นเองครับ เอาล่ะ.. เรามาดูกันว่าประเด็นภาษีหลักๆ ที่คนทำธุรกิจอย่างเราต้องรู้นั้น มีเรื่องอะไรบ้าง
1. อัตราภาษี
สำหรับการเปลี่ยนแปลงเรื่องอัตราภาษีนั้น สำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล จะมีผลกระทบต่างๆ ดังนี้ครับ
1.1 อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันมีนโยบายให้ใช้อัตราภาษีเงินได้สำหรับปี 2558 ซึ่งคงเดิมมาตั้งแต่ปี 2556 ในอัตราตั้งแต่ 5-35% ดังนี้ครับ
ช่วงเงินได้สุทธิ
(บาท) |
อัตราภาษี
(%) |
ภาษีแต่ละขั้นเงินได้สุทธิ
(บาท) |
ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น
(บาท) |
0 - 150,000 |
ยกเว้นภาษี
|
-
|
-
|
150,001 - 300,000 |
5
|
7,500
|
7,500
|
300,001 - 500,000 |
10
|
20,000
|
27,500
|
500,001 - 750,000 |
15
|
37,500
|
65,000
|
750,001 - 1,000,000 |
20
|
50,000
|
115,000
|
1,000,001 - 2,000,000 |
25
|
250,000
|
365,000
|
2,000,001 - 4,000,000 |
30
|
600,000
|
965,000
|
4,000,001 ขึ้นไป |
35
|
|
|
1.2 อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่อัตรา 20%F แต่สำหรับนิติบุคคลที่มีทุนชำระในวันสุดท้ายของรอบบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ในรอบบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับกำไรสุทธิในอัตราพิเศษดังนี้ครับ
จำนวนกำไรสุทธิ |
อัตราภาษี |
ไม่เกิน 300,000 บาท |
ยกเว้นภาษี
|
300,001 - 3,000,000 บาท |
15%
|
ส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท |
20% |
2. การปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากร
สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีอากรนั้น จะมีผลกระทบเรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ
- ยกเลิกการยกเว้นกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล ซึ่งเมื่อมีการแบ่งกำไร ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกทอดหนึ่ง จากเดิมที่เคยยกเว้นกำไรส่วนนี้
- การปรับปรุงแนวโน้มด้านอื่นๆ สำหรับการดำเนินงานจากต่างประเทศเช่น เรื่องของการยกเว้นภาษีศุลกากรตามกรอบการค้าเสรี หรือการยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้เราคงต้องติดตามกันต่อไปครับ ว่าหลังจากนี้จะมีเป็นอย่างไรต่อไปบ้าง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีและนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับการเปิด AEC ที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ แต่ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหัวข้อ “ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย” ว่าการเปลี่ยนแปลงของ AEC นั้น อาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่า ระดับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของ AEC ยังอยู่ในลักษณะของการค้าเสรี (Free Trade Area) ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานได้อย่างจำกัด และแต่ละประเทศยังคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของตัวเอง เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ รวมถึงข้อจำกัดด้านภาษาต่างๆ ในหลายวิชาชีพ
สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องระวังและเตรียมพร้อมเสมอ คือ การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของนโยบายภาษี ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่ยังมีผลกระทบอีกมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเปิด AEC ดังนั้น ทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของเจ้าของธุรกิจในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ สุดท้ายนี้.. ขอให้ทุกท่านโชคดีและพร้อมรับมือ AEC กันทุกคนนะครับ