ไขความฮิต “กล่องสุ่มของเล่น” ทำไมถึงโดนใจวัยรุ่น

ไขความฮิต “กล่องสุ่มของเล่น” ทำไมถึงโดนใจวัยรุ่น

By Krungsri Plearn Plearn
สายกล่องสุ่มมารวมกันตรงนี้ บอกเลยว่าช่วงนี้หลาย ๆ คนน่าจะได้ยินคำว่า “กล่องสุ่ม” มาหลายครั้งต่อหลายครั้งแล้ว และคงมีโอกาสแวะเวียนเข้าไปเห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะทั้งในร้านค้า Facebook, IG, Twitter หรือน้องใหม่อย่าง TikTok (ที่ตอนนี้กลายเป็นแอปฯ ยอดฮิตของคนไทยไปแล้ว) ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ เทรนด์กล่องสุ่มกลายมาเป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่ง จนขยับขยายไปสายธุรกิจที่ร้านค้าเริ่มจับทริคนำมาใช้กับสินค้าของตัวเอง แต่กล่องสุ่มที่วันนี้เราจะพูดถึงคือ “กล่องสุ่มของเล่น” ที่คนในวงการสายเก็บของสะสมรู้จักกันดี
กล่องสุ่ม หรือ Blind Box เป็นวัฒนธรรมซื้อของเล่นของคนญี่ปุ่นที่เพิ่มความตื่นเต้นจากการลุ้นสินค้าว่าเราจะได้ตัวอะไร แน่นอนว่าเรามักเห็นได้บ่อย ๆ ในร้านขายของเล่น ตู้หยอดเหรียญ และปัจจุบันที่กล่องสุ่มเริ่มเข้าสู่ร้าน Shop ญี่ปุ่นมากขึ้น เช่น MINISO หลายคนพอได้ยินคำว่า กล่องสุ่มของเล่น ก็มักจะมองภาพว่าต้องเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ เท่านั้นที่สนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เนี่ยแหละ คือสายช้อปตัวจริง!! เพราะถึงแม้ว่ากล่องสุ่มจะทำออกมาตามคอลเลคชันของตัวการ์ตูน หรือตัวละครในอนิเมชั่น สายเกม หรือสายอาร์ต แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าของเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อสนองความสนุก และสายนักสะสมตัวยงเลยก็ว่าได้
กล่องสุ่ม หรือ Blind Box ที่เป็นวัฒนธรรมซื้อของเล่นของคนญี่ปุ่น
ซึ่งวัฒนธรรมสะสมของเล่นของคนญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลมาจากอนิเมะ เกม และงานอาร์ตต่าง ๆ ผ่านตัวละครเหล่านั้น และด้วยสื่อสังคมออนไลน์ที่ปล่อยภาพความน่ารัก ๆ ออกไปได้ทั่วโลกก็ทำให้เกิดการกระจายที่รวดเร็ว แน่นอนว่าคนเราแพ้ให้กับของน่ารัก ๆ ทั้งนั้น โดยเจ้ากล่องสุ่มนี้ก็จะถูกวางขายโดยที่ไม่รู้เลยว่าของในกล่องคือตัวอะไร ความน่าสนุกมันเริ่มจากตรงนี้...

เมื่อเราคาดหวังว่าอยากได้สิ่ง ๆ หนึ่ง เราก็ต้องโหยหา และอยากครอบครองมันใช่ไหมล่ะ แต่เมื่อไรที่สิ่งที่เราคาดหวังไว้ไม่ตรงตามที่ต้องการก็จะเกิดความรู้สึกไม่อยากพ่ายแพ้จนกว่าจะได้สิ่งนั้นมา...รู้ตัวอีกที ก็เปย์เงินไปเยอะเสียแล้ว

ถึงแม้ว่าการซื้อแบบสุ่มจะเสี่ยงดวง แต่นั่นก็เพราะเราได้ลิ้มรสความตื่นเต้นที่ต้องมาลุ้นว่าจะได้ตัวอะไรเนี่ยแหละ ที่ยังทำให้กล่องสุ่มขายดีจนถึงทุกวันนี้ ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่มีความสุขจะทำ แล้วยิ่งถ้าเราสุ่มได้ตัว Secret หรือตัวลับที่มีโอกาสออกแค่ 10% จากร้อยก็ยิ่งทำให้ความสุขหลั่งออกมาจนถอนตัวไม่ขึ้น! ซึ่งกล่องสุ่มแบบยกบ็อกจะมีทั้งหมด 12 กล่อง แต่ละกล่องจะคละกันไป และมีเลเวลความหายากที่ต่างกัน โดยในหนึ่งบ็อกจะกำหนดให้มีตัวธรรมดา ตัวรอง Secret และตัว Secret ซึ่งจะมีแค่ 1 ตัวเท่านั้น

“ก็แล้วทำไมไม่ซื้อยกบ็อกไปเลย จะได้ไม่ต้องลุ้น Secret”

ความเฉพาะ และความตื่นเต้นอยู่ที่ตรงนี้...ต่อให้เราซื้อยกบ็อกก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ตัว Secret เลยทันที เพราะบางครั้งยกบ็อกเราก็อาจ ‘เกลือ’ ไปเลยก็ได้ ทีนี้ในความหมายของคำว่า เกลือ ก็คือ ไม่ได้ชิ้นที่อยากได้ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนการมีเกลือก็อาจกลายเป็นคนรวยที่ถือทองคำ แต่เพราะในยุคนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกลือเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย มากกว่าจะเป็นของแรร์ อีกทั้งเกลือยังมีรากศัพท์มาจาก Salty ที่แปลว่า เค็ม เป็นคำสแลงว่า โกรธ อารมณ์เสีย ทำให้หงุดหงิดหัวร้อน คนไทยจึงนำมาใช้เป็นคำพูดที่รู้ ๆ กันในวงการกล่องสุ่ม ซึ่งอาจแปลความหมายโดยรวมได้ว่า “ฉันเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมยังไม่ได้ตัวแรร์อีก”

เมื่อวัฒนธรรมการเล่นกล่องสุ่มของเล่นได้รับความนิยมมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความต้องการล้นตลาด เพราะด้วยตัว Secret ที่หายากอยู่แล้ว และด้วยปัจจัยการผลิตของโรงงานที่ไม่สามารถผลิตซ้ำ หรือรีรันการผลิตใหม่ จึงทำให้เกิดความต้องการบางตัวเฉพาะที่มากกว่าจำนวนของที่มี เราเรียกมันว่า ‘ตัวหายากในตำนาน’ เมื่อมีความต้องการสูง ผันผวนกับช่วงระยะเวลา ก็ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นจากราคาต้นทุนเดิมเป็นสามเท่าตัว หรือบางครั้งก็อาจสูงเป็นสิบเท่าตัว!
กล่องสุ่มของเล่น The Super Bad Meaw Blind Box
ถึงจะเป็นแค่ของเล่นตั้งโชว์ แต่ก็สามารถสร้างราคาให้ตัวมันเองได้เหมือนราคาทองคำในตลาด แน่นอนว่าสายสะสมตัวยงที่ต้องการมาก ๆ ก็พร้อมใจที่จะจ่ายแม้ต้องแลกมากับราคาที่สูงลิ่วเช่นกัน เพื่อความสุขส่วนตัวแล้ว มนุษย์เราย่อมรู้สึกคุ้มค่าที่จะแลกมา อย่างที่บอก เพราะถ้าเราได้ของชิ้นนั้นมาในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน หรือเป็นราคาตลาดเดิม เมื่อเวลาผ่านไปแล้วของชิ้นนั้นถูกตีราคาขึ้นมาใหม่ ก็มีโอกาสสูงที่เราจะได้กำไรจากของชิ้นนั้น เรียกสั้น ๆ ก็คือ ซื้อเพื่อเก็งกำไรนั่นเอง

แล้วทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงบ้างว่าในตลาดกล่องสุ่มของเล่น มีตัวไหนบ้างที่สายสะสมเขานิยมเล่นหรือซื้อเก็บไว้... อย่างแรกเลยคือเราจะพามารู้จักกับ ‘POP MART’ เป็นอาณาจักร Art Toy ที่ส่งตรงมาจากประเทศจีน โดยผู้ก่อตั้งคนแรกคือ หวานหนิง (王宁) เริ่มต้นจากร้านขายของเล็ก ๆ ที่มาหลากหลายให้เลือกแต่ก็ต้องเผชิญปัญหาต้นทุนจมเพราะจำนวนของที่มามากเกินไป จนกระทั่งเขามาเห็นรายการขายดีที่สุดในร้าน ซึ่งนั่นก็คือ Art Toy เขาจึงปิ๊งไอเดียมาจาก ‘กาชาปอง’ ของญี่ปุ่นที่ต้องใช้การสุ่มดวง ซึ่งนั่นทำให้คนแฮปปี้กับการใช้เงิน เพราะพอเป็นเรื่องของการเสี่ยงโชค หรือดวงแล้วอะไร ๆ ก็เข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้มากขึ้น

หวานหนิงสร้างเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมาด้วยการจับมือร่วมกับศิลปินชาวฮ่องกงอย่าง ‘Kenny Wong’ เพื่อสร้าง ‘Molly’ ในรูปแบบของกล่องสุ่มขึ้นมาเป็นสินค้าตัวแรกที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ต่อมาก็ได้ขยับขยายร่วมมือกับศิลปินท่านอื่นอีกมากมายเพื่อสร้างคอลเลคชันใหม่ ๆ ให้กับทาง POP MART จนกลายเป็นกระแสกล่องสุ่มยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน เช่น Dimoo, SKULLPANDA, Bunny ไปจนถึงระดับ The Walt Disney และ Universal Studios ที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลาย
กล่องสุ่มของเล่น Molly Blind Box art toy
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://shorturl.asia/ChOsT
เมื่อตัวละครเหล่านั้นถูกออกแบบให้น่ารัก มีลวดลายสวยงามก็จะน่าเก็บสะสม ทำให้สายสะสมกล่องสุ่มต่างก็ให้คุณค่ากับกล่องสุ่มในแต่ละงานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความนิยม และความชอบในแต่ละคอลเลคชัน แต่แน่นอนว่าไม่เพียงแค่มีผลงานของต่างชาติเท่านั้น ผลงานกล่องสุ่มของคนไทยเองก็มีออกมาให้เห็นอยู่บ่อย ๆ อย่าง CRYBABY ที่ทำเงินได้หลักแสน ออกแบบโดย คุณมด-นิสา ศรีคำดี หรือชื่อในวงการ “คุณมอลลี่” หรือจากค่าย Khram Factory ที่ดึงกลิ่นอาย และลวดลายของประเทศไทยเข้าไปเติมแต่งกับงานอาร์ต จนมีมูลค่าเกินแสน
KHRAM Factory ของเล่น ของสะสม
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.facebook.com/KHRAMfactory
มาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่เริ่มรู้สึกอยากลองสุ่มบ้างสักตัว สองตัวแต่ไม่รู้ว่าจะไปซื้อได้ที่ไหน วันนี้เราก็มีแหล่งซื้อดี ๆ มาแนะนำเหมือนกัน รับรองว่าเชื่อถือได้ แถมอาจได้ตัวอื่นเพิ่มจากที่เล็งไว้ด้วย!

ใครอยากเปย์ของเล่นกล่องสุ่ม เรารวมลายแทงดี ๆ มาฝาก

1. เมกะพลาซ่า (Mega Plaza) สะพานเหล็ก แหล่งช้อปสายสะสมที่บอกเลยว่าสุดอลังการตระการตา มีทั้งฟิกเกอร์ กล่องสุ่ม และของเล่นแบบอื่น ๆ บอกเลยว่ามาที่เดียว ได้ครบจบทุกอย่าง ไม่แพ้ย่านของเล่นที่ญี่ปุ่น หรือฮ่องกงเลย
แหล่งซื้อกล่องสุ่มของเล่น เมกะพลาซ่า (Mega Plaza) สะพานเหล็ก
2. ตู้ Art Toy ในห้างสรรพสินค้าเครือ Central ที่มาอำนวยความสะดวกให้ถึงในตัวห้าง แต่ก็อาจจะไม่ได้มีให้เลือกเยอะเท่าไปร้านค้าโดยตรง เพราะถ้าเลือกซื้อจากหน้าร้าน เราก็จะเห็นคอลเลคชันอื่น ๆ และตัวละครจากเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่นอกกระแสมากกว่าด้วย แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับสายสะสมที่ไม่มีเวลาไปถึงเมกะพลาซ่า แถมห้างสรรพสินค้าในเครือ Central ยังมีเยอะ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
แหล่งซื้อกล่องสุ่มของเล่น ตู้ Art Toy ในห้างสรรพสินค้า
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.facebook.com/hashtag/knub/
3. ร้านช้อปออนไลน์ เช่น TikTok และเพจกลุ่มเฟซบุ๊ก Art Toy มีทั้งมือ 1 และมือ 2 สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเก็บสะสม นอกจากจะได้อยู่ในกลุ่มเพจที่มีสายเก็บเหมือน ๆ กันแล้ว เรายังถามความเห็น หรือขอคำแนะนำจากสายเก็บมือโปรที่อยู่มานานได้อีกด้วย นอกจากนี้ถ้าเรามีงบน้อย ก็จะเจอคนที่มาปล่อยมือ 2 ขายในราคาที่ต่างกัน ใครที่ไม่อยากลุ้นสุ่มก็มาซื้อต่อได้เช่นกัน
เป็นไงกันบ้าง คิดไม่ถึงเลยใช่ไหมว่าของเล่นสะสมเองก็จะกลายมาเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่าที่เราคิด แต่เพราะด้วยราคาที่อาจทำให้เรารู้สึกหนักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็ต้องมาวางแผนการเงินกันให้ดี ๆ แล้ว เพราะถ้าช้อปทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือนบ่อยมากเกินไป ก็อาจกลายมาเป็นของฟุ่มเฟือยที่เกินความจำเป็นไปเลยก็ได้อย่างน้อยก็ช้อป 2 เดือนครั้ง หรือให้เป็นรางวัลตัวเองในช่วงเทศกาลก็ได้ ถึงแม้ว่าเราจะสามารถใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองได้ แต่เราก็ต้องหักห้ามใจ และใช้เงินอย่างมีสติด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow