10 อาชีพเสริมยุคดิจิทัล ที่โกยเงินได้ดี “วัยเรียน” ทำได้!

10 อาชีพเสริมยุคดิจิทัล ที่โกยเงินได้ดี “วัยเรียน” ทำได้!

By Krungsri Plearn Plearn

เมื่อโลกพัฒนาไปข้างหน้าด้วยพลังขับเคลื่อนของเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดอาชีพเสริมยุคดิจิทัลแนวใหม่ขึ้นมามากมาย ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาที่มีเวลาว่าง ลองมองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่มีโอกาสสร้างรายได้งาม ๆ ทั้งยังได้ฝึกฝนทักษะอาชีพไปในตัว เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ที่สำคัญยังช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้อีกต่างหาก บางอาชีพสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และไม่เบียดเบียนเวลาเรียนอีกด้วย มาดูกันเลยว่ามีอาชีพเสริมยุคดิจิทัลอาชีพไหนที่จะโกยเงินได้ในช่วงนี้บ้าง

1. Blogger

สำหรับใครที่มีพรสวรรค์ด้านการเล่าเรื่อง และมีความสนใจเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี สุขภาพ ความงาม หรือท่องเที่ยว การบอกเล่าประสบการณ์ผ่านการเขียนบล็อกออนไลน์ ทำคลิปวิดีโอหรือสร้างเว็บไซต์ของตัวเองยังเปรียบเสมือนเป็นคลังสะสมผลงานของเราและยังเป็นอาชีพเสริมที่เหมาะกับยุคดิจิทัลอีกด้วย ยิ่งถ้าบทความนั้นได้รับการเผยแพร่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างชื่อเสียงให้กับบล็อกเกอร์ จนต่อยอดไปเป็น Influencer บางรายมีรายได้จากสปอนเซอร์ในการเขียนรีวิวสินค้าตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่นต่อหนึ่งคอนเทนต์เลยทีเดียว ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำอาชีพเสริมยุคดิจิทัลอย่างบล็อกเกอร์ก็คือคุณภาพของเนื้อหา มีการนำเสนอที่น่าสนใจ อาจจะเล่าเรื่องด้วยวิดีโอที่ดูแล้วสนุก เข้าใจง่าย ก็จะทำให้เข้าถึงผู้อ่านผู้ชมได้มากขึ้น

2. ช่างภาพขายภาพออนไลน์

เราคุ้นเคยกับคำว่าช่างภาพมืออาชีพ แต่ในยุคที่ใคร ๆ สามารถโปรโมทผลงานภาพถ่ายของตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ ช่างภาพไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปเสนอผลงานของตัวเองผ่านลูกค้าแล้ว จึงเกิดอาชีพในยุคดิจิทัลอย่าง Stock Photographer ขึ้นมา เพียงแค่สมัครสมาชิกกับเว็บที่รับเป็นตัวแทนขายภาพออนไลน์อย่าง Shutterstock, Istockphoto, photolia ซึ่งแต่ละเว็บไซต์ก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป ถ้าภาพถ่ายของคุณผ่านมาตรฐานแล้ว ที่เหลือก็รอเงินโอนเข้าบัญชีหลังจากมีคนมาซื้อได้เลย ถ้าใครมั่นใจว่ามีฝีมือในการถ่ายภาพ อาชีพเสริมในยุคดิจิทัลแบบนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะความพิเศษของภาพถ่ายคือไม่มีวันหมดอายุ สามารถขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้ามีทั่วโลก ทางเว็บไซต์จัดการขั้นตอนซื้อขายให้หมด ภาพเพียงภาพเดียวราคาพุ่งไปหลักแสนเลยก็มี

3. รับ Pre-order สินค้า

อาชีพรับ Pre-order สินค้าก็เหมือนกับการฝากซื้อสินค้าแล้วเรานำมาส่งต่อให้ โดยคิดค่าบริการ “หิ้วของ” อาชีพนี้เป็นอาชีพในยุคดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากตามเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ของร้านค้า เรามักจะเจอคอมเมนต์ “รับหิ้ว” อยู่บ่อย ๆ เรียกว่าเป็นอาชีพที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยเราสามารถทำเป็นอาชีพเสริมเป็นครั้งคราวเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเมื่อมีสินค้าลดราคาจากแบรนด์ดัง แล้วก็สร้างเว็บเพจของตัวเองในโซเชียลเพื่อลงรูปสินค้าและโปรโมทให้คนรู้จัก พูด ง่าย ๆ ก็คือการสร้างตัวตนขึ้นมานั่นเอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นช่องทางในการติดต่อลูกค้า จัดว่าเป็นอาชีพเสริมยุคดิจิทัลที่สามารถบริหารการทำงานได้อย่างยืดหยุ่น และใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะเป็นการพรีออเดอร์ตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งซื้อจริง ๆ

4. นักแปล

อีกอาชีพเสริมยุคดิจิทัลที่ไม่เคยหายไปไหนและยังคงเป็นที่ต้องการของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็คือนักแปล หนอนหนังสือ สายภาษาที่มีทักษะการอ่านและการแปลของตัวเองเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อาจสร้างรายได้จากอาชีพเสริมในยุคดิจิทัลมากกว่าที่เราคิด ยิ่งใครที่ได้ภาษาที่สาม ก็เป็นที่ต้องการของตลาดและได้ค่าแรงที่สูงตามไปด้วย สำหรับนักศึกษาอาจจะเลือกรับงานแปลบทความ เรื่องสั้น ที่ไม่ต้องใช้เวลานานมากจนมาเบียดเบียนเวลาเรียน ส่วนใครที่เรียนด้านภาษาอยู่แล้วการรับงานแปลยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะภาษาของตัวเองให้แน่นขึ้นไปอีก ยิ่งมีทักษะสูงเท่าไหร่ โอกาสเพิ่มค่าแรงก็สูงตามไปด้วย แม้ความรู้ทางภาษาจะมาเป็นที่หนึ่ง แต่นักแปลควรศึกษาหาข้อมูลความรู้ด้านอื่นไปพร้อม ๆ กันอย่าง สังคม ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งจะมีประโยชน์กับการแปลบทความเฉพาะทาง

5. ติวเตอร์

ติวเตอร์เป็นอาชีพเสริมยุคดิจิทัลที่กำลังมาแรง ยิ่งในสมัยนี้สามารถทำคลิปวิดีโอสอนผ่านทาง Youtube หรือ Facebook Live ได้ และยังสื่อสารกับผู้เรียนได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและค่าเดินทาง เรียกได้ว่ามีข้อดีอยู่หลากหลาย ซึ่งการเรียนที่บ้านผ่านทางออนไลน์นอกจากจะได้ความสะดวกแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้มากขึ้นเมื่อเรานำคลิปวิดีโอการสอนออนไลน์ไปขายผ่านเว็บไซต์ที่รวบรวมบทเรียนออนไลน์หลายสาขาไว้ด้วยกัน เช่น coursesquare.co, skilllane.com, และ udemy.com ซึ่งจะหักรายได้ส่วนแบ่งเข้าทางเว็บไซต์ที่ให้บริการส่วนหนึ่ง ซึ่งข้อดีของการสอนออนไลน์แบบนี้ก็คือเราจะมีนักเรียนที่หลากหลายวัยและมาจากทั่วประเทศ ยิ่งทำให้ผู้สอนต้องพัฒนาเทคนิคในการสอนอยู่ตลอดเวลาจัดเป็นอาชีพเสริมในยุคดิจิทัลที่ได้พัฒนาตัวเองไปด้วยพร้อม ๆ กัน

6. บาริสต้า

สมัยนี้เดินไปทางไหนก็เจอแต่คาเฟ่ โดยเฉพาะทำเลที่มีคนพลุกพล่านอย่างสถานศึกษาและแหล่งชุมชน แต่ละร้านก็มีจุดเด่นต่างกัน บางร้านเน้นที่รสชาติเครื่องดื่ม บ้างก็เน้นที่บรรยากาศสถานที่ อีกทั้งคนไทยก็หันมาบริโภคกาแฟแบบ custom-made กันมากขึ้น ธุรกิจคาเฟ่จึงไปได้อีกไกล สำหรับอาชีพบาริสต้าจึงเป็นอาชีพในยุคดิจิทัลที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่ชงกาแฟให้อร่อยอย่างเดียว แต่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ การได้ชงกาแฟรสเข้ม ๆ บริการที่ประทับใจให้ลูกค้า อีกทั้งยังต้องหมั่นหาความรู้ด้านกาแฟอยู่เสมอ เป็นเรื่องดีที่จะได้เก็บเกี่ยวประสบกาณ์การทำงานด้านนี้ตั้งแต่ยังเรียน ในอนาคตเราอาจจะมีโอกาสเปิดร้านคาเฟ่เป็นของตัวเองก็ได้ ใครจะรู้

7. ไกด์นำเที่ยว

ประเทศไทยยังติดอันดับเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอยู่เสมอ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยมาแต่ไหนแต่ไร ไกด์นำเที่ยวสามารถทำเป็นอาชีพเสริมยุคดิจิทัลได้ อาจจะเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัคร เข้าร่วมชมรมในมหาลัย หรือเป็นผู้ช่วยไกด์ เพื่อสั่งสมประสบการณ์และได้ฝึกภาษาไปในตัว แล้วจึงไปสอบเพื่อขอใบอนุญาต เพื่อจะได้ทำเป็นอาชีพเสริมในยุคดิจิทัลอย่างถูกต้อง นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ ไปพร้อม ๆ กับการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะการเป็นไกด์นำเที่ยวต้องมีความรู้รอบตัว และถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจได้ง่ายนั่นเอง ยิ่งชั่วโมงบินสูงค่าตัวก็จะได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไกด์อิสระจะคิดค่าตัวเป็นรายวัน ปัจจุบันมีไกด์นำเที่ยวหลายแบบตามลักษณะการท่องเที่ยว เช่น ไกด์ทัวร์จักรยาน เดินป่า และชมสถานที่ทางวัฒนธรรม หากใครที่มีพื้นฐานด้านภาษาอยู่แล้วและยังรักการท่องเที่ยว สนุกกับอาชีพนี้แน่นอน

8. นักกีฬา E-Sports

กีฬา E-Sports ถูกบรรจุให้เป็นชนิดกีฬาจากคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2560 และมีสมาคมไทย E-Sports อย่างเป็นทางการ ทำให้ภาพลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เมื่อการเล่นเกมออนไลน์ไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป แต่กลับกันเพราะสามารถช่วยฝึกสมอง การวางแผน และการเล่นแบบทีมเวิร์ก จากเกมเมอร์ที่เล่นเพื่อความสนุก สามารถก้าวสู่วงการนักกีฬา E-Sports เพื่อทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมยุคดิจิทัลได้ แค่มีเกมที่เราเล่นถนัด เกมยอดนิยมในวงการนี้ก็คือ Heroes of Newerth และ League of Legends ที่สำคัญคือต้องหมั่นฝึกซ้อมเข้าไว้ วิเคราะห์แนวทางคู่ต่อสู้ ผู้ชนะแต่ละการแข่งขันจะได้เงินรางวัลสูงถึงล้านบาท ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับเกมเพื่อรองรับตลาดธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ จึงเป็นอาชีพเกิดใหม่ในยุคดิจิทัลที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

9. นักวาดรูปสติ๊กเกอร์ไลน์

จากผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีผู้ใช้ไลน์มากที่สุดในโลก การส่งสติ๊กเกอร์ที่มีคาแรคเตอร์น่ารัก ๆ เอาไว้แทนความรู้สึกจึงได้รับความนิยมตามไปด้วย นอกจากไลน์จะเป็นแอปพลิเคชั่นยอดฮิตไว้สื่อสารแล้ว ยังต่อยอดเป็นอาชีพเสริมยุคดิจิทัลได้ดี เมื่อไลน์เปิดโอกาสให้นักวาดทั่วไปสามารถออกแบบสติ๊กเกอร์ไปขายในระบบได้ จึงเป็นช่องทางสร้างหารายได้ผ่านอาชีพเสริมในยุคดิจิทัลสำหรับคนที่มีฝีมือด้านออกแบบและวาดรูป การจะทำให้สติ๊กเกอร์มียอดดาวน์โหลดเยอะ ก็ต้องสร้างคาแรคเตอร์ที่แตกต่าง มีคำที่โดนใจหรือนิยมในช่วงนั้น ๆ สติ๊กเกอร์ที่ได้รับความนิยมติดอันดับ Best Sellers สามารถทำรายได้ถึงหลักแสนต่อเดือนเลยทีเดียว

10. Digital Copywriter

ไอเดียเจ๋ง คิดงานเร็ว ความรู้รอบตัวเยอะ หูตากว้างไกล เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของการเป็น Copywriter ที่รับผิดชอบเขียนโฆษณาเพื่อโปรโมทสินค้าและบริการผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ หลายคนอาจสงสัยว่าอาชีพเสริมในยุคดิจิทัลอาชีพนี้จะสร้างเงินได้อย่างไร อย่าลืมว่าการสื่อสารที่ดีสร้างรายได้ให้แบรนด์อย่างมหาศาล สโลแกนสั้น ๆ อาจทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าคุณไปได้อีกนาน สำหรับนักศึกษาสายนิเทศศาสตร์ การฝึกทำงานด้านนี้ตั้งแต่วัยเรียน จะช่วยพัฒนาทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ และเป็นการเตรียมพร้อมกับสภาพแวดล้อมในการทำงานจริง ๆ และอาจพัฒนาเป็นอาชีพเสริมในยุคดิจิทัลที่สร้างรายได้ได้อย่างงาม ยิ่งได้ร่วมงานกับแบรนด์ที่หลากหลาย จะทำให้เราเข้าใจกลไกทางการตลาดและการทำธุรกิจสื่อสารแบรนด์ได้ดีมากขึ้น

นี่ก็เป็นแค่บางส่วนของไอเดียอาชีพเสริมยุคดิจิทัลที่มาแรงเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ยังมีอีกหลายวิธีสร้างรายได้ระหว่างเรียน สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าตัวเองมีความถนัดด้านไหน จะนำเสนอจุดแข็งของเราให้คนอื่นสนใจได้อย่างไร นอกจากนี้ก็คือการบริหารเวลาในการเรียนและการทำงานให้ไม่เบียดเบียนกัน เพราะยังไงหน้าที่หลักของวัยเรียนก็คือตั้งใจเรียนหนังสือนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow