“Olympic 2020” ที่ญี่ปุ่นมีดีอย่างไร แล้วเทคโนโลยีอะไรบ้างที่น่าติดตาม?

“Olympic 2020” ที่ญี่ปุ่นมีดีอย่างไร แล้วเทคโนโลยีอะไรบ้างที่น่าติดตาม?

By Krungsri Plearn Plearn

ทุกครั้งที่มีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก หลายคนก็มักจะตั้งหน้าตั้งตารอลุ้นการแข่งขันประเภทกีฬาที่ชอบ เชียร์นักกีฬาที่สนใจ ไม่ก็รอดูความอลังการของพิธีเปิดและพิธีปิด แต่สำหรับโอลิมปิกครั้งใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปี 2020 จะพลิกโฉมโอลิมปิกแบบที่เราเคยรู้จักไปเลย เพราะครั้งนี้รับรองว่าจะได้เห็นนวัตกรรมล้ำ ๆ ที่จะเปลี่ยนมิติการแข่งขันกีฬาให้สนุกกว่าเดิม ผู้ชมในสนามและทางบ้านก็จะมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าขนาดงานยังไม่เริ่ม กระแสก็แรงมากทีเดียว พิสูจน์จากยอดขายบัตรชมการแข่งขันในรอบแรก ที่ขายไปแล้วกว่า 3.22 ล้านใบ! แสดงว่าต้องมีของดีของเด็ดจริงแล้วล่ะ อยากรู้ว่าจะมีสุดยอดสิ่งประดิษฐ์อะไรบ้าง มาดูพร้อม ๆ กันเลย

ทีมหุ่นยนต์ผู้ช่วยภาคสนาม

ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้งานร่วมกับมนุษย์มายาวนาน สำหรับในโอลิมปิก 2020หุ่นยนต์ผู้ช่วยภาคสนามถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ โดยหุ่นยนต์แต่ละตัวก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป
ขอบคุณที่มารูปจาก https://www.sanook.com
  • หุ่นยนต์ผู้ช่วย ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ข้ามสนาม และเก็บอุปกรณ์ในการแข่งขันกีฬาได้อย่างรวดเร็ว
  • หุ่นยนต์มาสคอต ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิต ยิ้มแย้มและเป็นมิตรกับผู้คน เดินไม่ได้แต่สามารถขยับขาได้ ถึงแม้จะพูดไม่ได้แต่ส่งสายตาทั้งแบบเป็นประกายและรูปหัวใจได้ อาจใช้ถือคบเพลิงในงานด้วย
  • หุ่นยนต์ภาคสนาม มีรูปร่างคล้ายรถประจำทาง แต่มีขนาดเล็ก เดินทางได้เร็วถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หุ่นยนต์ตัวนี้มีการติดตั้งกล้องสามตัวและเซ็นเซอร์พิเศษที่ช่วยให้มองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบ ด้านบนมีไฟชนิดพิเศษติดอยู่ ซึ่งจะสว่างขึ้นในขณะทำงาน สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นหญ้าได้อีกด้วย
ยังไม่หมดเท่านี้ หุ่นยนต์ยังสามารถช่วยเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม พูดภาษาอังกฤษแทนที่สตาฟญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และยังสามารถนำทางคนพิการไปยังที่นั่งเพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้อีกด้วย
ขอบคุณที่มารูปจาก https://positioningmag.com/1240756

สนามป้องกันแผ่นดินไหว

โอลิมปิก 2020 มีการแข่งขัน 300 กว่ารายการ จาก 33 ประเภทกีฬา ทำให้ต้องจัดการแข่งขันที่สนามกีฬาหลายแห่งในกรุงโตเกียว เช่น สนามกีฬาแห่งชาติใหม่ (New National Stadium) ตั้งอยู่ชานเมืองชินจูกุ เป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ใช้สำหรับจัดพิธีเปิดและปิดมหกรรม และการแข่งขันกรีฑา รองรับผู้เข้าชมได้มากถึง 60,000 คน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จึงได้สร้างนวัตกรรมเพื่ออำนวยความปลอดภัยและความอุ่นใจกับผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะสนามโตเกียว อควอติก เซ็นเตอร์ (ว่ายน้ำ), อาเรียเกะ อารีนา (วอลเลย์บอล) และสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ ได้รับการก่อสร้างที่มีมาตรฐาน โดยผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดังอย่างบริดจ์สโตน ที่ออกแบบตลับลูกปืนแบบพิเศษ ติดตั้งอยู่ใต้หลังคา เพื่อให้สนามทนต่อแรงสั่นสะเทือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
อีกทั้งการจัดการแข่งขันจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนซึ่งคาดว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 31 องศาเซลเซียส ทางญี่ปุ่นจึงติดตั้งตัวช่วยเพิ่มความเย็นอย่างพัดลมและเครื่องสร้างไอหมอก ติดกระจายอยู่ทั่วสนาม 185 จุด เพื่อให้ผู้ชมดูกีฬาได้อย่างผ่อนคลายและสนุกได้เต็มที่
ขอบคุณที่มารูปจาก https://positioningmag.com

รถบัสพลังงานสะอาด

เนื่องจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจัดขึ้นที่สนามกีฬาหลายแห่งในกรุงโตเกียว ญี่ปุ่นจึงเตรียมรถบัสสำหรับอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเพื่อรับส่งจากโรงแรมไปยังสนามหรือสถานที่ต่าง ๆ โดยรถบริการเหล่านี้จะใช้พลังงานไฮโดรเจนแทนน้ำมัน ซึ่งเคยทดลองใช้กับกิจกรรมต่าง ๆ มาแล้วในคอนเสิร์ตของศิลปินดังหลายวง ซึ่งไม่ได้มีเพียงรถบัสขนาดใหญ่ไว้ให้บริการเท่านั้น ยังมีรถกอล์ฟและรถสำหรับผู้พิการที่เตรียมไว้บริการทั้งหมดกว่า 100 คัน ที่รับรองว่าเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน
ขอบคุณที่มารูปจาก https://positioningmag.com/1240756

เหรียญรางวัลรีไซเคิล

เหรียญรางวัลอันทรงเกียรติอย่างเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ที่มอบให้กับนักกีฬา เป็นผลงานการออกแบบโดยจูนิจิ คาวานิชิ เน้นความเรียบง่าย เพิ่มจุดเด่นตรงส่วนโค้งของเหรียญ หากมองจากหลายมุมทำให้เหรียญมีลักษณะ 3 มิติ และมีความแวววาว แต่สิ่งพิเศษกว่านั้นที่ตอกย้ำความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น คือเหรียญผลิตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการบริจาคของชาวญี่ปุ่น เช่น โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, แท็ปเล็ต ฯลฯ รวมกว่า 80,000 ตันมีจำนวนทั้งหมดกว่า 5,000 ชิ้น ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นทอง เงิน และทองแดงอยู่แล้ว ดังนั้นกระบวนการรีไซเคิลขยะเป็นเหรียญจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างญี่ปุ่น ทั้งนี้เหรียญรางวัลรีไซเคิลจะถูกนำไปใช้ในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ที่จะมีขึ้นหลังจากโอลิมปิกเสร็จสิ้นลง

3D Athlete Tracking

ในการแข่งขันประเภทกรีฑาจะมีการนำ 3DAT หรือ 3D Athlete Tracking เทคโนโลยีที่สามารถไฮไลท์ระดับความเร็วของนักวิ่งในแต่ละลู่ได้อย่างมีสีสัน พัฒนาโดยบริษัท Intel และ Alibaba ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก เบื้องหลังความล้ำของ 3DAT คือการใช้กล้องวิดีโอที่มีระบบ AI เพื่อเก็บสถิติต่าง ๆ วิเคราะห์การเคลื่อนไหว หรือท่วงท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของนักกีฬาโดยไม่ต้องติดเซ็นเซอร์ตามตัวอีกต่อไป ข้อมูลเหล่านี้จะถูกแสดงผลแบบเรียลไทม์ให้โค้ชและผู้ชมได้เห็นในระหว่างการแข่งขัน เช่น ความเร็วของนักกีฬา, ผู้แข่งขันคนไหนที่กำลังนำอยู่ ระยะทางปัจจุบัน และระยะทางที่เหลืออยู่คือเท่าไหร่ และสำหรับผู้ชมทางบ้านที่มีชุดหูฟัง VR ที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง ก็สามารถดื่มด่ำกับประสบการณ์การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ได้มากกว่าการดูทีวีแบบปกติ
อ่านจบแล้วรู้สึกอยากไปเห็นสถานที่จริงเลยมั้ย? โอลิมปิกครั้งนี้ญี่ปุ่นทุ่มเทมาก เพราะต้องการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬาให้สมกับเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก เมื่องานจบแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีก เช่น เทคโนโลยีรองรับการเกิดแผ่นดินไหว นำไปใช้กับมหกรรมกีฬาพาราลิมปิก 2020 และการออกแบบภายในสถานีรถไฟโตเกียว นวัตกรรมเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นการลงทุนที่เสียเปล่าอย่างเดียว แล้วในฐานะที่เป็นประเทศเจ้าภาพ ยังใช้โอกาสนี้กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไปในตัวอีกด้วย
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow