ทำงานแบบ Perfectionist เครียดจริงหรือ

ทำงานแบบ Perfectionist เครียดจริงหรือ

By Krungsri Academy

ถ้าพูดถึงคำว่า “Perfectionist” หลาย ๆ คนก็คงมองว่าเป็นแค่นิสัยและพฤติกรรมในบางช่วงบางเวลาของใครคนหนึ่ง เราจะได้ยินการหยอกล้อกันเล่น ๆ ว่า “เป๊ะ” เพราะผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบจะไม่ปล่อยอะไรที่ผิดพลาด (ในความคิดของตัวเอง) ให้หลุดลอดไปแม้สักนิดเดียว ซึ่งทางฝั่งอเมริกาได้มีผลวิจัยระบุว่า ผู้ชายจะมีโอกาสเป็น Mister เป๊ะได้มากกว่าสาว ๆ ซึ่งชาวเป๊ะมักจะมีลักษณะนิสัยในการทำงานที่รอบคอบ ใส่ใจรายละเอียด ชอบความท้าทาย และมีความรับผิดชอบสูง แต่ก็มี Skill ในการกดดันตนเองและผู้อื่นสูงตามมาด้วย จนกระทบกับชีวิตและจิตใจอยู่มากทีเดียว หากมองในมุมของจิตแพทย์แล้ว หมอจะใช้คำว่า Perfectionism ที่หมายถึง อาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง และมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า “โรคมนุษย์ไม้บรรทัด”

การทำงานแบบ Perfectionist มีลักษณะอย่างไร?


การทำงานที่ใช้แรงผลักดันให้เกิดความสมบูรณ์แบบนั้น ถึงแม้จะทำให้เนื้องานออกมาไม่มีที่ติ แต่ก็สามารถสร้างความเครียดให้กับตนเองและคนรอบข้างได้ไม่น้อย ซึ่งมนุษย์เป๊ะนั้น ก็มีลักษณะเด่นที่ส่งผลดีและเสียกับการทำงาน ดังนี้
  • ความรับผิดชอบสูง...แต่...มักจะทุ่มเทกับงานมากเกินไป จนอาจกระทบความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • ใส่ใจทุกรายละเอียด...แต่...สร้างความกดดันให้กับตัวเองและคนใกล้ชิด
  • พัฒนาตัวเองในด้านใดด้านหนึ่งจนชำนาญ...แต่...ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ฟังความคิดเห็นใคร
  • เป็น 1 ในลักษณะของผู้บริหาร....แต่...กลัวความผิดพลาด ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวยอมรับความผิดพลาดไม่ได้
  • ถนัดการทำงานภายใต้ความกดดันและท้าทาย...แต่...เครียดง่าย ไม่มีคำว่า Relax
จะเห็นว่า ความ Perfectionist ที่ถูกนำมาใช้ในการทำงานนั้น ช่วยทำให้งานบรรลุผลได้ดีทีเดียว แต่หากมีมากเกินไปจะรบกวนการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวและคนใกล้ชิดได้ หากคร่ำเคร่งกับความสมบูรณ์แบบมากแล้วเกิดความผิดพลาด ผิดหวังขึ้นมา จะนำพาไปสู่โรคซึมเศร้าและอาจเป็นฉนวนให้คิดฆ่าตัวตายได้

ถ้าถามว่า “เครียดไหม?”


หากต้องการทำงานโดยใช้ข้อดีของการเป็นมนุษย์เป๊ะ “เครียดไหม?” ตอบได้ง่าย ๆ เลยว่า “เครียด” ไม่ว่าการทำงาน การเรียนหรือจะเลี้ยงลูก ล้วนทำให้เกิดความเครียดได้ทั้งนั้น และความเครียดเองก็มีหลายระดับ แต่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเรามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความเครียด หากเราแปรรูปความเครียดไปเป็นความท้าทายและเป้าหมายเพื่อเอาชนะ นับว่าเป็นการใช้ความเครียดเป็นแรงผลักดันที่ดี และหากใส่ส่วนประกอบข้อดีของ Perfectionist ลงไป ก็ทำได้แน่นอน เพียงแต่แนะนำว่าควรแก้นิสัยที่มากเกินพอดีเหล่านี้ ให้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดเสียใหม่ ให้ยอมรับว่าไม่มีใครบนโลกนี้ที่จะเพอร์เฟ็กต์ คนเราสามารถผิดพลาดกันได้ ไม่จำเป็นต้องดีพร้อมไปทุกกระเบียดนิ้ว แค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดก็พอ โดยอาจค่อย ๆ ปรับตัวด้วย 4 วิธีนี้
  • เปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักปล่อยวาง ไม่เปรียบเทียบหรือกดดันตัวเองจนเกินไป คล้ายกับการนำธรรมะเข้าข่มจิตใจ ค่อย ๆ ปล่อยวาง ยอมรับพื้นฐานและความเป็นไปของโลก
  • ทุกครั้งที่เกิดข้อผิดพลาด จากที่เคยเอาแต่โทษตัวเอง จนลุกลามสร้างความเครียดให้กับคนรอบข้าง ควรพูดคุยกับคนสนิทเพื่อระบายออกไป และเริ่มรับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ลืมที่จะให้อภัยตัวเอง แล้วนำมุมมองของคนอื่นมาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
  • อะไรที่พลาดสามารถแก้ไขได้ เตรียมแผนสำรองไว้เสมอ เมื่อเราปล่อยวางจากความกดดันแล้วก็ถึงเวลาต้องยอมรับว่า ใคร ๆ ก็พลาดกันได้ ไม่มีใครที่ดีพร้อม 100% แต่เมื่อทำผิดแล้วต้องแก้ไข ไม่หนีปัญหา
  • ใช้ความกดดันและจัดการความเครียดให้เป็นเส้นชัย ด้วยคติ “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” แต่เราจะพุ่งไปหามันอย่างฉลาด หากเป็นหัวหน้าทีม ก็เป็นโอกาสดีที่จะใช้ความเป๊ะกับการทำงานกับทีม ช่วยกันทำงาน ช่วยตรวจสอบคุณภาพงาน แล้วก็อย่าลืมที่จะให้กำลังใจลูกน้องล่ะ
  • ไม่ลืมที่จะมองหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว เพราะทำงานด้วยความสมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่จะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ จนบางคนอาจไร้ความสุขในการทำงาน ลองเว้นวรรคสักนิด มองหาไอเดียความสุขในที่ทำงาน หรือกิจกรรมสนุก ๆ หลังเลิกงาน ไป hangout กับเพื่อนร่วมงานบ้างก็เป็นความคิดที่ดี
ความต้องการความสมบูรณ์แบบ หรืออะไรก็แล้วแต่ หากมีมากเกินพอดีจนจัดการมันไม่ได้ จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนอกจากตัวเราจะจมดิ่งสู่ความเครียดขั้นรุนแรงแล้ว ยังกระทบคนรอบข้างที่เรารักและรักเรา ดังนั้น
ไม่ว่าการทำงาน การเรียน หรือการดำรงชีวิตก็ควรยึดทางสายกลาง ทำอะไรแต่พอดีจะดีที่สุด

 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา