การเลี้ยงชีพ การทำสิ่งที่รัก และการทำเพื่อสังคม หลอมรวมกันได้ ไม่ใช่เรื่องยาก

การเลี้ยงชีพ การทำสิ่งที่รัก และการทำเพื่อสังคม หลอมรวมกันได้ ไม่ใช่เรื่องยาก

By วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การทำเพื่อสังคม หรือ การสร้างเรื่องราวดี ๆ กลับคืนสู่สังคมง่ายกว่าที่คิด

ทุกวันนี้หลายคนอาจมีคำถามนี้อยู่ในใจ
“เราจะทำงานในสิ่งที่เรารัก เพื่อเลี้ยงชีพ และเพื่อคืนกลับสู่สังคมได้อย่างไร?”
คำถามนี้ดูเป็นคำถามที่ยากและท้าทายสำหรับใครหลายคน แต่ยุคสมัยนี้อะไร ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแทบทุกวินาที เราจะทำสามสิ่งนี้ไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร วันนี้มาฟังเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านมุมมองชีวิตของ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” แล้วคำถามที่คุณคาใจจะได้รับคำตอบ

ตัวตน ความหลงใหล และจุดเปลี่ยน ของวรรณสิงห์

วรรณสิงห์เริ่มต้นเข้าวงการนี้ด้วยการเป็นพิธีกร คนส่วนใหญ่จะรู้จักเขาในฐานะพิธีกรสารคดีในรายการโทรทัศน์ นั่นคือการทำงานหาเลี้ยงชีพ หารายได้เพื่อตัวเองและครอบครัว แต่การทำงานนี้ก็ทำให้ได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น ได้พบกับผู้คนในหลายประเทศ วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกครั้งเมื่อออกเดินทางและเป็นต้นทุนที่ดีในการสร้างสรรค์เรื่องราวต่าง ๆ
ในเวลาเดียวกันก็ทำวงดนตรีเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรัก แต่ด้วยวงดนตรีที่ทำเป็นงานทดลอง เข้าถึงยากไปเสียหน่อยทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก และงานอีกส่วนที่ทำคือทำงานร่วมกับกลุ่ม NGO เพื่อทำอะไรตอบแทนกับสังคมบ้าง เช่น ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ส่งเสริมสิทธิและโอกาสในการรับบริการสาธารณะ แต่การทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถให้เวลากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างเต็มที่ หลายครั้งเราต้องสูญเสียทั้งเงิน เวลาและความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน งานที่ทำทั้งหมดจึงมีโอกาสไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

สื่อกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Media and Digital Transformation)

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สื่อเปลี่ยนจากทีวีไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย คนดูรายการทีวีลดน้อยลง ส่งผลให้รายได้จากงานพิธีกรค่อย ๆ ลดลง ไม่ว่าใครก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แม้แต่คนทำรายการสารคดีอย่างวรรณสิงห์ก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน แต่ในข้อจำกัดนี้ก็เปิดโอกาสให้ได้เล่าเรื่องราวที่หลากหลายมากขึ้น เราสามารถเล่าชีวิตของผู้ลี้ภัย ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือเรื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้เห็นมุมที่น่าสนใจของสังคม คล้ายกับเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้ทดลองเล่าเรื่องราวในแบบของตัวเอง แต่สำหรับวรรณสิงห์กลายเป็นว่า จากเคยเป็นการทดลอง ก็กลายเป็นรายได้หลักที่สามารถหล่อเลี้ยงสิ่งที่รักรวมถึงทำเพื่อสังคมไปได้พร้อม ๆ กัน ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 4-5 ปีหลังนี้ จากที่เคยมองว่าแยกส่วนกัน เงิน ความหลงใหล การทำเพื่อสังคม มันเดินไปพร้อม ๆ กันได้จริง ๆ และทำให้เห็นว่า คนในสังคมพร้อมเปิดรับความหลากหลายของโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น
โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้เรามีกระบอกเสียงที่ใหญ่ขึ้น แม้เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ทำให้เรื่องราวที่ไม่เคยถูกถ่ายทอดอยู่ในมุมเล็ก ๆ ของสังคม สามารถทำให้คนทั่วโลกมองเห็นสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้นและยังแลกเปลี่ยนกันได้ไม่รู้จบ แน่นอนว่าเรื่องราวไหนที่มีคุณค่าต่อคนดูมากพอก็ย่อมมีสิ่งตอบแทนอย่างชื่อเสียงและเงินตามมา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เสียงที่เราพูดออกไปมันกลับมาช่วยเหลือสังคมอย่างไรได้บ้าง

สังคมต้องการกระบอกเสียงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

สังคมทุกวันนี้มีเรื่องราวและปัญหากระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในทุกแวดวง ตั้งแต่ การเมือง การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ บริการสาธารณะ หรือแม้แต่การเปิดรับฟังความเห็นของคนในทุกเจเนอเรชั่น ปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งมาจากเก็บสิ่งนั้นไว้ใต้พรมหรือเก็บไว้ในมุมมืดที่ไม่มีใครมองเห็น ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและไม่สามารถตรวจสอบได้ ในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางที่ดีขึ้น คนใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเป็นกระบอกเสียงในการเล่าเรื่องราวและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ผ่านตัวตน เอกลักษณ์ และความสนใจที่หลากหลาย

ทุกคนคือผู้สร้างเรื่องราว (Everyone is a Storyteller)

ตัวคุณเองก็สามารถทำสิ่งนี้ได้เช่นกัน เพราะยุคนี้มี Platform ให้ได้แสดงตัวตนของคุณ และเปิดโอกาสให้คุณเปลี่ยนความหลงใหลมาเป็นอาชีพ ทำให้คุณมีอิสรภาพในการเล่าเรื่องราวของตัวเอง เพียงแค่คุณเข้าใจความต้องการของคุณเองและรู้ว่าคุณกำลังจะพูดอยู่กับใคร คุณก็จะสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่มีความหลงใหลเหมือน ๆ กันกับคุณได้
และอนาคตคนดูสามารถมีส่วนร่วมกับสื่อได้โดยตรง เช่น ใช้การระดมทุน (Crowdfunding) เพื่อสร้างรายการขึ้นมาเป็นตอน ๆ ไป เป็นการสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ ๆ ทำให้ผู้ชมสร้างเรื่องราวไปพร้อม ๆ กับคุณ ปัจจุบันก็มีหลากหลายช่องทางที่เปิดโอกาสให้ใช้โมเดลนี้ หรือแม้ในโซเชียลมีเดียชื่อดัง เช่น Facebook, Youtube ก็มีระบบบริจาคเพื่อสนับสนุนผู้สร้างสรรค์รายการ เป็นโลกของการทำงานที่ไม่มีพรมแดนกั้นระหว่างผู้ผลิตและคนดู โดยที่คุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องการหาเงินเลยก็ได้
ในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายขึ้น ที่คุณจะหารายได้จากสิ่งที่คุณรักพร้อมกับการทำงานที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เพียงแค่คุณกล้าออกมาเล่าเรื่องราวที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมผ่านตัวตนของคุณที่พบเจอเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต
เพราะผมเชื่อว่า เราสามารถทำเรื่องเงิน ให้เป็นเรื่องง่ายได้
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.uih.co.th,
https://www.bangkokbiznews.com,
https://www.truemoney.com,
https://help.kickstarter.com/hc/en-us
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา