ทำไมสินค้าญี่ปุ่นถึงมีเสน่ห์: คิดแบบดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่น

ทำไมสินค้าญี่ปุ่นถึงมีเสน่ห์: คิดแบบดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่น

By เกตุวดี Marumura
Japanese product design
ภาพจาก: japanstation.com/Photo Courtesy of JR Kyushu
 

หากท่านเป็นดีไซน์เนอร์ที่คุ้นชินกับการออกแบบบ้าน โรงแรม... แต่วันหนึ่ง มีคนขอให้ท่านมาออกแบบรถไฟ ท่านจะทำอย่างไร?

หนำซ้ำ รถไฟขบวนนั้น เป็นรถไฟหรู ที่พ่วงมากับความหวังว่า รถไฟสายนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในเมืองนั้นดีขึ้น ท่านจะเริ่มต้นคิดคอนเซ็ปต์อย่างไร?

ยิ่งกว่านั้น ขบวนรถไฟมีความกว้างแค่ 2.7 เมตร หักลบกำแพงสองข้าง เหลือความกว้างของห้องพักแค่ 1.06 เมตรเท่านั้น ท่านจะออกแบบรถไฟขบวนนี้อย่างไร ให้ดูหรู และรู้สึกสบาย

นี่คือโจทย์ทั้งหมดที่มิโตะโอกะ เอจิ ... นักออกแบบภายใน (Interior Designer) ได้รับจากการรถไฟคิวชู

Japanese product design
โบกี้รถไฟชั้น 1 ภาพจาก: japanstation.com/Photo Courtesy of JR Kyushu

การรถไฟคิวชูต้องการสร้างรถไฟขบวนนี้ ให้คล้ายกับ Oriental Express ขบวนรถไฟหรูในยุโรป โดยมิโตะโอกะต้องออกแบบรถไฟขบวนนี้ “ทั้งขบวน” ไม่ว่าจะเป็นห้องพักของแขก ห้องน้ำ ห้องครัว บาร์ ตลอดจนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น พื้น เพดาน แสงไฟ

มิโตะโอกะดีไซน์เพดานรถไฟให้เป็นทรงโค้ง เพื่อให้แขกรู้สึกไม่อึดอัด

เขาดัดแปลงพื้นที่ตู้รถไฟให้เป็นที่รับประทานอาหารในตอนกลางวัน และกลายเป็นบาร์ในตอนกลางคืนได้

กระจกพ่นทรายเป็นลายดาวแบบญี่ปุ่น เมื่อมีแสงแดดส่องเข้ามา ลายก็จะสะท้อนบนพื้น จากพื้นไม้เรียบ ๆ กลายเป็นพื้นที่มีลายดาวพร่างพราย
 
Japanese product design
ภาพจาก: Trainfrontview

หน้าต่างในห้องนอน จะเตี้ยลงมากว่าปรกติ แม้แขกเอนหลังพักบนเตียง ก็ยังสามารถมองไปที่หน้าต่างเพื่อชมวิวด้านนอกได้

หากใครสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า แม้แต่หัวน็อตทั้งหมดในขบวนรถไฟนี้ เป็นรูปดาว ... แน่นอนว่า มิโตะโอกะสั่งทำหัวน็อตนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้เข้ากับขบวนรถไฟ 7 ดาวนี้
 
Japanese product design
น็อตรูปดาวบนรถไฟ ที่มิโตะโอกะสั่งทำพิเศษ ภาพจาก:trendy.nikkeibp

อะไรคือเบื้องหลังความละเอียดและใส่ใจเช่นนี้ ?
 

1. ไม่ได้ออกแบบสินค้า แต่คิดถึงสิ่งที่ลูกค้าจะดีใจ


เวลามิโตะโอกะออกแบบ หรือเมื่อเขาต้องตัดสินใจเลือกวัสดุหรือดีไซน์บางอย่าง เขาจะถามตนเองเสมอว่า ตัวเลือกไหนจะดีกับลูกค้าและคนรุ่นหลังมากกว่ากัน

เช่น ตอนเขาออกแบบขบวนรถไฟ Aso-boy! ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กและครอบครัว
 
Japanese product design

สิ่งที่เป็นที่ถกเถียงในตอนนั้น คือ จะใช้พื้นเป็นพลาสติกหรือพื้นไม้ ทางการรถไฟคิวชูเห็นว่า หากใช้พื้นพลาสติก จะดูแลได้ง่ายกว่าและต้นทุนต่ำกว่า แต่มิโตะโอกะเองมองว่า ถ้าเทียบพื้นไม้กับพื้นพลาสติกแล้ว เด็ก ๆ น่าจะชอบพื้นไม้กว่ามาก เขาจึงตัดสินใจเลือกพื้นไม้

เช่นเดียวกับตอนออกแบบรถไฟ 7 ดาว มิโตะโอกะคิดว่า ทำอย่างไรจะให้ผู้โดยสารสนุกสนานไปกับการเดินทาง เขาจึงแอบซ่อนดาวต่าง ๆ ไว้ตามเครื่องประดับและสิ่งของในขบวนรถไฟ เช่น ลายผ้าปูโต๊ะ หัวน็อต รูปทรงของลิ้นชัก ทุกครั้งที่ผู้โดยสารพบดาวรูปแบบใหม่ ๆ พวกเขาจึงรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน และลืมเรื่องความคับแคบในรถไฟไป
 

2. หาจุดเด่นเฉพาะของสินค้านั้น


หากมิโตะโอกะมองรถไฟของเขาเป็นแค่รถไฟ ในสมองเขาคงมีแต่ข้อจำกัด ... ตัวรถไฟก็แคบ รถก็เคลื่อนขบวนตลอด ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ ผู้โดยสารคงอาบน้ำลำบาก ฯลฯ

แต่มิโตะโอกะกลับกล่าวว่า “รถไฟขบวนนี้ เอาชนะรีสอร์ทหรูได้แน่ครับ”

เขามองว่า ไม่ว่าโรงแรมนั้นจะหรูหราขนาดไหน แต่วิวจากห้องพักก็ยังคงเหมือนเดิม

ส่วนรถไฟนั้น ดีกว่าโรงแรมเยอะ เพราะทิวทัศน์เปลี่ยนไปตลอดเวลา

หากเป็นรถไฟ ไม่ว่าวันนั้น ฝนพรำ หรือหิมะตกปรอย ๆ ในวันที่อากาศไม่ดีเท่าไร การนั่งรถไฟ ก็ยังดีกว่านั่งในโรงแรมเฉย ๆ

แม้รถไฟอาจมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่หากทำการบริการและคุณภาพอาหารให้ดี มิโตะโอกะเชื่อว่า รถไฟต้องสามารถสู้กับรีสอร์ทได้อย่างแน่นอน

จุดเด่นของดีไซเนอร์ญี่ปุ่น คือ พวกเขาไม่ได้มองที่ข้อจำกัด และไม่ได้เห็นแต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค แต่มองหาโอกาสก่อน กรณีนี้ มิโตะโอกะพบสิ่งที่คู่แข่งของเขา กล่าวคือ โรงแรมชั้นนำ ไม่สามารถเลียนแบบรถไฟได้ ... นั่นคือ ทิวทัศน์อันสวยงามที่เปลี่ยนไปทุกครั้งที่มองออกนอกหน้าต่าง เขาจึงดึงจุดเด่นข้อนี้ขึ้นมามากขึ้น

รถไฟ 7 ดาวจึงมีหน้าต่างที่อยู่ในระดับเดียวกับที่นั่ง หรือตรงท้ายขบวน จะเป็นกระจกใสแผ่นใหญ่ เพื่อให้ผู้โดยสารชมทิวทัศน์ได้ดีที่สุด
 
Japanese product design
ภายในรถไฟ หน้าต่างอยู่ระดับเดียวกับที่นั่ง เพื่อให้เห็นทิวทัศน์/ภาพจาก: National Geographic
 

3. ก้าวข้ามอุปสรรค


ในการออกแบบรถไฟ 7 ดาวนั้น มิโตะโอกะต้องทำงานร่วมกับคนเป็นจำนวนมาก เช่น ช่างแกะสลัก ช่างไม้ ช่างไฟ เชฟที่จะทำอาหารบนรถไฟ และแน่นอน ... การรถไฟคิวชู

แม้มิโตะโอกะจะมีไอเดียดีเท่าไหร่ แต่หากคนอื่น ๆ รู้สึกว่ายุ่งยาก หรือเกินความสามารถตนเอง รถไฟ 7 ดาวที่งดงามอย่างแตกต่าง คงไม่เกิดขึ้นแน่

ในฐานะดีไซน์เนอร์ มิโตะโอกะจึงมุ่งมั่นออกแบบรถไฟที่ทั้งผู้โดยสาร และช่างฝีมือ จะร้อง “ว้าว

เมื่อช่างฝีมือ “ว้าว” พวกเขาก็เริ่มอยากจะทำ

เทคนิคหนึ่งของมิโตะโอกะที่ทำให้ลูกทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ การทำให้ทีมเห็นภาพว่า ผลงานขั้นสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ตลอดจน รถไฟขบวนนี้จะสุดยอดแค่ไหน และจะทำให้ผู้โดยสารยิ้มได้กว้างเพียงใด หากพวกเขาทำได้ตามนั้นจริง

ตอนนำเสนอดีไซน์แก่ลูกค้า มิโตะโอกะจะนำเสนอไอเดีย 3 แบบ ไอเดียที่ 1 เป็นไอเดียที่แตกต่างจากสินค้าเดิมที่เคยมีมา เป็นไอเดียที่เป็นเอกลักษณ์ ไอเดียที่ 2 เป็นไอเดียที่ปรับปรุงจากสินค้าในปัจจุบัน ส่วนไอเดียที่ 3 จะเป็นไอเดียที่ใกล้เคียงกับสินค้าเดิมนี้

เมื่อเขานำเสนองาน ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยากได้ไอเดียที่ 1 แต่ข้อเสียคือ ไอเดียนี้จะเป็นดีไซน์ที่ทำได้ยากที่สุด ในตอนนั้น เมื่อทุกคนรู้สึกกระหายอยากได้ไอเดียที่ 1 แล้ว มิโตะโอกะจะบอกกับลูกค้าว่า “เรากำลังจะสร้างอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน” เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมองอุปสรรคเป็นความท้าทาย 
 

แม้ราคาค่าที่พักขบวนรถไฟ 7 ดาวนี้ จะสูงถึง 1-3 แสนบาท แต่ก็มีคนจองเต็มจนล้นทุกรอบจนถึงบัดนี้

จากเดิมที่รถไฟเป็นเพียงขบวนรถที่ขนส่งคนให้ไปสู่สถานที่ท่องเที่ยว มิโตะโอกะได้เปลี่ยนให้รถไฟ 7 ดาวนี้ เป็นรถไฟที่ผู้คนต้องการขึ้น และได้สัมผัสประสบการณ์

สรุป:
  1. ทุ่มเทเพื่อลูกค้า ยึดความสุขลูกค้า ก่อนเรื่องต้นทุนและตัวเลข
  2. มองจุดเด่นที่เฉพาะสินค้าตนมีให้ออก อะไรคือจุดเด่นที่รถไฟเหนือกว่าโรงแรมหรือที่พักอื่น
  3. สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม ให้พวกเขาเห็นว่า ตนเองจะได้เป็นส่วนร่วมของงานที่สนุก และท้าทาย
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา