ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น : กับแนวทางการตลาดที่ปรับใช้ได้กับตลาดไทยๆ

ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น : กับแนวทางการตลาดที่ปรับใช้ได้กับตลาดไทยๆ

By เกตุวดี Marumura

สังเกตไหมคะว่า เวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่น หรืออย่างน้อย ได้ของฝากจากญี่ปุ่น เราจะรู้สึกฮือฮาทุกครั้ง “โอ้โห กล่องเขาสวยจัง” “ว้าว ตุ๊กตาคิตตี้น่ารัก ญี่ปุ่นนี่อะไรๆ ก็น่ารักไปหมดเนอะ” เรื่องความสวยงามหรือความน่ารักของสินค้าญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านสามารถมองเห็นและรับทราบกันดีอยู่แล้ว ดิฉันขอนำเสนอพลัง 4 ประการของคนญี่ปุ่นที่ทำให้เขาสร้างสินค้าน่าตรึงใจชาวไทยได้ขนาดนี้

1. พลังของความใส่ใจ

 

“จงใส่ใจประสบการณ์ลูกค้าทุกขั้นตอน”
 
เวลาเห็นสินค้าญี่ปุ่น พวกเรามักอุทานว่า “โอ...เข้าใจคิดนะ”
อันที่จริง คนญี่ปุ่นเข้าใจคิดและ “ตั้งใจคิด” สินค้าญี่ปุ่นแทบทุกชิ้น เต็มไปด้วยความคิดและความใส่ใจในทุกขั้นตอน แค่น้ำผลไม้ที่ขายในร้านสะดวกซื้อก็ใส่ใจลูกค้าแล้ว มองเผินๆ ก็แค่กล่องน้ำผลไม้ธรรมดาๆ กล่องหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เจ้าน้ำผลไม้กล่องนี้ถูกคนญี่ปุ่นใส่ใจลงไป ดังต่อไปนี้
  1. ลูกค้าจะมองเห็นสินค้าเราบนชั้นวางไหม → ดีไซน์กล่องให้สดใสโดดเด่น
  2. ลูกค้าหยิบหลอดเจาะดื่ม → หลอดติดแนบข้างกล่อง ไม่ต้องแจกแยก ตัวพลาสติกหุ้มหลอดต้องบางพอที่จะให้ลูกค้าฉีกได้ง่าย แค่ใช้นิ้วกดหลอดลงไป ไม่ต้องดึงพลาสติกออกมา ไม่มีเศษขยะพลาสติกปลิว ตัวหลอดสั้นประหยัดพื้นที่ ดีไซน์ 2 ตอนสามารถดึงออกให้ยาวขึ้นได้ ปลายพลาสติกแหลมพอให้เจาะพลาสติกที่ปิดแก้วได้  
ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น
  1. ลูกค้าดื่ม → รสชาติอร่อย
  2. ลูกค้าจะทิ้งขยะ → ลูกค้าสามารถดันหลอดให้สั้นและทิ้งลงในกล่องได้ คนญี่ปุ่นมักจะฉีกปีกกล่องและพับให้แบน เพื่อที่จะไม่เปลืองพื้นที่ถังขยะ ใต้ฝากล่องก็จะมีข้อความว่า “ขอบคุณนะที่ช่วยพับกล่อง” (ถ้าไม่ฉีกพับกล่อง ก็จะไม่เห็นข้อความตรงนี้ เป็นกิมมิคที่ซ่อนเล็กๆ)

ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้เน้นแค่การออกแบบรสชาติหรือตัวผลิตภัณฑ์ก่อน แต่เริ่มจากประสบการณ์ของลูกค้า และมองละเอียดตั้งแต่ก่อนลูกค้าซื้อ จนกระทั่งหลังซื้อแล้วยังเลยไปถึงตอนโยนทิ้งลงถังขยะ ความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลือง แต่สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เช่นกัน ที่จะทำให้ลูกค้าตื่นเต้น และประทับใจในสินค้า

 

2. พลังของเรื่องราว

 

“หาเรื่องราวที่จะ Wow ลูกค้า หากไม่มี... จงสร้างขึ้นมา”
 
จากพลังความใส่ใจในข้อ 1. ทำให้คนญี่ปุ่นมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับแบรนด์หรือตัวสินค้าที่พวกเขาภูมิใจที่จะเล่าให้ลูกค้าฟัง เรื่องราวเหล่านี้จะทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ เห็นคุณค่าของสินค้า หรือรู้สึกผูกพัน
เรื่องราวที่หยิบมาอาจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • กรรมวิธีการทำ: ตามเว็บไซต์บริษัท ป้ายคำอธิบายสินค้า หรือป้ายตรงชั้นวางสินค้าในญี่ปุ่น จะมีเรื่องราวความพิถีพิถันเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิต เช่น ผ้าพันคอผ้าฝ้ายธรรมดาๆ จะดูมีคุณค่าหากมีข้อความ 3-4 บรรทัดต่อไปนี้

  • “ผ้าฝ้ายผืนนี้ ผ่านการมัดย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติ หมักโคลนและต้มสีซ้ำถึง 3 รอบ และถักทอด้วยกี่ไม้โบราณเพื่อให้ได้สีสันและสัมผัสที่อบอุ่นนุ่มนวลเป็นธรรมชาติมากที่สุด”
  • ประวัติศาสตร์ ตำนาน ความเป็นมา: นำเสนอเสน่ห์และตำนานอันเก่าแก่ของร้านหรือแบรนด์นั้น เช่น

  • เอกลักษณ์ของร้านเราทั้ง 6 ประการ ได้แก่ 1. ไข่แดงที่แตกต่าง ... ทางร้านร่วมกับฟาร์มไข่ไก่พัฒนาไข่แดงสูตรพิเศษ เราเลี้ยงไก่ในหุบเขาธรรมชาติด้วยหญ้าปลอดสารพิษและข้าวโพดคุณภาพดี เพื่อให้ไข่แดงมีสีสดสวย และรสชาติเข้มข้น ... ” (อ้างอิงhttp://www.bunmeido.ne.jp/policy/)
  • หาจุดเด่นสร้างเรื่องราว: หากไม่มีกรรมวิธีหรือตำนานให้เล่า ก็หาจุดเด่นและสร้างวิธีเล่าขึ้นมาเอง เช่น เมืองยูบาริในฮอกไกโด เดิมเป็นเมืองที่เป็นเหมืองแร่ แต่เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ซบเซา คนอพยพย้ายออกไป ผู้อยู่อาศัยน้อย ทางเมืองขาดรายได้ เมืองยูบาริไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เหมือนโอตารุ หรือมีของทานอร่อยๆ ชื่อดังเหมือนซัปโปโร หรือฮาโกดาเตะ ในท้ายที่สุด ทางเมืองพบว่า ยูบาริเป็นเมืองที่มีอัตราการหย่าร้างต่ำที่สุด ทางเมืองดึงตัวเลขนี้มาสร้างเป็นจุดขายว่า “ยูบาริ เมืองแห่งความรัก” และรณรงค์ให้หนุ่มสาวญี่ปุ่นมาจดทะเบียนสมรสกันที่นี่ แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เดินทางมาที่ยูบาริได้อย่างงดงาม

 

3. พลังของดีไซน์

 
“จงให้ความสำคัญกับการดีไซน์”
 
หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงในญี่ปุ่นมากๆ คือ “มนุษย์ตัดสินใจจากรูปลักษณ์ภายนอกกว่า 90 เปอร์เซนต์”
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับดีไซน์และรูปลักษณ์มาก การจ้างดีไซเนอร์ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แม้แต่สินค้าที่ดูธรรมดาๆ อย่างเต้าหู้ แต่เมื่อใส่พลังดีไซน์เข้าไป ก็ทำให้เต้าหู้แบรนด์น้องใหม่จากเกียวโตเป็นที่พูดถึงในตลาดและทำยอดขายได้สูงมากโดยใช้งบการตลาดเพียงน้อยนิด
“เต้าหู้รูปหล่อ” (Otokomae Tofu) เป็นเต้าหู้คุณภาพดี รสชาติกลมกล่อมมาก สามารถตักทานเปล่าๆ ได้ แต่ราคาสูงกว่าแบรนด์อื่นในตลาดถึง 3 เท่า หากวางขายด้วยวิธีปกติ แม่บ้านอาจรู้สึกว่าราคาสูงเกินไป ไม่กล้าลอง แต่ทางบริษัทใช้แพ็คเกจรูปหน้าหนุ่มหล่อพิมพ์บนฝา เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้แม่บ้านอมยิ้มและเผลอเอื้อมไปหยิบเต้าหู้รูปหล่อลงตะกร้าช็อป ปิ้งโดยที่ทางบริษัทไม่จำเป็นต้องตั้งเคาน์เตอร์ให้ชิมเลย
Masahiro_Tofu
(Pic source : http://commons.wikimedia.org/)
ไม่เพียงแค่บริษัทเอกชนญี่ปุ่นเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของการดีไซน์ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งวัดญี่ปุ่นก็ให้บริษัทดีไซน์ช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์และแพ็คเกจจิ้ง ภาพด้านล่าง คือ ยางรัดผมและผ้าเช็ดหน้า ของที่ระลึกจากวัดโคฟุกุจิ จังหวัดนารา ...ขอย้ำอีกครั้งว่า สินค้าทั้ง 2 ชิ้น เป็นของที่ระลึกที่จำหน่ายใน “วัด” ค่ะ
kofukuji-souvenir
(Pic Source: (@hajyoubou) | Twitter)
ลายสีแดง-ม่วงอันสวยงามข้างต้น เกิดจากการที่ดีไซเนอร์สะดุดลวดลายผ้านุ่งของพระโพธิสัตว์ชื่อดังของวัด และนำมาสกัดลวดลายออกมา แต่งแต้มสีให้สวยงาม จากลายผ้านุ่งที่ไม่มีใครสนใจ ก็กลายมาเป็นลวดลายบนถุงของฝากและของที่ระลึกอันสวยงามที่จำหน่ายในวัด
Ashura-KOFUKUJI-TEMPLE
(ภาพพระโพธิสัตว์และลายบนผ้านุ่ง (Pic Source.: http://www.kohfukuji.com)
 

4. พลังของการโฟกัส

 
“จงเลือก”
 
ร้านอาหารไทยหลายแห่งมักทำเมนูเล่มหนักๆ หนาๆ หากพลิกดู เราจะพบกับ “ส้มตำไทย ซุปผักโขม พิซซ่า ลาซานญ่า ราดหน้าปลาเต้าซี่ หมี่ฮ่องกง ฯลฯ” วาไรตี้ตั้งแต่ไทย ฝรั่ง กระทั่ง จีน คนไทยชอบความหลากหลายและทางร้านก็อยากเอาใจลูกค้า แต่น่าฉงนว่า ร้านอาหารเหล่านี้บริหารจัดการวัตถุดิบให้สดใหม่พร้อมปรุงได้อย่างไร ต้นทุนที่สูญเสียไปจากการกำจัดวัตถุดิบที่ใช้ไม่หมดจะมากเพียงไหน
บริษัทญี่ปุ่นจะโฟกัสกับธุรกิจของตัวเองมาก การโฟกัสหรือการมีแก่นหลักของธุรกิจ จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายว่า บริษัทนั้นขายอะไร ตัวบริษัทเองก็จะสามารถทุ่มพลังและการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ไปในแนวทางเดียวกันได้ เช่น ร้านขายข้าวหน้าเนื้อ ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้ามนุษย์เงินเดือนผู้เร่งรีบ แทนที่ร้านข้าวหน้าเนื้อจะคิดว่าตนควรจะทำเมนูอะไรใหม่ๆ เขาจะมุ่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถอิ่มท้องอย่างเอร็ดอร่อยภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุด ผลลัพธ์คือ การคิดระบบให้พนักงานสามารถเสิร์ฟข้าวหน้าเนื้อได้ภายใน 2 นาทีหลังจากลูกค้าสั่ง โต๊ะทำเป็นเคาน์เตอร์เพื่อให้พนักงานคนเดียวสามารถดูแลลูกค้าได้หลายๆ คนพร้อมกัน เก้าอี้ไม่มีพนัก เพราะประหยัดพื้นที่ และลูกค้ารีบทานรีบไป ไม่ต้องนั่งนาน
ตัวอย่างของพลังโฟกัสอื่นๆ เช่น
Obon-de-Gohan
(ภาพพระโพธิสัตว์และลายบนผ้านุ่ง (Pic Source.: http://obon-de-gohan.com/about/)
  • ร้านร้อยเยนที่ขายแค่สินค้าทุกอย่างราคา 100 เยน เน้นสินค้านานาชนิด คุณภาพไม่สูงมาก แต่ราคาถูก
  • ร้านอาหาร “Obon de Gohan” ขายอาหารเป็นเซ็ทเท่านั้น แต่อาหารทุกรายการจะสมดุลทางด้านโภชนาการ ดีต่อสุขภาพ จุดเด่นคือ อาหารทุกเมนูมีผักเป็นส่วนประกอบอยู่มาก พนักงานจะจัดอาหารเสิร์ฟบนถาดไม้

  • ร้แบรนด์ MUJI ที่โฟกัสไปที่ความเรียบง่าย แม้สินค้าจะมีตั้งแต่กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน อาหาร จนถึงจักรยาน แต่สินค้าทุกตัวมีจุดเด่นที่พอลูกค้าเห็น ก็จะรู้ว่านี่คือสินค้า MUJI
กล่าวโดยสรุป พลังการโฟกัส ไม่ได้หมายถึงการเน้นแค่สินค้าประเภทเดียว หรือลูกค้าแค่เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นการหาธีมหลักหรือคุณค่าหลัก (Core Value) ที่จะนำเสนอให้ลูกค้าให้เจอ เมื่อพบแล้ว ก็ฝึกฝนพัฒนาทักษะในการพัฒนาสินค้าและแบรนด์นั้นๆ จนชำนาญ
บริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต ตลอดจนวัตถุดิบและสินค้าที่ดีเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว หากนำพลังเหล่านี้ไปเสริมสร้างแบรนด์และตัวสินค้า ดิฉันมั่นใจว่า ภายในปีหน้าเราจะได้ยินคนญี่ปุ่นฉงนว่า “ทำไมสินค้าไทยถึงน่าติดใจจังนะ?” กันแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow