เมื่อแผนเอไม่เวิร์ก เราจะวางแผนบีอย่างไรดี

เมื่อแผนเอไม่เวิร์ก เราจะวางแผนบีอย่างไรดี

By Krungsri Guru

เราทุกคนย่อมต้องอยากให้แต่ละวันนั้น “เป็นไปตามแผน” แต่อย่างที่รู้กันดีว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันดีคืนดีเกิดมีอุปสรรคเข้ามาและทำให้แผนที่คุณวางไว้ผิดเพี้ยนไป คุณจะทำอย่างไร? วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกันค่ะ

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า
“If plan A doesn’t work, the alphabet has 25 more letters. Stay cool.”

ถ้าแผน A ไม่เวิร์ก ยังมีแผน B ถึง Z สำรองอยู่นะ ใจเย็นไว้ หลายคนคิดว่า เมื่อแผนแรกล้มเหลว จะทำให้ทุกอย่างพังทลาย ขอให้คุณหยุดความคิดนั้นแล้วตั้งสติและใจเย็น ๆ นี่คือสิ่งแรกที่คุณควรทำเมื่อแผนเอไม่เป็นไปตามที่หวัง
เมื่อสติคุณนิ่งแล้ว ให้ลองถอยออกมาจากจุดเดิมเพื่อมองให้เห็นภาพที่กว้างกว่า และสามารถระบุได้ว่า อะไรคือปัญหาที่ทำให้แผนเอไม่เวิร์ก เพื่อที่จะสามารถวางแผนได้ใหม่
หลังจากที่คุณมองเห็นปัญหาของแผนเอแล้ว คุณก็จะพบกับทางแยก คือ
  • ทำตามแผนเอเหมือนเดิม หรือ
  • ล้างกระดานแผนเอให้หมดแล้วเปลี่ยนเป็นแผนบี
หากคุณเลือกข้อหนึ่ง สิ่งที่คุณต้องทำ คือ ศึกษาให้มากกว่าเดิม เพื่อทำความเข้าใจและสามารถก้าวข้ามปัญหาเดิมที่เคยเจอได้ แต่ถ้าคุณเลือกข้อสอง เราแนะนำให้คุณลืมความคิดของตัวเองไปให้หมด แล้วลองสวมบทบาทและวิธีคิดแบบคนอื่นดู ลองอ่านตัวอย่างต่อไปนี้แล้วจะทำให้คุณเข้าใจมากขึ้น ลองดูสถานการณ์จำลองด้านล่างกัน
สตาร์ทอัพหน้าใหม่แห่งหนึ่งวางแผนสร้างแอปพลิเคชันเพื่อมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามร้านอาหาร แหล่งแฮงเอาท์ และสถานที่ช็อปปิ้งให้กับคนทั่วไป ซึ่งบรรดาทีมงานต่างมั่นใจในไอเดียนี้ว่า จะต้องกำชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างแน่นอน แต่หลังจากที่พวกเขาได้ฟอร์มทีมและลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชันไปได้สักระยะ พบว่า ลูกค้านำบัตรกำนัลจากแอปฯ มาแลกสิทธิพิเศษจริง ๆ นั้นมีจำนวนน้อยกว่าที่คิดไว้ รวมไปถึงยอดแชร์บัตรกำนัลระหว่างกลุ่มเพื่อนของผู้ใช้ก็น้อยด้วยเช่นกัน พวกเขารู้ตัวแล้วว่า แผนเอที่วางกันมาไว้อย่างดิบดีเริ่มไม่เวิร์ก จึงตัดสินใจโละกระดาน แล้ววางแผนกันใหม่ในขณะที่ยังมีเงินพออยู่

พวกเขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนอยากแชร์เรื่องราวที่ตัวเองพบเจอให้เพื่อนฟัง คำถามนี้เองที่ทำให้พวกเขาเริ่มต้นวางแผนบีด้วยการศึกษาและระบุตัวตนของผู้ใช้งานแอปฯ ให้มากยิ่งขึ้นด้วยการจัดสัมภาษณ์กลุ่ม จากการสัมภาษณ์คนหลายประเภททำให้พวกเขาค้นพบว่า แรงกระตุ้นที่แท้จริงที่ทำให้ผู้คนแชร์ว่าตัวเองได้ไปสถานที่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเมือง ได้ทานอาหารในร้านอาหารที่อร่อยที่สุดที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก็เพราะเพื่อต้องการโชว์สถานะตัวเองในหมู่เพื่อน นอกจากนี้ยังค้นพบว่า คนทั่วไปเมื่อไปสถานที่ใหม่ ๆ ก็จะพยายามสอบถามเพื่อน ๆ ว่าที่ไหนดี ที่ไหนไม่ดี และเขาจะเชื่อในสิ่งที่เพื่อนแนะนำมากกว่ารีวิวตามเว็บไซต์

สิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบจากการสัมภาษณ์นี้เองจึงทำให้พวกเขาได้พัฒนาแอปพลิเคชันใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ให้คนที่ได้ค้นพบสุดยอดสถานที่ที่ดีที่สุดในแต่ละเมือง ได้แชร์และเขียนรีวิวผ่านแอปฯ รวมถึงคนที่มาอ่านก็จะได้อ่านรีวิวจากเพื่อนที่เขาไว้ใจจริง ๆ เรียกได้ว่าแผนบีของพวกเขาทำให้แอปพลิเคชันนี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่โดนใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
ความท้าทายของการวางแผนในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ไปจนถึงอนาคต คือ การไม่ตื่นตระหนกไปกับแผนเอที่ล้มเหลวและคอยวางแผนบีไว้ในหัวอยู่เสมอ หลายครั้งที่มันอาจจะผิดพลาดจนทำให้คุณต้องวางแผนไปจนถึงแผนอีหรือแผนเอฟ แต่ถ้าคุณมีสติมากพอ คุณก็ยังคงประสบความสำเร็จและสามารถพูดได้ว่า “มันเป็นไปตามแผน” ได้ในที่สุด ลองอ่านเคล็ดลับต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Plearn เพลิน กันดูนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow